กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยกระดับตัวตนและการโฆษณาชวนเชื่อ

ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/world/2020/apr/17/far-right-coronavirus-protests-restrictions

ลุ่มขวาจัดรวมทั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและพวกหัวรุนแรงสุดโต่งในสหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวและโฆษณาชวนเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่ไวรัสโคโรนา (COVID-19) เริ่มแพร่ระบาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลปลุกปั่นให้ผู้สนับสนุนปฏิเสธมาตรการ “อยู่บ้าน (stay at home)” ซึ่งประกาศโดยมลรัฐต่าง ๆ และจัดชุมนุมในที่สาธารณะพร้อมอาวุธปืนอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นพาหะตัวนำ (vector) ที่สมบูรณ์แบบในการแพร่กระจายทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการกดขี่เสรีภาพ (ส่วนบุคคล) ของรัฐบาล ขณะที่การสนับสนุนให้ประชาชน "ปลดปล่อย" มลรัฐของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้การออนไลน์ของกลุ่มขวาจัดสุดโต่งที่รียกร้องสงครามกลางเมือง (civil war) เพิ่มขึ้นอย่างมาก[1]
          ในห้วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส กลุ่มขวาจัด (far-right) และพวกหัวรุนแรงสุดโต่ง (violent extremist) ในสหรัฐฯค่อย ๆ เผยตัว เร่งปฏิกิริยาเศรษฐสังคม (socio-economic) และการเมืองท่ามกลางความแตกแยกของประชาชนในประเทศ ซึ่งถูกทำให้เลวร้ายมากขึ้นโดยสื่อสังคม (social media) ระหว่างการแพร่ระบาด กลุ่มเหล่านี้แสวงประโยชน์จากวิกฤติโดยหว่านแพร่ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลและสถาบันต่าง ๆ เกี่ยวกับการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ (flatten the curve) หรือชะลออัตราการติดเชื้อ เพื่อป้องกันมิให้ระบบบริบาลสุขภาพพังทลาย ซึ่งหลายประเทศประกาศใช้เพื่อจำกัดการรวมกลุ่มในที่สาธารณะและศูนย์การพาณิชย์
          ในสหรัฐฯ ผู้ว่าการมลรัฐเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจดำเนินมาตรการปิดขัง (lock down) หลังจากพิจารณาข้อมูลอย่างระมัดระวัง โดยมีข้อยกเว้นบางประการ การแพร่ระบาดของไวรัสเป็นวิกฤติระดับโลกและภัยพิบัติทางเศรษฐกิจที่เกือบจะไม่มีแบบอย่างมาก่อน โดยมีผลต่อเนื่องไปถึงการเงินการคลังและก่อให้เกิดความหวาดวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยและการตกต่ำทางเศรษฐกิจ
          กลุ่มต่อนต้านรัฐบาลในสหรัฐฯแสวงประโยชน์จากความวิตกกังวล ขยายความรู้สึกไม่แน่นอนและส่งเสริมเรื่องเล่าของตน กลุ่มเหล่านี้สนับสนุนความรุนแรงและความไม่ไว้วางใจรัฐบาล ส่วนใหญ่ครอบอาวุธและปลุกปั่นให้สมาชิกลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลที่ปกครองแบบทรราช (เผด็จการ) แนวคิดอุดมการณ์ดังกล่าวเคยปรากฎในสหรัฐฯมานานหลายปี อาทิ โลกทัศน์ของ Timothy McVeigh ที่วางระเบิดอาคารสำนักงานรัฐบาลกลาง Alfred P. Murrah ใน Oklahoma City รัฐ Oklahoma ในปี 1995 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 168 คน และการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนขาวผู้สูงส่งที่ Charlottesville มลรัฐ Virginia เมื่อสิงหาคม 2017 เพื่อรวมพลังฝ่ายขวา (Unite the Right)
          คำสั่งของมลรัฐที่ห้ประชาชนอยู่ที่บ้านหรือหลบภัยในสถานที่ที่ตัวเองอยู่ (shelter in place) ทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นพังพินาศ แต่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้อัตราการติดเชื้อไวรัสและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น อัตราการเสียชีวิตในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยในรอบ 2 เดือนมีผู้เสียชีวิต 55,000 คน หากไม่มีมาตรการดังกล่าวการเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่กลางมีนาคม 2020 กลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่งเรียกร้องมวลชนไม่ให้เชื่อฟังรัฐบาล และต่อต้านมาตรการด้านสุขภาพของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงประธานาธิบดีทรัมป์ผู้สนับสนุนการปลดปล่อยรัฐที่ออกคำสั่งปิดการดำเนินธุรกิจ (shut down)
          พวกหัวรุนแรงต่าง ๆ ตั้งแต่กลุ่ม neo-Nazis ไปจนถึงนักทฤษฎีสมคบคิด QAnon ตอบรับแถลงการณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์และจัดการชุมนุมแบบติดอาวุธในรัฐต่าง ๆ กลุ่มคนเหล่านี้และกระบอกเสียงในสื่อสังคมถือว่ามาตรการเข้มงวดด้านสาธารณสุขเทียบเท่าการต่อสู้ของขบวนการสิทธิพลเมืองแอฟริกัน – อเมริกัน ในปี 1960 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีในทศวรรษ 1930 และ 1940
แม้กลุ่มเหล่านี้เป็นพวกเหยียดเชื้อชาติและต่อต้านยิว (anti-semitic) แต่มีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมในซอยโรงโบว์ลิง ร้านอาหารและร้านสักลาย ขณะนี้ในสหรัฐฯมีมากกว่า 125 กลุ่มที่ใช้ Facebook เป็นเครื่องมือส่งเสริมการต่อต้านมาตรการด้านสาธารณสุขและสนับสนุนความรุนแรง กลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดลดลง
กลุ่มต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มคนขาวผู้สูงส่งแสวงหาจุดร่วมกับกลุ่มต่อต้านวัคซีน เพื่อตีตรามาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด ขณะที่หลายประเทศกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ กลุ่มเหล่านี้บอกผู้สนับสนุนว่าการแพร่ระบาดไม่ได้เลวร้ายอย่างที่รัฐบาลสร้างภาพ วัคซีนเกี่ยวข้องกับการสมคบคิดของ Bill Gates ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft และ George Soros ผู้ใจบุญ กลุ่มเหล่านี้อ้างด้วยว่า มาตรการห้ามการทำธุรกิจและการเดินทางชั่วคราวของรัฐบาลกลางเป็นบทนำไปสู่การห้ามอย่างถาวรเพื่อยึดอำนาจ รวมทั้งกล่าวหาว่ารัฐบาลทำเกินเลยเกี่ยวกับปัญหาอาวุธปืน
กลุ่มเหล่านี้สร้างภาพตัวเองเป็นเหยื่อของปัญหาการครอบครองอาวุธอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีการผ่านร่างกฎหมายควบคุมอาวุธปืนในปีนี้แต่อย่างใด ผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนหนึ่งสวมหน้ากากปิดใบหน้าพร้อมอาวุธโดยแสดงสิทธิจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 (2nd Amendment rights)[2] สำหรับเจ้าหน้าที่พลเรือนและบังคับใช้กฎหมายเห็นว่า การชุมนุมพร้อมอาวุธเป็นยุทธวิธีข่มขู่อย่างเห็นได้ชัด ขณะนี้ยังไม่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ประท้วงติดอาวุธกับผู้บังคับใช้กฎหมาย หากเกิดความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวจากการตอบโต้ที่เกินเลย อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่ากลัว ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้หลังจากนี้คือ การตั้งตนเป็นศาสดาและสร้างเรื่องเล่าของกลุ่มขวาจัด พวกคนขาวผู้สูงส่งรวมทั้งกองทหารอาสาสมัครในท้องถิ่นและกลุ่มต่อต้านรัฐบาล



