ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้: นิติเวชวิทยาศาสตร์สืบสวน

ที่มาภาพ: https://www.dailynews.co.th/crime/741644

หตุโจมตีจุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่บ้านทุ่งสะเดา ตำบลลำพระยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2019 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 คน บาดเจ็บ 4 คน ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี[1] ของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ซึ่งมีจุดสนใจเกี่ยวกับเขตทางศาสนาและเชื้อชาติ (Malay Muslim) แม้กลุ่มก่อความไม่สงบใน จชต.มิได้หลอมรวมกับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติเช่น อัล-ไคดาหรือรัฐอิสลาม (Islamic State) แต่การระดมกำลังทหารจำนวนมากในพื้นที่จะทำให้ จชต.กลายเป็นเขตยึดครองทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
          บุคคลากรซึ่งรักษาการจุดตรวจที่ถูกโจมตีประกอบด้วย ชรบ., ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) และราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ในจำนวนผู้เสียชีวิตแบ่งเป็นชาวไทยมุสลิม 2 คน ชาวไทยพุทธ 13 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานพบว่า ผู้ก่อเหตุใช้อาวุธอย่างน้อย 3 ชนิดโจมตีป้อม ชรบ. คือ ปืนเล็กยาว ปืนเอ็ม 16 และปืนอาก้า โดยทิ้งปลอกกระสุนกว่า 100 ปลอก ขณะเดียวกันมีรายงานว่าผู้ก่อเหตุได้ขโมยอาวุธประจำกายของ ชรบ. และ ชคต. จำนวนหนึ่งไปจากป้อม ได้แก่ ปืนเอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอก ปืนลูกซองยาว 2 กระบอก และปืนพกสั้น 5 กระบอกฝ่ายความมั่นคงคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้ร่วมก่อเหตุไม่ต่ำกว่า 12 คน แต่ถ้ารวมผู้สนับสนุนด้วยก็จะเป็นราว 40 คน[2]
          ความขัดแย้งใน จชต.มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และเชื้อชาติตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1950 และปะทุขึ้นในปี 2004  (กรณีปล้นปืนค่ายทหาร) รายงานจากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch Database) ระบุว่า เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่มกราคม 2004 จนถึงมิถุนายน 2019 มีจำนวนเหตุการณ์ 20,323 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 6,997 คน บาดเจ็บ 13,143 คน  หากดูเฉพาะสถิติในปี 2019 (มกราคม– มิถุนายน) มีจำนวนเหตุการณ์ 222 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 92 คนและบาดเจ็บ 153 คน[3]
สถานการณ์ความรุนแรงใน จชต.พุ่งขึ้นสูงสุดในปี 2007 และลดลงในปี 2019 โดยเฉพาะช่วงกันยายนตุลาคมที่ผ่านมา สถิติการเสียชีวิตจากการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นที่น่าสังเกตว่า 3 วันหลังเกิดเหตุสังหารหมู่ ขบวนการบีอาร์เอ็นได้ออกมากล่าวอ้างความรับผิดชอบผ่านข้อความที่เผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “BRN Barisan Revolusi National (มีข้อสังเกตว่าคำว่า National สะกดต่างจากชื่อกลุ่ม BRN ที่สะกดว่า Nasional)[4] ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นการแก้แค้นให้แก่สมาชิกที่เสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของฝ่ายทหารเมื่อสิงหาคม 2019
