20 ปีหลังเหตุการณ์ 9/11: อัล-ไคดายิ่งเปลี่ยนยิ่งเหมือนเดิม

ที่มาภาพ:https://www.nytimes.com/2018/11/20/us/politics/terrorism-islamic-militants.html

2 ทศวรรษหลังการก่อวินาศกรรม 9/11 อัล-ไคดาและเครือข่ายได้ก่อร่างขึ้นใหม่ในแง่ขนาด ความเข้มแข็ง ยุทธศาสตร์และขีดความสามารถปฏิบัติการ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนรวมถึงกลยุทธ์ การฉวยโอกาส ปรับตัว อดทนและอุดมการณ์ที่ยืดหยุ่น ปัจจุบันอัล-ไคดามีสมาชิกทั่วโลกประมาณ 30,000 - 40,000 คนมีสาขาและเครือข่ายในลิแวนต์ แอฟริกาเหนือ เอเชียใต้ คาบสมุทรอาหรับ การลดกำลังทหารของสหรัฐฯควรใช้แนวทางจัดสรรทรัพยากรให้พร้อมตอบโต้การเคลื่อนไหวที่ทำให้อัล-ไคดาประสบความสำเร็จคือ การแสวงประโยชน์จากความยุ่งเหยิงขัดแย้งทางการเมือง ความยืดหยุ่น การใช้ข้อมูลที่ผิดและความแตกแยกทางนิกาย[1]

          โลกเปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อเหยื่อการก่อการร้ายเกือบ 3,000 คนจากกว่า 70 ประเทศเสียชีวิตใน 11กันยายน 2001 อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายโลกเริ่มต้นขึ้น อัล-ไคดาได้วิวัฒนาการในแง่ขนาด ความแข็งแกร่ง กลยุทธ์และความสามารถปฏิบัติการ สถานภาพอัล-ไคดาในปัจจุบันแตกต่างอย่างมากจากช่วงต้นทศวรรษ 2000 องค์กรนี้อยู่รอดและขับเคลื่อนด้วยปัจจัยที่ยืนยง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ไม่ได้รับการจัดการแก้ไขจะทำให้องค์กรนี้ก่อการร้ายทั่วโลกต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า

          ปัจจัยแรกที่ทำให้อัล-ไคดายืนยงมาตลอด 20 ปีคือ มหายุทธศาสตร์ (Grand Strategy) ที่ประมวลอย่างรวบรัดโดย Abu Bakr Naji ในความเรียงเรื่อง The Management of Savagery: The Critical Stage Through The Umma Will Pass ว่าด้วยโครงร่างยุทธศาสตร์ระยะยาว ขั้นตอนในการสถาปนารัฐคอลีฟะห์ระดับโลก

ประการแรกคือ การใช้ความรุนแรงเพื่อสร้าง “ภูมิภาคแห่งความป่าเถื่อน” ซึ่งรัฐชาติ Westphalian[2] ถูกทำลายลง จากนั้นองค์กรต้องสร้างความชอบธรรมในการปกครอง “อย่างมีเหตุผลโดยอาศัยหลักชะรีอะฮ์” ด้วยความมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนในหมู่ชาวมุสลิมและชักชวนสาวกเพิ่มขึ้น สุดท้ายขึ้นอยู่กับความสำเร็จของสองขั้นตอนก่อนหน้าคือ การจัดตั้งการปกครองถาวรเพื่อสร้างและรักษาไว้ซึ่งรัฐอิสลามอย่างยั่งยืน

ตลอดช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 อัล-ไคดาดำเนินการอย่างอดทน อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปี 2011 โอซามา บิน ลาเดน ปรับเปลี่ยนแนวความคิดพร้อมกับการมาถึงของอาหรับสปริง ซึ่งเป็นพัฒนาการที่เขาคิดไว้เพื่อผลักดันขบวนการซาลาฟี-ญิฮาดจากขั้นตอนที่หนึ่งไปสู่ขั้นตอนที่สอง นับจากนั้นเป็นต้นมาอัล-ไคดาก็มุ่งความสนใจที่การก่อความไม่สงบในพื้นที่และต่อสู้กับ “ศัตรูที่อยู่ใกล้”

