2020: ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงถึงจุดที่ไม่มีวันเหมือนเดิม (tipping point)

ที่มาภาพ: https://www.eurasiagroup.net/issues/top-risks-2020

ผู้เขียนตั้งใจว่าจะสรุปรายงานเรื่อง ความเสี่ยงในปี 2020 (TOP RISK 2020)[1] ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ด้วยภารกิจด้านอื่นและสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้หันเหความสนใจ จนเวลาล่วงเลยมาถึงกลางปี แม้รายงานดังกล่าวได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยเป็นฉบับ CORONAVIRUS EDITION[2] แต่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ สำหรับการศึกษาเพื่อจัดทำนโยบายหรือกลยุทธ์ จึงขอนำเสนอโดยสรุปดังนี้
รายงานฉบับแรกของ Eurasia Group เผยแพร่เมื่อ มกราคม 2020 สรุปว่า เราอยู่ในโลกที่ระดับความเสี่ยงทางด้านภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical risk) เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษ โดยไม่มีวิกฤติระหว่างประเทศที่แท้จริง (ดูภาพประกอบ) นอกจากนั้น แนวโน้มวัฏจักรเศรษฐกิจและกระบวนการโลกาภิวัตน์ก็เอื้อประโยชน์อย่างมาก แต่จนถึงขณะนี้ปัจจัยดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้ว
กระแสโลกาภิวัตน์ (globalization)[3] คือ กุญแจ ลักษณะสำคัญของภูมิทัศน์ในยุคหลังสงคราม - ผู้คน ความคิด สินค้าและเงินทุนเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว กระบวนการดังกล่าวสร้างโอกาส ความมั่งคั่งและความเท่าเทียมเพิ่มขึ้นทั่วโลก (แม้จะสร้างความไม่เท่าเทียมในหลายประเทศ) ลดความยากจน ยืดอายุขัยของมนุษย์ ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง
การแยกตัว (เปลี่ยนขั้ว) การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีนและสหรัฐฯ (decoupling) ทำให้ชิ้นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 แยกเป็นสอง[4] ประเทศพัฒนาแล้วแตกแยกเป็นขั้วมากขึ้นเช่นเดียวกับอิทธิพลความเชื่อเรื่องเผ่าพันธุ์ (เอเชียกับตะวันตก) การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการ ซ้ำเติมการหดตัวของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ส่งผลให้โลกาภิวัตน์มีลักษณะแปลกแยก
แนวโน้มวัฏจักรทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองในปัจจุบันเป็นช่วงขาลง (downward) เศรษฐกิจโลกหลังฟื้นตัวจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2008 ขยายตัวอย่างยาวนานและกำลังอ่อนตัวลง นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า ในปี 2020 หรือปี 2021 เศรษฐกิจโลกจะประสบภาวะถดถอย การผงาดขึ้นของจีนในฐานะตัวแบบทางเลือก (alternative model) ทางการเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ประกอบกับการเสื่อมถอยและการแทรกแซงของรัสเซียเป็นแรงผลักดันให้ภูมิศาตร์การเมืองโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
ปัจจุบันเรากำลังเผชิญวิกฤติระดับโลกเป็นครั้งแรกของการถดถอยทางภูมิศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้การเดินทางจากสหรัฐฯไปยุโรปและจีนกับการเดินทางจากประเทศอื่น ๆ ไปยุโรปหยุดชะงักลง การรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสร้างปัญหาให้กับการขนส่งสินค้าและบริการรวมทั้งเร่งการถดถอยของภูมิศาสตร์การเมือง
ขณะที่สหรัฐฯไม่ค่อยสนใจทำหน้าที่ในตำแหน่งกองหลังระหว่างประเทศ[5] ส่วนจีนก็มุ่งแสวงประโยชน์จากภาวะสูญญกาศหรือพูดแบบกว้าง ๆ คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา นอกจากทำให้ทุกประเทศหันกลับไปมองปัญหาภายใน ยังเร่งการถดถอยของวัฏจักรเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองตลอดจนการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization)[6]
สุดท้าย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) เริ่มเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งมีความสำคัญต่อการเมืองโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน (ไม่เหมือนแนวโน้มทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองที่เป็นวัฏจักร ซึ่งจะเป็นไปในทางบวกไม่ช้าก็เร็ว) ปี 2020 เป็นจุดเปลี่ยนที่ไม่มีวันเหมือนเดิม (tipping point) เนื่องจากการผสานของเส้นกราฟแนวโน้มเชิงลบที่เราไม่เคยประสบมาก่อนในหลายชั่วอายุคน
ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมจะก่อให้เกิดวิกฤติระดับโลก แม้ภาครัฐและเอกชนมีทรัพยากรมากพอในการตอบสนองวิกฤติได้อย่างง่ายดายมากกว่าในอดีต แต่ความท้าทายก็มีขนาดใหญ่กว่า รวมทั้งความร่วมมือในระดับโลกถูกบ่อนเซาะจากการถดถอยของภูมิศาสตร์การเมือง ข้อสำคัญคือ เราต้องยอมรับว่าสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยประสบมาก่อนในช่วงเวลานับทศวรรษ
อีกไม่กีสัปดาห์ข้างหน้า โลกคงจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ดียิ่งขึ้น แต่ความอ่อนแอของระเบียบทางภูมิศาสตร์การเมือง อันเป็นผลจากความชอบธรรมทางการเมืองภายในประเทศ ความเปราะบางของพันธมิตรระหว่างประเทศและดุลอำนาจโลกที่ขาดการปรับศูนย์ (alignment) สะท้อนฉากหลังของวิกฤติที่เราไม่เคบประสบมาก่อน มองไปข้างหน้าก็เห็นแต่ระเบียบโลกที่เราจะรับรู้เมื่อเราก้าวออกไปในที่สุด




