ถ้า “อุ๊งอิ๊ง” อยากเป็นนายกรัฐมนตรี: ยุทธศาสตร์และจุดศูนย์ดุล (COG)

 

ที่มาภาพ: https://www.thairath.co.th/news/politic/2232184

การใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) และการคิดแบบยืดหยุ่น (flexible thinking) ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นศิลปของยุทธศาสตร์และการวางแผนทางทหาร (military planning) ด้วยการปรับกรอบยุทธศาสตร์และตัวแบบตามสถานการณ์ ไม่ใช่บีบบังคับสถานการณ์ให้เข้ากับตัวแบบ

ารเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” (แพทองธาร ชินวัตร) ลูกสาวคนเล็กของ “โทนี่ วูดซัม” ในฐานะประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม (inclusion and innovation) ของพรรคเพื่อไทยซึ่งจัดประชุมประจำปีครั้งที่ 1/2564 ที่ขอนแก่นเมื่อ 28 ตุลาคม 2564 นอกจากทำให้พวก “สลิ่ม” และ “นกหวีด” ซึ่งเกลียดทักษิณอย่างมากฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ยังส่งผลให้มีการคาดเดาถึงนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของไทยที่อายุน้อยที่สุดด้วย[1] แล้วยุทธศาสตร์ของเธอคืออะไร จะไปถึงตำแหน่งนั้นได้อย่างไร

          บทความนี้จะไม่พูดถึงการเปลี่ยนลุคของพรรคเพื่อไทยเพื่อเชื่อมต่อ (fused) มวลชนเสื้อแดงและเนื้อหาสารัตถะ (content) “พรุ่งนี้” ที่พรรคนำเสนอในวันดังกล่าวซึ่งนักวิเคราะห์/ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนมากให้ความเห็นไปแล้วอย่างกว้างขวาง แต่จะใช้ตัวแบบที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ทหารของลิคเก้ (Lykke Model of military strategy)[2] หรือ “ม้านั่งสามขา” เชื่อมโยงกับแนวคิดจุดศูนย์ดุลเพื่อวิเคราะห์หนทางปฏิบัติของ “อุ๊งอิ๊ง” หากเธออยากเป็นนายกรัฐมนตรี (ที่บอกว่าจะ “พาพ่อกลับบ้าน” คงเป็นเพียงการส่งสัญาณทวงความยุติธรรมในเมื่อเส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์ไม่สำคัญอีกต่อไป “โทนี” ก็กลับบ้านได้ในโลกเมตาเวิร์ส)

          Lykke อ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ หนทางปฏิบัติและเครื่องมือ (ทรัพยากร) โดยเปรียบเทียบกับขาทั้งสามของม้านั่งเดี่ยวไม่มีพนัก (“ม้านั่ง” เป็นตัวแทนของ “ยุทธศาสตร์”) ได้แก่ วัตถุประสงค์ (objectives) แนวความคิด (concepts) และทรัพยากร (resources) ขนาดที่แตกต่างกันของขาแต่ละข้างจะทำให้ม้านั่งเกิดมุมเอียงหรือความเสี่ยง (Risk) “หากทรัพยากรทางทหารเข้ากันไม่ได้กับแนวความคิดทางยุทธศาสตร์หรือความมุ่งมั่นไม่ทัดเทียมกับขีความสามารถทางการทหาร เราอาจตกอยู่ในความยากลำบากและเป็นไปได้ที่จะประสบความพ่ายแพ้หรือเสียหายหรือไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์”

ความเสี่ยงในเบื้องต้นเกิดจากข้อบกพร่องของทรัพยากรทางทหาร จากมุมมองนี้ ตัวแบบของ Lykke มีประโยชน์และสมเหตุสมผล โดยทำให้เราไม่ละเลยข้อจำกัดของทรัพยากร ซึ่งในทางทฤษฎีจะทำให้เราไม่ดำเนินยุทธศาสตร์ซึ่งไม่เป็นความจริง (unrealistic strategies) กรอบความคิดดังกล่าวมีประโยชน์ในการพัฒนายุทธศาสตร์ ขณะที่นักวางแผนก็สามารถใช้วิเคราะห์แผนและการกระทำของของมิตรและศัตรูในการกำหนดพลังอำนาจ ความเสี่ยงและที่สำคัญที่สุด คือ การวิเคราะห์จุดศูนย์ดุล (Center of Gravity - COG)[3]

Lykke's Original Depiction of Strategy (Graphic from Arthur Lykke, "Defining Military Strategy = E + W + M, " Military Review 69, no. 5 [1989])

