สงครามเย็นรอบใหม่หรือข้อมูลทำให้หลงผิด (Red Herrings)

ที่มาภาพ:https://www.logicallyfallacious.com/logicalfallacies/Red-Herring

หรัฐฯเป็นมหาอำนาจประเทศเดียวที่สามารถเปล่งแสนยานุภาพทางการทหาร เศรษฐกิจ การทูตและวัฒนธรรมไปยังทุกภูมิภาคของโลก แต่เผชิญปัญหาความแตกแยกอย่างผิดปกติของการเมืองภายในและเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำมากที่สุด ส่วนจีนคือมหาอำนาจอันดับสองที่เติบโตขึ้นตลอดระยะเวลา 40 ปี และพยายามสร้างความปรองดองทางสังคมและเสถียรภาพทางการเมือง ในอนาคตอันใกล้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะเข้ารับตำแหน่งวาระที่ 3 ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในปลายตุลาคม 2022

การที่สองประเทศผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกให้ความสำคัญกับปัญหาภายใน แม้ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดสงครามระหว่างกัน แต่ภาวะผู้นำและความร่วมมือแก้ไขปัญหาระดับโลกก็ลดลงและก่อให้เกิดสูญกาศทางอำนาจ อย่างไรก็ดี มหาอำนาจลำดับรอง บริษัทข้ามชาติ รัฐบาลส่วนภูมิภาคและภาคประชาสังคมกำลังเข้ามาเติมเต็มช่องว่างแบบเดียวกันในพื้นที่ดิจิทัล ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทเทคโนโลยีที่จัดตั้งโดยรัฐหรือรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน (quasi-sovereign technology firms)

ปัจจุบันยังคงมีการถกเถียงอย่างไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสงครามเย็นรอบใหม่ (new Cold War) ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะ “ข้อมูล” แวดล้อมทำให้หันเหไปจากประเด็นหรือเรื่องที่พูดกันอยู่ (red herring)[1] กล่าวคือพวกสายเหยี่ยวในรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนและรัฐสภาสหรัฐฯต้องการเร่งการแยกตัว (decoupling) เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีน แต่จีนเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยมูลค่าการค้าแบบสองทางสูงถึง 560,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 และห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศผูกพันกันอย่างซับซ้อน

ที่ผ่านมาบริษัทจัดการลงทุน เช่น BlackRock และ Vanguard รวมทั้งบริษัทให้บริการทางการเงินและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ Wall Street เพิ่มการลงทุนในจีนมากขึ้น[2] เจ้าหน้าที่การค้าของทั้งสองฝ่ายต้องการรักษาเสถียรภาพความสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยสหรัฐฯพยายามไขว่คว้าหา ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Strategy)” ส่วนจีนกำลังผลักดัน “ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation)[3] ในขณะที่ระบบนิเวศเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับโลกกระจายตัว แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนกำลังผสมผสานเข้าหากันมากขึ้นโดยมิได้ลดลงแต่อย่างใด

นโยบายการทูตที่แข็งกร้าวของจีนทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯในเอเชียเตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ (shot in the arm) แต่สหรัฐฯไม่สามารถจัดระเบียบให้พันธมิตรประชาธิปไตยปิดล้อมจีนซึ่งก็ตระหนักดีว่า ตะวันตกต้องการสร้างความสัมพันธ์กับจีนในแบบที่นึกภาพได้ถึงอดีตสหภาพโซเวียต ส่วนทางด้านสหภาพยุโรปไม่ต้องการมีส่วนร่วมในสงครามเย็นครั้งใหม่

ขณะนี้จีนถูกโดดเดี่ยวทางการทูต แม้แต่รัสเซียก็ยังวิตกเกี่ยวกับการขยายการค้าและการลงทุนเชิงรุกของจีนในเอเชียกลาง ทำให้ประเทศที่อยู่ตรงกลางต้องร่วมมือกับสหรัฐฯและจีน ซึ่งบางครั้งก็มีการกระทบกระทั่งกัน โดยต่างก็รู้ว่าอีกฝ่ายคงจะไม่ล่มสลายแบบเดียวกับอดีตสหภาพโซเวียต

