การก่อการร้ายแบบผสานสองโลก (O2O): เมื่อผู้ก่อการร้ายระดมทุนสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) (ตอนที่ 6)

  

Is the Bitcoin frenzy making the world less safe? ที่มาภาพ :https://www.emeraldgrouppublishing.com/archived/realworldresearch/world_events/bitcoin-frenzy-making-the-world-less-safe.htm

หรัฐฯประกาศเมื่อสิงหาคม 2020 ว่าได้ยึดเงินดิจิทัลมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายสามกลุ่ม โดย Hamas[1] Al-Qaeda และกลุ่มที่เรียกว่ารัฐอิสลาม (Islamic State)[2] มีประวัติเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ ขณะที่ คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering - FATF) เน้นย้ำถึงความกังวลว่าผู้ทำผิดกฎหมายจะหาทางขยายประโยชน์จากทรัพย์สินเสมือนจริง (virtual asset)[3] ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการติดตามผู้ก่อการร้ายที่พยายามหาประโยชน์จากสกุลเงินดิจิทัล[4]

          ไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีตัวอย่างเอกสารเกี่ยวกับการถือครองสกุลเงินดิจิทัลของผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ก่ออาชญากรรม แต่ในปี 2019 ที่ผ่านมากลุ่มผู้ก่อการร้ายมุ่งแสวงหาและเก็บความมั่งคั่งในสกุลเงินเสมือนจริงเช่น Bitcoin[5] โดยในสิงหาคมปี 2020 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (DOJ) ประกาศว่าได้ยึดเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในบัญชีสกุลเงินดิจิทัลมากกว่า 300 บัญชีที่เกี่ยวข้องกับองค์กรก่อการร้ายต่างประเทศ (FTO) ที่กำหนดโดยสหรัฐฯ ได้แก่ ฮามาส Al-Qaeda และกลุ่มรัฐอิสลาม

 ในปี 2019 ปีกทหารของ Hamas ได้เริ่มรณรงค์ระดมทุนออนไลน์ในสกุลเงินดิจิทัล โดยใช้สื่อสังคมเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริจาคโดยไม่เปิดเผยตัวตน ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ว่าการไม่เปิดเผยตัวตนมักเกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลที่เรียกชื่อผิด แผนการของ Hamas ถูกเปิดเผยโดยมีบัญชีสกุลเงินดิจิทัล 150 บัญชีถูกยึด สำหรับAl-Qaeda ก็ใช้สื่อสังคมเป็นเครื่องมือดึงดูดความสนใจของผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมในซีเรีย DOJ ได้ยึดบัญชีสกุลเงินดิจิทัลของ Al-Qaeda มากกว่า 100 บัญชี ทั้ง Hamas และ Al-Qaeda สนใจสกุลเงินดิจิทัลก่อนการประกาศของ DOJ แต่กระแสการระดมทุนดิจิทัลได้รับความสนใจน้อยกว่าแหล่งเงินทุนอื่น ๆ

กลุ่ม IS มีส่วนเกี่ยวข้องในประกาศของ DOJ[6] เช่นเดียวกับ Hamas และ Al-Qaeda บุคคลที่เชื่อมโยงกับแผนการสกุลเงินดิจิทัล ISIS ไม่ใช่คนหน้าใหม่ ในปี 2017 Zoobia Shahnaz ให้เงินจำนวน 85,000 ดอลลาร์สหรัฐแก่ ISIS โดยใช้บัตรเครดิตวงเงินสูงสุดซื้อ Bitcoin จากนั้นแปลง Bitcoin เป็นเงินสด เพื่อทำให้ธุรกรรมของเธอดูคลุมเครือ สองปีก่อนหน้านั้น Shahnaz Ali Shukri Amin สารภาพว่า ให้การสนับสนุน IS โดยแสดงให้ผู้คนเห็นวิธีการรับและส่ง Bitcoin ไปยังกลุ่ม

