ชาวพื้นเมืองดิจิตอลปรากฎตัวเพื่อเปลี่ยนเกม (game changing): "หมุด" ก็คือ "มีม" ในโลกเสมือน

 

ที่มาภาพ: https://voicetv.co.th/

สังคมไทยเวลานี้ไม่มีคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน (collective value) จริง ๆ แล้วโลกปัจจุบันเลื่อนมาสู่ nation หรือประชาชาติมากขึ้น[1]....ภาคสังคม ธุรกิจ ภาคประชาชนไม่ได้จับมือกันในการสร้างฉันทามติในการปฏิรูปภาครัฐ อนาคตเราน่าเป็นห่วง สังคมไทยอยู่ในภาวะที่ไร้อำนาจนำ[2]

ารชุมนุมใหญ่ของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และสนามหลวง (ทุ่งพระสุเมรุ) ซึ่งถูกประกาศเป็น “สนามราษฎร” เมื่อ 19 - 20 กันยายน 2020 นอกจากเผยให้เห็นความหมายอีกด้านหนึ่งของ (การชู) สามนิ้วและการตัดสินใจอย่างมีวุฒิภาวะของแกนนำที่ไม่นำมวลชนไปยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาลตามความตั้งใจเดิม (ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง) ยังช่วยทำให้ “สัญญาณ” การก่อรัฐประหารกลายเป็น “สิ่งรบกวน” ขณะที่การปัก “หมุด” คณะราษฏร บนท้องสนามหลวงพร้อมคำสาปแช่ง ซึ่งถูกทำให้หายไปในเวลาต่อมาและกลับฟื้นคืนชีพกลายเป็น "มีม" (meme)[3] ในโลกออนไลน์

          สามวันก่อนการชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯฯ (16 กันายายน 2020) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดเสวนาหัวข้อเรื่อง “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย” ดำเนินรายการโดยบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ภาควิชากการปกครอง ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์และสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และญาณิศา วรารักษพงศ์ ตัวแทนนักศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อ 14 ปีที่แล้ว[4]

          เริ่มด้วย ญาณิศา วรารักษพงศ์ นิสิตจากหลักสูตร Political and Global Studies รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า “ขบวนการของนักเรียนนักศึกษาในช่วงนี้เราไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพราะต้องการเปลี่ยนผู้เล่นในเกม แต่เรากำลังจะเปลี่ยนเกม (game changing) เราต้องการจะเปลี่ยนเกม ถ้าเราพยายามรักษาแต่อาการเรื่อย ๆ โรคก็ไม่หายต้องไปที่ต้นตอ รัฐบาลนี้หรือการรัฐประหารครั้งล่าสุดหรือถ้าเกิดมีการรัฐประหารอีกในอนาคตมันก็เป็นแค่อาการที่มันเกิดจากสิ่งที่ใหญ่กว่า”

ญาณิศากล่าวถึงความหลากหลายของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า จะเห็นมาตรฐานใหม่ ๆ ภายในขบวนการ ทั้งเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนาและชนชั้นจะเห็นตั้งแต่ของเสรีเทยพลัส ผู้หญิงปลดแอก เวทีของฝั่งแรงงาน การสร้างมาตรฐานใหม่เหล่านี้เพื่อเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ ถึงแม้ว่าเยาวชนยุคนี้จะเกิดไม่ทันรู้เรื่องรัฐประหารทั้งรอบ 49 และ 57 แต่การมองย้อนกลับไปและมองจากข้างนอกเข้ามาเพราะโลกาภิวัฒน์ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นและหลุดออกไปจากกรอบเดิม

หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยได้เคลื่อนไหวอีกครั้งนำโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เยาวชนปลดแอก” และสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (ถูกปรามาสว่าเป็นม็อบมุ้งมิ้ง) จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 18 กรกฎาคม 2020 โดยยื่นข้อเสนอ 3 ข้อถึงรัฐบาล คือ หยุดคุกคามประชาชน จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยและยุบสภา ต่อมาเมื่อ 16 สิงหาคม 2020 ได้ยกระดับการชุมนุมในนาม “คณะประชาชนปลดแอก” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

นับตั้งแต่การกลับมาชุมนุมใหม่ (กรกฎาคม – ห้วงเวลารายงาน) ผู้ชุมนุมที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันได้สร้างปรากฏการณ์ “ทะลุเพดาน” (ภาษาหุ้นเรียกว่า “new high”) ทุกครั้ง ทั้งในแง่คุณภาพของข้อเรียกร้องและปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยบ่งชี้ถึงความสามารถในการปรับตัว (adaptability) ตอบสนองสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนปลงไปตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐใช้กลยุทธประวิงเวลา แจ้งข้อหาอาญาโดยใช้ พรก. ฉุกเฉิน ปฏิบัติการข่าวสาร ตรวจพิจารณาสื่อ (ออนไลน์และออฟไลน์) รวมทั้งมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่ไม่เห็นด้วยกับการหมิ่นสถาบันฯ ตลอดจนป้ายสีว่ามีรัฐบาลและองค์การนอกภาครัฐต่างประเทศให้การสนับสนุน[5]

ในช่วงเช้าตรู่ 20 กันยายน 2020 แกนนำผู้ชุมนุมได้ทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร 2563 ที่ท้องสนามหลวง ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบองคมนตรีที่อยู่ไม่ไกลนัก เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พิธีดังกล่าวเป็นการผสมผสานความเชื่อของฝ่ายอนุรักษ์นิยม (ผู้อพยพทางดิจิตอล) กับคนรุ่นใหม่ (ชาวพื้นเมืองดิจิตอล) ในลักษณะพันทาง (hybrid) ซึ่งถือเป็นความปราดเปรียว (agility) ในการปรับโครงสร้างและกระบวนการทำงานได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ความพยายามและทรัพยากรน้อยที่สุด