          ความหวั่นเกรงว่าจีนจะใช้กำลังรุกรานไต้หวันเพิ่มขึ้นถึงขีดสุด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวถึง “การกลับสู่สภาพเดิม” ของประเทศจีนตั้งอยู่บนฐานคิดการรวมชาติไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ ในปี 2021 จีนได้ปฏิบัติการก่อกวนน่านฟ้าไต้หวัน ดุลยภาพทางทหารบริเวณช่องแคบไต้หวันโน้มเอียงไปทางจีน แต่ไม่ใช่แค่จีนที่จุดประกายความตึงเครียดข้ามช่องแคบ

เมื่อธันวาคม 2021 ประธานาธิบดีไบเดนเชิญรัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยและขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ โดยกล่าวว่าสหรัฐฯจะปกป้องไต้หวันในกรณีที่ถูกจีนโจมตี ส่วนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้เน้นย้ำนโยบาย “ความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์ (strategic ambiguity)” ถ้อยแถลงและท่าทีประธานาธิบดีไบเดนทำให้จีนกังวลอย่างมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงกองทัพสหรัฐฯตอบสนองการเคลื่อนไหวของจีนต่อไต้หวันด้วยการเพิ่มเดิมพัน (ความเสี่ยง) มากขึ้น (upping the ante)

ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดยังพอมีเวลาพักหายใจเพราะ 1) คำพูดของประธานาธิบดีสีไม่มีอะไรใหม่ เช่นเดียวกับผู้นำจีนก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าจะไม่ยอมรับเอกราชของไต้หวัน 2) จีนคงจะไม่กระทำการเหมือนช่วงวิกฤตช่องแคบไต้หวันปี 1995 - 1996 โดยยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ลงสู่น่านน้ำใกล้ไต้หวัน 3) ตราบใดที่ยังไม่มีการล้ำเส้น กล่าวคือสหรัฐฯยึดมั่นในนโยบาย “จีนเดียว” และไต้หวันไม่ประกาศเอกราช เสถียรภาพเชิงกลยุทธ์จะยังคงอยู่ และ 4) หากจีนโจมตีไต้หวันในขณะนี้อาจเสี่ยงต่อความพ่ายแพ้ทางทหาร ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและโดดเดี่ยวทางการทูต

หากคุณเป็นผู้นำจีนที่ดำรงตำแหน่งตลอดชีวิตและคิดการณ์ไกล ทำไมต้องรีบร้อนหรือผลีผลาม? สู้รอให้แสนยานุภาพทางทหารพร้อมกว่านี้หรือเกิดวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ในสหรัฐฯรวมทั้งมีประธานาธิบดีคนใหม่ที่ไม่เต็มใจต่อสู้เพื่อไต้หวัน แค่นี้คุณก็สามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองโดยไม่ต้องเสียกระสุนแม้แต่นัดเดียว

ประธานาธิบดีสีเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดีและสามารถรอได้ โดยจีนจะยังคงข่มขู่ไต้หวันต่อไปก่อนการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ขณะที่สหรัฐฯก็ยังคงสร้างรอยเท้าทางทหารและรักษาพันธะสัญญาทางการฑูตในภูมิภาคต่อไปโดยทั้งสองประเทศคงจะ “ไม่เสี่ยง” ทำสงครามเพื่อไต้หวัน



[1] TOP RISKS FOR 2022 RED HERRINGS COLD WAR 2.0 Eurasia Group Available at: https://www.eurasiagroup.net/files/upload/EurasiaGroup_TopRisks2022.pdf

[2] Why is Wall Street expanding in China? Leaders | The exception The Economist Sep 3rd 2020 Available at: https://www.economist.com/leaders/2020/09/03/why-is-wall-street-expanding-in-china

[3] แผนการพัฒนาและหนทางการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้นของจีนในอนาคตโดยให้ความสำคัญกับ “การหมุนเวียนภายในประเทศ (Internal Circulation)” เพื่อเพิ่มอุปสงค์และลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันจะต้องมี “การหมุนเวียนภายนอกประเทศ (External Circulation)” เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออกและการไหลเวียนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เปิดเสรีเป็นแกนเสริมควบคู่กันไป

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.