การบิน THAI ในความทรงจำ: ไม่มีหุ้นแต่ไม่ “ขาดหุ้น”


If you do what you’ve always do, you’ll get what you’ve always gotten. ถ้าคุณทำในสิ่งที่เคยทำคุณก็ได้ในสิ่งที่เคยได้ Anthony J.Robbins

รื่องที่น่าจดจำของผมเกี่ยวกับสายการบินแห่งชาติหรือการบินไทย คือ การได้มีโอกาสขึ้นเครื่องบินครั้งแรกในชีวิต เพื่อไปประจำการที่เมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2534 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บริษัทการบินไทยเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand - SET) โดยใช้ชื่อย่อ THAI[1] นับจากวันก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน THAI มีอายุการดำเนินงานมากว่า 60 ปี (ถ้าเป็นคนก็อยู่ในวัยชรา) อีกทั้งยังเป็นบริษัทฯจดทะเบียนของไทยที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) มากที่สุด 106,958 ราย คิดเป็นร้อยละ 48.97 (ณ วันที่ 1 เมษายน 2562) โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ ร้อยละ 51.03[2] THAI ใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีก็มีเส้นทางบินครอบคลุมเมืองสำคัญในเอเชียทั้งหมด
          ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา THAI ตกเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังไม่พิจารณาแผนฟื้นฟูเร่งด่วน “การบินไทย” โดยชี้ว่าต้องเร่งเคลียร์ปัญหาภายในให้เข้าใจ หลังให้โอกาสมาตลอด 5 ปี แต่ไม่สำเร็จ จึงเป็นโอกาสสุดท้าย[3] อะไรเป็นเหตุให้สายการบินแห่งชาติที่เคยนำชื่อเสียงและเกียรติภูมิมาสู่ประเทศไทย ในแง่ของความสำเร็จที่ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการและจากสถาบันสำคัญ ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ ตกต่ำหมดแรงบินจนต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลบรรดากูรูและนักวิเคราะห์รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ ได้ให้ความเห็นอย่างกว้างขวางตามสื่อต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
บางคนกล่าวโทษผู้นำรัฐบาลในอดีต (แต่ไม่เคยโทษตัวเอง) บ้างก็พยายามหา “แพะรับบาป” หรือไม่ก็ปัดสวะไม่พ้นตัว ขว้างงูไม่พ้นคอ พัวพันยุ่งเหยิงไปหมด อ่านแล้วเพลีย แต่ “ถ้าจะสรุปสาเหตุรากฐาน (ultimate cause) ของความล่มจม #การบินไทย ในหนึ่งประโยค (โควิดแค่มาเร่งให้ล้มเร็วขึ้นเท่านั้น) จะสรุปว่า บริษัทถูกด้านที่เลวร้ายที่สุดของระบอบอุปถัมภ์แบบไทย ๆ (คอรัปชันแบบแย่สุดก็อยู่ในระบอบนี้) กัดกินจนพรุน แผนฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายจึงต้องทลายระบอบนี้ให้ได้”[4] ข้อความทวีตดังกล่าว น่าจะเป็นคำตอบสำหรับคำถามข้างต้นได้เป็นอย่างดี
ในฐานะนักลงทุนรายย่อยซึ่งไม่ได้ถือหุ้น THAI และไม่ได้เป็นคน “ขาดหุ้น” (ภาษาถิ่นภาคใต้)[5] จะนำเสนอมุมมองการวิเคราะห์งบการเงินของ THAI จากข้อมูลผลประกอบการในอดีตตั้งแต่ปี 2559 2562 (ข้อมูลจากแหล่งข่าวเปิด/http://www.set.or.th) เพื่อประเมินมูลค่าในอนาคต โดยอาศัยแนวทางวิเคราะห์จากหนังสือ “วิเคราะห์งบการเงินสำหรับซื้อขายหุ้น” จัดทำโดยสำนักพิมพ์ “พราว” (พิมพ์ครั้งที่ พฤษภาคม 2559) อนึ่ง บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองจัดทำข่าวกรองจากแหล่งเปิด (OSINT)
แนวคิดของงบดุล คือ บริษัท (กิจการ) มีทรัพย์สมบัติอะไรก็ตามทั้งเงินทอง อาคาร สินค้า เครื่องจักร เครื่องบิน ฯลฯ จะถูกบันทึกในงบดุล (ดูภาพประกอบ) บรรทัดแรกเรียกว่า สินทรัพย์ บางครั้งก็ยืม (กู้) เงินที่อื่นมาซื้อ เนื่องจากกู้ยืมมาจึงไม่ใช่ของเรา ส่วนที่ยืมมาเรียกว่า หนี้สิน (ไม่ใช่รายได้เพราะไม่ได้เกิดจากการขายบัตรโดยสาร) ถ้าเอาทั้งหมดที่เรามีหักหนี้ออกจะเหลือส่วนที่เป็นของเราจริงหรือ ส่วนของผู้ถือหุ้น (เจ้าของ) เป็นตัวเลขที่บันทึกไว้ในบัญชีหรือ มูลค่าตามบัญชี (Book Value) ธุรกิจบางอย่างคาดเดากำไรยาก การใช้กำไรมาประเมินจึงไม่ค่อยเหมาะสม
