ภูมิทัศน์การก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังเหตุการณ์ 9/11

The fighting that occurred around the Philippine city of Marawi in 2017 is a sign of what Islamist militants are capable of ที่มาภาพ: https://www.dw.com/en/southeast-asia-in-the-crosshairs-of-islamic-state/a-50839626

ารก่อการร้ายที่ใช้อิสลามสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง (Islamists Terrorism)[1] หยั่งรากลึกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยอินเทอร์เน็ตช่วยขยายการโฆษณาชวนเชื่อและชักชวนสมาชิกหัวรุนแรง ทั้งนี้ เครือข่ายนักรบต่างชาติ (Foreign Fighter) ที่กลับจากพื้นที่ขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงของภูมิภาคนี้ ขณะที่สตรีและเยาวชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการก่อการร้าย ส่งผลกระทบต่อการสรรหาบุคลากรและความพยายามในการต่อต้านการก่อการร้าย สำหรับปัญหาชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในค่ายกักกันซีเรียต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังโดยรัฐบาลระดับชาติและประชาคมโลก[2]

          เหตุวินาศกรรมเมื่อ 11 กันยายน 2001 ทำให้ภูมิทัศน์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงโลกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาองค์กรก่อการร้ายระดับท้องถิ่นและนานาชาติ เช่น อัล-ไคดา และกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) เคลื่อนไหวจัดตั้งเครือข่ายอย่างลับ ๆ อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งในท้องถิ่นประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชักชวนสมาชิกในท้องถิ่นเข้าร่วมขบวนการและปฏิบัติการก่อการร้าย

การโจมตีครั้งร้ายแรงที่สุดในภูมิภาคคือ เหตุระเบิดที่บาหลี อินโดนีเซียในปี 2002 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 202 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก การจัดการปัญหาความรุนแรงสุดโต่งที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องทำความเข้าใจรากเหง้าและสาเหตุที่ทำให้การก่อการร้ายขยายตัว

          เครือข่ายก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หยั่งรากลึกในอินโดนีเซีย ช่วงทศวรรษ 1940 กลุ่ม Darul Islam  (House of Islam) ต่อสู้เพื่อก่อตั้งรัฐอิสลามในอินโดนีเซีย ช่วงจุดสูงสุดในทศวรรษ 1950 เชื่อกันว่า Darul Islam ควบคุมอาณาเขตอันกว้างใหญ่ในอาเจะห์ สุลาเวสีใต้และชวาตะวันตก

แม้ถูกทำให้เป็นกลางในทศวรรษ 1960 แต่กลุ่มย่อยที่แตกหน่อแยกออกมารวมถึง Jemaah Islamiyah (JI) ยังคงขยายตัวบรรจบกับกลุ่มหัวรุนแรงทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมาเลเซีย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับมาของนักรบชาวอินโดนีเซียซึ่งมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทั่วโลก ตั้งแต่อัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษ 1980 จนถึงการสู้รบครั้งล่าสุดในซีเรีย

          นักรบต่างชาติจำนวนมากกลับมามีบทบาทในเครือข่ายที่มีความรุนแรงในภูมิภาค โดยเป็นครูฝึกทางทหาร จัดหาเงินทุน ชักชวนสมาชิก ที่ปรึกษาและเข้าร่วมก่อความรุนแรงหรือปฏิบัติการโจมตีอย่างต่อเนื่อง นักรบต่างชาติเหล่านี้ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการก่อเหตุรุนแรง และเป็นจุดรวมพลของผู้ที่ไม่สามารถเดินทางไปยังซีเรีย ตัวอย่างเช่น สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม Jamaah Anshoru Khilafah (JAK) ในอินโดนีเซียซึ่งสนับสนุน IS ส่งสมาชิกรุ่นเยาว์สองคนไปยังมาราวีในปี 2559 เพื่อยกระดับความขัดแย้งในฟิลิปปินส์ หลังจากนั้น JAK เริ่มสร้างการติดต่อทางออนไลน์กับนักรบต่างชาติชาวอินโดนีเซีย

          รัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่า ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 66 คน ส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย มาเลเซียและชาวสิงคโปร์ 2 - 3 คนมีส่วนร่วมในการยึดเมืองมาราวีในปี 2017 นอกจากนั้นมีนักรบ 40 คนจาก ปากีสถาน บังคลาเทศ ซาอุดีอาระเบีย เยเมนและเชชเนีย ได้ต่อสู้เคียงข้างผู้นำของรัฐอิสลามในฟิลิปปินส์ รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธ Isnilon Hapilon ซึ่งแยกตัวจากกลุ่ม Abu Sayyaf (ASG), เผ่า Maute, กลุ่มนักรบเสรีอิสลามโมโร (BIFF), กลุ่ม Ansar Khalifah Philippines (AKP) และสมาชิกบางส่วนของแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF)

