จีนคงไม่ฝังตัวเองในอัฟกานิสถาน: สุสานจักรวรรดิ (Graveyard of Empires)

 

ที่มาภาพ: https://ecfr.eu/article/after-the-withdrawal-chinas-interests-in-afghanistan/

ณะที่สหรัฐฯเตรียมถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน จีนใช้โอกาสดังกล่าวขยายอิทธิพลเข้าแทนที่โดยพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงต้นมิถุนายน 2021 รัฐมนตรีต่างประเทศจีน อัฟกานิสถานและปากีสถานได้พบหารือเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคง หลังการถอนทหารของสหรัฐฯ การปรากฎตัวของจีนในภูมิภาคนี้ทำให้นักการทูตและผลประโยชน์ของจีนตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อการร้าย ทั้งนี้ จีนมองการถอนตัวของสหรัฐฯผ่านเลนส์การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ (Great Power Competition) มากกว่าประเด็นในระดับภูมิภาคเพียงอย่างเดียว[1]

          ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียใต้กำลังปรับกลยุทธ์เพื่อแสวงประโยชน์จากสุญญากาศอำนาจ หลังการถอนตัวของสหรัฐฯ จีนเตรียมการโดยเข้าถึงและปรับปรุงความสัมพันธ์กับตัวแสดงหลายฝ่ายในอัฟากานิสถานรวมทั้งกลุ่มตอลิบานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจ ด้วยโครงการความริเริ่มแถบและทาง (BRI) และกระชับความร่วมมือกับปากีสถานผ่านระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) ซึ่งมีการลงทุนในท่าเรือกวาดาร์

จีนอวดว่าโครงการ BRI เป็นวิธีแก้ปัญหาความไร้เสถียรภาพและความล้าหลัง การเชื่อมโยงอัฟกานิสถานกับท่าเรือทางทะเลของปากีสถานจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาอัฟกานิสถานและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ จีนลงทุนสร้างเหมืองทองแดงขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกใกล้กับกรุงคาบูล ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ จำนวนมากของจีนในอัฟกานิสถาน อาจเสียหายจากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และแผ่ขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ จีนยังจับตาดูผลกระทบของสถานการณ์ในอัฟกานิสถานที่มีต่อชุมชนอุยกูร์ในภูมิภาคด้วย

          ช่วงต้นมิถุนายน 2021 รัฐมนตรีต่างประเทศจีน อัฟกานิสถานและปากีสถานได้พบหารือถึงการรักษาความมั่นคงระหว่างการถอนทหารของสหรัฐฯ ซึ่งจีนได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันมิให้การก่อการร้ายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบนอกเหนือเขตแดนของอัฟกานิสถาน รัฐมนตรีต่างประเทศจีน Wang Yi กล่าวถึงความจำเป็นในการ “เสริมสร้างการสื่อสารและความร่วมมือ” ระหว่างปักกิ่ง คาบูล และอิสลามาบัด

หลังการโจมตีก่อการร้ายโรงเรียนสตรีในกรุงคาบูลเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มรัฐอิสลามแห่งโคราซาน (ISKP) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน Hua Chunying พยายามกล่าวหาว่าการถอนตัวอย่างกะทันหันของสหรัฐฯก่อให้เกิดความไม่แน่นอนมากเท่ากับการวางกำลังประชิดชายแดนจีน การปรากฏตัวของสหรัฐฯบดบังกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน ปากีสถานและส่วนอื่น ๆ ของเอเชียใต้และเอเชียกลาง

          นักวิเคราะห์ต่อต้านการก่อการร้ายจำนวนหนึ่งคาดการณ์ว่า การถอนทหารสหรัฐฯและการปรากฎตัวของจีนในเอเชียใต้ทำให้นักการทูตและและผลประโยชน์ของจีนตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายมากขึ้น รายงานล่าสุดโดย Radio Free Europe/Radio Liberty ระบุว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายในปากีสถาน รวมทั้ง Tehrik-e-Taliban (TTP) และกลุ่มแบ่งแยกดินแดน Baluch ได้ร่วมมือกันเพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้น

การกดขี่บังคับชาวมุสลิมอุยกูร์อย่างกว้างขวางของจีน ซึ่งบางประเทศตะวันตกตีตราว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สร้างความความโกรธแค้นให้กับกลุ่มญิฮาด เช่น อัล-ไคดา ในปี 2019 ฝ่ายบัญชาการอัล-ไคดาออกแถลงการณ์แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับพรรคอิสลามเตอร์กิสถาน (TIP) และชาวอุยกูร์ จีนกังวลว่าหากเกิดความโกลาหลในอัฟกานิสถานจะกลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของกลุ่มติดอาวุธในการสร้างเครือข่าย แหล่งหลบภัยและการฝึกอบรมกลุ่มติดอาวุธชาวอุยกูร์ด้วยประสบการณ์การต่อสู้ในซีเรีย

          จีนจับตาการถอนทหารของสหรัฐฯโดยมองผ่านเลนส์ “การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่” ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯจมปลักอยู่กับการต่อต้านการก่อความไม่สงบที่สิ้นเปลืองทรัพยากรและความแตกแยกทางการเมืองภายในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลดีต่อจีน สงครามต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกที่นำโดยสหรัฐฯช่วยปกปิดการรณรงค์ต่อต้านชาวอุยกูร์ของจีนโดยเป็นเครื่องบังหน้าผลประโยชน์ร่วมกันในการต่อต้านการก่อการร้าย

จีนขยายขอบเขตภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธชาวอุยกูร์ และใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามในซินเจียง ส่วนการตัดสินใจถอนทหารจากอัฟกานิสถานของสหรัฐฯมีรูปแบบมาจาก “การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่”เช่นกัน เนื่องจากสหรัฐฯมองว่าจีนเป็นศัตรูหลัก จึงมีการประสานเสียงเซ็งแช่บนถนนในกรุง (วอชิงตัน ดี.ซี.) เรียกร้องให้ “ยุติสงครามที่ไม่รู้จบ” และนำทรัพยากรทางการทหารมาใช้แข่งขันกับคู่แข่งที่ทัดเทียมกันรวมถึงจีนและรัสเซีย

จีนตระหนักว่าการถอนตัวของสหรัฐฯจากความมุ่งมั่นในอัฟกานิสถาน จะทำให้จีนต้องเพิ่มความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและทรัพยากรทางการทูตเพื่อการรักษาความมั่นคงของตนเอง จึงระมัดระวังที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องมากเกินไป อย่างไรก็ตาม จีนก็รู้เท่าทันและพยายามหลีกเลี่ยงกับดักที่ฉุดดึงมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่อื่น ๆ เข้าไปใน “สุสานแห่งจักรวรรดิ (Graveyard of Empires)”



[1] WHAT IS CHINA’S STRATEGY IN AFGHANISTAN ONCE THE U.S. WITHDRAWS? INTELBRIEF Wednesday, June 9, 2021 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/what-is-chinas-strategy-in-afghanistan-once-the-us-withdraws?e=c4a0dc064a

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.