พลเมืองทั่วโลกเรียกร้องการปฏิรูป: สำหรับไทย (ตอนจบ) ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม (this time is different) ?


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/photos/a.115688233213576/373670224082041/

ภายใต้สถานการณ์ที่ Julius Caesar ขณะนั้นเป็นแม่ทัพหัวเมืองตัวเล็ก ๆ ที่ผู้มีอำนาจในโรมกำลังหมั่นไส้ในความเป็นที่รักของชาวบ้านและลูกน้องในกองสุด ๆ กล่าววาทะอมตะ “The die is cast.” ปลุกใจให้ทหารหาญในกองพร้อมอาวุธให้เดินข้ามธารน้ำ Rubicon ซึ่งเป็นกำแพงธรรมชาติที่สภาแห่งกรุงโรมประกาศชัดว่าถ้าแม่ทัพคนไหน “Cross the Rubicon” ก้าวข้ามแม่น้ำ Rubicon มาพร้อมลูกน้องติดอาวุธจะถูกเปลี่ยนสถานะจากทหารแห่งกรุงโรม เป็นปรปักษ์ต่อแผ่นดินทันที[1]

          ารชุมนุมประท้วงของพลเมืองทั่วโลกจากไทยถึงคีร์กิสถานและจากปากีสถานถึงไนจีเรียสะท้อนถึงปัญหาหลากหลายเช่น การคอร์รัปชั่น ความโหดร้ายของตำรวจและการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบุคคล (vote rigging) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับทหารและสถาบันกษัตริย์สั่นคลอนเสถียรภาพเมืองหลวงของประเทศไทย ส่วนไนจีเรียประชาชนประท้วงตำรวจหน่วยพิเศษต่อต้านการโจรกรรม (Special Anti-Robbery Squad - SARS) ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยมรวมทั้งการทรมานและวิสามัญฆาตกรรม ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เปิดโอกาสให้ประชาชนสะท้อนความทุกข์ยากและระดมพลังต่อต้านความไม่เป็นธรรมของรัฐบาล[2]

          ห้วงเวลาหกเดือนนับตั้งแต่มีนาคม - กันยายน 2020 การชุมนุมและเดินขบวนในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก อาจเงียบลงจากมาตรการปิดเมือง (lockdowns) และข้อจำกัดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พลเมืองในหลายประเทศทั่วโลกลงสู่ท้องถนนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปรัฐบาล ทั้งนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกยกระดับโดยสื่อสังคม (social media)

สาระสำคัญการประท้วงถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วพร้อมกับการขยายเครือข่ายสนับสนุนมากขึ้น รวมทั้งการแบ่งปันแนวทางและยุทธวิธีในการชุมนุมประท้วง ขณะเดียวกันรัฐบาลของหลายประเทศยังคงใช้การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเหตุผลในการกดขี่สิทธิเสรีภาพของผู้ประท้วงและใช้กฎหมายห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ

          ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับทหารและสถาบันกษัตริย์ในไทยสั่นคลอนความสงบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้ประท้วงอายุน้อยลงสู่ท้องถนนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูป โดยเรียนรู้และปรับใช้บทเรียนจากการประท้วงอื่น ๆ ทั่วโลก การใช้แอปเข้ารหัสเช่น Telegram เป็นเครื่อมือสื่อสารและจัดระเบียบการชุมนุม ขณะที่คนไทยได้ดาวน์โหลด “คำแนะนำการประท้วง” จากฮ่องกงทางออนไลน์

คำแนะนำดังกล่าว ถูกแปลเป็นภาษาไทยและนำเสนอยุทธวิธีหลีกเลี่ยงการสอดส่องจากเจ้าหน้าที่และการป้องกันตนเองจากแก๊สน้ำตาและมาตรการควบคุมการจลาจลอื่น ๆ ของหน่วยงานรักษาความมั่นคง ผู้ประท้วงชาวไทยเรียกร้องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้มีเสรีภาพเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมถึงการลาออกของนายกรัฐมนตรีประยุทธ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหารในปี 2014 และชนะการเลือกตั้งแบบมีข้อโต้แย้งเมื่อปีที่แล้ว

ทางด้านไนจีเรีย ประชาชนประท้วงต่อต้านตำรวจหน่วยพิเศษต่อต้านการโจรกรรมหรือ SARS ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายทารุณรวมทั้งการทรมานและวิสามัญฆาตกรรม การประท้วงของชาวไนจีเรียหลายหมื่นคนได้รับความสนใจและยังก่อให้เกิดแฮชแท็ก #EndSARS ที่แพร่กระจายโดยชาวไนจีเรียที่อยู่กับบ้านและกลุ่มผู้พลัดถิ่นในวงกว้างรวมถึงบุคคลสำคัญและผู้มีอิทธิพลที่สนับสนุนการเคลื่อนไหว

