Airbnb กับความเสี่ยง (การก่อการร้าย): หรือภัยคุกคามธุรกิจไทย ?

ที่มา:https://www.thansettakij.com/content/business/416255?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral

ารขยายตัวของธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy)[1] โดยเฉพาะ Airbnb[2]  ในไทย ซึ่งให้บริการที่พักหลายรูปแบบ (บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ อพาร์ทเมนท์ และอาคารชุด) โดยเจ้าของนำสินทรัพย์มาเสนอปล่อยเช่าในช่วงระยะเวลาสั้นๆในระบบ Airbnb ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานผ่าน Application บนอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทำให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกมากขึ้นในการหาที่พักจากเดิมที่ต้องจองห้องพักของโรงแรม หรือเกสต์เฮาส์ บริการห้องพักของ Airbnb ในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในกันยายน 2016 มีที่พักให้เช่าในกรุงเทพฯประมาณ 8,900 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 4,600 แห่งในปลายปี 2015 และช่วง 7 เดือนแรกของปี 2016ครึ่งหนึ่งของที่พักเหล่านี้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือนละมากกว่าร้อยละ 60
          การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนห้องพักที่เข้าร่วมกับ Airbnb ทำให้เกิดการแย่งลูกค้าโรงแรมที่จดทะเบียนและเสียภาษีให้รัฐอย่างถูกต้อง (เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมกับ Airbnb ส่วนใหญ่ไม่เสียภาษีและไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจโรงแรมตามกฎหมาย) กรณีที่เป็นปัญหาในปัจจุบันและมีแนวโน้มมากขึ้น คือ เจ้าของห้องชุดนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวัน นอกจากเป็นการรบกวนเจ้าของห้องชุดอื่นๆที่อาศัยอยู่ในอาคารชุดเดียวกัน ยังเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของร่วมอื่นๆ เนื่องจากแขกผู้เข้าพักมักไม่ใส่ใจดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง และอาจเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วลืมปิด และที่สำคัญ คือ มีความเสี่ยงจากการถูกใช้เป็นแหล่งซุกซ่อนอาวุธ สารเคมี หรือวัตถุระเบิดของผู้ก่อการร้ายในระหว่างที่พักอยู่หรือหลังจากสิ้นสุดการเช่าห้องพัก[3]                      
          สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา มีความเห็นเกี่ยวกับการนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวันว่า อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ  1) พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และ 2) พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2478 สอดคล้องกับนายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้รับจ้างบริหารนิติบุคคลอาคารชุดที่ระบุว่า นิติบุคคลอาคารชุดไม่สามารถห้ามเจ้าของห้องชุดนำห้องชุดมาปล่อยเช่าห้องรายวันได้ กรณีทรัพย์สินส่วนกลางเกิดความเสียหายจากการกระทำของแขกผู้เข้าพัก ทางนิติบุคคลก็จะเรียกเก็บค่าเสียหายและฟ้องหมิ่นประมาทกับเจ้าของห้องชุดดังกล่าว
          นโยบายพัฒนาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาลและการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้พรมแดนในยุค 4G แม้มีส่วนช่วยทำให้ธุรกิจ startup ขยายตัวอย่างรวดเร็วและส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความท้าทาย และอุปสรรคต่อการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเฝ้าระวังการก่อการร้าย ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อรับมือภัยคุกคามแบบใหม่ในระยะต่อไป
          การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Airbnb ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมระดับกลาง-ล่าง แม้มีการออกกฎหมายควบคุมห้องพัก ซึ่งทําให้การขยายตัวของห้องพัก Airbnb ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันจะทำให้ธุรกิจเข้ามาแข่งขันในตลาดโรงแรมได้อย่างเต็มตัว ปัจจุบันกลุ่มลูกค้า Airbnb ยังเป็นคนละกลุ่มกับนักท่องเที่ยวหลักที่เข้าพักโรงแรมในไทย ดังนั้น ธุรกิจโรงแรมในไทยจึงอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาแย่งตลาดมากนัก อีกทั้งราคาโรงแรมในไทยที่ใกล้เคียงกับ Airbnb ทำให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเลือกพักในโรงแรมมากกว่า   อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่ Airbnb จะเข้ามาเป็นคู่แข่งหลักกับตลาดโรงแรมในไทยในอนาคต เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเริ่มหันมาใช้ Airbnb มากขึ้นกว่า 1 ล้านคน และการขยายตัวของห้องพัก Airbnb ในกรุงเทพฯกว่า ร้อยละ 100 ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมควรปรับกลยุทธ์เพื่อแข่งขันกับ Airbnb ในอนาคต ในส่วนของธุรกิจบริการอื่นๆ ก็สามารถใช้ Airbnb ในการต่อยอดธุรกิจปัจจุบันได้ นอกจากนี้ภาครัฐควรมีมาตรฐานที่ชัดเจนในการควบคุมธุรกิจ Airbnb ที่กําลังเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้กระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวม[4]
          สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีเจ้าของห้องชุดนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวัน ซึ่งผิดระเบียบข้อกฎหมายและส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกระเบียบกำหนดคุณสมบัติเจ้าของห้องชุดที่จะนำห้องชุดประกอบธุรกิจห้องเช่ารายวันดังนี้[5]
                    อสังหาริมทรัพย์ที่นำมาปล่อยเช่ารายวันจะต้องเป็นบ้านเดี่ยว  ทาวน์เฮาส์ หรืออาคารพาณิชย์ที่ไม่อยู่ในโครงการที่มีทรัพย์สินส่วนกลางเท่านั้น
                    ห้องชุดของอาคารชุดที่ปล่อยเช่าระยะยาวไม่สามารถนำมาปล่อยเช่ารายวันได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความสงบสุขและความปลอดภัยของเจ้าของร่วมอื่นๆ
                    การปล่อยเช่ารายวันจะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตการประกอบธุรกิจโรงแรมจากทางการซึ่งเป็นกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตดังกล่าวอย่างเข้มงวด
          ล่าสุดเมื่อ 6 ธันวาคม 2019 นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้ส่งจดหมายถึง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมสำเนาถึงรัฐบาล[6]  สรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ Airbnb ว่า การที่ Airbnb ดำเนินกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยรายวันทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม และไม่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านการป้องกันไฟไหม้ ความปลอดภัย รวมถึงมาตรการอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพักอาศัยเฉกเช่นเดียวกับผู้ประกอบการโรงแรมส่งผลให้เจ้าของร่วมและผู้ประกอบการโรงแรมเสียหายและเสียเปรียบ ทั้งนี้ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สิงคโปร์และอีกหลายรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฏหมายบังคับใช้สำหรับควบคุมการดำเนินกิจการของ Airbnb แล้ว[7]
          Airbnb คุกคามการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรม การให้เช่าที่อยู่อาศัยในลักษณะดังกล่าวโดยปราศจากการควบคุมที่เป็นระบบระเบียบจากทางภาครัฐ ถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม สำหรับประเทศไทยนั้นก็ยังไม่มีมาตรการจากทางรัฐบาลในการปกป้องสาธารณประโยชน์ นักลงทุนในอุตสาหกรรมการโรงแรมและผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความไม่ชัดเจนในการเสียภาษีของ Airbnb จากรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมที่จดทะเบียนต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการท่องเที่ยว ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการท่องเที่ยวต่อไป แต่ Airbnb ก็ได้รับค่านายหน้าเมื่อมีการเช่าห้องพัก มีข้อสันนิษฐานจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึง สื่อ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และงานวิจัยการศึกษา ที่บ่งชี้ว่ากรมสรรพากรไม่มีการจัดเก็บภาษีจากนายหน้าเหล่านี้ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาของประเทศ



