IS เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปฏิบัติการ (ก่อนโดนปราบ)

ที่มาภาพ: https://www.dailymail.co.uk/news/article-3253113/From-Afghani-robe-suicide-bomber-s-black-uniform-ISIS-differentiates-ranks-various-outfits.html

ลุ่มนักรบญิฮัด (Jihadist Group) ที่ควบคุมพื้นที่ภาคเหนือของอิรักและซีเรีย ซึ่งประกาศเมื่อมิถุนายน 2557 ให้เรียกชื่อตัวเองว่า รัฐอิสลาม (Islamic State-IS)[1]  เป็นขบวนการมุสลิมอาหรับ-สุหนี่ ซึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านการรุกรานของสหรัฐฯและผู้นำชีอะฮ์ในอิรักและซีเรีย[2] ทั้งนี้ ในช่วงต้นกรกฎาคม 2557 กลุ่ม IS ได้ประกาศจัดตั้งรัฐคอลีฟะห์ (Caliphate) หรือ “กาหลิบ” (รูปแบบการปกครองหลังยุคศาสดามุฮัมหมัด) โดยมี  นาย Abu Bakr al-Baghdadi เป็นผู้นำ การประกาศจัดตั้งรัฐคอลีฟะห์ดังกล่าว แม้ถูกประณามอย่างรุนแรงจากฝ่ายชีอะฮ์และโลกมุสลิมบางส่วน แต่ก็มีกลุ่มกบฏหลายกลุ่มจากตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศสวามิภักดิ์กับ IS
          ที่ผ่านมา IS ได้สร้างภาพลักษณ์ความรุนแรงสู่สายตาประชาคมโลก โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นช่องทางในการเผยแพร่ รวมทั้งเข้าควบคุมพื้นที่ยึดครองในซีเรียและอิรักด้วยวิธีการรุนแรงโหดร้าย ทำให้ในที่สุดกองกำลังผสมซึ่งนำโดยสหรัฐฯได้ประกาศปฏิบัติการต่อต้านกลุ่ม IS สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐฯประเมินว่า IS มีกำลังนักรบมากกว่า 30,000 คน ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักรบจากชาติตะวันตก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่ม IS เข้มแข็งมาก คือ การหาเงินทุนได้อย่างไม่ขาดสาย นอกจากการยึดครองบ่อน้ำมันและลักลอบจำหน่ายในตลาดมืดผ่านตุรกี กลุ่ม IS ยังหาเงินจากการรีดไถชาวบ้านและนักธุรกิจท้องถิ่น รวมทั้งได้รับเงินบริจาคจากนักธุรกิจชาวมุสลิมวะฮาบีย์ทั่วโลกด้วย
การก่อการร้ายนอกพื้นที่ควบคุมของ IS
          ปฏิบัติการก่อการร้ายในกรุงปารีส ฝรั่งเศส (13 พฤศจิกายน 2558) และกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย (14 มกราคม 2559) ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติการ (modus operandi) ในพื้นที่นอกการควบคุมของกลุ่ม IS ยังสะท้อนถึงจุดอ่อนด้านการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้ายของประเทศเป้าหมายที่ถูกโจมตี[3] ทั้งนี้ไทยมีเมืองสำคัญหลายเมืองที่อาจตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของผู้ก่อการร้าย ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงควรให้ความสนใจเพิ่มมาตรการระวังป้องกัน
          การโจมตีของ IS โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงปารีสมีความคล้ายคลึงกับรูปแบบการโจมตีเมืองมุมไบ[4] อินเดียเมื่อปี 2551 ทั้งการคัดเลือกเป้าหมาย จำนวนผู้ปฏิบัติการ และผลกระทบที่ตามมา กล่าวคือ ผู้ก่อการร้ายจำนวนอย่างน้อย 10 คน (จัดทีมคล้ายชุดปฏิบัติการพิเศษ) พร้อมอาวุธปืน AK 47 รวมทั้งมือระเบิดพลีชีพ โจมตีเป้าหมายร้านอาหาร คาเฟ และศูนย์กลางแหล่งบันเทิงที่คัดเลือกไว้ เพื่อให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมากและสร้างผลกระทบอย่างสูง การโจมตีเมืองมุมไบมีผู้เสียชีวิต 164 คน ส่วนกรุงปารีสมีผู้เสียชีวิต 130 คน บาดเจ็บ 352 คน
          สำนักงานตำรวจสากลภาคพื้นยุโรป (EUROPOL) ระบุในเอกสารผลการประชุมเครือข่ายการตอบโต้ฉุกเฉิน (First Response Network) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการก่อการร้ายของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อ 30 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2558 ว่า[5] IS ได้พัฒนาการควบคุมสั่งการปฏิบัติการในต่างประเทศ โดยอาจใช้สมาชิกปฏิบัติการในท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกทางยุทธวิธีจากซีเรีย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรมที่แสดงว่า ผู้ก่อการร้ายลักลอบเดินทางเข้ายุโรปโดยอาศัยการแอบแฝงในกลุ่มผู้อพยพ
          กลุ่ม IS มีขีดความสามารถชักชวนชาวต่างชาติให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการบ่มเพาะความรุนแรง ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนมีโอกาสถูกชักชวนและปลูกฝังความรุนแรงได้รวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ ผู้ถูกจับกุมเพราะการเข้าร่วม หรือแสดงเจตนาจะเข้าร่วมกลุ่ม IS จำนวนน้อยกว่าครึ่งของทั้งหมดมีความรู้เกี่ยวกับศาสนาของตนเองและเปราะบางต่อการตีความคัมภีร์อัล-กุรอานตามแนวทางของ IS ในจำนวนนักรบต่างชาติทั้งหมดของ IS ร้อยละ 20 เป็นผู้มีปัญหาทางจิตก่อนเข้าร่วมกับ IS และร้อยละ 80 มีประวัติก่ออาชญากรรมขั้นลหุโทษจนถึงขั้นร้ายแรง
การแสวงประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT)
          สมาชิก IS ใช้อินเตอร์เนตและสื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือสื่อสาร จัดหาอาวุธ  เอกสารปลอมและบริการต่างๆ เช่น WhatsApp Skype และ Viber ส่วน Facebook VKA และ Twitter ถูกใช้เป็นที่รวมกลุ่มเฉพาะสมาชิกที่ได้รับเชิญและสื่อสารกันด้วยรหัสลับ รวมทั้งใช้โปรแกรม ToR (The Onion Router) และ VPN (Virtual Private Network) ปกปิดร่องรอย/หลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองและบังคับใช้กฎหมาย
          การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การก่อการร้ายในต่างประเทศของกลุ่ม IS โดยมอบหมายให้สมาชิกในท้องถิ่นของประเทศเป้าหมายเป็นผู้ตัดสินใจและคัดเลือกเป้าโจมตีแบบเลือกสุ่ม ด้วยวิธีการซับซ้อน (Sophisticated) และไม่ซับซ้อน (Unsophisticated) ต่อเป้าหมายที่มีการระวังป้องกันต่ำ (Soft Target) และเป้าหมายที่มีการระวังป้องกันสูง (Hard Target) อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ หากหน่วยงานความมั่นคงไม่มีข่าวกรองที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับความตั้งใจ (intention) รวมทั้งกิจกรรม ความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้าย อาจทำให้เกิดความยากลำบากในการคาดทำนายล่วงหน้าถึงรูปแบบ เวลาและสถานที่ที่เป็นเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายต่อไป
          แม้ยังไม่ปรากฎสิ่งบอกเหตุเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม IS หรือกลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก IS รวมทั้งกลุ่มหัวรุนแรงคลั่งศาสนาลัทธิสุดโต่งในไทย แต่การดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้เมืองสำคัญต่างๆมีความเปราะบางต่อการโจมตีของผู้ก่อการร้าย ซึ่งหวังผลให้เกิดผลกระทบรุนแรงกว้างขวาง ด้วยการโจมตีแบบไม่แยกแยะเป้าหมาย หน่วยงานด้านความมั่นคงควรให้ความสำคัญกับงานข่าวกรองในการรักษาความปลอดภัย เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายโดยเชื่อมโยงเครือข่ายกล้องวงจรปิดของเอกชน ใช้เครือข่ายอาสาสมัครช่วยเป็นหูเป็นตา มีมาตรการระบุถิ่นที่อยู่และพฤติกรรมของพลเมืองประเทศคู่ขัดแย้งที่เข้ามาอาศัยในท้องถิ่น รวมทั้งมีมาตรการควบคุมสถานที่เก็บรักษา จำหน่ายวัตถุระเบิด สารเคมีที่อาจถูกนำมาใช้ประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่อง



