โควิด-19 ไม่ใช่ “หงส์ดำ”: โอกาสจากความท้าทาย (ตอนที่ 2)

A black swan event must meet three criteria: it must be an outlier, must have a major impact and must be declared predictable in hindsight. (Buiobuione/Wikimedia), CC BY-SA ที่มาภาพ: https://theconversation.com/coronavirus-is-significant-but-is-it-a-true-black-swan-event-136675

นักวิเคราะห์ข่าวกรองต้องทำงานภายใต้แรงกดดันหลายอย่าง พวกคุณต้องแยกให้ออกระหว่างลำดับความสำคัญ (Priority) กับนัยสำคัญ (significant) ทั้งสองคำมีความสำคัญแต่ความหมายไม่เหมือนกัน อดุลย์ กอวัฒนา อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (คุณลุงข่าวกรอง)[1]

อุบัติการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาโควิด-19 นอกจากถูกนำไปเปรียบเทียบกับ “หงส์ดำ” เพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลวในการเตรียมการรับมือการแพร่ระบาด ยังเป็นเหตุให้ผู้นำอำนาจนิยมในหลายประเทศใช้เป็นข้ออ้างเพื่อรวบอำนาจและบดขยี้ฝ่ายตรงข้าม (ผู้เห็นต่าง) ขณะที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้กลายพันธ์ (variant) หลายรูปแบบ แนวความคิดเกี่ยวกับหงส์ดำก็เช่นกัน[2]

การกลายพันธุ์แบบแรกคือ หงส์สีเทา (grey swan) เป็นคำนิยามของ Nassim Nicholas Taleb ผู้บัญญัติคำว่าหงส์ดำนั่นเอง หมายถึงเหตุการณ์ที่คาดการณ์ได้ในระดับหนึ่ง โดยมีสัญญาณบางอย่างที่สังเกตได้ เช่น สภาพอากาศรุนแรงและแผ่นดินไหว

แบบที่สองคือ หงส์ขาวลายจุด (dirty white swan) นิยามโดย Scott Ryrie หมายถึงเหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจ เนื่องจากความลำเอียงที่นำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาด (cognitive bias) หรือเจตนามืดบอด (willful blindness) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาต่อตนเองและผู้อื่น เช่น นายกเทศมนตรีนครบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย ละเลยแผนอพยพกรณีเกิดน้ำท่วมในย่าน Lockyer Valley ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ เมื่อช่วงเช้า 13 มกราคม 2011 ทำให้ถนนหนทางเจิ่งนองไปด้วยน้ำที่ไหลทะลักมาจากแม่น้ำบริสเบนเข้าท่วมตัวเมือง

แบบที่สามคือ หงส์แดง (red swan) โดย Gordon Woo เป็นผู้ให้คำนิยาม หมายถึงเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนัก เป็นสิ่งล่อลวงให้หลงทางหันเหไปจากประเด็นที่กำลังพูดกันอยู่หรือข้อมูลที่ทำให้หลงผิด (red herring) เช่น ข้อบกพร่องการตั้งเวลาของคอมพิวเตอร์ในปี 2000 (bug Y2K) การแพร่เชื้อโรควัวบ้า (mad cow disease)

แบบที่สี่คือ ราชามังกร (dragon king) นิยามโดย Didier Sornette และคณะ การกลายพันธุ์แบบนี้มีความพิสดารอย่างมากดูคล้ายมังกรติดปีก ไม่เหมือน “หงส์ดำ” ซึ่งเราไม่รู้ที่มา ราชามังกร หมายถึงปรากฎการณ์สุดขั้วขนาดใหญ่แตกต่างกันหลายรูปแบบซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่คล้ายคลึงกัน โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการอุบัติขึ้นของระบบที่ซับซ้อน เช่น ฟองสบู่ด้านการเงิน (financial bubble)

รัฐบาลทั่วโลกกำลังทำสงครามต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก โดยเชื้อโรคดังกล่าวอาจก่อให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARF) หลายกรณีต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ พฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของคนทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมาตรการเข้มงวดในการเดินทาง การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการเข้า-ออกพื้นที่สาธารณะ (lockdowns) ที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อโรค[3]