[1] ANTI-GOVERNMENT GROUPS ELEVATE PROFILE AND PROPAGANDA DURING PANDEMIC INTELBRIEF Thursday, April 30, 2020 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/anti-government-groups-elevate-profile-and-propaganda-during-pandemic?e=c4a0dc064a
[2] รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มีบทแก้ไขเพิ่มเติมที่สองหรือ Second Amendment กล่าวถึงสิทธิ์การครอบครองอาวุธปืนของประชาชนไว้ นักการเมืองรีพับลิกันและประชาชนจำนวนมากเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิ์ดังกล่าวตลอดมา
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

1 comment:

  1. ในสังคมยุคปัจจุบัน social media เป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งของการแสดงออกซึ่งเสรีภาพ เพื่อช่วยปลดเปลื้องประชาชนจากโซ่ตรวนแห่งการเอารัดเอาเปรียบ จากการกดขี่ครอบงำ และจากความตื้นเขินทางปัญญา เสรีภาพของชนหมู่มากย่อมนำไปสู่การปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ และเสริมขยายกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจำเป็นมากสำหรับความเจริญเติบโตของสังคม (สรุปมาจากปาฐกถาของท่านเสกสรรค์ ประเสริฐกุล https://www.thansettakij.com/content/266831)

    การเกิดขึ้นของเครือข่าย social media ทั้ง Facebook, Line, Twitter หรือ platform อื่นๆ ส่งผลให้การสื่อสารถึงสาธารณชนสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องก้าวเท้าออกจากบ้าน ถึงแม้ในบางประเทศจะพยายามควบคุมการใช้ social media อย่างเข้มข้น แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก

    social media อาจจะพาคนมาพบกันเพื่อสร้างฉันทามติในสิ่งที่ถูก และร่วมแรงกันต้านสิ่งที่ผิด หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อความเติบโตทางปัญญาได้ แต่ก็อาจแอบแฝงด้วยการอาศัยเรื่องดีๆ แต่ถูกแทรกซ้อนไปด้วยแรงริษยา วาจาที่บ่มเพาะความเกลียดชัง หรือข่าวสารปลอมๆ ก็ได้

    นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถใช้ในการใช้ปลุกระดม โดยการแสวงประโยชน์จากวิกฤต เพื่อตั้งตนเป็นศาสดาและสร้างเรื่องเล่าเพื่อหว่านแพร่ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลและสถาบันต่างๆ เหมือนที่ท่านคิมได้กล่าวถึง และ social media ยังช่วย empower หรือเพิ่มอำนาจให้กับปัจเจกชนให้มีเสียงดังขึ้น เหมือนไมโครโฟนที่ใช้ในการพูดกับคนจำนวนมากได้ ถ้าหากบางคนที่ขาดสติ จะรู้สึกเหมือนตนเองกลายเป็นราชสีห์ และคิดว่าเป็นการคำรามที่ดังกึกก้อง

    หน้าที่ของรัฐและสังคมที่ควรร่วมกันคิด ก็คือ ควรทำอย่างไรเพื่อจะให้อำนาจในการส่งข่าวสารของผู้คนในสังคมเป็นไปแบบ soft power ที่ประณีตและน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น มากกว่าการถูกใช้ไปในทางที่เสีย แต่อย่างน้อย รัฐก็ไม่ควรปิดกั้นการใช้ social media แต่ควรประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นและกว้างขวางทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และอยู่ร่วมกันในโลก social media ได้ โดยเฉพาะการให้รู้เท่าทันในทุกแง่มุม ทั้งด้านดีและด้านเสีย ที่มาจาก social media

    ReplyDelete

Powered by Blogger.