ความพยายามใช้สกุลเงินดิจิทัลล่าสุด Murat Cakar แฮ็กเกอร์ของ IS (ซึ่งเชื่อมโยงกับ Shahnaz) ได้สร้างเว็บไซต์หาเงินจากการขายอุปกรณ์ป้องกันตัว (PPE) รวมทั้งหน้ากาก N95 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และความยากลำบากในการจัดหาเงินทุน ในสิงหาคมปี 2020 กลุ่มผู้ก่อการร้ายจึงเริ่มหาทางถือครองทรัพย์สินเสมือนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง IS มีแนวโน้มพยายามสะสมความมั่งคั่งผ่านปฏิบัติการทางไซเบอร์ ซึ่งบางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล

ในปี 2020 FATF ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศได้เน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ที่ผู้ก่อการร้ายสนใจสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อพฤษภาคม FATF รายงานว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอาจนำไปสู่การ “การใช้บริการทางการเงินและทรัพย์สินเสมือนจริงออนไลน์ในทางที่ผิดเพิ่มขึ้น เพื่อปกปิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนผิดกฎหมาย”

หลังการประกาศของ DOJ ไม่ถึงเดือน FATF ได้เผยแพร่รายงานอีกฉบับเกี่ยวกับตัวชี้วัดธงแดง โดยสังเกตว่านักการเงินและนักฟอกเงินของผู้ก่อการร้ายอาจใช้ทรัพย์สินเสมือนจริง โดยมีข้อบ่งชี้จากรูปแบบการทำธุรกรรมไม่ซ้ำกันไปจนถึงข้อมูลความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงการใช้สินทรัพย์เสมือนจริงในทางที่ผิด

สำหรับหน่วยข่าวกรองทางการเงิน ผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือนจริงและสถาบันการเงิน เครื่องชี้วัดเหล่านี้ให้แนวทางที่เป็นประโยชน์ในการต่อต้านการใช้สกุลเงินดิจิทัลของผู้กระทำผิดกฎหมายหลายกลุ่ม แม้จะมีแนวทาง FATF และประกาศ DOJ สหรัฐฯในสิงหาคมปี 2020 เพื่อยึดและริบทรัพย์สินทางการเงินของกลุ่ม Hamas Al-Qaeda และ IS แต่ผู้ก่อการร้ายก็มีแนวโน้มที่จะสะสมและจัดเก็บความมั่งคั่งในสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น

มีแนวโน้มว่าโลกยังจะยังคงพึ่งพาการดำเนินธุรกิจในแบบ “เสมือนจริง” ต่อไป แม้มีการแจกจ่ายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ตลอดปี 2021 การที่ผู้บริโภคใช้สกุลเงินดิจิทัลมากขึ้นในชีวิตประจำวัน โอกาสของผู้ก่อการร้ายก็จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากพวกเขาต้องปกปิด (cover) และซ่อนเร้น (concealment) ท่ามกลางปริมาณการทำธุรกรรมโดยรวมที่เพิ่มขึ้น

การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลสำหรับกลุ่มก่อการร้ายย่อมมีความเสี่ยงจากความผันผวน ในอดีต ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2020 ราคาหนึ่ง Bitcoin มีมูลค่ามากกว่า 19,000 ดอลลาร์สหรัฐเทียบกับมูลค่าประมาณ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเราสามารถหาหนึ่ง Bitcoin ในราคาสามสิบเซ็นต์ จึงเป็นไปได้มากที่นักการเงินของผู้ก่อการร้ายจะได้รับผลกำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์เสมือนจริง

มูลค่า Bitcoin พังทลายหลายครั้ง ที่เป็นข่าวดังมากที่สุดช่วงสามวันในปี 2013 มูลค่าสินทรัพย์เสมือนลดลงมากกว่าร้อยละ 87 ความไม่แน่นอนและการถอดรหัสรวมทั้งเหรียญ (coin) ที่เรียกว่า Monero, ZCash และ Dash ทำให้เกิดความเสี่ยงสำหรับผู้ก่อการร้ายที่พึ่งพาทรัพย์สินเสมือนจริง

ปัจจุบันบริษัทเอกชนมีบทบาทช่วยเหลือรัฐบาลสหรัฐฯ ในการติดตามการทำธุรกรรมทรัพย์สินเสมือนของผู้ก่อการร้าย การพัฒนาสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนในการติดตามสกุลเงินดิจิทัล แสดงให้เห็นถึงอนาคตของการต่อสู้กับการจัดหาเงินทุนของกลุ่มก่อการร้ายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการฟอกเงิน ผู้สนใจเรื่องนี้ดูเอกสารวิจัยของบริษัท RAND เพิ่มเติม[7]