          บทบรรณาธิการของวารสาร PULMONOLOGY เผยแพร่ในช่วงกลางปี 2020 นำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำสงครามต่อสู้กับการแพร่ระบาด แม้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเนื่องจากมีข้อมูลเพียงบางส่วน แต่ประชาคมวิทยาศาสตร์ก็มีหน้าที่ในการตั้งคำถาม วิเคราะห์ (แบบสหวิทยาการ) และนำเสนอวิสัยทัศน์ท่ามกลางความท้าทายทางสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยีและศีลธรรมซึ่งเกิดขึ้นจากวิกฤติทั่วโลก

          ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกได้ปรับลดทรัพยากรและงบประมาณการด้านสาธารณสุขพื้นฐานโดยไม่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน ซึ่งประสบภาวะขาดแคลนเตียง ICU และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ความชุกชุมของเชื้อโรคทำให้ต้องกระจายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่การดูแลทางการแพทย์แบบง่ายทั้งการใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางหน้ากากครอบจมูกและปาก (NIV) ไปจนถึงการสอดท่อช่วยหายใจ

โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่สำคัญหมายรวมถึงขีดความสามารถ (competences) ด้วย กองทัพด้านสาธารณสุขเรียกร้องให้เพิ่มกำลังพล (แพทย์และพยาบาล) ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ (เครื่องช่วยหายใจและเครื่องมืออื่น ๆ)  เนื่องจากสรีรวิทยาของโควิด-19 ทำให้เกิด ARF ซึ่งต้องใช้ทักษะขั้นสูง (เช่น การติดตั้งเครื่องช่วยหายใจอย่างเหมาะสมทั้งแบบหน้ากากและท่อสอด) เรามีกองทหารที่มีทักษะแบบนี้หรือไม่?

นอกจากการจัดหากำลังพล (บุคลากรทางการแพทย์) และอุปกรณ์การรักษาที่มีความปลอดภัยเหมาะสม เราจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ หุ่นยนต์ (Robots) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) แอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่และการแพทย์ทางไกล (tele-medicine) เป็นทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคระบาดได้เช่นกัน

หุ่นยนต์มีศักยภาพสูงในการใช้งานเกี่ยวกับภาวะการติดเชื้อเช่น การฆ่าเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อม การจ่ายยาและการจัดส่งอาหาร การประเมินทางคลินิกและการตรวจสอบความปลอดภัย สำหรับการป้องกันเชื้อโรค หุ่นยนต์อัตโนมัติหรือควบคุมระยะไกลสามารถใช้ฆ่าเชื้อบนพื้นผิวที่ไม่สัมผัสได้

หุ่นยนต์เคลื่อนที่ติดตั้งเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ (เช่น เซ็นเซอร์ความร้อน) และอัลกอริทึมการมองเห็น (สำหรับการจดจำใบหน้า) อาจช่วยคัดกรองประชากรในโรงพยาบาลและพื้นที่สาธารณะ (สนามบิน สถานีรถไฟ ท่าเรือ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ฯลฯ) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและคุ้มค่า นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ในการจัดส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อและยาแก่ผู้ติดเชื้อโดยใช้โดรนหรือหุ่นยนต์อัตโนมัติภาคพื้นดิน

          ข้อมูลที่รวบรวมโดยหุ่นยนต์และแอพบนโทรศัพท์เคลื่อนที่จะถูกนำไปวิเคราะห์ ด้วยซอฟต์แวร์อัลกอริธึมการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ (machine learning) ที่สามารถสกัดความรู้เชิงลึก เพื่อการป้องกันและคาดทำนาย ควบคุมการแพร่กระจาย การวินิจฉัยและการรักษาผู้ติดเชื้อ

ข้อมูลอาจถูกส่งไปยังระบบสารสนเทศความปลอดภัยของโรงพยาบาล โดยจับคู่กับข้อมูลที่รวบรวมจากแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อสนับสนุนระบบติดตามการสัมผัสของผู้ติดเชื้อและจำกัดการแพร่กระจายเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม ต้องมีการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของบุคคลตามกฎหมาย บทเรียนล้ำค่าที่ได้รับจากการทำสงครามครั้งนี้ คือ

1. ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขต้องถือเป็นการลงทุน (investment) ไม่ใช่ต้นทุนความเสียหาย (cost) เราต้องสร้างระบบดูแลสุขภาพที่เข้มแข็งทำงานได้ดีในยามปกติและตอบสนองได้ทันท่วงทีในช่วงเวลาพิเศษ ลองนึกดูว่าเราจะหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดได้มากเพียงใด หากมีการลงทุนในด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ ค่าเสียโอกาส (opportunity lost) จะเพิ่มขึ้นเท่าใดหากไม่ทำอะไรเลยเราจะต้องไม่ทำผิดซ้ำ มาลงทุนด้านการวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีและตัวแบบองค์กรกันเถอะ