          กรอบยุทธศาสตร์ในทางปฏิบัติที่อาจช่วยให้มองเห็นภาพสถานการณ์ (การเมือง) ได้ชัดเจนขึ้น ลองสมมติว่า “อุ๊งอิ๊ง” อยากเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย สิ่งที่เธอต้องการบรรลุ (end) คือ การเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย หนทางปฏิบัติ (ways) ที่เป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้บรรลุความสำเร็จ ได้แก่ รัฐประหาร (coup) ซื้อตำแหน่ง (purchase) ปาฏิหาริย์ (miracle) หรือผ่านการเลือกตั้ง (election) “อุ๊งอิ๊ง” ตัดตัวเลือกสามอันดับแรกออก เพราะเธอไม่มีทรัพยากร (means) ที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ เธอไม่มีกองทัพสนับสนุน ไม่มีเงินทุนมากพอ (แม้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท SC) และขาดศรัทธา (ไม่ได้น้อมนำคำสอนฯเหมือนใครบางคน) ตามลำดับ

          การเปิดตัวในพรรคเพื่อไทยเป็นช่องทางไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” จำเป็นต้องมีทรัพยากร (means) ซึ่งจะขอกล่าวถึงแค่บางส่วน คือ ทักษะทางการเมือง (political skills) การเข้าถึงสื่อ (media access) องค์กรรณรงค์หาเสียง (campaign organization) กองทุน (funds) เสียงสนับสนุน (sufficient votes) การสื่อสารที่น่าเชื่อถือ (convincing messages)[4] และความคิด (ideas) เครื่องมือเหล่านี้ควบคุมสมรรถนะสำคัญที่จะทำให้เธอได้รับเลือกตั้งหรือไม่

ทักษะทางการเมืองเป็นเรื่องจำเป็น “อุ๊งอิ๊ง” ไม่ได้มาในฐานะนักการเมือง แต่ทักษะการเมืองก็ไม่มีสิทธิออกเสียง กองทุนคือ สิ่งที่ต้องการ แต่เงินไม่สามารถออกเสียง การสื่อสารที่น่าเชื่อถือเป็นปัจจัยเสริม แต่ก็ไม่สามารถออกเสียงเช่นกัน ประชาชน (ผู้มีสิทธิ) คือ ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ก็คือ “จุดศูนย์ดุล” นี่คือการทดสอบการปฏิบัติ (does) “อุ๊งอิ๊ง” จำเป็นต้องใส่ความต้องการให้แก่จุดศูนย์ดุล (ผู้มีสิทธิออกเสียง) ในพื้นที่ภาคอิสานและภาคเหนือ (หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่เป็นคนเหนือ) มากพอและเข้มแข็งกว่าฝ่ายตรงข้าม

          ในกรณีการเลือกตั้งของไทย[5] ผู้มีสิทธิออกเสียงจะพิจารณาการรณรงค์หาเสียงของ “อุ๊งอิ๊ง” และองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นี่คือการทดสอบการใช้ (uses) เพราะการรณรงค์หาเสียงถูกใช้เพื่อขีดวงผู้ออกเสียงสนับสนุน (constituent) การรณรงค์หาเสียงคือ ความต้องการที่สำคัญหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “อุ๊งอิ๊ง” ต้องการดึงดูดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือก ส.ส.ให้ได้มากกว่าพรรคคู่แข่ง (“โทนี” บอกว่าต้องชนะแบบแลนด์สไลด์) โดยจะพยายามปรับปรุงและปกป้องความต้องการที่สำคัญ (การรณงค์หาเสียง) ขณะเดียวกันต้องโจมตีความต้องการของพรรคคู่แข่ง

บางทีอาจมีคนอ้างว่า จุดศูนย์ดุลของ “อุ๊งอิ๊ง” คือ การสื่อสาร (ที่น่าเชื่อถือ) หากปราศจากการสื่อสารเธออาจพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ คงจำกันได้ว่า จุดศูนย์ดุลจะต้องสามารถปฏิบัติการได้ (ขีดความสามารถที่จำเป็น) การสื่อสารของ “อุ๊งอิ๊ง” ไม่ได้มีอยู่โดยธรรมชาติที่จะแสดงสมรรถนะที่จำเป็น แต่เป็นผู้ให้สิทธิหรือความต้องการสำคัญที่จะรักษาไว้ (หรือไม่สามารถรักษาไว้) ซึ่งจุดศูนย์ดุล (บังเอิญเรื่องนี้เกี่ยวกับการสื่อสารแสดงข้อเท็จจริงที่จุดศูนย์ดุลอาจถูกโจมตีและเอาชนะทางอ้อมด้วยการทำลายหรือทำให้ความต้องการที่สำคัญอ่อนแอลง)

