โอกาสและความท้าทายในการปฏิรูปงานข่าวกรอง (บทสรุปสำหรับผู้บริหาร)
ที่มา : https://www.researchgate.net/figure/One-example-of-the-intelligence-cycle-Ross-2015_fig5_296333967
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต นอกจากก่อให้เกิดข้อมูลข่าวสารที่มีความหลากหลาย ปริมาณมาก คลุมเครือ และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Big Data) ยังเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) ในกระบวนการทำงานวิเคราะห์ของหน่วยข่าวกรองอีกด้วย ความมุ่งหมายของการข่าวกรอง คือ การแสวงหาข้อเท็จจริง (fact) และรายงานอย่างซื่อตรงแก่ผู้กำหนดนโยบายภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด ในอดีตผู้กำหนดนโยบายอาจมีเวลามากพอในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ แต่ในยุคดิจิตอลผู้บริหารมีเวลาน้อยลงในการตัดสินใจ บางครั้งอาจต้องตัดสินใจทันที (real time) ที่เกิดเหตุการณ์ ดังนั้น การดำเนินงานข่าวกรองในปัจจุบันจึงควรคำนึงถึงความรวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง ตรงประเด็น และให้ข้อคิด/มุมมองความเป็นไปได้ในแบบต่างๆแก่ผู้กำหนดนโยบาย
ในอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยข่าวกรองกับผู้ใช้ข่าว จะมีการประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ในการประสานภารกิจกับผู้ใช้ข่าว หน่วยงานข่าวกรองจะต้องใช้เทคนิคชั้นสูงเพื่อที่จะล่วงรู้ (elicit) ถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ข่าวและประเมินผลการปฏิบัติงานขององค์กร แทนที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของผู้ใช้ข่าว (What are your intelligence priority?) หน่วยงานข่าวกรองควรจะถามถึงความมุ่งหมายของผู้ใช้ข่าวและความต้องการของสาธารณะ (What do you want to accomplish?) ทั้งนี้ การสนับสนุนข่าวกรองแก่ผู้ใช้ข่าวกลายเป็นการสร้างความสัมพันธ์มากกว่าเหตุการณ์ปกติ
หน่วยข่าวกรองควรเริ่มจากการขยายบทเรียนความสำเร็จที่ผ่านมา ในกิจกรรมการสนับสนุนรายงานข่าวกรองให้แก่ผู้ใช้ข่าว (การบรรยายสรุปประจำสัปดาห์แก่นายกรัฐมนตรี) ซึ่งจะต้องให้การสนับสนุนข่าวกรองแก่ผู้ใช้ข่าวหลายระดับ (ไม่ได้รายงานเฉพาะผู้บริหารระดับสูง) รวมทั้งติดตามความคืบหน้าและรายงานให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หน่วยข่าวกรองอาจจะต้องสร้างช่องทางการเข้าถึงโดยแต่งตั้ง “ผู้จัดการฝ่ายประสานงาน” เพื่อสนับสนุนผู้ใช้ข่าวเป็นการเฉพาะและทำความคุ้นเคยกับผู้ใช้ข่าวรายใหม่
ผลผลิตรายงานข่าวกรองมีความคล้ายคลึงกับบริการทางธุรกิจ ที่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ข่าว (customized services) โดยให้ความสำคัญเรื่องการใช้ประโยชน์สูงสุดมากกว่าการกระจายข่าวกรอง ภายใต้แนวคิดการวิเคราะห์ผลกระทบ หน่วยข่าวกรองจะมีความผูกพันกับผู้ใช้ข่าวกรองโดยตั้งคำถามประเภทเกิดอะไรขึ้นถ้า (What If?) นอกเหนือจากข้อสรุปว่าอะไร (What?) การดำเนินงานในรูปแบบดังกล่าว นักวิเคราะห์สามารถถ่วงดุลข้อมูลที่แตกต่างกันได้ และใช้เครื่องมือวิเคราะห์รวมทั้งบริการบนเครือข่ายที่มุ่งเน้นภารกิจ
องค์การข่าวกรองต้องเผชิญความคาดหวังจากสาธารณะมากขึ้น โดยรายงานข่าวกรองส่วนใหญ่มักมีชั้นความลับ เพื่อให้มั่นใจว่ารายงานข่าวกรองดังกล่าว สามารถสร้างความได้เปรียบในการตัดสินใจของหน่วยงานในรัฐบาล อย่างไรก็ดี องค์กรข่าวกรองจะต้องปรับตัวเตรียมรับความต้องการทราบผลการวิเคราะห์ของสังคมซึ่งกำลังขยายตัวมากขึ้นด้วย แม้จำนวนผู้ใช้ข่าวกรองและความคาดหวังมีการเปลี่ยนแปลง แต่องค์กรข่าวกรองยังคงต้องรายงานข่าวกรองที่ถูกต้อง ตรงประเด็น และทันเวลา เพื่อทำให้ผู้ใช้ข่าวมีความได้เปรียบในการตัดสินใจ และเพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงแห่งชาติต่อไป
หลักการสำคัญที่จะทำให้องค์กรข่าวกรอง และเจ้าหน้าที่ข่าวกรองประสบความสำเร็จในการทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบใหม่ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรแบบถอนรากถอนโคน (fundamental change) และมีการออกแบบองค์การใหม่โดยใช้หลักการ ๓ ป. ได้แก่