แม้กลุ่มติดอาวุธถูกผลักดันออกไปและสูญเสียพื้นที่ยึดครองมาราวี แต่นักรบต่างชาติยังคงเดินทางไปยังพื้นที่ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ รวมทั้งชาวยุโรปจำนวนหนึ่งที่ถูกยับยั้งก่อนเดินทางขึ้นเครื่องบินไปยังมะนิลา อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่สามารถเล็ดลอดเข้าไปได้

          เกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์มีประวัติยาวนานเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบของมุสลิมโมโร และเป็น “สนามเด็กเล่น” ของกลุ่มญิฮาด นักรบต่างชาติสามารถปรับเปลี่ยนเรื่องเล่าของมุสลิมโมโรให้เป็นความขัดแย้งระดับโลกระหว่างศาสนาอิสลามในท้องถิ่นและศาสนาคริสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก โดยอ้างว่าสาเหตุที่ต้องระดมนักรบอิสลามก็เพราะดินแดนมุสลิมถูกกองกำลังต่างชาติโจมตี

ความเป็นจริงในทางปฏิบัติคือ กลุ่มติดอาวุธรุ่นเยาว์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซียถูกดึงดูดจากความอื้อฉาวของ IS เพียงเพราะต้องการเข้าร่วมกับกลุ่มเพื่อนที่สู้รบอยู่แล้วในต่างประเทศ มินดาเนาไม่เพียงเป็นสถานที่เข้าถึงได้สำหรับเยาวชนเหล่านั้น แต่ยังเป็นที่หลบภัยสำหรับนักรบต่างชาติอีกด้วย

อินเตอร์เน็ตทำให้พลวัตรก่อการร้ายหยั่งรากลึก ความเร็ว ความสามารถในการเข้าถึงและการกระจายทำให้การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับความรุนแรงสุดโต่ง (violent extremist-VE) แพร่ขยายอย่างกว้างขวาง การสอดประสานทางออนไลน์และออฟไลน์ของการโฆษณาชวนเชื่อและการชักชวนสมาชิก ก่อให้เกิดอัตลักษณ์ของผู้ถูกชักชวนผ่านปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน (echo chamber)[3] ซึ่งช่วยเสริมแรงความทุกข์ยากส่วนบุคคลและอุดมการณ์สุดโต่งรวมทั้งกระตุ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการก่อการร้าย

          ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้หญิงในกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง ตัวอย่างเช่น คู่สามีภรรยาชาวอินโดนีเซียที่ก่อเหตุโจมตีมหาวิหาร Jolo ที่ฟิลิปปินส์ในปี 2019 ต้องการเข้าร่วมกลุ่ม IS ในซีเรียพร้อมกับลูก ๆ คนเมื่อปี 2020 แต่มีเพียงบุตรชายคนโตเท่านั้นที่เดินทางจากตุรกีไปซีเรีย ต่อมาคู่สามีภรรยาและบุตร คนถูกทางการตุรกีจับกุมและเนรเทศกลับภูมิลำเนาในมกราคม 2017 ทั้งคู่แยกเดินทางไปฟิลิปปินส์ตอนใต้พร้อมลูก ๆ อีก 3 คนในปี 2019 ตามคำสั่งผู้นำของกลุ่ม Jamaah Ansharut Daulah (JAD) ที่เชื่อมโยงกับ IS

เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นอกจากการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงผู้หญิงยังเป็นผู้ก่อเหตุและทำให้คนในครอบครัวมีส่วนร่วมกับความรุนแรง เครือข่ายผู้ก่อการร้ายซึ่งหมายรวมถึงเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมปฏิบัติการหลายคนถูกชักชวนผ่านพ่อแม่ของพวกเขา ในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเชื่อฟังคำสั่งของพ่อแม่เป็นบรรทัดฐานสำคัญทางสังคม การแสวงประโยชน์จากค่านิยมทางวัฒนธรรมประเภทนี้ ทำให้การก่อความรุนแรงของปัจเจกบุคคลพัฒนาไปเป็นการก่อเหตุทั้งครอบครัว