[1] เอกสาร PDF จัดทำโดย Eurasia Group บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐฯ สืบค้นที่: https://www.eurasiagroup.net/files/upload/Top_Risks_2020_Report_1.pdf
[2] อ่านรายงานที่ https://www.eurasiagroup.net/issues/top-risks-2020 หรือ ดาวน์โหลดเอกสารในรูปแบบไฟล์ PDF ได้ที่: https://www.eurasiagroup.net/files/upload/top_risks_2020_coronavirus_edition_1.pdf
[3] ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง การแพร่กระจายไปทั่วโลก การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศเป็นต้น โลกาภิวัตน์ เป็นคำศัพท์เฉพาะที่บัญญัติขึ้น เพื่อตอบสนองปรากฏการณ์ของสังคมโลกที่เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งของโลก ส่งผลกระทบอันรวดเร็วและสำคัญต่อส่วนอื่น ๆ ของโลก สืบค้นที่: https://th.wikipedia.org/wiki/โลกาภิวัตน์
[4] ล่าสุดเมื่อ 18 มิถุนายน 2020 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ Tweet ข้อความว่า สหรัฐฯยังคงรักษาทางเลือกนโยบายภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะแยกตัวทางเศรษฐกิจจากจีนอย่างสมบูรณ์ (complete decoupling from China) ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่า การแยกตัวทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่การผลิตระหว่างสองประเทศจะสร้างอุปสรรคทางการค้าขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นชนวนสู่สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ
[5] ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเอกภาคีนิยม (unilateralism) และความสึกกร่อนของกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ
[6] นับตั้งแต่เกิดระบบการค้าระหว่างประเทศขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอยู่ตลอดเวลา ช่วงปี 1990 - 2008 การค้าโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นเครื่องจักรสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การผสมผสานระหว่างแรงกดดันจากภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical) และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความร่วมมือทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply chain) ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง และล่าสุดสถานการณ์ COVID-19 ที่ระบาดทั่วโลกเป็นอีกปัจจัยเร่งให้เกิดการทวนกระแสของโลกาภิวัตน์ ดู Outlook ไตรมาส 2/2020 Economic Intelligence Center (EIC)Box : COVID-19 หนึ่งในปัจจัยเร่งทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หน้า 18 สืบค้นที่: https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/6862/fo66pcpk2z/Outlook_Q2_2020_Final.pdf
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.