อันตรายของช่องว่างระหว่างการข่าวกรองกับนโยบายต่างประเทศ

President Trump, shown Friday at the White House, has long disputed analyses by the U.S. intelligence community. (Jabin Botsford/The Washington Post)
ที่มา: https://www.washingtonpost.com/politics/trump-claims-great-progress-on-isis-north-korea-after-intelligence-officials-present-less-optimistic-view/2019/01/30/e95b74c6-23b7-11e9-90cd-dedb0c92dc17_story.html?noredirect=on&utm_term=.47b11b4ac64a

ารส่งข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ (twitter) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เมื่อ 30 มกราคม 2019 ถูกตีความว่าเป็นการวิจารณ์ประชาคมข่าวกรองและผู้นำหน่วยข่าวกรองโดยตรง ทั้งนี้ ข้อความที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตระบุว่า ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ ทำงานเชิงรับและไร้เดียงสาอย่างมาก (extremely passive and naive) เกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ก่อนหน้านี้เมื่อ 29 มกราคม 2019 นายแดเนียล โค้ทส์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯฯ (Director of National Intelligence - DNI) แถลงเกี่ยวกับการประเมินภัยคุกคามจากทั่วโลกต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาว่า[1] ขณะนี้ รัสเซียและศัตรูอื่นๆของสหรัฐฯได้ปฏิบัติการสร้างอิทธิพลเพื่อส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในสหรัฐฯจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020
          ปฏิกิริยาการตอบโต้ด้วย “ความโกรธ” ของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อได้รับรายงานข่าวกรองที่ขัดแย้งกับความรู้สึกแบบลางสังหรณ์ (gut instinct)[2] ของตน เป็นสถานการณ์ที่อันตรายและยุ่งยาก เนื่องจากการประเมินวิเคราะห์ภัยคุกคามของประชาคมข่าวกรอง ไม่ตรงกับจุดยืนที่ทรัมป์แถลงต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นอิหร่านและเกาหลีเหนือ ความตึงเครียดระหว่างทำเนียบขาวกับประชาคมข่าวกรอง นอกจากส่งผลในทางลบด้านขวัญกำลังใจ ยังอาจนำไปสู่การตัดสินใจดำเนินนโยบายความมั่นคงที่ผิดพลาด ช่องว่างระหว่างข่าวกรองและนโยบายเกี่ยวกับอิหร่านที่ขยายตัวมากขึ้น เตือนให้ระลึกถึงช่องว่างระหว่างประชาคมข่าวกรองและรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งนำไปสู่การรุกรานอิรักในปี 2003 โดยเป็นนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดและอันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกัน
          ในปี 2003 ผู้เขียนได้นำเสนอบทความวิเคราะห์ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ซี่งได้รับการตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับ 13 ธันวาคม 2545 ชื่อ “ยุทธศาสตร์สหรัฐฯในการปิดล้อมจีน” เวลาผ่านไป 17 ปี หวังว่าครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม......ขอเชิญผู้อ่านทัศนา

เหตุผลที่แท้จริงของสหรัฐฯที่พยายามใช้ปฏิบัติการทางการทหารต่ออิรักก็คือการปิดล้อมจีน ก่อนที่จีนจะเติบโตเป็นคู่แข่ง

ลายเดือนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศต่างพยายามอธิบายถึงสาเหตุที่รัฐบาลสหรัฐฯ กระเหี้ยนกระหือรือจะทำสงครามโค่นล้มประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น ของอิรักกันอย่างกว้างขวาง เหตุผลที่พูดถึงอยู่บ่อยคือ สหรัฐฯต้องการควบคุมแหล่งน้ำมันดิบสำรองของอิรักที่มีปริมาณมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันดิบจากซาอุอาระเบีย ซึ่งกำลังมีเรื่องบาดหมางกับสหรัฐฯ กรณีภริยาเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำสหรัฐฯ ให้เงินช่วยเหลือทางอ้อมแก่ผู้ก่อการร้ายที่ก่อวินาศกรรม เมื่อ 11 กันยายน 2544
          คำอธิบายหรือการตีความหมายอื่นๆ เกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐฯต่ออิรักที่น่าสนใจ ประการแรก ชาวอเมริกันถูกพวกยิวที่มีอิทธิพลในสหรัฐฯ ยุยงให้โจมตีอิรัก เพื่อจัดระเบียบชาติอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลาง และธำรงไว้ซึ่งความเหนือกว่าของอิสราเอล เหตุผลที่พอจะรับฟังได้ (ไม่มากนัก) ประการต่อมา สหรัฐฯต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิรัก ให้เป็นตัวแบบประชาธิปไตยของโลกอาหรับ บ้างก็เห็นว่า สหรัฐฯยังไม่หายจากความตื่นกระหนก จึงพยายามป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย นอกจากนี้ยังมีผู้เห็นว่า ความหวั่นเกรงว่าผู้ก่อการร้ายอาจพยายามแสวงหาอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction-WMD) มาไว้ในครอบครอง หรืออาจร่วมมือกับรัฐอันธพาล (rogue state) ใช้อาวุธ WMD โจมตีสหรัฐฯ ทำให้ต้องหาทางปลดอาวุธอิรักที่ถูกขับไล่ออกจากคูเวต เมื่อปี 1991
          สื่อมวลชนตะวันตกและของไทย บางคนวิเคราะห์ไปไกลกว่านั้น โดยเห็นว่า ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กำลังพยายามสะสางภารกิจที่ยังคั่งค้างของอดีตประธานาธิบดีบุชผู้เป็นบิดา ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย การวิเคราะห์ในแนวนี้ น่าจะมีจุดอ่อนบางประการ เนื่องจากผู้วิเคราะห์ละเลยที่จะทำความเข้าใจระบบการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งการเมืองแบบอเมริกันมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกและฝักฝ่าย กลุ่มพลังทางการเมืองและระบบราชการต่างแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน ทั้งในและนอกรัฐบาล การสร้างนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯก็เป็นผลผลิตของพลังเหล่านั้นนั่นเอง
          ในช่วงที่ประธานาธิบดีบุชเข้ารับตำแหน่ง ก่อนเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมครั้งร้ายแรง ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯมิได้มุ่งไปที่อิรักหรือการก่อการร้าย หรือแม้กระทั่งกลุ่มอิสลามเคร่งจารีต (Islamic Radicalism) แต่อย่างใด เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในขณะนั้นคือ จีน ซึ่งสหรัฐฯฯเห็นว่าเป็นคู่แข่งในการเป็นอภิมหาอำนาจโลก ในช่วงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและเครือรัฐเอกราชในเอเชียกลางและยุโรปตะวันออกแยกตัว สหรัฐฯมองว่า จีนเป็นศัตรูในระยาว และเป็นเพียงประเทศเดียวที่จะท้าทายความเป็นความเป็นมหาอำนาจที่ครอบงำโลก มีการประเมินถึงขั้นว่า จีนจะเป็นปรปักษ์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และเชื่อว่า ความขัดแย้งกรณีช่องแคบไต้หวันอาจกลายเป็นจุดร้อนที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3
          ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐฯและจีนต่างพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในธันวาคม 2001 จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วยความเห็นชอบของสหรัฐฯ และเมื่อตุลาคม 2002 ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ของจีนไปเยือนประธานาธิบดีบุชของสหรัฐฯ ที่บ้านไร่ในรัฐเท็กซัส แต่ความรู้สึกเป็นปรปักษ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในส่วนลึกก็ยังคงมีอยู่ต่อไป
          เอกสารเกี่ยวกับนโยบายยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อกันยายน 2002 นอกจากยอมรับว่า จีนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐฯในเอเชีย-แปซิฟิก ยังวิจารณ์จีนอย่างรุนแรงว่า ผู้นำจีนยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของประเทศว่า จะดำเนินไปในลักษณะใด การสร้างเสริมกำลังทหารของจีนในปัจจุบันสะท้อนถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ล้าสมัย