ไม่นานหลังจากเปลี่ยนเป้าหมายการก่อการร้ายทั่วโลกไปเป็นการก่อความไม่สงบในพื้นที่ บินลาเดนก็ถูกสังหารโดยกองกำลังพิเศษของสหรัฐฯ การเด็ดหัวองค์การก่อการร้ายถือเป็นความสำเร็จทางยุทธวิธีของสหรัฐฯ แต่ อัล-ไคดายังคงดำเนินการขยายเครือข่ายและชักชวนสมาชิกระดับรากหญ้าเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยประสบความสำเร็จอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

          ปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนวิวัฒนาการขององค์กร ได้แก่ ความอดทนเชิงกลยุทธ์ การฉวยโอกาสและการปรับตัว ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาอัล-ไคดาแสดงความอดทนอย่างน่าประทับใจ ในการชี้นำการเคลื่อนไหวของขบวนการซาลาฟี-ญิฮาด แม้มีโอกาสมากมายในเยเมน ปากีสถานและแอฟริกาตะวันตกที่อัล-ไคดาสามารถแสวงหาและขยายพื้นที่ยึดครอง แต่บินลาเดนตัดสินใจหวังผลระยะยาวโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้น

ผู้นำอัล-ไคดาผลักดันการหยุดยิงและสงบศึกกับกองกำลังติดอาวุธในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามในอิรัก (ISI) ซึ่งปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ในปี 2014 ISI เร่งดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุไว้ใน Management of Savagery เพื่อจัดตั้งรัฐคอลีฟะห์ในอิรัก การตัดสินใจดังกล่าวกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการแยกตัวกับอัล-ไคดาในกุมภาพันธ์ 2014 และนำไปสู่การล่มสลายในที่สุด

การแตกแยกกับ ISI ได้สร้าง “ศัตรูที่อยู่ใกล้” ขึ้นใหม่ในกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) อัล-ไคดาพยายามปรับตัวและอนุญาตให้ IS ใช้ความรุนแรงต่อเครื่องมืออุปกรณ์ต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ โดยยังคงพยายามแสวงประโยชน์จากความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical conflict) ขยายเครือข่ายของตนจากแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ (Maghreb) ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          ปัจจัยสุดท้ายที่สร้างความสับสนให้กับพันธมิตรที่ต่อสู้กับอัล-ไคดาคือ ความยืดหยุ่นของอุดมการณ์ นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่อัล-ไคดาประสบความสำเร็จในการขยายเรื่องเล่าที่ว่าชาติตะวันตกกำลังทำสงครามกับศาสนาอิสลาม ความผิดพลาดของสหรัฐฯทำให้เกิดเรื่องเล่าทางลบมากมาย ดังที่เห็นได้จากการรุกรานอิรักในปี 2003 ภาพที่หลุดจากเรือนจำอาบูกรอห์อิบและการใช้ “เทคนิคการสอบสวนขั้นสูง” รวมทั้งการกักขังสมาชิกอัล-ไคดาอย่างไม่มีกำหนดที่กวนตานาโมโดยไม่มีการพิจารณาคดี

แทนที่จะตอบโต้เรื่องเล่าดังกล่าว สหรัฐฯและพันธมิตรกลับใช้มาตรการคว่ำบาตรและการโจมตีด้วยโดรนที่ผิดพลาดรวมทั้งสนับสนุนผู้นำเผด็จการ ซึ่งไม่เพียงสร้างความคับข้องใจให้กับกลุ่มญิฮาด ยังช่วยให้กลุ่มก่อการร้ายชักชวนสมาชิกเพิ่มขึ้น ปัจจุบันอัล-ไคดาแข็งแกร่งมากกว่าในปี 2001 หลายเท่า การประมาณการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า อัล-ไคดามีสมาชิกทั่วโลกระหว่าง 30,000 - 40,000 คน

          ขณะนี้อัล-ไคดายังไม่ได้เผชิญความท้าทายที่แท้จริง สงครามต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกได้ขจัดผู้นำระดับสูงของอัล-ไคดา ทำให้ความสามารถในการโจมตีที่น่าทึ่งและปฏิบัติการต่อต้านตะวันตกลดลงอย่างมาก การที่ไม่เกิดการโจมตีในระดับ 9/11 อีกเป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จของสหรัฐฯในการต่อต้านการก่อการร้าย