บรรทัดต่อมา มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว แปลว่า (ผู้ถือหุ้น) ใส่เงินเข้าไปเท่าไร จากภาพประกอบ ตั้งแต่     ปี 2559 – 2562 บริษัทไม่ได้มีการขอเงินจากผู้ถือหุ้นเพิ่ม มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้วเท่าเดิมตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แปลว่าธุรกิจโตได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใส่เงินลงไปเพิ่ม กิจการนี้น่าจะไปโลดอย่างไรก็ดี พอเหลือบตาไปดู ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ทุน จะเห็นว่าลดลงจาก 33,501 ล้านบาทในปี 2559 เหลือ 11,659 ล้านบาทในปี 2562 เนื่องจากการดำเนินงานของบริษัทมีผลขาดทุนหรือแสดงว่ามี งบกำไรขาดทุน ซ่อนอยู่ในงบดุล เมื่อดูบรรทัดที่เขียนว่า รายได้รวม และ กำไรสุทธิ เราจะเห็นแนวโน้มที่ลดลงตามลำดับ
ข้อมูลสรุปงบการเงินบอกเราว่า การเติบโตในอดีตถึงปัจจุบันของ THAI เป็นอย่างไร โดยดูจากส่วนของเจ้าของ (โตขึ้น?) ยอดขาย (มากขึ้น?) กำไร (มากขึ้น?) ผลตอบแทน (มากขึ้น?) งบดุลเปรียบเหมือนพื้นฐานของบริษัท งบกำไรขาดทุนคือท่าทาง ผลตอบแทนคือ กำลังภายใน มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ารายได้ของ THAI มีจำนวนนับแสนล้าน ราคาหุ้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563 ปิดที่ 4.82 บาท/หุ้น เป็นช่วงราคาสำคัญน่าสนใจ อาจจะเป็นจุดพัก หรือหากราคาปิดของวันผ่านช่วงราคานี้ไปได้ แต่เมื่อดูอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E)[6] ที่สูงถึง 21 เท่า และขาดทุนสะสม 2.4 แสนล้าน คงต้องบอกว่า เปิดต่อก็ไม่มีกำไร ปิดก็เละ บริษัทนี้ไม่เหมาะที่จะลงทุน เอาไว้เก็งกำไรเล่นเท่านั้น
สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นบททดสอบที่ยุ่งยากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของมนุษยชาติ ซึ่งมีศักยภาพในการคร่าชีวิตคน ครอบงำระบบบริบาลสุขภาพและกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การเมืองอย่างถาวร ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ASIAN DEVELOPMENT BANK - ADB) เปิดเผยในรายงานล่าสุดว่าเศรษฐกิจโลกอาจสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5.8 - 8.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 6.4 - 9.7 ของ GDP โลก เนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อ โคโรนาไวรัส (COVID-19)[7]
ขณะที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานและ CEO ของ Berkshire Hathaway ได้ขายหุ้นสายการบิน 4 บริษัทที่ถือมาตั้งแต่ปี 2016 ทิ้งหมดแล้ว[8] รวมเป็นเงิน 6,509 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบอกว่า “โลกเปลี่ยนไปแล้วสำหรับสายการบินและผมก็ไม่รู้ว่ามันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง” บัฟเฟตต์บอกว่า สายการบินเป็นธุรกิจที่ “เจ็บหนัก” จากวิกฤตรอบนี้ จนไม่สามารถควบคุมความเสียหายได้และไม่รู้ว่าผู้คนจะกลับมานั่งเครื่องบินกันเป็นปกติอีกครั้งเมื่อไร[9]
ในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 19 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการจะดำเนินการทั้งศาลล้มละลายไทยและศาลล้มละลายสหรัฐ รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับแนวทางการฟื้นฟูกิจการการบินไทย 1) เริ่มจากการให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ 2) จากนั้นจะปรับโครงสร้างการบริหาร โดยให้กรรมการลาออกจนเหลือ 3 คน 3) ร้องขอต่อศาลล้มละลาย เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ 4) ล้มแนวคิดเดิมที่ต้องการให้การบินไทยเป็นโฮลดิ้งคัมพานี 5) การดูแลเจ้าหนี้ต่างประเทศ จะเดินคู่ขนานกับศาลไทยและศาลสหรัฐฯ ที่ต้องยื่นฟื้นฟู โดยอาศัย Chapter 11 ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ[10] สภาวะการพักการชําระหนี้ (Automatic stay) จะเกิดขึ้นทันที นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณาและนับจากนี้ THAI คงจะไม่เหมือนเดิม