ในอดีตประชาชนใน จชต.เคยแสดงความไม่พอใจนโยบายการปกครองอย่างเข้มงวดของรัฐบาลซึ่งแปลกแยกจากวัฒนธรรมมาเลย์ในท้องถิ่น (ร้อยละ 80 ของประชากร 2 ล้านคนสืบเชื้อสายมลายู) แหล่งกำเนิดของกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถสืบย้อนกลับไปยังโรงเรียนสอนศาสนาและมัสยิดที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง[5] ขณะที่การพูดคุยสันติภาพริเริ่มในปี 2013 และยุติอย่างฉับพลันโดยฝ่ายทหาร นับตั้งแต่พฤษภาคม 2014 รัฐบาลแสดงความเต็มใจในการเจรจาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลประโยชน์จากความรุนแรงที่ลดลงทำให้การเจรจาไม่คืบหน้า ปัญหา จชต.จึงเป็นความขัดแย้งในระดับต่ำ (Low-Intensity Conflict) ที่คุกรุ่น[6]
ปัจจุบันเริ่มมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าการที่รัฐบาลไม่มีกรอบการเจรจาสันติภาพที่ชัดเจน รวมทั้งการปฏิเสธข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาของกลุ่มก่อความไม่สงบโดยสิ้นเชิง จะเป็นการส่งสัญญาณทำให้สถานการณ์หวนกลับไปสู่ความรุนแรงแบบเดิมกล่าวคือ นอกจากการซุ่มยิง ลอบยิงเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือน ลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Devices - IEDs) ยังมีการโจมตีที่ออกแบบวางแผนอย่างดีเพื่อดึงดูดความสนใจสื่อมวลชนและรัฐบาล หลายปีที่ผ่านมากลุ่มก่อความไม่สงบใน จชต. เคยใช้ยุทธวิธีก่อความรุนแรงแบบเดียวกับที่กลุ่มหัวรุนแรงทั่วโลกใช้โดยการฆ่าตัดศีรษะและเผาศพเหยื่อ[7]
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน จชต. ส่วนใหญ่มุ่งความสนใจเกี่ยวกับปัญหาเชื้อชาติและเขตทางศาสนา มิได้เชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติเช่น อัล-ไคดาและรัฐอิสลาม รวมทั้งมิได้ศรัทธาแนวทางขบวนการซาลาฟี (Salafism)[8] โดยธรรมชาติ แต่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุหนี่ที่ยึดถือแนวทางของสำนักคิดชาฟิอี[9]เช่นเดียวกับมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สภาพทางภูมิศาสตร์ของ จชต.และความไม่สอดคล้องของกองกำลังรักษาความมั่นคงซึ่งมักถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้มาตรการเข้มงวดเป็นเหตุให้การก่อความไม่สงบกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็มิได้มีความเป็นเอกภาพ และยังคงมีจุดประสงค์การเคลื่อนไหวที่แตกต่างตั้งแต่การแยกตัวเป็นอิสระ (independence) ไปจนถึงการกระจายอำนาจ (decentralized) และการปกครองตนเอง (autonomy)
การเคลื่อนกำลังพลรักษาความมั่นคงสำหรับภารกิจดับไฟใต้ รวมทั้งหมดอยู่ที่ 39,465 นาย (แยกเป็นทหาร 24,004 นาย ตำรวจ 9,809 นาย พลเรือน อส. 5,652 นาย) นอกจากนั้นยังมีกองกำลังภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานความมั่นคงอีก 95,974 คน (ชรบ. อรบ. อรม. ทสปช. อปพร.) รวมกำลังพลทุกฝ่าย 135,439 นาย  ได้เปลี่ยนพื้นที่ จชต.ให้กลายเป็นเขตยึดครองทางทหาร ขณะที่กลุ่มก่อความไม่สงบบางส่วนขยายปฏิบัติการโจมตีนอกพื้นที่ จชต.และส่วนใหญ่ที่ยังคงก่อเหตุในพื้นที่มุ่งความสนใจที่กองกำลังรักษาความมั่นคง