[1] ไม่ใช่เรื่องของการประชาสงเคราะห์ แต่เป็นการนำทรัพยากรส่วนเกินของบุคคลหนึ่งไปแบ่งให้อีกคนหนึ่งที่ต้องการเช่าใช้บริการ เชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีที่มีความสะดวก รวดเร็ว และสามารถให้บริการซ้ำๆ กับคนอื่นๆ ได้ หัวใจสำคัญคือความเชื่อมั่นและความปลอดภัยของผู้บริโภค ดร.ธัชพล กาญจนกุล, Sharing Economy : เศรษฐกิจแบ่งปัน โอกาสใหม่ของ Startup เมืองไทยโพสต์ ทูเดย์  (กันยายน 2016)
[2] ธุรกิจ Startup ก่อตั้งเมื่อปี 2008 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ปัจจุบันมีเครือข่ายการให้บริการครอบคลุม 34,000 เมือง ใน 191 ประเทศ Airbnb มีเป้าหมายเชิงรุกการตลาดในกลุ่มประเทศ ASEAN โดยจัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาค (REGIONAL HEADQUARTER) แห่งใหม่ที่สิงคโปร์ และตั้งเป้าหมายจะมีห้องให้เช่าใน ASEAN จำนวน ล้านหน่วย ทั้งนี้ ในปี 2558 ที่ผ่านมาย่านบางลำพู กรุงเทพฯมีอัตราการขยายตัวสูงอันดับ ของการขยายตัวของ Airbnb ทั่วโลก
[3] กิติชัย  เตชะงามเลิศผลกระทบของ Airbnb (ตอนที่ 1) โพสต์ ทูเดย์ (29 มิถุนายน 2016) คอลัมน์ เขียนอย่างที่คิด
[4] Airbnb สะเทือนวงการโรงแรมจริงหรือ?, Economic Intelligence Center, SCB (23 พฤศจิกายน 2016)
[5] กิติชัย  เตชะงามเลิศ, ผลกระทบของ Airbnb (ตอนจบ) โพสต์ ทูเดย์ (6 กรกฎาคม 2559) คอลัมน์ เขียนอย่างที่คิด
[6] อาทิ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทยและนายชาติชาย พยุหนาวีชัย  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
[7] “ไมเนอร์”ออกโรงต้าน “Airbnb” จี้มหาดไทยรีดภาษี ฐานเศรษฐกิจ (ธันวาคม 2019) https://www.thansettakij.com/content/business/416255?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.