สมมติว่า “อุ๊งอิ๊ง” พ่ายแพ้การเลือกตั้ง หากเธอมีความเข้าใจตัวแบบทางยุทธศาสตร์และปรับวัตถุประสงค์ให้เหมาะสมกับเครื่องมือ (ทรัพยากร) บางทีเธออาจตัดสินใจสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็เป็นได้ อนาคตจะเป็นอย่างไรใครจะรู้ แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ขณะนี้มีคนอยากให้ “อุ๊งอิ๊ง” รัฐศาสตร์จุฬารุ่น 57 (สอบเข้าปี 2547) ประชันวิสัยทัศน์กับ “ช่อ” คณะก้าวหน้า รัฐศาสตร์จุฬารุ่น 59 (สอบเข้าปี 2549) ขอย้ำว่าสอบเข้านะครับ ยังมีคน “เชื่อ” หรือว่าจะเข้าจุฬาได้ต้องข้อสอบรั่วหรือใช้เส้นคิดสิคิด

ตัวอย่างง่าย ๆ ข้างต้นแสดงให้เห็นการใช้แนวคิดทั้งหมดในการวิเคราะห์วัตถุประสงค์ หนทางปฏิบัติและเครื่องมือรวมทั้งการทดสอบการปฏิบัติ/ใช้ เพื่อหาสมรรถนะที่จำเป็นและผู้เป็นเจ้าของสมรรถนะนั้น สังเกตว่า ตัวอย่างการเลือกตั้ง นอกจากเรียบง่าย ยังใช้ความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย ในการเลือกตั้งผู้สมัครไม่ได้เป็นเจ้าของจุดศูนย์ดุล (ผู้มีสิทธิออกเสียง) พวกเขามุ่งแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งจุดศูนย์ดุลเดียวกันมากกว่า ในที่สุดผู้ชนะคือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จได้ครอบครองจุดศูนย์ดุลได้มากที่สุดและนั่นคือบทบาทของความคิดสร้างสรรค์

การใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) และการคิดแบบยืดหยุ่น (flexible thinking) ในสถานการณ์ที่ซับซ้อน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นศิลปของยุทธศาสตร์และการวางแผนทางทหาร (military planning) ด้วยการปรับกรอบยุทธศาสตร์และตัวแบบตามสถานการณ์ ไม่ใช่บีบบังคับสถานการณ์ให้เข้ากับตัวแบบ


[1] เปิดประวัติ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร สายเลือดการเมืองตระกูล ชินวัตร ประชาชาติธุรกิจ 28 ตุลาคม 2564 - 15:06 น. เข้าถึงได้ที่https://www.prachachat.net/politics/news-791080

[2] Arthur F. Lykke Jr., “Defining Military Strategy = E + W + M,” Military Review 69, no. 5 (1989).

[3] คือ จุดที่เสมือนเป็นที่รวมของน้ำหนักของวัตถุทั้งก้อน ซึ่งจุดนี้อาจจะอยู่ในหรือนอกวัตถุก็ได้ การหาจุดศูนย์ถ่วงของวัตถุ หาได้โดยการแขวนวัตถุนั้นในแนวลักษณะต่างๆกันในแนวดิ่งโดยแนวของน้ำหนักของวัตถุจะตัดกันที่จุดๆหนึ่ง PHYSICS ศูนย์ถ่วง สืบค้นที่ http://119.46.166.126/self_all/selfaccess11/m5/physics5_1/lesson4/more/more5_4/item4_11.php

[4] ดู "ดร.นันทนา" เปรียบวิธีสื่อสารการเมืองจาก "ประยุทธ์" ถึง "พิธา-อุ๊งอิ๊ง" ใครสอบผ่าน : Matichon TV Nov 3, 2021 เข้าถึงได้ที่:https://www.youtube.com/watch?v=EJqZssV6CSE

[5] ดู “เส้นทางสู่ตําแหน่งนายกรัฐมนตรี” โดย นายแดนชัย ไชวิเศษ นิติกรชํานาญการพิเศษ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (พฤศจิกายน 2560) ดาวน์โหลดเอกสาร PDF ได้ที่ https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2560/hi2560-079.pdf

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.