การถอนกำลังทหารออกจากตะวันออกกลาง การปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญในการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ โดยหันมามุ่งเน้นการต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงในบ้านเกิด (homeland) มากขึ้นรวมทั้งตอบสนองการแข่งขันกับมหาอำนาจใหม่ในต่างประเทศ อัล-ไคดาและเครือข่ายขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ จึงไม่อาจถูกมองว่าเป็น ภายหลังการพัฒนายุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายและการจัดสรรทรัพยากร

การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานของสหรัฐฯจะเป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นคืนชีพของอัล-ไคดา ภายใต้การคุ้มครองของตอลิบานทำให้นักรบญิฮาดมีพื้นที่ปฏิบัติการที่จำเป็นในการชักชวนสมาชิก ติดอาวุธและรวบรวมเครือข่ายข้ามชาติที่แข็งแกร่งของอัล-ไคดา สหรัฐฯควรพิจารณาพันธะสัญญาด้านความมั่นคงอย่างเข้มงวดและจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอเพื่อตอบโต้รากเหง้าของการก่อการร้ายที่ทำให้อัล-ไคดาเติบโตประสบความสำเร็จ คือ ความวุ่นวายทางภูมิศาสตร์การเมือง อุดมการณ์ที่ยืดหยุ่น การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดและการแบ่งแยกทางนิกาย

ในการนี้สหรัฐฯจะต้องละทิ้งความมั่นคงแบบเข้มงวด ในการต่อต้านการก่อการร้ายตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยหันมาปรับใช้แนวทางเชิงป้องกันและการฟื้นฟู การทูตที่มีประสิทธิภาพ ความรู้ด้านดิจิทัลและความยืดหยุ่นในชุมชนที่เปราะบาง ทั้งนี้ เรื่องที่ไม่น่าแปลกใจคือ สหรัฐฯยังคงต้องตอบโต้ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายทั้งในและต่างประเทศด้วย

วิวัฒนาการของอัล-ไคดานับตั้งแต่ 9/11 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มซาลาฟี-ญิฮาดนิยมและอื่น ๆ ทั่วโลก การก่อตั้งเครือข่ายอัล-ไคดาส่งผลให้ภูมิทัศน์ภัยคุกคามขยายตัว ตั้งแต่แอฟริกาตะวันตกไปจนถึงเอเชียตะวันออก สหรัฐฯและส่วนที่เหลือของโลก ถูกบังคับให้สนับสนุนความพยายามในการต่อต้านการก่อการร้ายด้วยความจำเป็นมากขึ้น ด้วยกระบวนการที่มีความรับผิดชอบและแนวทางที่ยึดหลักนิติธรรม ดังที่แสดงให้เห็นในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ นอกเหนือจากลัทธิซาลาฟี-ญิฮาด การโจมตี ความเป็นผู้นำและการชักชวนของอัล-ไคดายังเป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด (violent far-right) และกลุ่มคนขาวผู้สูงส่ง (white supremacist) ทั่วโลก


[1] THE MORE THINGS CHANGE, THE MORE THEY STAY THE SAME: AL-QAEDA 20 YEARS AFTER 9/11 INTELBRIEF Monday, July 26, 2021 https://mailchi.mp/thesoufancenter/the-more-things-change-the-more-they-stay-the-same-al-qaeda-20-years-after-911?e=c4a0dc064a

[2] สนธิสัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลิน (Peace of Westphalia) ผลการประชุมทางการทูตสมัยใหม่และเริ่มวิถีการปฏิบัติสมัยใหม่ (new order) ของยุโรปกลางในบริบทของรัฐเอกราช เพื่อยุติสงคราม 30 ปีในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และสงคราม 80 ปีระหว่างสเปนและสาธารณรัฐดัตช์และรัฐทั้งเจ็ด ลงนามเมื่อ 15 พฤษภาคม 1648 ที่เมืองออสนาบรึค สนธิสัญญาเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ผู้เข้าร่วมสร้างสัญญาสันติภาพก็ได้แก่ สมเด็จพระจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 3 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ฮับส์บวร์ก)ราชอาณาจักรสเปนฝรั่งเศส และ สวีเดนสาธารณรัฐดัตช์ และพันธมิตรของแต่ละฝ่าย สัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลิน เข้าถึงได้ที่: https://th.wikipedia.org/wiki/สนธิสัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลิน

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.