ใครได้ประโยชน์หลังระบอบอัสซาดล่มสลาย

 

ที่มาภาพ: https://foreignpolicy.com/2024/12/19/irans-3-possible-post-assad-paths/?tpcc=editors_picks&utm_campaign=Editors%20Picks%2012192024&utm_medium=email&utm_source=Sailthru&utm_term=editors_picks

ารล่มสลายของระบอบการปกครองซีเรีย (54 ปี) โดยตระกูล “อัสซาด” ถือเป็นการถดถอยครั้งใหญ่ของ “กลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน (Axis of Resistance)”[1] ของอิหร่านที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษ เพื่อเผชิญหน้าอิสราเอลและป้องปรามปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯต่ออิหร่าน ตลอดจนส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองในตะวันออกกลางและโลก

สหรัฐฯพยายามสร้างเสถียรภาพในซีเรียเพื่อมิให้รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่กลายเป็นพวกญิฮาดหัวรุนแรง เช่น “รัฐอิสลาม”[2] รัสเซียอาจสูญเสียการเข้าถึงฐานทัพอากาศในซีเรียและฐานทัพเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนส่งผลให้พลังอำนาจในภูมิภาคลดลง ส่วนตุรกีซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มกบฏซีเรียหลายกลุ่มคงจะได้ประโยน์จากการปรับดุลอำนาจใหม่ในซีเรียและเผชิญความท้าทายจากผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนมากที่ยังคงอยู่ในตุรกี

          เช้าตรู่ของ 8 ธันวาคม 2024 ขณะที่กลุ่มกบฏกำลังเคลื่อนพลเข้าสู่กรุงดามัสกัส ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดได้หลบหนีออกจากประเทศไปยังรัสเซีย นักรบฝ่ายกบฏประกาศยุติการปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ที่ครองอำนาจมาเป็นเวลา 24 ปี ต่อจากฮาเฟซ อัล-อัสซาด บิดาของเขาที่ปกครองซีเรียมาเป็นเวลา 30 ปี

อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-จูลานี[3] หัวหน้ากลุ่มกบฏฮายัต ตาห์รีร์ อัส-ชาม (HTS) ที่มีอิทธิพลได้ออกแถลงการณ์มอบหมายให้โมฮัมเหม็ด กาซี อัล-จาลาลี นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลอัสซาดดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะเสร็จสิ้น

ยังไม่แน่ชัดว่า “การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” จะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมหรือการปกครองแบบเผด็จการหรือโครงสร้างอื่น ๆ หรือไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินว่าระบอบการปกครองที่สืบทอดมาจะอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มกบฏที่มุ่งเน้นแนวทางอิสลาม (Islamist-oriented) ซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีอัสซาด

ผู้นำกลุ่ม HTS เคยเป็นพันธมิตรกับอัลกออิดะห์ แต่ได้แยกตัวออกมาอย่างเป็นทางการด้วยการตัดความสัมพันธ์ในปี 2017 ปัจจุบัน HTS อ้างว่าพวกตนยึดถือแนวทางสายกลางและยอมรับความแตกต่างโดยให้ความสำคัญกับซีเรียมากกว่าการต่อสู้ทางอุดมการณ์และการเมืองในภูมิภาค

ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกบางคนแสดงความกังวลว่ารัฐบาลซีเรียที่สืบทอดมาจากกลุ่ม HTS อาจยอมรับจุดยืนผ่อนปรนหรือสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงที่ยังคงปฏิบัติการอยู่ในซีเรีย แพทริก ไรเดอร์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเมื่อ ธันวาคม 2024 ว่า “...ภารกิจของ (กองกำลังสหรัฐฯ 900 นายในซีเรียตะวันออก) ยังคงเหมือนเดิมและมุ่งเน้น “ปราบรามกลุ่ม ISIS”

 ยังไม่ชัดเจนว่าประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเรียกร้องให้สหรัฐฯละเว้นจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการภายในของซีเรียจะมองว่าการล่มสลายของระบอบการปกครองของอัสซาดเป็นโอกาสในการถอนกำลังสหรัฐฯออกไป (ซึ่งเป็นทางเลือกที่เขาเคยพิจารณาในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก)

          นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลออกแถลงการณ์ผ่านวิดีโอในวันเดียวกันโดยอ้างว่าเป็นผู้จุดชนวนเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล่มสลายของระบอบอัสซาด พร้อมทั้งระบุด้วยว่าจะปกป้องดินแดนอิสราเอลจากศัตรูซึ่งจะมีรัฐบาลสืบทอดขึ้นมาใหม่