          การเดินทางไปเข้าร่วมกลุ่ม IS ในซีเรียของนักรบต่างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกมองว่าเป็นปัญหาภายในของประเทศต้นทาง ส่งผลในทางตรงข้ามกับวัตถุประสงค์ ประธานาธิบดีเรเซป แอร์โดอัน ของตุรกีและทางการเคิร์ดกล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะปล่อยตัวชาวต่างชาติผู้สนับสนุน IS ที่ถูกคุมขังและส่งตัวพวกเขากลับประเทศบ้านเกิด จึงมีความเป็นไปได้ที่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้สนับสนุน ISIS จะถูกปล่อยตัวจากค่ายกักกันในซีเรียผ่านพรมแดนที่กว้างขวางและมีช่องว่างของภูมิภาคอย่างอิสระโดยไม่ถูกตรวจพบ

มีรายงานว่าผู้ถูกคุมขังสัญชาติอื่นหลบหนีออกจากค่ายกักกัน นอกจากนี้ มีการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างบุคคลที่สนับสนุน IS จากประเทศต่าง ๆ ทำให้ยากที่จะตรวจพบการเดินทางอย่างเป็นทางการเข้าสู่ภูมิภาคของบุคคลเหล่านี้ เนื่องจากพวกเขาสามารถเข้าถึงทรัพยากร (เช่น เอกสารการเดินทาง) จากเครือข่าย IS ทั่วโลก

กลุ่มผู้สนับสนุน IS ในภูมิภาคกำลังเคลื่อนไหวระดมทรัพยากรบนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อนำพรรคพวกพันธมิตรชาวอินโดนีเซียที่สนับสนุน IS กลับภูมิลำเนาโดยอิสระหรือสนับสนุนให้พวกเขาอพยพไปยัง “Khorasan” ของอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดพวกหัวรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก

          การตอบสนองรับมือปรากฏการณ์ดังกล่าว รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องวางแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับเพศสภาพ เพื่อประเมินความเสี่ยงและความจำเป็นของผู้เดินทางกลับและครอบครัว เนื่องจากทั้งชายและหญิงผ่านกระบวนการแตกต่างกันในการเปลี่ยนแปลงรากฐานความคิดหัวรุนแรง

การดำเนินคดีตามกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยอาศัยแนวทางที่ปรับแต่งเฉพาะสำหรับการฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคม ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เปิดเผยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการริเริ่มของรัฐบาลสามารถรับมือกับความคลางแคลงใจ

ในการนี้องค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจมีบทบาทสำคัญโดยเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐบาลและชุมชน ดำเนินโครงการริเริ่มพื้นฐานมากขึ้นเพื่อจัดการกับกลุ่มหัวรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟูและส่งต่อบุคคลคืนสู่ภูมิภาค


[1] ผู้นิยมความรุนแรงที่ใช้อิสลามสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง แบ่งโลกออกเป็น ส่วน ได้แก่ 1) ขอบเขตแห่งอิสลาม (Darul Islam) หมายถึง พื้นที่ที่มุสลิมต้องเผยแผ่ศาสนาออกไปทั่วโลก 2) ขอบเขตแห่งการสมานฉันท์ (Darul Solh) คือ พื้นที่ที่มุสลิมต้องออกไปพบปะเชิญชวนผู้คนให้เข้ารับอิสลาม และ 3) ขอบเขตแห่งการทำสงคราม (Darul Harb) คือ พื้นที่ที่เผยแผ่ศาสนาไปแล้ว แต่ถูกปฏิเสธจนเกิดการตอบโต้ด้วยการสู้รบ ซึ่งอนุญาตให้ใช้กำลังตอบโต้กลับไปได้

[2] DEEP ROOTS AND RECENT BOOSTS: THE EVOLUTION OF THE TERRORIST LANDSCAPE IN SOUTHEAST ASIA AFTER 9/11 Monday, August 16, 2021 INTELBRIEF 9.11 ANIVERSARY SERIES Available at : https://mailchi.mp/thesoufancenter/deep-roots-and-recent-boosts-the-evolution-of-the-terrorist-landscape-in-southeast-asia-after-911?e=c4a0dc064a

[3] เป็นคำเปรียบเทียบถึงห้องที่ออกแบบให้มีการสะท้อนเสียงกลับไปมา หมายถึงสถานการณ์ที่ข้อมูล ความคิด ความเชื่อหนึ่ง ๆ ถูกขยายหรือสนับสนุนผ่านการสื่อสารและการทำซ้ำภายในระบบหนึ่ง ๆ ใน “ห้อง” นี้ แหล่งที่มาของข้อมูลนั้น ๆ มักไม่ถูกตั้งคำถาม มุมมองที่แตกต่างหรือท้าทายต่อข้อมูลเดิมมักถูกปิดกั้นหรือถูกนำเสนอน้อยกว่าข้อมูลที่สอดคล้องกัน

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.