[1] เดิมใช้ชื่อกองกำลังรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (Islamic State of Iraq and Syria-ISIS) หรือกองกำลังรัฐอิสลามแห่งอิรัก และเลแวนท์ (The Islamic State of The Iraq and Levant-ISIL) คำว่า Levant หมายถึงเขตแดนในบริเวณที่ตั้งของซีเรียและดินแดนใกล้เคียง โดยเฉพาะเขตแดนด้านด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สำหรับซีเรียมีชื่อในภาษาอาหรับว่า al-Sham กองกำลังนี้ยังมีชื่อเรียกในภาษาอารบิคว่า Al-Dawla Al-Islamiya fi al-Iraq wa al-Sham บางครั้งใช้ชื่อย่อว่า “Daesh” หรือ “Da’ish”
[2] ประมวลสรุปจากแหล่งข้อมูล online ได้แก่
            What is 'Islamic State'? 2 December 2015 (http://www.bbc.com/news/world-middle-east-29052144)
            Isis, Isil, IS or Daesh? One group, many names By Faisal Irshaid 2 December 2015 (http://www.bbc.com/news/world-middle-east-27994277)
            Isis vs Daesh vs Isil vs Islamic State: What do the different names mean and why are there so many? December 2015 (http://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/isis-vs-daesh-vs-isil-vs-islamic-state-what-do-the-names-mean-and-why-are-there-so-many-a6759106.html)
[3] Sarah Miller Beebe and Randolph H. Pherson, (2014) Cases in Intelligence Analysis Structured Analytic Techniques in Action, Second Edition US SAGE Publications Inc.
[4] ศุทธิมาดา รักษกุลวิทยา, (2555), LeT: Threat to India’s National Security, Bangkok.
[5] EUROPOL, (2016) Changes in modus operandi of Islamic State terrorist attacks The Hague, 18 January 2016.

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.