[1] สื่อต่างชาติเกาะติด เหตุโจมตี ชรบ.จ.ยะลา มติชนออนไลน์ 7 พฤศจิกายน 2562 16:16 น. https://www.matichon.co.th/foreign/news_1744002
[2] ยิงถล่ม ชรบ. ยะลา : เรารู้อะไรบ้างในรอบสัปดาห์ BBC THAI 13 พฤศจิกายน 2019 https://www.bbc.com/thai/50402228
[3] อัลกอริทึมของความแปรปรวนในความรุนแรง 15 ปี ชายแดนใต้/ปาตานี ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เรื่อง ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ THE 101 Aug 16, 2019 https://www.the101.world/algorithm-of-violence-in-deep-south/
[4] สารถึง ชรบ.อรบ.อรม.ทสปช.และกองกำลังประชาชนในภาคส่วนอื่นและผู้ช่วยเหลือทางราชการงานความมั่นคงฝ่ายพลเรือน BRN Barisan Revolusi National November 15 at 10:46 AM - https://www.facebook.com/BRN-Barisan-Revolusi-National-1380087125452122/
[5] ปิด'ร.ร.ปอเนอะ'เก็บ'DNA'500คน หามือถล่มฆ่า15ชรบ. เดลินิวส์ 14 พฤศจิกายน 2562 เวลา 18.00 น.https://www.dailynews.co.th/crime/741644
[6] การต่อสู้ในทางการเมืองและการทหารในขอบเขตจำกัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง การทหาร สังคมและจิตวิทยา ซึ่งมีลักษณะของความขัดแย้งตั้งแต่การเจรจาต่อรอง การกดดันทางเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา การก่อการร้าย จนถึงสงครามก่อความไม่สงบ ความขัดแย้งในระดับต่ำโดยทั่วไปจะเป็นการต่อสู้โดยมีระดับความรุนแรงของการใช้อาวุธและยุทธวิธีในลักษณะยืดเยื้อ
[7] SOUTHERN THAILAND’S FORGOTTEN CONFLICT SOUFAN CENTER Wednesday, November 13, 2019 https://mailchi.mp/thesoufancenter/southern-thailands-forgotten-conflict?e=c4a0dc064a
[8] หมายถึงขบวนการเผยแผ่ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางศาสนาของมุสลิมสำนักนิกายอื่นๆ  ขบวนการซาลาฟีมุ่งหมายที่จะเจริญรอยตามวัตรปฏิบัติทางศาสนาและศีลธรรมของอิสลามสามรุ่นแรก (al-salaf al-salih—บรรพบุรุษผู้ทรงธรรม)  เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ ขบวนการซาลาฟีจึงตีความพระคัมภีร์แบบตรงตามตัวอักษร  เป้าหมายสูงสุดของขบวนการซาลาฟีคือทำให้มุสลิมสำนักนิกายอื่นๆยอมรับว่าอิสลามในแบบของซาลาฟีคือหลักศาสนาดั้งเดิม ขณะที่การตีความแบบอื่นเป็นการบิดเบือนจากรูปแบบบริสุทธิ์ของศาสนา  ในเชิงความคิดนั้น กลุ่มเหล่านี้แตกต่างจากขบวนการปฏิรูปศาสนาอิสลาม ซึ่งอ้างตัวเป็นขบวนการซาลาฟีเช่นกันและหยั่งรากลึกอยู่ในภูมิภาคนี้ https://kyotoreview.org/thai/modalities-of-salafi-transnationalism-in-southeast-asia-thai-2/
[9] ผู้ให้กำเนิดสำนักคิดนี้คือ อิหม่ามชาฟิอีย์ ท่านเกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจน แต่มีความมั่นใจสูงมาก ท่ามกลางความแร้นแค้นในวัยศึกษาเป็นผู้มีความสามารถและมีมันสมองที่ดีเฉลียวฉลาด สามารถท่องจำอัลกุรอ่านตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ยังได้ท่องจำและจดบันทึกหะดีษไว้เป็นจำนวนมาก http://oknation.nationtv.tv/blog/shukur/2011/01/16/entry-2
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

1 comment:

  1. รัฐมุ่งแก้ปัญหาไกลตัวชาวบ้าน ทุ่มโครงการฯ ที่เป็นภาพรวมซึ่งชาวบ้านไม่รู้สึกว่าตัวเองได้อะไร.... ส่วนของใกล้ตัวที่ส่งผลต่อตัวบุคคลโดยตรงกลับไม่สนใจ ถึงได้มีปัญหามวลชน...ผมว่าเองน่ะคับ

    ReplyDelete

Powered by Blogger.