น่าเชื่อว่าแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมก็คงประเมินแล้วว่า หมุดคณะราษฏร 2563 อาจถูกเจ้าหน้าที่รัฐถอนออกไปไม่ช้าก็เร็ว อย่างไรก็ดี ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงที่หมุดถูกถอนออกไป โลกออนไลน์ก็ได้ต้อนรับหมุด AR (Augmented reality)[6] โดย ธาราทร บุญงามอนงค์ นักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐฯได้พัฒนา AR Filter ขึ้นมา ซึ่งผู้คนที่ต้องการใช้ฟีจเจอร์นี้เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนซักเครื่องก็สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย[7]

ส่วนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ นำเสนอโดยผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เมื่อ 10 สิงหาคม 2020 ถูกตอกย้ำและต่อยอดในการชุมนุมรอบใหม่ 19 กันยายน 2020 ซึ่งไม่มีการ “ยกระดับเพดาน” ข้อเรียกร้องเพิ่มเติม แต่แปรเนื้อหาให้อยู่ในรูปของ “จดหมายเปิดผนึก”[8] การชุมนุมครั้งนี้ แม้สร้างความพึงพอใจอย่างมากให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเดือดดาลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อะไรคือ Plan B หรือ Plan C ของทั้งสองฝ่าย น่าติดตาม


[1] ดู “ความเปลี่ยนแปลง” ของสังคมไทยหลังโควิด-19 เป็นอย่างไร?: ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ PITVFANPAGE 19,726 views  Aug 28, 2020 สืบค้นที่ https://www.youtube.com/watch?v=iRIMuTiVAsE

[2] ดู อะไรคือทางออกของสังคมการเมืองไทยในเวลานี้: ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ PITVFANPAGE 4,925 views  Aug 29, 2020 สืบค้นที่ https://www.youtube.com/watch?v=jBaN_V424qQ

[3] รูปแบบของความคิดทางวัฒนธรรม สัญลักษณ์หรือการปฏิบัติ ที่สามารถส่งผ่านจากจิตใจคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ผ่านการเขียน การพูด ท่าทาง พิธีกรรม ภาพล้อเลียน และมีคำศัพท์ต่าง ๆ ในภาพที่มีความหมายเชิงตลกหรือปรากฏการณ์ลอกเลียนแบบอื่น ๆ คำว่า meme ในภาษาอังกฤษ มาจากการผสมของคำว่า “gene (ยีนหรือสิ่งสืบต่อพันธุกรรม) และคำภาษากรีกว่า μιμητισμός ([mɪmetɪsmos] หรือการเลียนแบบบางอย่าง) ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่คล้ายกันทางวัฒนธรรมสู่ยีน มีการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองแรงกระตุ้นที่เลือกเฟ้น นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ริชาร์ด ดอว์กินส์ ได้คิดคำว่า “meme” ขึ้นมาในหนังสือ The Selfish Gene (1976) เกี่ยวกับการอธิบายการแพร่ของความคิดและปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม เช่น มีมในหนังสือ คำพูดติดปาก แฟชั่นและเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบซุ้มโค้ง เป็นต้น สืบค้นที่ https://th.wikipedia.org/wiki/มีม

[4] มุมมองคน รุ่นต่อรัฐประหาร 19 ก.ย.49 กับการเมืองไทยร่วมสมัย ประชาไท / ข่าว Submitted on Thu, 2020-09-17 12:30 สืบค้นที่ https://prachatai.com/journal/2020/09/89549

[5] การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี สืบค้นที่ https://th.wikipedia.org/wiki/การประท้วงในประเทศไทย_พ.ศ._2563

[6] เทคโนโลยีที่นำภาพเสมือนที่เป็นรูปแบบ มิติ จำลองเข้าสู่โลกจริงผ่านกล้องและการประมวลผลที่จะนำวัตถุมาทับซ้อนเข้าเป็นภาพเดียวกัน เราสามารถมองผ่านกล้องได้โดยตรง คำว่า AR มักจะใช้ร่วมกับคำว่า VR ซึ่งย่อมาจาก Virtual Reality เป็นเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ VR คือ การจำลองโลกเสมือนขึ้นมาและเข้าถึงได้จากอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น แว่น Oculus Rift, Play Station VR เป็นต้น ความจริงเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เพิ่งจะมี จริง ๆ มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2010 และปรับปรุงรูปแบบพัฒนาความเสถียรอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน AR เริ่มเห็นได้ชัดจากงานหลายอย่าง แต่ที่ชัดเจนสุดคือเกม Pokemon Go นั่นเอง สืบค้นที่ https://www.jobs.asearcher.com/blog/post//รู้จักเทคโนโลยี-AR-มันคืออะไร

[7] "หมุดคณะราษฎร" หายไม่เป็นไร เทคโนโลยีก้าวไกล อยู่ไหนก็มีหมุดได้ ข่าวสดออนไลน์  21 ก.ย. 2563 สืบค้นที่https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_4954230

[8] ชุมนุม 19 กันยา: มองทะลุปรากฏการณ์ “ขยายเพดาน” จาก 10 สิงหา ถึง 19 กันยา โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย ออนไลน์ 20 กันยายน 2020 สืบค้นที่ https://www.bbc.com/thai/thailand-54226392?fbclid=IwAR2tVGJBROSG89pTxgtXJflxGTo8IZdeKSjsG-O9gs6ZxulN7xm5lvqtMk4

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.