สงครามยุคที่ 4 : การรบแบบกองโจรใน 3 จังหวัดภาคใต้

ที่มาภาพ : http://www.au.af.mil/au/awc/awcgate/milreview/lind.pdf

ความนำ
          สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่กลายเป็นสงครามยืดเยื้อมาตลอดปี 2004 เริ่มประทุและทวีความรุนแรงขึ้นอีกในช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2005 การลอบวางระเบิดและยิงประชาชนหลายครั้งในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งล่าสุดเมื่อ 16-17 กุมภาพันธ์ 2005 ผู้ก่อความไม่สงบได้ปฏิบัติการด้วยระเบิดรถยนต์หรือคาร์บอมบ์อย่างต่อเนื่อง 2 ครั้ง ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ไปตรวจเยี่ยม 3 จังหวัดภาคใต้ บ่งชี้ถึงพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของกลุ่มผู้ลงมือก่อความไม่สงบ จากเดิมที่มุ่งลอบสังหารเป้าหมายเฉพาะเจาะจง (Targeted Killings) ได้เปลี่ยนมาสังหารคนจำนวนมากโดยไม่เลือกเป้าหมาย ทั้งนี้ ในทางเทคนิคการโจมตีด้วยคาร์บอมบ์ทำให้กลุ่มผู้ก่อการสามารถขยายขอบเขตการสร้างความเสียหายมากขึ้นและมีความเป็นไปได้ว่าความรุนแรงอาจขยายตัวออกนอกพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ในอนาคตอันใกล้[1]
ความรุนแรงในภาคใต้ของไทย นอกจากเป็นปัญหาท้าทายรัฐบาลสมัยที่ 2 ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีทักษิณแล้วยังสร้างความวิตกต่อสหรัฐฯอันเป็นมหามิตรของไทยด้วย เพราะในการบรรยายสรุปของนายพอร์เตอร์ กอสส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่อง Global Intelligence Challenges 2005 นายกอสส์กล่าวถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคต่างๆว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประเทศที่สหรัฐฯต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ ไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เนื่องจากไทยประสบภัยคุกคามจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมทางภาคใต้และมีความเสี่ยงสูงที่ปัญหาดังกล่าวจะลุกลามขยายตัว ขณะที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากวิบัติภัยสึนามิ ผู้ก่อการร้ายอาจแสวงประโยชน์จากความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและความยุ่งยากทางการเมือง ส่วนฟิลิปปินส์มีปัญหาการต่อสู้ยืดเยื้อกับกลุ่มกบฎคอมมิวนิสต์และมุสลิม อีกทั้งกลุ่มญะมาอะฮ์ อิสลามิยะห์ หรือ JI ใช้ดินแดน ฟิลิปปินส์เป็นแหล่งหลบภัยและฐานการฝึกอบรมสมาชิก
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับศัตรูแบบใด
ในช่วงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีทักษิณระบุถึงกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้บ่อยครั้งว่าเป็นพวกมักใหญ่ไฝ่สูงที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน และทางการได้ออกหมายจับแกนนำหลายคนของกลุ่มดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงแสดงความเห็นว่า รูปแบบการก่อเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้มีลักษณะคล้ายการทำสงครามกองโจรระดับโลก (Global Guerrilla Warfare) เพราะแม้ว่ามีกำลังทหารและตำรวจประจำการอยู่เต็มพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ผู้ก่อความไม่สงบกลับสามารถหลบหนีไปได้เกือบทุกครั้งหลังจากออกมาก่อเหตุ ลักษณะที่ว่านี้ยังคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิรักอีกด้วย โดยพยานหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าการทำสงครามกองโจรกำลังก่อตัวในไทยคือ 1) กลุ่มบุคคลที่ก่อเหตุเป็นพวกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนา และมีการจัดตั้งเครือข่ายเป็นกลุ่มย่อย (Cell) กระจัดกระจายในพื้นที่ การประกอบกำลังแบบเซลล์ย่อยๆแบบนี้ทำให้สามารถหาแหล่งหลบซ่อนได้ดี 2) อุดมการณ์แบบอัล-ไคดาน่าจะเป็นแรงบันดาลใจของกลุ่มคนเหล่านี้ 3) พัฒนาการของการโจมตีซึ่งใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องควบคุมการจุดชนวนระเบิดระยะไกล และเป้าหมายโจมตีเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมาเป็นเป้าหมาย ที่มีการระวังป้องกันไม่เข้มงวด (Soft Target)
การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จุดระเบิดไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว กลุ่มก่อการร้ายในไอร์แลนด์เหนือ อิสราเอล ปาเลสไตน์ โคลัมเบียและอีกหลายแห่ง ใช้อุปกรณ์ชนิดนี้มาหลายปีแล้ว การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ก่อการร้ายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถขยายผลสืบสวนไปหาเครือข่ายของหน่วยย่อยอย่างง่ายดาย ทั้งการตรวจสอบสถานที่อยู่และบุคคลที่ผู้ก่อการร้ายติดต่อด้วย แม้กระทั่งโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินก็ยังมีร่องรอย (Clues) ให้เจ้าหน้าที่สืบสาวหาต้นตอได้ การรวบรวมข่าวกรองจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ยิ่งง่ายใหญ่ แต่มีข้อน่าเป็นห่วงว่า การเหวี่ยงแหสืบสวนจากข้อมูลการติดต่อทางโทรศัพท์ จะทำให้ได้รายชื่อผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายจำนวนมากกว่าที่ต้องการจริง ซึ่งกรณีนี้ยิ่งจะทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกอยู่ในบัญชีดำมากขึ้น
สงครามยุคต่างๆในอดีต
นักวิชาการด้านการทหารแบ่งยุคของสงครามที่เกิดขึ้นในอดีตเป็น 3 ยุค คือ สงครามยุคที่ 1(First Generation Warfare-1GW) เป็นยุคที่จักรพรรดินโปเลียนของฝรั่งเศส (ค.ศ.1769-1821)ครองอำนาจ มีการเกณฑ์ทหารและใช้อาวุธปืนเป็นเครื่องมือในการรบ สงครามยุคที่ 2 (Second Generation Warfare-2GW) เป็นช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯและการอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามในยุคนี้เน้นอำนาจการยิงและการสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน สงครามยุคที่ 3 (Third Generation Warfare-3GW) มีการใช้กลอุบายวางแผนและกองทัพติดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจทำลายล้างที่รุนแรงมากขึ้น เช่น สงครามครามโลกครั้งที่ 2
ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญหน้ากับสงครามยุคที่ 4 (Forth Generation Warfare-4GW) ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นี่เอง นักการทหารให้คำจำกัดความของสงครามในยุคนี้ว่าเป็นสงครามของนักรบอาสาสมัครที่เป็นผลผลิตจากความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯและพันธมิตรกับโลกอิสลามซึ่งยากที่จะเอาชนะได้ เนื่องจาก 4GW เป็นสงครามที่ต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อ มากกว่าการรบแบบรู้ผลแพ้ชนะอย่างรวดเร็ว หลักการสำคัญของการรบแบบ 4GW ประการแรก บ่อนทำลายความเข้มแข็งของศัตรูทีละน้อย โดยทั่วไปสงครามสมัยใหม่มักจะโจมตีจุดแข็งของศัตรูด้วยการใช้ยุทธวิธีค้นหาและทำลาย (Search and Destroy) ประการที่สอง แสวงประโยชน์จากจุดอ่อนของศัตรูให้มากที่สุด ประการที่สาม ปฏิบัติการรบแบบอสมมาตร (asymmetric) โดยใช้อาวุธและเทคนิคที่แตกต่างจากฝ่ายตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เช่น กรณีกรือเซะกลุ่มชายฉกรรจ์ใช้อาวุธมีดในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายข้อนี้
พลังขับเคลื่อนในการทำสงครามยุคที่ 4