[1] องค์กรทางการเมืองของชาวปาเลสไตน์ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1987 โดยชีคอะห์มัด ยาซีน เป็นผู้นำคนแรก HAMAS เป็นคำย่อภาษาอาหรับแปลว่า ความเข้มแข็ง มุ่งมั่นใฝ่สัมฤทธิ์ ย่อมาจากคำว่า  Harakat al-Muqawamat al-lslamiyyah หมายถึง ขบวนการต่อสู้อิสลาม (Islamic Resistance Movement) สืบค้นที่ http://news.muslimthaipost.com/news/24499

[2] เดิมคือ ISIS ย่อมาจาก Islamic State of Iraq and Syria หรือรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย แต่บางสำนักระบุว่าชื่อเต็มคือ Islamic State of Iraq and al-Sham หมายถึงรัฐอิสลามแห่งอิรักและพื้นที่โดยรอบ ในมิถุนายน 2014 กองกำลังรัฐอิสลามประกาศเปลี่ยนชื่อจาก ISIS เป็น IS ซึ่งย่อมาจาก Islamic State เชื่อว่าเพราะผู้นำกลุ่มพยายามตั้งตนเป็น “กาหลิบ” หรือผู้นำทางการเมืองและศาสนาของชาวมุสลิมทั้งหมด สืบค้นที่: https://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/isis-vs-islamic-state-vs-isil-vs-daesh-what-do-different-names-mean-9750629.html

[3] TERRORISTS’ USE OF CRYPTOCURRENCY INTELBRIEF Thursday, December 10, 2020 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/terrorists-use-of-cryptocurrency?e=c4a0dc064a

[4] คือ “สินทรัพย์ดิจิตอล” (Digital Asset) ประเภทหนึ่ง หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า “สกุลเงินดิจิตอล” เนื่องจากมันไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพที่จับต้องได้แบบเดียวกันกับสกุลเงินทั่วไป เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯหรือเงินยูโร โดยทั่วไป Cryptocurrency ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมหรือจัดการโดยหน่วยงานทางการเงินหรือธนาคารใด ๆ เหมือนสกุลเงินแบบดั้งเดิม แต่เป็นการ “ควบคุมด้วยตนเอง” ผ่านการใช้เทคนิคการเข้ารหัสที่มีความซับซ้อนและหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ ผู้ใช้ภายในเครือข่ายจะมีส่วนร่วมกันทั้งระบบในกระบวนการขับเคลื่อนของสกุลเงินดิจิตอลผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นลักษณะของการ “ยืนยันธุรกรรม” ของผู้ใช้ในเครือข่ายสกุลเงินดิจิตอลให้แก่กันและกัน สืบค้นที่: Cryptocurrency คือ : พื้นฐานการลงทุนสกุลเงินดิจิตอล ADMIRAL MARKET เมษายน 17, 2020 https://admiralmarkets.com/th/education/articles/cryptocurrencies/trading-cryptocurrency-guide

[5] สกุลเงินดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นที่ถกเถียงกันในปี 2020 ล่าสุดราคาดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วแตะระดับ 34,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากร่วงลงอย่างรุนแรงในเดือนมีนาคมโดยมูลค่าลดลงร้อยละ 25 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ดู Bitcoin Breaches $34,000 as Rally Extends Into New Year By Alice Gledhill BLOOMBERG January 220218:26 PM GMT+Updated on January 3202110:14 PM GMT+https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-01-02/bitcoin-breaches-30-000-as-rally-extends-into-new-year

[6] U.S. Seizes Bitcoin Said to Be Used to Finance Terrorist Groups By Charlie Savage The New York Times Aug. 13, 2020 Available at: https://www.nytimes.com/2020/08/13/us/politics/bitcoin-terrorism.html

[7] Terrorist Use of Cryptocurrencies Technical and Organizational Barriers and Future Threats by Cynthia Dion-Schwarz, David Manheim, Patrick B. Johnston RAND Corporation Available at: https://www.rand.org/content/dam/rand/pubs/research_reports/RR3000/RR3026/RAND_RR3026.pdf

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.