ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกระทบความมั่นคงระดับโลก ?

ที่มาภาพ: An Urgent Reminder: Climate Change As A Security Threat https://www.oceancare.org/en/an-urgent-reminder-climate-change-as-a-security-threat/

ายงานประมาณการข่าวกรอง ฉบับของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯสรุปตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบเสถียรภาพของภูมิศาสตร์การเมืองในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ในบริเวณขั้วโลกเหนือ (Arctic) จะทวีความรุนแรง เนื่องจากรัฐต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้มีท่าทีแข็งกร้าวในการหาทางเข้าถึงเส้นทางเดินเรือมากขึ้น รายงานบางฉบับประเมินว่าจะมีผู้พลัดถิ่นหลายสิบล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในซีกโลกใต้ อาทิ ตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (แอฟริกา) เอเชียใต้และละตินอเมริกา ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงต่อเป็นพิเศษได้แก่ กัวเตมาลา เฮติ เกาหลีเหนือ ปากีสถาน อินเดีย อัฟกานิสถาน อิรัก พม่า นิการากัว โคลอมเบียและฮอนดูรัส[1]

          ประมาณการข่าวกรองจัดทำโดยสำนักงานผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (ODNI) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) กระทรวงกลาโหม (DoD) และกระทรวงความมั่นคงแห่งบ้านเกิด (DHS) สหรัฐฯซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายตุลาคม 2021 ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมืองในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า มีแนวโน้มว่าการขาดแคลน/แย่งชิงทรัพยากร แหล่งน้ำ อาหาร พลังงานและที่ดินทำกินมากขึ้นจะนำไปสู่การทำสงครามทั้งภายในและระหว่างรัฐ

หัวใจสำคัญของความมั่นคงกับสภาพอากาศ (climate-security nexus) แสดงให้เห็นความซับซ้อนของความท้าทายและปัญหาต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศสุดขั้ว การย้ายถิ่น ความขัดแย้งและการเข้าถึงทรัพยากรเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกและไม่สามารถแยกแยะได้ เมื่อกันยายน 2021 อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ไอร์แลนด์เป็นประธาน) โดยอ้างรายงานล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า เป็นสัญาณเตือนภัยที่มีนัยสำคัญระดับ “รหัสสีแดง”

          หลายประเทศไม่เห็นด้วยกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเกี่ยวข้องระหว่างสภาพอากาศกับความมั่นคงซึ่งท้าทายความพยายามร่วมมือระหว่างประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลก อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่จะปรับสมดุลของพลังงานโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการเข้าถึงแร่ธาตุหายากซึ่งจำเป็นในการสร้างแบตเตอรี่ กังหันลมและวงจรไฟฟ้าอีกทั้งเป็นพื้นที่การแข่งขันเพื่อสร้างอิทธิพลของประเทศต่าง ๆ

การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ในแถบขั้วโลกเหนือมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากประเทศมหาอำนาจมีท่าทีแข็งกร้าวในการพัฒนาหาทางเข้าถึงเส้นทางเดินเรือ กองกำลังติดอาวุธของสหรัฐฯจะถูกท้าทายจากสภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมทางทหาร โดยมีแนวโน้มว่าจะต้องรับผิดชอบการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (HA/DR) ทั้งนี้ สหรัฐฯได้ให้ความช่วยเหลือหลังเกิดพายุเฮอริเคน แผ่นดินไหวและน้ำท่วม

          ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ภาวะแห้งแล้งยืดเยื้อ การแพร่กระจายของไฟป่าและสภาพอากาศสุดขั้วมีแนวโน้มทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ (climate refugee)” เนื่องจากสภาพอากาศมีผลกระทบต่อการอพยพย้ายถิ่น ในทางกลับกันจะเพิ่มความขัดแย้ง ผู้คนหลายสิบล้านคนจะต้องพลัดถิ่น โดยเฉพาะประชากรในซีกโลกใต้รวมถึงเอเชียใต้ ทะเลทรายซาฮาราตอนใต้และละตินอเมริกา

อุณหภูมิและความเป็นกรดของมหาสมุทรสูงขึ้น การเก็บเกี่ยวพืชผลได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและราคาอาหารที่สูงขึ้นอาจทำให้การขาดแคลนอาหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากการประมงได้รับผลกระทบและธัญพืชมีปริมาณลดลง ประเทศกำลังพัฒนามีความสามารถน้อยลงในการจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความเสียหายต่อทรัพย์สิน ธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐาน หลายประเทศต้องเผชิญทางเลือกในการจัดหาที่อยู่อาศัยและทำงานให้แก่ประชาชน

BBC ตั้งข้อสังเกตว่าพายุภัยพิบัติในบังคลาเทศที่เกิดขึ้นหนึ่งครั้งในแต่ละทศวรรษ อาจเพิ่มเป็น 3 - 15 ครั้งในแต่ละปีและระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 1.5 เมตร หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาเป็นกลุ่มที่ปล่อยคาร์บอนต่ำที่สุด แต่ได้รับผลกระทบสูงสุด ขณะเดียวกัน สัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนส่วนใหญ่มาจากประเทศอุตสาหกรรมและประเทศที่พัฒนาแล้ว เฉพาะจีนเพียงประเทศเดียวมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก

          ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของรายงานที่จัดทำโดยประชาคมข่าวกรองของสหรัฐฯคือ รายชื่อ ภูมิภาคและ 11ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดคือ แอฟริกากลางและมหาสมุทรแปซิฟิก (ประเทศเกาะเล็ก ๆ รวมตัวกันเป็นกระจุก) ส่วนประเทศต่าง ๆ ได้แก่ กัวเตมาลา เฮติ เกาหลีเหนือ ปากีสถาน อินเดีย อัฟกานิสถาน อิรัก พม่า/เมียนมาร์ นิการากัว โคลอมเบียและฮอนดูรัส

นัยสำคัญของความมั่นคงในระดับโลกกับเสถียรภาพภายในของประเทศที่เห็นได้ชัด คือ เกาหลีเหนือและปากีสถานซึ่งครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ หากรัฐบาลไม่สามารถสนองความต้องการพื้นฐานของพลเมืองของตนและสถานการณ์เลวร้ายลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาจนำไปสู่การประท้วงอย่างกว้างขวางและการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐที่เปราะบางอยู่แล้ว

รายงานดังกล่าวของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯจัดทำขึ้น เพื่อนำไปสู่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP 26) ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 31 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน 2021 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ โดยอังกฤษเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ สหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดนทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นจุดศูนย์กลางของวัตถุประสงค์ด้านนโยบายภายในและต่างประเทศหลายประการ

ในระดับสากล มีความตึงเครียดระหว่างรัฐต่าง ๆ เช่น เยอรมนีและไอร์แลนด์ที่ผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงฯตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างสภาพภูมิอากาศและความมั่นคง รวมทั้งพยายามหาข้อตกลงแก้ไขปัญหาฉบับใหม่ ส่วนรัสเซียโต้แย้งว่าประเด็นทั้งสองยังคงไม่เกี่ยวข้องกัน

ภายหลัง Brexit อังกฤษลงทุนอย่างหนักในการสร้างภาพลักษณ์ระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม COP26 นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เรียกร้องให้โลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และรักษาระดับการเพิ่มของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ในความตกลงปารีส



[1] U.S. GOVERNMENT AGENCIES WARN OF DIRE IMPLICATIONS OF CLIMATE CHANGE ON GLOBAL SECURITY INTELBRIEF Monday, October 25, 2021 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/us-government-agencies-warn-of-dire-implications-of-climate-change-on-global-security?e=c4a0dc064a

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.