ปรับตัว (adaptability) หมายถึง ความสามารถขององค์กรในการหยั่งรู้ และตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา หน่วยข่าวกรองต้องสำรวจสภาพแวดล้อมภายนอก พิสูจน์ทราบภัยคุกคามและโอกาส ทำความเข้าใจช่องว่างระหว่างขีดความสามารถและสิ่งท้าทาย ทดลองนำความคิดใหม่ๆมาใช้โดยเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม หัวใจสำคัญของการปรับตัวคือ ความคล่องตัวในการประสานงาน และเปิดกว้างที่จะรับความคิดใหม่ๆภายนอกองค์กร
ปรับศูนย์ (alignment) หมายถึง การสร้างดุลยภาพ และความเหมาะสมของการผูกพันระหว่างยุทธศาสตร์ ระบบบริหาร กระบวนการดำเนินงาน และการสื่อสารภายในองค์กร การปรับศูนย์ถือเป็นเป็นกลไกควบคุมทิศทางในการบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ หรือ วัตถุประสงค์ขององค์กร สิ่งท้าทายสำหรับการปรับศูนย์องค์กร คือ การทำให้ความพยายามทั้งมวลขององค์การเป็นเอกภาพโดยไม่ตกอยู่ในอำนาจการครอบงำใดๆ
ปราดเปรียว (agility) หมายถึง ความสามารถขององค์กรในการปรับโครงสร้างและกระบวนการทำงานได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ความพยายามและทรัพยากรน้อยที่สุด องค์กรที่มีความปราดเปรียวสามารถที่จะฉกฉวยโอกาส และระบุถึงความเสี่ยง รวมทั้งสามารถ ตอบสนองต่อสภาวการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ องค์กรที่ปราดเปรียว จะมีความยืดหยุ่น สามารถแยกส่วน ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน นิยมชมชอบการเปลี่ยนแปลง และอดทนต่อความเสี่ยง
อุปสรรคสำคัญซึ่งเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ และตัวแบบงานข่าวกรองแบบใหม่ คือ “วัฒนธรรม” ภายในองค์กรข่าวกรอง ซึ่งมักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง โดยสมาชิกในองค์กรมักเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น มีความเสี่ยงมาก และเป็นความคิดแบบคลั่งไคล้ การเปลี่ยนแปลงมากเกินไปไม่ทำให้เห็นความแตกต่าง วิธีการแบบใหม่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ การต่อต้านนำไปสู่การกระทบกระทั่ง เนื่องจากระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพจะทำลายความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ องค์กรส่วนใหญ่มักคิดว่าตนเองก็มีการปรับปรุงตลอดเวลา
การเปลี่ยนแปลงองค์กรข่าวกรองแบบกะทันหัน ต้องใช้งบประมาณที่มีเสถียรภาพและเป็นเหตุเป็นผล การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น หากใช้งบประมาณจำนวนน้อย ผู้มีหน้าที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มด้วยการปรับกระบวนการจัดการภายในทุกระดับ ชี้แนะแนวทางตามแผนที่ยุทธศาสตร์ (strategic roadmap) ขององค์กร มีการสื่อสารและประสานงานกันอย่างเหมาะสม การปฏิรูปหน่วยข่าวกรองในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในองค์กร ต้องเผชิญแรงกดดันในการแก้ไขปัญหาความท้าทายประจำวันมากกว่าการแก้ไขปัญหาระยะยาว
การเปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้เป็นความจริงต้องใช้ความพยายามอย่างมาก โดยเริ่มจากจากการสื่อสารตลอดทั่วทั้งองค์กร และจำเป็นต้องใช้ภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง มอบหมายภารกิจ สร้างพลังการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนกำลังพล ผู้นำองค์กรข่าวกรองต้องสร้างความสมดุลของยุทธศาสตร์ข่าวกรองแห่งชาติ โดยสร้างขีดความสามารถ พัฒนาแผนปฏิบัติงานประจำปี มอบหมายความรับผิดชอบให้บรรลุวิสัยทัศน์ ที่สำคัญผู้นำระดับสูงจะต้องมุ่งสร้างวัฒนธรรม ซึ่งยอมรับความเสี่ยงในการทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริง ภารกิจการปฏิรูปองค์กรข่าวกรองให้ทันสมัย และสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงภายนอกองค์กร รวมทั้งสามารถปกป้องรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ซึ่งบางครั้งอาจประสบภาวะชะงักงันหรือถดถอย
Leave a Comment