ข่าวกรองผิดพลาดหรือยุทธศาสตร์ล้มเหลว ตอน 1

ที่มาภาพ: BBC Thai

นักวิเคราะห์ข่าวกรองต้องทำงานภายใต้แรงกดดันหลายอย่าง พวกคุณต้องแยกให้ออกระหว่างลำดับความสำคัญ (Priority) กับนัยสำคัญ (Significant) ทั้งสองคำมีความสำคัญแต่ความหมายไม่เหมือนกัน อดุลย์ กอวัฒนา อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (คุณลุงข่าวกรอง)

ฏิบัติการโจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบของกลุ่มฮามาสเมื่อต้นตุลาคม 2023 นอกจากสะท้อนความล้มเหลวของ “หน่วยข่าวกรอง” ระดับตำนานของชาติที่มีระบบความมั่นคงเข้มแข็งที่สุดในโลก[1] ยังทำให้ภูมิศาสตร์การเมืองของภูมิภาคพลิกผัน ส่งผลต่อนโยบายตะวันออกกลางของสหรัฐฯและพันธมิตร[2] รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพลวัตของความขัดแย้งที่อาจขยายตัวกลายเป็นสงครามในภูมิภาค

บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อทำความเข้าใจและอธิบายสาเหตุความล้มเหลวของ “การข่าวกรอง” อิสราเอลซึ่งเผยให้เห็นจุดอ่อนของระบบป้องกันประเทศและยุทธศาสตร์ (นโยบาย) อิสราเอลต่อปาเลสไตน์ โดยใช้กรรมวิธีรวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรองจากแหล่งเปิด (Open Source Intelligence - OSINT)[3]

การโจมตีแบบทำลายล้างข้ามพรมแดนของกลุ่มฮามาสจากฉนวนกาซาเมื่อ ตุลาคม 2023 ทำให้ฝ่ายอิสราเอลเสียชีวิตมากกว่า 1,200 คน บาดเจ็บกว่า 2,900 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและเด็ก กลุ่มฮามาสได้จับกุมพลเรือน 150 คนและทหารอิสราเอล (ไม่ทราบจำนวนเป็นตัวประกัน ขณะที่การโจมตีทางอากาศตอบโต้ของอิสราเอลทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเสียชีวิต 1,055 คน บาดเจ็บ 5,184 คน (สำนักงานสาธารณสุขปาเลไตน์แจ้งเมื่อ 14 ตุลาคม 2023 ว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก 724 คน ผู้หญิง 458 คน)[4]

ความล้มแหลวของ “ข่าวกรอง” อิสราเอลอาจเกิดจากความผิดพลาดในการปฏิบัติการรวบรวมข่าวกรอง (Intelligence-Collecting) ภาคสนาม รวมทั้งการประเมิน วิเคราะห์และตีความ (interpreting) ข่าวกรอง โดยมีความเป็นไปได้ 5 รูปแบบ คือ  1) รัฐบาลอิสราเอลประเมินขีดความสามารถของกลุ่มฮามาสไม่ดีพอ 2) ความผิดพลาดในการประเมินความตั้งใจ (intention) ของกลุ่มฮามาส 3) ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายอิสราเอลต่อกลุ่มฮามาส

4) การประเมินประสิทธิภาพของหน่วยงานความมั่นคงและพึ่งพาระบบตรวจการณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวชายแดนสูงเกินไป และ 5) ผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของอิสราเอลไม่เอาใจใส่ต่อการแจ้งเตือนของหน่วยข่าวกรอง เนื่องจากการรวบรวมข่าวกรองไม่สมบูรณ์หรือพฤติกรรมการรับรู้ที่บิดเบือน (Cognitive Bias) รวมทั้งความท้าทายเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข่าวกรอง[5]

ผู้นำอิสราเอลอาจเข้าใจผิดโดยคิดว่ากลุ่มฮามาสไม่มีขีดความสามารถโจมตีขนาดใหญ่ ที่ผ่านมากลุ่มนี้มักยิงจรวดที่มีอานุภาพปานกลางใส่อิสราเอล แต่ไม่เคยส่งนักรบเล็ดลอดออกจากฉนวนกาซา อิสราเอลมีระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ  (Iron dome) สร้างกำแพงคอนกรีตติดเซ็นเซอร์และรั้วอัจฉริยะ (Smart fence) ติดกล้องตรวจการณ์และปืนกลอัตโนมัติควบคุมจากระยะไกล  รวมทั้งจัดตั้งเครือข่าย “สายลับ” จำนวนมากในฉนวนกาซาภายใต้การดูแลของหน่วยข่าวกรองทางทหาร (Aman) และหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (Shin Bet)

ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มฮามาสที่หน่วยข่าวกรองอิสราเอลรวบรวมได้ อาจบ่งชี้ถึงการโจมตีที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ยังคลุมเครือขาดรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา (when) และวิธีการ (how) การตีความผิดหรือเพิกเฉยของผู้ใช้ข่าวส่งผลให้การประเมินเจตนาของกลุ่มฮามาสไม่ถูกต้อง ซ้ำรอยความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมาในสงคราม Yom Kippur ปี 1973 ซึ่งอิสราเอลถูกโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวโดยกองทัพอียิปต์และซีเรีย

การโจมตีของกลุ่มฮามาสครั้งนี้เหมือนถอดแบบจากตำราปฏิบัติการทางทหาร โดยกลุ่มฮามาสใช้โดรนขึ้นบินทำลายสถานีสื่อสารเซลลูลาร์ทหารและเซ็นเซอร์กล้องที่ติดตั้งตามแนวกำแพงล้อมฉนวนกาซา (เหมือนการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์) ทำให้ทหารอิสราเอลไม่สามารถแจ้งเตือนไปยังหน่วยอื่น ๆ จากนั้นหน่วยคอมมานโดกลุ่มฮามาสบุกโจมตีกองบัญชาการกองกำลังป้องกันตนเอง (IDF) ของอิสราเอลที่ตั้งอยู่ทางใต้ของฉนวนกาซา บุกรุกค่ายทหารอย่างน้อย แห่ง กระจายกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ของอิสราเอลมากกว่า 20 เมือง[6]

หน่วยปฏิบัติการกลุ่มฮามาสใช้รถแทรกเตอร์เกลี่ยดิน (bulldozer) ทำลายสิ่งกีดขวางรั้วกำแพงซึ่งติดตั้งกล้อง เซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนและปืนกลอัตโนมัติ 29 จุด เปิดช่องทางให้นักรบติดอาวุธจำนวนนับพันคนผ่านเข้าไปในดินแดนอิสราเอลด้วยรถกระบะและจักรยานยนต์ เช่นเดียวกับการปฏิบัติการร่วมทางทหาร (combined-arms warfare) โดยยิงจรวดคุ้มกันกำลังภาคพื้นดินเสริมด้วยนักรบร่มร่อน (powered glider) ทางอากาศและนักรบทางเรือที่ขึ้นบกทางฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรนียน

ภารกิจที่เป็น “งานยาก” ของหน่วยข่าวกรองคือการทำความเข้าใจผลกระทบของนโยบายของประเทศตนเองต่อฝ่ายตรงข้าม อิสราเอลเชื่อว่านโยบาย “ไม้อ่อนและไม้แข็ง (carrot and stick)” ในฉนวนกาซาดำเนินไปได้ด้วยดี โดยออกใบอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์ 15,000 คนเข้าไปทำงานในอิสราเอลรายวัน ซึ่งให้ค่าแรงสูงกว่าในฉนวนกาซา แต่ชาวปาเลสไตน์กลับเห็นว่า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไม่สามารถชดเชยสิทธิทางการเมืองของพวกตนที่สูญเสียไป

ความท้าทายสำคัญอย่างหนึ่งของหน่วยข่าวกรอง คือ การโน้มน้าว (convincing) ให้ผู้นำทางการเมืองตระหนักถึงภัยคุกคาม นักวิชาการความมั่นคง (securocrat) อิสราเอลจำนวนมากแสดงความคับข้องใจกับการที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู เพิกเฉยต่อภัยคุกคามจากฉนวนกาซา โดยโอนเอียงไปมุ่งความสนใจอิหร่านและกลุ่มฮิซบอลลาห์ที่อยู่ทางใต้ของเลบานอน

ขณะเดียวกันสถานการณ์ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (west bank) เริ่มทวีความตึงเครียดจากความรุนแรงระหว่างชาวปาเสไตน์กับผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว (Israeli Settlers) ผู้สนันบสนุนทางการเมืองของรัฐบาลขวาจัดที่ตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2022 รัฐมนตรีของพรรคการเมืองฝ่ายขวาเรียกร้องให้ทุ่มเททรัพยากรไปรักษาความสงบใน west bank มากขึ้น อาจเป็นเหตุให้เกิดความลำเอียงในการตัดสินใจและจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน

ความสำเร็จของกลุ่มฮามาสและความล้มเหลวด้านข่าวกรองอิสราเอล มีแนวโน้มจะเป็นกรณีศึกษาอย่างใกล้ชิดของกองทัพทั่วโลก ช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ นักคิดทางการทหารโต้แย้งว่าเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งประจำที่และอาวุธที่มีความแม่นยำสูงทำให้การรุกคืบของกองทัพกรทำได้ยากขึ้น เพราะการรวมกำลังขนาดใหญ่มักจะถูกตรวจพบและโจมตี ด้วยเหตุนี้กองทัพยูเครนจึงละทิ้งการรุกตอบโต้ด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ โดยหันไปใช้ยุทธวิธีโจมตีด้วยกองกำลังขนาดเล็ก

การจู่โจมของกลุ่มฮามาสชี้ให้เห็นว่าการแทรกซึมด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ (large-scale infiltration) ยังคงเป็นไปได้ แม้ต้องเผชิญเทคโนโลยีตรวตราที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก หากฝ่ายเข้าตีมีความขยัน (diligent) และฝ่ายป้องกันกระหยิ่มใจ (complacent) ในความล้ำหน้าของเทคโนโลยีเฝ้าระวัง

ถือเป็นบทเรียนสำหรับรัฐที่เผชิญศัตรูข้ามพรมแดนที่มีระยะทางยาว เช่น กลุ่มประเทศริมทะเลบอลติก หรือเกาหลีใต้ ทั้งนี้ กลุ่มฮามาสยังคงเป็นตัวแสดง “พันทาง (hybrid)” ซึ่งไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายแบบเก่า (old-fashioned) หรือกองทัพตามแบบ (conventional army) แต่คล้ายคลึงกับกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ซึ่งผสมผสานองค์ประกอบทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน

หลังเสร็จสิ้นศึกสงครามครั้งนี้ คงไม่ยากที่จะกล่าวโทษหา “ผู้กระทำผิด” ที่ละสายตาจากฉนวนกาซา เบนจามิน เนทันยาฮู คงตระหนักถึงความล้มเหลวของอิสราเอลในปี 1973 ซึ่งบ่อนทำลายโกลดา เมียร์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและนำไปสู่การลาออกของเธอในที่สุด


[1] Hamas’s attack was an Israeli intelligence failure on multiple fronts The Economist Oct 9th 2023 Available at:  https://www.economist.com/middle-east-and-africa/2023/10/09/hamass-attack-was-an-israeli-intelligence-failure-on-multiple-fronts?utm_content=article-link-2&etear=nl_today_2&utm_campaign=a.the-economist-today&utm_medium=email.internal-newsletter.np&utm_source=salesforce-marketing-cloud&utm_term=10/9/2023&utm_id=1797013

[2] THE REGIONAL AND GEOPOLITICAL IMPLICATIONS OF THE HAMAS ATTACK INTELBRIEF October 12, 2023 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/the-regional-and-geopolitical-implications-of-the-hamas-attack?e=c4a0dc064a

[3] ข่าวสารที่รวบรวมจากแหล่งสาธารณะโดยมุ่งหมายตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านการข่าวกรอง แหล่งสาธารณะอาจเป็นแบบไม่ต้องเสียเงินหรือต้องเสียค่าสมาชิก (free and subscription-based) แบบ online หรือ offline ทั้งนี้ OSINT ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่บนอินเตอร์เน็ตซึ่งมีข้อมูลข่าวสารที่มีคุณค่าจำนวนมหาศาล สื่อมวลชน องค์กรสาธารณ คลังสมอง (think tank) มหาวิทยาลัย NGOs และองค์กรของเอกชนล้วนเป็นแหล่งที่มาของข่าวสารจากแหล่งข่าวเปิด (OSINF)

[4] Palestinian civilians suffer in Israel-Gaza crossfire as death toll rises ABC News By Kiara Alfonseca October 11, 2023, Available at: https://abcnews.go.com/International/palestinian-civilians-suffer-israel-hamas-crossfire-death-toll/story?id=103828889

[5] An Intelligence Failure in Israel, but What Kind? Daniel Byman LAWFARE  October 10, 2023, Available at: https://www.lawfaremedia.org/article/an-intelligence-failure-in-israel-but-what-kind

[6] Hamas attack is an intelligence failure that may take Israel years to unravel By David Ignatius The Washington Post October 8, 2023 Available at: https://www.washingtonpost.com/opinions/2023/10/08/hamas-israel-intelligence-failure/


Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.