          สหรัฐฯ ยังได้แสดงความไม่สบายใจเกี่ยวกับจีนในด้านต่างๆ ด้วย เช่น ประวัติเกี่ยวกับการละเมิดมนุษยชน การไม่ยอมเปิดกว้าง ไม่เอาใจใส่ในเรื่องนิติธรรม เฉพาะอย่างยิ่งการคุกคามจะใช้กำลังผนวกไต้หวันของจีน ประเด็นสำคัญที่ระบุในเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (Bush Doctrine) คือ การประกาศว่าจะขัดขวางมิให้ประเทศคู่แข่งอิทธิพลท้าทายการเป็นมหาอำนาจโลกแต่เพียงผู้เดียวของสหรัฐฯ พลังอำนาจของสหรัฐฯจะต้องเข้มแข็งพอที่จะข่มทุกชาติปรปักษ์ที่พยายามสร้างเสริมกำลังทหาร เพื่อที่จะนำหน้าหรือมีอิทธิพลทัดเทียมสหรัฐฯ
          ถ้อยความดังกล่าว เป็นที่มาซึ่งทำให้นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า เหตุผลที่แท้จริงของสหรัฐฯ ที่พยายามจะใช้ปฏิบัติการทางทหารต่ออิรักก็คือ การปิดล้อมจีนตั้งแต่บัดนี้ ก่อนที่จีนจะเติบโตเป็นคู่แข่ง ในขั้นแรกจำต้องควบคุมพื้นที่ภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบสำรองปริมาณร้อยละ 25 ของโลกไว้เพียงผู้เดียว เพราะจีนมีความต้องการทรัพยากรน้ำมันในตะวันออกกลางอย่างมาก เพื่อใช้ในการสร้างความมั่นคงและขยายพลังอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าเกรงขาม
          ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเชื่อว่า ภายในปี 2010 เศรษฐกิจจีนจะล้ำหน้าญี่ปุ่น และกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะตามทันสหรัฐฯใน 15-20 ปี สาเหตุที่เศรษฐกิจจีนพัฒนาไปสู่ความทันสมัยได้รวดเร็ว เนื่องจากการปฏิรูปในสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง ต่อเนื่องมาถึงสมัยประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน ซึ่งเงินลงทุนที่ไหลเข้าจีนเฉพาะในปี 2002 มีจำนวน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าทุกประเทศในโลก รวมทั้งสหรัฐฯ และในปี 2003 จีนจะเป็นประเทศที่บริโภคเหล็กกล้ากว่าร้อยละ 25 ของการบริโภคทั้งโลก
          แต่เศรษฐกิจจีนยังต้องเผชิญสิ่งท้าทายหลายประการ เช่น จีนยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการว่างงานที่มีอัตราสูง ประชากรกว่า 100 ล้านคน อพยพย้ายถิ่นเข้ามาหางานทำในเขตเมือง ปัญหาการทุจริตเป็นโรคที่แก้ไม่หายและเป็นอัตรายอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มพลังงานทางสังคมเริ่มเรียกร้องขอมีส่วนร่วมทางการเมือง
          การปรากฏตัวของ นายหู จินเถา อายุ 59 ปี ในฐานะผู้นำรุ่นที่ 4 ของจีน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 16 สืบแทนประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน ซึ่งครองอำนาจมานาน 13 ปี สะท้อนให้เห็นการประนีประนอมและความพยายามอยู่รอดทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภารกิจของ นายหูในช่วงต่อไป คงต้องปรับปรุงเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยต้องไม่ไปแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สำหรับสหรัฐฯการประชุมสมัชชาคอมมิวนิสต์จีนดังกล่าว ได้ทำให้ภาพลักษณ์จีนมีความชัดเจนมากกว่าที่ระบุในเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคง 2 ประการ
          ประการแรก คอมมิวนิสต์จีนพยายามเจือจางอุดมการณ์มาร์กซิสต์โดยละทิ้งการต่อสู้ทางชนชั้น หันมาพัฒนาระบบทุนนิยม นักธุรกิจผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศัตรูของชนชั้นกลายเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของสมาชิกทั้งหมด 60 ล้านคน
          ประการที่สอง  ชนชั้นกลางรุ่นใหม่ของจีนกำลังก้าวขึ้นสู่อำนาจ นายหู จินเถา บุตรพ่อค้าขายใบชา ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมไฮดรอลิกจากมหาวิทยาลัยชิงหัวที่มีชื่อเสียงของปักกิ่ง เป็นหลักฐานอย่างดีที่แสดงถึงผลผลิตของชนชั้นบริหารของจีน
          ในขณะที่ดูเหมือนว่า ทุกสิ่งในจีน กำลังดำเนินไปได้สวยนั้น ใครจะไปรู้ได้ว่า หู จินเถา อาจเป็นบุคคลที่ประธานาธิบดีบุชอยากพบที่สุดหลังเสร็จสิ้นสงครามอิรัก


[1] DNI COATS OPENING STATEMENT ON THE 2019 WORLDWIDE THREAT ASSESSMENT OF THE U.S. INTELLIGENCE COMMUNITY-สามารถเข้าถึงได้ที่ https://www.dni.gov/index.php/newsroom/congressional-testimonies/item/1949-dni-coats-opening-statement-on-the-2019-worldwide-threat-assessment-of-the-us-intelligence-community
[2] พจนานุกรม Collins English Dictionary ให้ความหมายและตัวอย่างประโยคว่า an instinctive feeling, as opposed to an opinion or idea based on facts. For all the wonders of modern technology, there is no substitute for the gut instinct of a skilled police officer.
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.