การก่อการร้ายแบบผสานสองโลก (O2O) : ความปกติใหม่ของการใช้โดรนก่อการร้าย (ตอนที่ 7)

ที่มาภาพ:https://www.911security.com/blog/drones-are-a-looming-domestic-terrorism-threat/

ขีดความสามารถในการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone)[1] ของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) ซึ่งได้รับการช่วยเหลือพัฒนาจากรัฐอุปถัมภ์ (state-sponsored) สร้างความกังวลอย่างมากให้กับประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐหลายกลุ่มใช้โดรนในการปฏิบัติการสู้รบ เช่น รัฐอิสลาม (IS) ฮิซบุลลอฮ กบฎฮูซี  ฮามาส โบโกฮารัมและตอลิบันเป็นต้น ขณะที่กองทัพสหรัฐฯตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้โดรนของกองกำลังติดอาวุธในอิรักซึ่งอิหร่านหนุนหลังและกำลังพัฒนามาตรการตอบโต้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับจากระยะไกล การรบกวนสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์และการตอบโต้ทางจลนศาสตร์ (kinetic responses)[2]

          พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์กระแสหลักทั่วโลกเมื่อมกราคม 2017 ระบุว่า กลุ่ม IS สามารถปรับใช้โดรนติดอาวุธ (weaponized drones) ซึ่งเป็นนวัตกรรมโดดเด่นในสงครามสมัยใหม่ ขณะเดียวกันมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากระบบอากาศยานไร้คนขับ (UAS) ในครอบครองของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐซึ่งใช้ความรุนแรง โดยมีสัญญาณเตือนคือ  IS ใช้โดรนยิงปืนครกและทิ้งระเบิดในเมืองโมสุล อิรัก แต่ยังห่างไกลจากการเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ซึ่งมีการพูดถึงในบทความจำนวนมากในเวลาต่อมา

นอกเหนือจากพาดหัวข่าวที่มีลักษณะคล้ายพาดหัวลวง (click-bait-like) จำนวนมาก ยังเกิดความกังวลในหมู่นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงและผู้ปฏิบัติงานต่อต้านการก่อการร้ายว่า หาก IS มีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่เช่น UAS หลายคนคงสงสัยว่าตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอื่น ๆ จะมีขีดความสามารถขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากรัฐที่มีกองกำลังที่มีความสามารถสูง เช่น กองกำลัง Quds ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC-QF) อิหร่าน

โดรนอาจถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์เชิงรุกและเชิงป้องกัน กลุ่มติดอาวุธอาจใช้โจมตีเป้าหมายต่าง ๆ หรือดำเนินการข่าวกรอง เฝ้าระวังและสอดแนม ในบางกรณีใช้เบี่ยงเบนความสนใจของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมการโจมตีในสถานที่อื่น ๆ หรือถ่ายเท (siphon) ทรัพยากรและกำลังพลของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานตอบโต้เหตุฉุกเฉิน ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและรักษาความปลอดภัยมีงานยุ่งอยู่กับโดรนรอบสนามบินฮีทโธรว์ในอังกฤษทำให้เกิดความโกลาหลและตื่นตระหนก

          ในเยเมน กลุ่มกบฏฮูซีใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันและแทรกซึมผ่านน่านฟ้าของซาอุดีอาระเบียได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ กลุ่มฮูซีมีขีดความสามารถในการใช้โดรนอย่างเต็มที่และสร้างความตื่นตระหนกให้กับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายกบฏสามารถขัดขวางอุปทานพลังงานระดับโลกโดยปรับใช้ฝูงโดรนโจมตีอย่างแม่นยำจากระยะไกล

ฮิซบุลลอฮปรับใช้โดรนมาตั้งแต่ปี 2004 โดรน Misrad ของอิหร่านปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเหนือดินแดนอิสราเอล กลุ่มผู้ก่อการร้ายและกบฏอื่น ๆ รวมทั้งกลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถาน โบโกฮารามและฮามาสต่างก็ใช้โดรนในการสู้รบ นักรบชาวซีเรียที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกีใช้โดรนโจมตีฐานทัพรัสเซียในซีเรียหลายครั้งในปี 2018 ผู้สนับสนุน IS ในยุโรปถูกจับกุมในข้อหาพยายามจัดซื้อโดรนโดยมีเจตนาส่งไปให้กลุ่มติดอาวุธในอิรักและซีเรีย

ในเวเนซุเอลา ประธานาธิบดี Nicolás Maduro เกือบถูกลอบสังหารในกรุงการากัสในปี 2018 โดยโดรน บรรทุกระเบิด 2 ลำ จุดชนวนใกล้บริเวณที่เขากล่าวสุนทรพจน์[3] รายงานล่าสุดของสหประชาชาติ (UN) กล่าวถึงการใช้โดรนอัตโนมัติระดับเดียวกับที่ใช้ทางการทหาร (military-grade) หรือระบบอาวุธร้ายแรงอัตโนมัติ (Lethal Autonomous Weapon System) ซึ่งถูกนำไปใช้ในการสู้รบในลิเบีย