การเดินขบวนอย่างสันติในลากอสเมืองหลวงของไนจีเรียช่วงต้นสัปดาห์ถูกขัดจังหวะด้วยเสียงปืน ขณะที่ทหารไนจีเรียเปิดฉากยิงใส่ฝูงชนสังหารผู้ประท้วงไปหลายสิบคน แม้ประธานาธิบดีมูฮัมหมัด บูฮารี ของไนจีเรียยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง แต่การประท้วงยังดำเนินต่อไปโดยชาวไนจีเรียเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจและยุติการทุจริตของรัฐบาล เช่นเดียวกับในประเทศไทย คนหนุ่มสาวอยู่แนวหน้าของขบวนการประท้วง ขณะที่ประชากรไนจีเรียครึ่งหนึ่งของ 206 ล้านคนมีอายุต่ำกว่า 19 ปี

          ในปากีสถานมีการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน นานหลายสัปดาห์ ชาวปากีสถานหลายหมื่นคนในเมืองการาจีออกมาแสดงความไม่พอใจมากขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆและการคอร์รัปชั่นแพร่ระบาด มูฮัมหมัด ซาฟดาร์ นักการเมืองฝ่ายค้านถูกจำคุก เนื่องจากมีบทบาทในการประท้วง แต่หลังจากนั้นก็ได้รับการปล่อยตัว

ผู้ประท้วงบางคนได้เน้นย้ำถึงอิทธิพลของนายทหารระดับสูงของปากีสถานทั้งปัจจุบันและที่เกษียณแล้วในรัฐบาลปากีสถาน รวมทั้งมีผลประโยชน์เชื่อมโยงกับโครงการริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน การประท้วงหลายสัปดาห์ในคีร์กีซสถานซึ่งเริ่มต้นเมื่อต้นตุลาคม 2020 นำไปสู่การลาออกของประธานาธิบดี Sooronbai Jeenbekov เนื่องจากผู้ประท้วงในกรุงบิชเคกเมืองหลวงของคีร์กีซไม่พอใจการเลือกตั้งรัฐสภาที่มีข้อขัดแย้ง

การแพร่ระบาดของ COVID-19 และระยะเวลาปิดเมืองไม่เพียงเปิดโอกาสให้ประชาชนตรึกตรองถึงความทุกข์ยากเท่านั้น แต่มีการระดมพลังต่อต้านความอยุติธรรมของรัฐบาลด้วย การประท้วงระลอกล่าสุดสะท้อนให้เห็นความโกรธและไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่ในหลายประเทศ เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังทวีความรุนแรง และรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของพลเมืองของตนได้ สำหรับการเรียกร้องในไทยครั้งนี้ (ตอนจบ) ไม่เหมือนเดิม?[3]


[1] Cross The Rubicon: ก้าวข้ามน่านน้ำแห่งโชคชะตา คุณครูพี่แนน ไทยรัฐ ออนไลน์ มิ.ย. 2556 05:30 น. สืบค้นที่ https://www.thairath.co.th/content/348684

[2] PROTESTERS WORLDWIDE DEFY COVID RESTRICTIONS TO DEMAND GOVERNMENT REFORM INTELBRIEF October 23, 2020 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/protesters-worldwide-defy-covid-restrictions-to-demand-government-reform?e=c4a0dc064a

[3] “ครั้งนี้มันไม่เหมือนเดิม” มักเป็นคำกล่าวที่นักลงทุนหรือนักการเงินเชิงพฤติกรรมสังเกตเห็นในช่วงเวลาที่ราคาหุ้นในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมักจะมีนักลงทุนหน้าใหม่หรือนักวิเคราะห์ในตลาดให้คำอธิบายถึงการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นว่ามีปัจจัยพื้นฐานลักษณะใหม่ๆ รองรับ ซึ่งทำให้พวกเขามั่นใจว่าการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นในรอบใหม่นี้จะไม่เกิดจากปรากฏการณ์ฟองสบู่เหมือนในทุกรอบที่ผ่านมา ดู ครั้งนี้มันไม่เหมือนเดิม (อีกครั้ง) ภาวิน ศิริประภานุกูล ThaiPublica 11 กุมภาพันธ์ 2013 สืบค้นที่ https://thaipublica.org/2013/02/this-time-is-different/

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.