การต่อต้านข้อมูลบิดเบือน (disinformation): ทางเลือกนโยบายที่เหลืออยู่

ที่มาภาพ: GLOBSEC Strategic Communication Programme https://counterdisinfo.org/

ารรณรงค์ (หาเสียง) ด้วยข้อมูลบิดเบือน (disinformation) สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การเปลี่ยนผลการเลือกตั้งไปจนถึงกระตุ้นการก่อความรุนแรง ภาครัฐและเอกชนรวมทั้งรัฐบาลสหรัฐฯและบริษัทสื่อสังคม (social media) เพิ่งเริ่มต้นใช้กลยุทธ์ต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือน ซึ่งนำไปสู่การตอบสนองทีละน้อย ทั้งนี้ การตอบสนองการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มาพร้อมกับ “infodemic[1] จะต้องพิจารณาอย่างครอบคลุมรวมถึงการใช้กฎหมายใหม่และการคว่ำบาตรตลอดจนขยายทรัพยากรขององค์กร เพื่อจัดการความท้าทายของข้อมูลบิดเบือน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไม่ใช่ยาครอบจักรวาล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนจะต้องเสริมสร้างทักษะความรู้ของตัวเองเกี่ยวกับดิจิตอลและสื่อด้วย[2]
          การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนถือเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพและสันติภาพระหว่างประเทศ การรณรงค์อย่างซับซ้อนเพื่อสร้างอิทธิพลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016 ของรัสเซีย บ่งชี้ถึงการเป็นภัยคุกคามอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าทฤษฎีสมคบคิดที่ถูกผลักดันทางออนไลน์ (โลกเสมือนจริง) สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ในโลกกายภาพ ล่าสุดที่ลอสแอนแจลิส วิศวกรรถไฟชื่อ Eduardo Moreno เจตนาทำให้รถไฟตกรางเพื่อขัดขวางความพยายามของรัฐบาลในการต่อสู้กับ COVID-19 โดย Moreno เชื่อว่า เรือโรงพยาบาล (the Mercy) ของกองทัพเรือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการยึดครองประเทศของรัฐบาล
นอกเหนือจากการปรับใช้ทฤษฎีสมคบคิดและ deepfakes (วิดิโอดัดแปลงด้วยปัญญาประดิษฐ์) เพื่อจัดการความเชื่อของปัจเจกบุคคล บริษัทสื่อสังคมซึ่งเป็นสมรภูมิสำคัญของสงครามข้อมูลบิดเบือนได้ใช้วิธีไม่คงเส้นคงวาในการต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือนและ deepfakes โดย Twitter ดำเนินการเชิงรุกด้วยการห้ามโฆษณาทางการเมือง แต่ตัดสินใจติดธง (ไม่ลบ) deepfakes ทางการเมือง ในทางกลับกัน Facebook ประกาศว่าจะไม่ลบโฆษณาทางการเมืองที่ทราบว่าเป็นข้อมูลผิด ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เรียกว่า infodemic
          รัฐบาลประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯมีนโยบายตอบโต้ข้อมูลบิดเบือนค่อนข้างช้า รัฐสภาสหรัฐฯเพิ่งจะพิจารณาปัญหา deepfakes เมื่อฤดูร้อนปี 2019 ก่อนหน้านั้น deepfakas ได้แพร่กระจายและเป็นความท้าทายสำคัญ ในที่สุดรัฐบาลกลางสหรัฐฯได้ดำเนินการผ่านรัฐสภาโดยกำหนดขอบเขตภัยคุกคามของ deepfakes ผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Defense Authorization Act NDAA) ซึ่งกำหนดให้ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (Director of National Intelligence) รายงานการใช้ deepfakes เป็นอาวุธของต่างประเทศต่อรัฐสภาและให้ฝ่ายบริหารแจ้งรัฐสภาทราบเกี่ยวกับความพยายามใช้ deepfakes และข้อมูลบิดเบือน ซึ่งมีเป้าหมายที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
          NDAA ยังได้จัดการแข่งขันรางวัล “deepfakes Prize” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีในการระบุ deepfakes ให้ดียิ่งขึ้น ก่อนหน้านั้น สำนักงานโครงการวิจัยด้านการป้องกันชั้นสูง (Defense Advanced Research Projects Agency - DARPA) ได้จัดสรรงบประมาณเกือบ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อระบุอัตลักษณ์ของ deepfakes ในปี 2019 Facebook, Microsoft และหุ้นส่วนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประกาศให้รางวัลเงินสดจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมการตรวจจับ deepfakes
รัฐสภายังสามารถทำอะไรได้มากขึ้นเกี่ยวกับบริษัทสื่อสังคม เช่น Twitter และ Facebook ซึ่งมักจะซ่อนตัวอยู่หลังกรอบกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารที่เหมาะสม (Communications Decent Act CDA) มาตรา 230  แต่ถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาสหรัฐฯควรจะทบทวนว่า บริษัทสื่อสังคมควรมีความรับผิดชอบต่อการอนุญาตให้มีการรณรงค์ แพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนประสงค์ร้ายบนแพลตฟอร์มของตนหรือไม่