          รายงานล่าสุดระบุว่า กองทัพสหรัฐฯตื่นตัวมากขึ้นเนื่องจากการใช้โดรนของกองกำลังติดอาวุธในอิรักที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านรวมทั้งโดรนปีกตรึง (fixed-wing)[4] ขนาดเล็กที่มีความสามารถหลบเลี่ยงระบบป้องกัน รวมทั้งการตรวจจับจากฐานทัพและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการทูต การโจมตีในเมืองเออร์บิลของอิรักเมื่อเมษายน 2021 ใช้โดรนพุ่งชนโรงเก็บเครื่องบินของ CIA ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสนามบิน

การโจมตีอีกครั้งในพฤษภาคม 2021 มุ่งเป้าที่ฐานทัพอากาศ Ain al-Asad ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับเป้าหมายขีปนาวุธของอิหร่านในมกราคม 2020 หลังจากการลอบสังหาร Qassem Soleimani ผู้บัญชาการกองกำลัง IRGC-QF โดรนที่เคยโจมตีซาอุดีอาระเบียเมื่อมกราคม 2021 ถูกปล่อยจากดินแดนอิรัก ซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยชิ้นส่วนที่ส่งมาจากอิหร่านและนำไปใช้โดยกลุ่มติดอาวุธในอิรักที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน

กลุ่มที่อ้างความรับผิดชอบการโจมตีที่เรียกตัวเองว่า Awliya Wa'ad al-Haq หรือ “The True Promise Brigades” ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มดังกล่าวอ้างว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการตอบโต้ระเบิดฆ่าตัวตายของ IS ในกรุงแบกแดดเมื่อกลางมกราคม 2021

          กองกำลังสหรัฐฯกำลังเร่งพัฒนามาตรการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการตอบโต้โดรน นอกจากการพัฒนาระบบการตรวจสอบหาตำแหน่งระยะไกล (radar censor) ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นและเครื่องรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic jammers) ยังรวมถึงวิธีการทางจลนศาสตร์ที่ออกแบบมาเพื่อสอย (knock) โดรนจากฟากฟ้า เมื่อไม่นานนี้ สหรัฐฯได้ประกาศจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับอิสราเอล โดยมุ่งเน้นการตอบโต้ภัยคุกคามจากโดรนที่พัฒนาโดยอิหร่านและส่งต่อไปยังตัวแทนพันธมิตร (proxies) ทั่วตะวันออกกลาง

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานผ่าน Global Counterterrorism Forum ระบุว่า สหรัฐฯร่วมกับเยอรมนีและพันธมิตรระหว่างประเทศอื่น ๆ พัฒนาฉันทามติระดับโลกและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการใช้ UAS โดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย หลายฝ่ายคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะออกเป็นข้อมติ แม้ขณะนี้ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

          นอกเหนือจากการจัดหาโดรนด้วยตนเอง อิหร่านยังใช้หน่วย IRGC-QF ในการถ่ายทอดความรู้แก่ตัวแทนพันธมิตร ซึ่งจะช่วยปรับปรุงทักษะแลขีดความสามารถของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐได้อย่างมีนัยสำคัญ การใช้โดรน อย่างต่อเนื่องของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในภูมิภาคอาจนำไปสู่การแพร่ขยายของอุปกรณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ กลุ่มผู้ก่อการร้าย ผู้ก่อความไม่สงบและกลุ่มติดอาวุธพยายามพัฒนา UAS และปรับปรุงขีดความสามารถในการทำสงครามอสมมาตรด้วยต้นทุนที่สมเหตุสมผล

เทคโนโลยีระดับสูงเคยเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้เฉพาะประเทศที่มีงบประมาณทางการทหารแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปอุปสรรคในการเข้าถึงลดลงอย่างมาก ทุกวันนี้บุคคลและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐสามารถซื้อเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ (commercial-off-the-shelf/COTS) ในราคาไม่แพงโดยบูรณาการกับการวางแผน ส่งผลให้การโจมตีก่อการร้ายขยายขอบเขต ศักยภาพและความเสียหายรุนแรงมากขึ้น


[1] โดรน (drone) หมายถึง ยานปลอดมนุษย์โดยสาร แต่ถูกบังคับโดยมนุษย์ทางวิทยุหรือโดยระบบอัตโนมัติก็ได้ โดรนมีหลายประเภท ทั้งโดรนบนบก โดรนใต้น้ำและโดรนอากาศ ถ้าเป็นโดรนอากาศมักถูกเรียกว่า อากาศยานไร้คนขับ (unmanned aerial vehicle/UAV) สืบค้นที่ https://th.wikipedia.org/wiki/โดรน

[2] WELCOME TO THE “NEW NORMAL”: NON-STATE ACTORS AND THE USE OF DRONES INTELBRIEF June 3, 2021 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/welcome-to-the-new-normal-non-state-actors-and-the-use-of-drones?e=c4a0dc064a

[3] Venezuela President Maduro survives 'drone assassination attempt' BBC News 5 August 2018 Available at: https://www.bbc.com/news/world-latin-america-45073385

[4] Fixed-wing drones มีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับเครื่องบิน จึงต้องมีรันเวย์ ซึ่งโดรนประเภทนี้สามารถบินได้นานกว่าและเร็วกว่า เหมาะกับการใช้งานเพื่อสำรวจในพื้นที่กว้างใหญ่ แถมยังบรรทุกของหนักได้ในระยะไกล และใช้พลังงานน้อย

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.