อิสราเอลสั่งการให้กองทัพของตนยึดพื้นที่พิพาทบนที่ราบสูงโกลัน ซึ่งกองทัพอาหรับซีเรีย (SAA) ละทิ้งไป หลังจากการปกครองของอัสซาดล่มสลาย โดยยืนยันถึงความจำเป็นเพื่อรักษาบทบัญญัติสำคัญของข้อตกลงแยกกองกำลังอิสราเอลและซีเรียในปี 1974

          รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน อียิปต์ อิรัก อิหร่าน ตุรกีและรัสเซียออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ “ทุกฝ่ายหาทางออกทางการเมืองในวิกฤตซีเรียซึ่งจะยุติปฏิบัติการทางทหารและปกป้องพลเรือน โดยเห็นพ้องถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนซีเรียรวมทั้งรับรองการเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืนและไม่มีอุปสรรค”

          พัฒนาการล่าสุดในซีเรีย สะท้อนยุทธศาสตร์ของตุรกีในการแสวงประโยชน์จากพลวัตการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2023 รวมทั้งอิทธิพลที่ลดลงของอิหร่านและตัวแทนในเลบานอน[4] ตุรกีเห็นโอกาสขยายอิทธิพลในซีเรีย เนื่องจากความพยายามปรองดองกับซีเรียหยุดชะงักลงและต้องการรักษาจุดยืนทางยุทธศาสตร์ก่อนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลสหรัฐฯ

 อิทธิพลของตุรกีที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนกลุ่มอิสลามที่เชื่อมโยงกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม โดยอาจก่อให้เกิดความกังวลในกลุ่มประเทศอาหรับ เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์และจอร์แดนซึ่งต่อต้านขบวนการอิสลามภายในประเทศ

          ชัยชนะของกลุ่มกบฏอิสลาม (Islamist rebel) ได้รับการสนับสนุนส่วนใหญจากตุรกี โดยบั่นทอนอิทธิพลพันธมิตรสำคัญของอัสซาด เช่น รัสเซียและอิหร่าน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างปี 2013 - 2015 เพื่อช่วยให้อัสซาดเอาชนะความท้าทายจากการกบฏที่ปะทุขึ้นในปี 2011

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในซีเรียจะดำเนินต่อไปอย่างไร ในบริบทของความขัดแย้งในภูมิภาคที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2023 การล่มสลายของอัสซาดพลิกโฉมการคำนวณเชิงยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจระดับภูมิภาคและระดับโลก

แม้รัสเซียและอิหร่านยังมีทรัพย์สินจำนวนมากในซีเรีย แต่ทั้งสองประเทศต่างก็อ่อนแอลงและเสียสมาธิจากความขัดแย้งอื่น ๆ ทำให้ไม่สามารถตอบโต้การรุกของกลุ่ม HTS ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายพฤศจิกายน 2024 โดยกองกำลังกบฏเข้ายึดเมืองอาเลปโปได้อย่างรวดเร็วและรุกคืบไปยังกรุงดามัสกัส ฝ่ายที่ตุรกีสนับสนุนและชาวเคิร์ดเข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือและตะวันออกของซีเรีย

          การล่มสลายของระบอบอัสซาดถือเป็นความเสื่อมถอยทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติและอุดมการณ์นโยบายต่างประเทศของอิหร่านในการขยายอำนาจไปทั่วภูมิภาคโดยการจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธเครือข่ายองค์กรที่ไม่ใช่รัฐซึ่งประกอบเป็นกลุ่มอักษะแห่งการต่อต้านในระยะประชิดชายแดนอิสราเอล

ระบอบอัสซาดเป็นพันธมิตรและที่ตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและจุดขนถ่ายสินค้าอิหร่าน ซึ่งสร้างคลังอาวุธขนาดใหญ่ของฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอนประกอบด้วยจรวด โดรนติดอาวุธและขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งสามารถโจมตีเมืองและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั่วอิสราเอล อิหร่านช่วยฮิซบอลเลาะห์ส่งกองกำลังไปยังซีเรียในปี 2013 เพื่อช่วย SAA ต่อสู้กับกลุ่มกบฏติดอาวุธ การสู้รบกับอิสราเอลหลัง 7 ตุลาคม 2023 ทำให้ฮิซบอลเลาะห์อ่อนแอลงอย่างมากจนเป็นข้อจำกัดในการต่อต้านการรุกครั้งใหม่ของ HTS