หากไม่มีกฎหมายที่มาพร้อมกลยุทธ์ การแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนรวมทั้ง deepfakes คงจะไม่ลดลง แม้มีการเพิ่มทรัพยากรในการนั้น ในธันวาคม 2017 เอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯกล่าวถึง deepfakes สองครั้ง ในปี 2015 สหภาพยุโรปได้พัฒนากลยุทธ์ แนวทางปฏิบัติ (codes of practice) และแผนปฏิบัติการต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือน ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับต่อไปควรเน้นว่า ข้อมูลบิดเบือนเป็นภัยคุกคามสำคัญของสหรัฐฯ
ในสหรัฐฯอย่างน้อยสองมลรัฐ คือ เท็กซัสและแคลิฟอร์เนีย ได้ผ่านกฎหมายห้ามวิดิโอปลอมทางการเมือง (political deepfake videos) ขณะที่กฎหมายของทั้งสองมลรัฐไม่สมบูรณ์ แต่การทำให้ deepfakes ประสงค์ร้ายเป็นสิ่งผิดกฎหมายถือเป็นย่างก้าวสำคัญที่รัฐบาลกลางควรพิจารณา รัฐบาลสหรัฐฯควรพิจารณาดำเนินการเชิงรุกด้วยการคว่ำบาตรบุคคลและหน่วยงานที่มีฐานในต่างประเทศซึ่งรณรงค์ข้อมูลบิดเบือน รัฐสภาสหรัฐฯควรพิจารณากฎหมายคว่ำบาตรข้อมูลบิดเบือน (Sanctions Disinformation Act’) โดยมีจุดมุ่งหมายให้อำนาจตามกฎหมายแก่กระทรวงการต่างประเทศและการคลังในการลงโทษบุคคลหรือองค์การที่พัวพันกับความพยายามใช้ข้อมูลบิดเบือนประสงค์ร้าย
สหรัฐฯควรพิจารณาขยายทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อต่อต้านข้อมูลบิดเบือน ขณะที่ศูนย์การมีส่วนร่วมระดับ (Global Engagement Center - GEC) กระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบการต่อต้านข้อมูลบิดเบือนระดับโลกเสนอขยายงบประมาณเพิ่ม 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ส่วนโครงการการทูตสาธารณะอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ในการต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือนถูกตัดงบประมาณลงอย่างฮวบฮาบถึง 184.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้เสนอตัดงบประมาณวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America VOA) และวิทยุเสียงยุโรป (Radio Free Europe) ซึ่งมีความสำคัญในการอธิบายนโยบายของสหรัฐฯบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง
ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯโดยรวมไม่สมน้ำสมเนื้อกับภัยคุกคามที่เกิดจากรัสเซีย จีนและตัวแสดงอันธพาลข้ามชาติอื่น ๆ รวมทั้งความรุนแรงจากกลุ่มคนขาวผู้สูงส่ง รัฐสภาควรเพิ่มงบประมาณให้แก่ GEC และสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงาน เช่น VOA ว่าจะสามารถให้ข่าวสารเกี่ยวกับสหรัฐฯสู่โลกอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ลำเอียง ไม่ใช่/หรือแม้แต่กฎหมายรัฐบาลกลางที่ได้รับการปรับปรุงล่าสุด
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การยกระดับองค์การต่าง ๆ และการปรับปรุงนโยบายภาคเอกชนจะไม่สามารถคุ้มกันประชาชนให้รอดพ้นจากข้อมูลบิดเบือนได้ ประชาชนต้องสร้างความรู้ทางดิจิตอลและสื่อของตนเองเพื่อให้สามารถป้องปัด (ward off) ข้อมูลบิดเบือนที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความหวาดกลัว ความไม่แน่นอนและความสับสน




[1] Infodemic เป็นคำผสมจาก infodemic (n.) ซึ่งมาจาก information (ข้อมูลข่วสาร) + pandemic (โรคระบาด) ประกอบกัน แปลว่า ภัยพิบัติจากข้อมูลข่าวสารผิดเพี้ยนอันเกิดขึ้นคู่กับภัยโรคระบาดที่กระจายไปทั่ว เป็นภัยที่สามารถส่งต่อได้ง่ายเพียงคลิกแชร์หรือเล่าต่อให้คนรอบตัว เพราะเมื่อมีข้อมูลหรือข่าวโคมลอยออกมามากเกินไป ข่าวสารจำนวนมากเป็นเพียงคลื่นรบกวน ข้อมูลจำนวนมากไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง” บ้างมีอคติปนผสมอยู่เป็นเพียงความคิดเห็น บ้างเป็นการโจมตีสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยขาดหลักฐาน สืบค้นที่: https://adaymagazine.com/infodemic/
[2] WHAT ARE THE POLICY OPTIONS AVAILABLE FOR COUNTERING DISINFORMATION? INTELBRIEF Tuesday, May 5, 2020 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/what-are-the-policy-options-available-for-countering-disinformation?e=c4a0dc064a
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.