[1] สายการบินแห่งชาติที่ดำเนินธุรกิจ กิจการการบินพาณิชย์ทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศและภายในประเทศโดยแยกการบริหารออกเป็นธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจสายการบินและกลุ่มกิจการสนับสนุนการบินและการขนส่ง วันก่อตั้งบริษัท 24 สิงหาคม 2502 ทุนจดทะเบียน 26,989,009,500.00 บาท เข้าตลาดฯเมื่อ 19 สิงหาคม 2534 ราคา IPO 60 บาท/หุ้น มูลค่าตามราคาตลาด 10,520,960,640 บาท สืบค้นที่ http://www.hoonstation.com/view.php?id=thai&x=0&y=0
[2] ข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท เช่น งบการเงิน/ผลประกอบการ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ข้อมูลสิทธิประโยชน์ สามารถสืบค้นและดาวน์โหลดได้ที่ https://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=THAI&ssoPageId=6&language=th&country=TH
[3] ให้เวลา ปีไม่สำเร็จ “ประยุทธ์” ย้ำโอกาสสุดท้าย การบินไทยต้องเปลี่ยน ไทยรัฐออนไลน์ พฤษภาคม 2563 สืบค้นที่ https://www.thairath.co.th/news/politic/1837276
[4] สฤณี อาชวานันทกุล @Fringer Tweet 8:50 AM May 14, 2020 4.5K Retweets 1.8K Likes Available at: https://twitter.com/Fringer/status/1260749279871696896
[5] คำนี้ปกติไม่พูดกัน นอกจากเวลาที่ใช้ว่าคนอื่น ความหมายเหมือนกันกับคำว่า "ไม่เต็มบาท" คือ ลักษณะที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง ถ้าหนักหน่อยก็จะเป็นไม่สมประกอบ ตัวอย่าง เช่น "สาวนุ้ยมึงยาขาดหุ้นนักแรงไปกับบาว ๆ ทุกวัน ..." ความหมายว่า “ไปกับหนุ่ม ๆ ทุกวันช่างไม่รู้อะไรซะจริง ๆ” คำว่าขาดหุ้นน่าจะมาจากคำว่า ขาดหุน หน่วยวัดความยาว หรือ ขนาด เช่น น๊อต หุน สืบค้นที่http://lang4fun.blogspot.com/2005/05/blog-post_08.html
[6] อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio : D/E) คือ อัตราส่วนที่นำหนี้สินรวมหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น อัตราส่วนนี้จะแสดงโครงสร้างเงินทุนของกิจการว่าสินทรัพย์ของกิจการมาจากการกู้ยืม หรือมาจากทุนของกิจการ ถ้าอัตราส่วนนี้สูงมีโอกาสที่กิจการจะไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้สูงตามไปด้วย เนื่องจากหนี้สินที่มากทำให้กิจการมีภาระผูกพันที่ต้องชำระดอกเบี้ยทุกงวดไม่ว่ากิจการนั้นจะกำไรหรือขาดทุน ซึ่งต่างจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่หากกิจการขาดทุนอาจจะพิจารณาไม่จ่ายเงินปันผลก็ได้ สืบค้นที่ https://th.wikipedia.org/wiki/อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
[7] เอดีบีชี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ทั่วโลก อาจสูงถึง 8.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ News Release ADB 15 พฤษภาคม 2020 สืบค้นที่ https://www.adb.org/th/news/covid-19-economic-impact-could-reach-88-trillion-globally-new-adb-report
[8] สำหรับสายการบินที่ Berkshire Hathaway ลงทุนตั้งแต่ปี 2016 ที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย 1)Delta Air Lines ถือหุ้น 11% 2)American Airlines ถือหุ้น 10% 3)United Airlines ถือหุ้น 9% 4)Southwest Airlines ถือหุ้น 10% สืบค้นที่ https://brandinside.asia/warren-buffett-dump-4-airlines-stake-after-covid-19-effect-to-airlines-industry/
[9] 'คำเฉลยจากบัฟเฟตต์ คอลัมน์ Value Way โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช กรุงเทพธุรกิจ 10 พฤษภาคม 2563 หน้า สืบค้นที่ https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/650157
[10] ด่วน! ครม.ไฟเขียว อนุมัติการบินไทย เข้าศาลล้มละลาย กรุงเทพธถรกิจ 19 พฤษภาคม 2563 สืบค้นที่ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/881181
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.