“Global Gateway” โครงการสะกัดขาจีน?

 

ที่มาภาพ: https://tippinsights.com/e-u-unveils-global-gateway-eu300-billion-global-infrastructure-plan/

หภาพยุโรป (EU) เปิดตัวโครงการ Global Gateway เพื่อท้าทายความริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road Initiative BRI) ของจีนซึ่งเป็นเอกลักษณ์นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทั้งนี้ BRI ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศตะวันตกและผู้รับความช่วยเหลือบางประเทศ แม้ไม่ได้กล่าวอ้างถึงจีนโดยตรง แต่ก็เห็นได้ชัดว่า “Global Gateway” เป็นความคิดริเริ่มและทางเลือกที่เกิดจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของชาติตะวันตกในการหาทางต่อต้านอิทธิพลทางภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical influence) ของจีนที่เพิ่มขึ้นและความพยายามหวนกลับไปเป็นรัฐอำนาจนิยมทั่วโลก[1]

          เมื่อ ธันวาคม 2021 คณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงได้เปิดตัว “Global Gateway” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 340,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการเชื่อมโยงอย่างชาญฉลาด สะอาดและปลอดภัยในทางดิจิทัล พลังงานและการขนส่งรวมทั้งเสริมสร้างระบบสุขภาพ การศึกษาและวิจัยทั่วโลก” ยุทธศาสตร์ใหม่ของ EU มุ่งสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยคำนึงถึงความต้องการของพันธมิตรและผลประโยชน์ของ EU[2]

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายต่อต้าน BRI ของจีนซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2013  และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ยั่งยืนในประเทศผู้รับบางแห่ง ตั้งแต่สร้างกับดักหนี้สินไปจนถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตย ทั้งนี้ หลายประเทศยอมรับการลงทุนผ่าน BRI โดยมีเงื่อนไขข้อผูกมัดน้อยลง

          ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) พยายามชักชวนให้เชื่อว่า BRI เป็นนโยบายทางด้านเศรษฐกิจล้วน ๆ โดยแนวคิดที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ (win-win) เพื่อสร้างการเชื่อมต่อทั่วทั้งยูเรเซียและอื่น ๆ การขาดความโปร่งใสทั้งด้านผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดหวังและการดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความทะเยอทะยานทางภูมิศาสตร์การเมืองของจีน

หลายประเทศที่ไม่สามารถชำระหนี้ต้องลงเอยด้วยการยกทรัพย์สินอธิปไตย (sovereign assets) เช่น ท่าเรือให้แก่จีนเพื่อขยายเครดิต ล่าสุดปรากฎข่าวสารแจ้งเตือนว่ายูกันดาอาจจผิดนัดชำระหนี้จำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้จีนเข้ายึดสนามบินเอนเทบเบ้ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติแห่งเดียวของประเทศ แต่ทั้งยูกันดาและจีนปฏิเสธรายงานดังกล่าว

          แม้การละเมิดอธิปไตยและผลกระทบทางภูมิศาสตร์การเมืองของ BRI ได้รับความสนใจจากสื่อและแวดวงนโยบายต่างประเทศ แต่ยังมีแง่มุมที่เป็นปัญหาอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ “เส้นทางสายไหมดิจิทัล (digital silk road)” ซึ่งส่งเสริมการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและส่งออกเทคโนโลยีปรากฎใหม่ (emerging technology) เป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความกังวลให้กับประเทศตะวันตก

เทคโนโลยีการสอดส่องเฝ้าระวังแบบเดียวกับที่ใช้ในซินเจียงรวมทั้งการจดจำใบหน้า ช่วยให้รัฐเผด็จการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและกร่อนทำลายภาคประชาสังคม การแข่งขันกีฬาที่สำคัญเปิดโอกาสให้จีนได้ทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อปกป้องเป้าหมายที่ป้องกันได้ยาก (soft target) และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ยังทำให้เกิดความกังวลว่ารัฐบาลอาจนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ

          เห็นได้ชัดว่า EU พยายามหาทางเลือกอื่นเพื่อทดแทน BRI อันที่จริงข่าวประชาสัมพันธ์ Global Gateway อธิบายจุดประสงค์โครงการว่า “จะเพิ่มการลงทุนเพื่อส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยมาตรฐานระดับสูง ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส หุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสะอาด ปลอดภัยและกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน”

โครงการ Global Gateway มุ่งเน้นลงทุนใน 5 ด้าน คือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานเป็นดิจิทัลพลังงานสะอาด การคมนาคม ธุรกิจสุขภาพและการศึกษา-วิจัย แม้ EU มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นองค์กรพหุภาคีที่ทำงานแบบราชการ ซึ่งตอบสนองและดำเนินการได้ช้าและยุ่งยาก แต่มีชื่อเสียงเรื่องความยั่งยืนทั้งด้านการเงินและสิ่งแวดล้อมและความโปร่งใสอาจทำให้ EU เป็นพันธมิตรที่น่าพึงพอใจมากขึ้นสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลว่าหาก EU ไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างต้นทุนและประสิทธิภาพของโครงการได้ จีนอาจถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่แนวทางในการจัดการเรื่องสำคัญต่าง ๆ ที่อาจรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งภายใน

          การเปิดตัว Global Gateway เกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามอย่างต่อเนื่องของประเทศตะวันตกและพันธมิตรหลายประเทศ ไม่เพียงต่อต้านอิทธิพลจีน แต่ยังรวมถึงการมุ่งเป้าไปยังรัฐเผด็จการทั่วโลก เมื่อ และ 10 ธันวาคม 2021 ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด (เสมือนจริง)ประชาธิปไตย โดยมี 111 ประเทศเข้าร่วม (ยกเว้นรัสเซียและจีนไม่ได้รับเชิญ)

โครงการ Global Gateway เป็นส่วนเสริมความคิดริเริ่มที่มีอยู่แล้ว เช่น การสร้างโลกที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่ (Build Back Better World B3W) ของประธานาธิบดีไบเดน[3] อันเป็นพัฒนาการในทางบวกที่สหรัฐฯ EU และพันธมิตรกำลังพยายามหาทางเลือกอื่นทดแทนการขยายอิทธิพลของจีน แต่นโยบายด้านการต่างประเทศทั้งหมดอาจจะไม่มีผลต่อจีนและทำให้เกิดคำถามว่า โครงการริเริ่มเหล่านี้ “มาน้อยและมาช้าเกินไป (too little too late)” ที่จะตรวจสอบผลกระทบด้านลบบางประการของ BRI?



[1] THE EUROPEAN UNION UNVEILS PLANS TO COUNTER CHINA’S BELT AND ROAD INITIATIVE INTELBRIEF Friday, December 10, 2021 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/the-european-union-unveils-plans-to-counter-chinas-belt-and-road-initiative?e=c4a0dc064a

[2] Global Gateway: Up to €300 billion for the European Union's strategy to boost sustainable links around the world eureporter PUBLISHED 2 MONTHS AGO ON DECEMBER 3, 2021 By European Commission Available at: https://www.eureporter.co/business/digital-economy/2021/12/03/global-gateway-up-to-e300-billion-for-the-european-unions-strategy-to-boost-sustainable-links-around-the-world/

[3] ประธานาธิบดีสหรัฐฯนาย โจ ไบเดน ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงการพัฒนาโลกแบบสีเขียว พร้อมผลักดันการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ Build Back Better World (B3W) ในประเทศรายได้น้อยและรายได้ต่ำ บนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (COP 26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ข่าวVOA Thai เข้าถึงได้ที่: https://www.voathai.com/a/biden-build-back-better-world-to-counter-china-one-belt-one-road/6303650.html


Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.