          ปัจจัยที่ส่งเสริมการทำสงคราม 4GW ได้แก่ การที่รัฐสูญเสียการควบคุมและใช้ความรุนแรงจนทำให้ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เชื้อชาติและศาสนาขยายตัว นโยบายแบ่งพื้นที่ 1,580 หมู่บ้านใน 3 จังหวัดภาคใต้เป็นสีแดง สีเหลืองและสีเขียวแล้วแจกงบประมาณพัฒนาตามระดับความร่วมมือของประชนในพื้นที่นั้น เป็นนโยบายที่เข้าทางของผู้ก่อการร้าย ซึ่งอัมมาร์ สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์มุสลิมระบุว่าเป็นนโยบายที่น่ารังเกียจ (Disgusting) และดูถูกประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ชาวมุสลิมปฏิเสธเงินงบประมาณของรัฐบาล (The Nation, February 19,2005 p.2) นอกจากนี้ กระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งผ่านการบูรณาการของเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้ผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการได้ง่ายขึ้น สำหรับกลยุทธในการทำสงคราม 4GW คือ 1) ปฏิบัติการในพื้นที่ส่วนหลัง นักรบ 4GW จะไม่เผชิญหน้ากับกำลังทหารของรัฐบาลแต่จะผสมกลมกลืนอยู่ในสังคม 2) ปฏิบัติการจิตวิทยาโดยพยายามสร้างความหวาดกลัว และความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย 3) ความอ่อนตัว ผู้ก่อการร้ายสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธได้ตามความต้องการ เช่น ใช้จุดแข็งของศัตรูเพื่อต่อต้านศัตรู
          ลักษณะเด่นของสงคราม 4GW คือ 1) ปฏิบัติการระดับโลกโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจทำให้นักรบอาสามัครสามารถปฏิบัติการได้ทุกหนทุกแห่งในโลก 2) พื้นที่สนามรบกระจายตัว การเกิดสงครามระหว่างรัฐซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้น้อยลงจึงทำให้มีการใช้ 4GW เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 3) กลุ่มคนที่ปฏิบัติการจัดกำลังเป็นกลุ่มเล็กๆและปัญหาที่ขัดแย้งกันมีความซับซ้อนและหลากหลาย 4) สังคมและเศรษฐกิจแบบเปิดทำให้มีความเปราะบางมากกว่า 5) เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้กลุ่มนักรบ 4GW แพร่ขยายเครือข่ายได้มากขึ้น 6) สื่อสารมวลชนระดับโลกมีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนนักรบกองโจรอาสาสมัคร 7) การจัดองค์กรแบบเซลล์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้นักรบอาสาสมัครสามารถเรียนรู้ เคลื่อนไหวปฏิบัติการและเอาตัวรอดจากเงื้อมมือของกฎหมาย
บทสรุป
          วิธีการที่จะต่อสู้เพื่อเอาชนะสงคราม 4GW ต้องพยายามเอาชนะจิตใจ (Winning Hearts and Minds) ของประชาชนให้ได้ (เชื่อว่าไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้อีกแล้ว) เพราะจุดมุ่งหมายของสงคราม 4GW คือ การทำลายสิ่งยึดเหนี่ยวทางสังคมของศัตรูโดยพยายามทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว รู้สึกถูกคุกคามไม่แน่ใจในอนาคต สร้างความขัดแย้งไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในชาติ การจัดตั้งกองพลทหารราบที่ 15 ซึ่งไม่ว่าจะมีคำอธิบายภารกิจอย่างไร แต่ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบรับรู้ก็คือการส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองและความพยายามดำเนินนโยบายผสมกลมกลืนใหม่ (neo-assimilation) ซึ่งแทนที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจกลับหวาดระแวงมากขึ้น การใช้กำปั้นเหล็กและถุงมือกำมะหยี่หรือที่หมายถึงพระเดชและพระคุณจะประสบผลสำเร็จได้ ไม่เพียงแต่ต้องรู้ว่าจะไช้อะไรในโอกาสไหนเท่านั้น รัฐบาลควรตระหนักถึงวิธีใช้ที่ถูกต้องและเป็นธรรมด้วย.
--------------------------------
บทความต้นฉบับ ตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ  28 กุมภาพันธ์ 2548 หน้า 15 ใช้ชื่อ “จับตาแนวโน้มสงครามยุคที่ 4 ในภาคใต้” และใน ผู้จัดการรายวัน 2 มีนาคม 2548 หน้า 13 ใช้ชื่อ “สงครามยุคที่ 4 : การรบแบบกองโจรใน 3 จังหวัดภาคใต้”




[1]   วิทยุ BBC ภาคภาษาไทยประจำ 18 กุมภาพันธ์ 2005 โดย นวลน้อย ธรรมเสถียร สัมภาษณ์นาย Tony Davis ผู้สื่อข่าววารสาร Jane’s Defence Weekly.
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.