2. ใช้กลยุทธ์ (strategy) ในการดูแลสุขภาพประชาชน บางเรื่องสามารถตอบสนองได้ในสภาวะฉุกเฉิน (การผลิตหน้ากากเครื่องช่วยหายใจโดยการแปลงกิจกรรมการผลิตบางอย่าง ฯลฯ) แต่บางเรื่องไม่สามารถทำให้พร้อมใช้งานได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน เนื่องเพราะทักษะที่จำเป็นต้องใช้เวลาในการฝึกฝนเป็นปีเราจำเป็นต้องออกแบบโปรแกรมการศึกษาสร้างความเชี่ยวชาญพิเศษซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในปีต่อไป (เช่น ยารักษาระบบทางเดินหายใจ) เราจำเป็นต้องกวาดสัญญาณและพยายามคาดการณ์ วิเคราะห์แนวโน้ม  ประชากร พฤติกรรมการดำเนินชีวิตและสังคม รวมทั้งแนวโน้มของเหตุการณ์ขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น (แม้ไม่น่าเป็นไปได้) รวมทั้งสร้างฉากทัศน์ในอนาคต (future scenarios)

3. ควรมีแนวทางในการตอบสนองร่วมกันอย่างเป็นระบบ ประชาคมระหว่างประเทศต้องแบ่งปันวิธีการตอบสนองและระเบียบปฏิบัติในการจัดการวิกฤติ การดำเนินความพยายามในระดับโลกต้องมีการจัดองค์กรเครือข่ายการทำงานร่วมกันและนโยบายฉุกเฉินระหว่างประเทศ ดูเหมือนว่ายังไม่มีการเตรียมการ แต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่มีประมวลกฎหมายและแผนการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในการจัดการเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การระบาดของโควิด-19 และพฤติกรรมระหว่างประเทศและแต่ละประเทศที่แตกต่างกันในการจัดการภาวะฉุกเฉิน

ปัจจุบันเรายังคงอยู่ใช่วงกลางของพายุที่โหมกระหน่ำซึ่งจะให้บทเรียนเพิ่มเติมอีกมากก่อนที่วิกฤติจะยุติลง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถเรียนรู้และเปลี่ยนความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการเติบโตของประชาคมระหว่างประเทศ

ล่าสุดสนามบินฮีทโธรว์ในอังกฤษเปิดใช้อาคารผู้โดยสาร 3 (Terminal 3) ที่ปิดยาวมาตั้งแต่เมษายน 2020 สำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีอัตราการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสในระดับสูง และถูกจัดอยู่ในรายชื่อประเทศสีแดง “Red list”[4] ของรัฐบาลอังกฤษ[5]



[1] Quote จากความทรงจำของผู้เขียน ซึ่งได้ร่วมงานกับท่านในช่วงเวลาหนึ่ง

[2] FORESIGHT: A GLOSSARY CENTRE FOR STRATEGIC FUTURES & CIVIL SERVICE COLLEGE, SINGAPORE Available at: https://www.csf.gov.sg/files/media-centre/publications/csf-csc_foresight--a-glossary.pdf

[3] The COVID-19 outbreak: From “black swan” to global challenges and opportunities EDITORIAL By Stefano Mazzolenia, Giuseppe Turchettic, Nicolino Ambrosinod PULMONOLOGY Vol. 26. Issue 3. pages 117-118 (May - June 2020)

[4] ปัจจุบัน มี 43 ประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศสีแดง รวมทั้ง อินเดีย บราซิล ตุรกี และแอฟริกาใต้ ซึ่งผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือพลเมืองอังกฤษ ต้องถูกกักตัว 10 วันในสถานที่หรือโรงแรมที่รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้จัดเตรียมไว้ เนื่องจากเกรงว่าอาจนำเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มาด้วย

[5] สนามบินอังกฤษเปิดใช้อาคารเฉพาะสำหรับนักเดินทางจากประเทศ ‘สีแดง’ ข่าว VOA ภาษาไทย มิถุนายน 01, 2021 เข้าถึงได้ที่: https://www.voathai.com/amp/heathrow-airport-opens-terminal-3-for-high-risk-travelers/5912866.html

 

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.