กองกำลังทางการเมืองที่น่าจะมีอำนาจในซีเรียหลังยุคอัสซาด ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซุนนีที่กล่าวโทษอิหร่าน ฮิซบอลเลาะห์และสมาชิกกลุ่มอักษะอื่น ๆ ที่สนับสนุนอัสซาด ทำให้อิหร่านไม่มีช่องทางปลอดภัยในการส่งอาวุธให้ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งต้องการสร้าง/เติมคลังอาวุธให้เท่าเทียมกับที่มีอยู่ก่อน 7 ตุลาคม 2023

อิทธิพลในภูมิภาคของตุรกีสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอิหร่าน ซาอุดีอาระเบียและมหาอำนาจอื่น ๆ ทำให้สามารถรักษาพื้นที่ชายแดนของตนจากกลุ่มชาวเคิร์ดที่ตุรกีถือว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย ตุรกีหวังว่าซีเรียจะมีเสถียรภาพพอประมาณซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียหลายล้านคนที่อยู่ในตุรกีกลับคืนถิ่นฐานเดิม

          เป้าหมายเบื้องต้นของตุรกีคือการเสริมสร้างอิทธิพลในพื้นที่เขตอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เพิ่มอำนาจในการเจรจาระดับภูมิภาคในอนาคต แนวทางนี้เกี่ยวข้องกับการทำให้ชาวเคิร์ดตามแนวชายแดนเป็นกลางจึงทำให้พลวัตทางการเมืองในซีเรียสอดคล้องกับผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของตุรกี

          รัสเซียกำลังจับตามองพัฒนาการในซีเรียด้วยความกังวลอย่างมาก มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลชุดใหม่จะไม่รับรองกองกำลังทางอากาศและทางทะเลของรัสเซียในซีเรียอีกต่อไป ซึ่งรวมถึงเมืองท่าทาร์ทัส ซึ่งทำให้รัสเซียเข้าถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ฐานทัพในซีเรียมีบทบาทในแผ่ขยายอำนาจรัสเซียในภูมิภาคที่กว้างขึ้น เช่น ในลิเบีย ซูดาน และส่วนอื่น ๆ ของแอฟริกา การที่รัสเซียไม่สามารถรักษาอำนาจของอัสซาด แสดงให้เห็นว่าสงครามยูเครนกำลังดึงดูดทรัพยากรและศักยภาพของรัสเซียอย่างหนัก จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับการเจรจายุติความขัดแย้งในยูเครน

          ชัยชนะของกลุ่มกบฏในซีเรียเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของตุรกี การล่มสลายของระบอบอัสซาดอาจทำให้ตุรกีสามารถจัดตั้งรัฐบาลซีเรียที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน อย่างไรก็ดี การปะทะกันระหว่างกองกำลังกบฏอาจทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อแตกแยกรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาคและความมั่นคงภายในของตุรกี

สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ความแตกแยกในซีเรียซึ่งมีรากฐานมาจากความภักดีต่อชาติพันธุ์ นิกายและอุดมการณ์ ไม่เพียงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อซีเรีย แต่ยังเป็นภัยคุกคามภูมิภาคโดยรวมและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน



[1] เครือข่ายกองกำลังติดอาวุธเรียกตัวเองว่ากองกำลังต่อต้านและกองกำลังติดอาวุธที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐในตะวันออกกลางได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าประกอบด้วยกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กองกำลังติดอาวุธซีเรีย กลุ่มฮามาสและกลุ่มญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ (PIJ) ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ กองกำลังกึ่งทหารบางส่วนในอิรักและกองกำลังฮูตีในเยเมน เข้าถึงได้ที่: https://www.britannica.com/topic/Axis-of-Resistance

[2] ASSAD’S FALL UPENDS REGIONAL AND GLOBAL GEOPOLITICS Monday, December 9, 2024 INTELBRIEF Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/assads-fall-upends-regional-and-global-geopolitics?e=c4a0dc064a

[3] What to Know About the Man Who Toppled Assad By John Haltiwanger, Foreign Policy December 11, 2024, 3:23 PM Available at: https://foreignpolicy.com/2024/12/11/syria-rebel-leader-jolani-hts-al-qaeda-islamic-state-isis/?tpcc=editors_picks&utm_source=Sailthru&utm_medium=email&utm_campaign=Editors%27%20Picks%20-%2012112024&utm_term=editors_picks

[4] The fall of Bashar al-Assad is a blow to Iran The Economist Dec 11th 2024 Available at: https://www.economist.com/middle-east-and-africa/2024/12/11/the-fall-of-bashar-al-assad-is-a-blow-to-iran?utm_content=ed-picks-image-link-3&etear=nl_today_3&utm_campaign=a.the-economist-today&utm_medium=email.internal-newsletter.np&utm_source=salesforce-marketing-cloud&utm_term=12/12/2024&utm_id=2021942

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.