ข่าวกรองผิดพลาดหรือยุทธศาสตร์ล้มเหลว ตอน 2

These images provided by Maxar Technologies show an area of Atatra, northern Gaza, before and after Israeli airstrikes. At left, Atatra on May 102023; at right, the same area on Oct. 212023. (Satellite image ©2023 Maxar Technologies via AP) ที่มาภาพ: https://apnews.com/article/satellite-images-israeli-airstrike-destruction-gaza-4477db1cfc39f38ac6cfff55330a7635

ทำ “ข่าวกรอง” ให้ครบ “วงจร”

ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลกำลังเผชิญวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุด ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ “หงส์ดำ (Black swan)” ที่สร้างความประหลาดใจโดยศัตรูที่ไม่เคยรู้จักจากแดนไกล แต่เป็น “หงส์ขาว (White Swan)” ที่ปรากฏตัวโดยการวางแผนของผู้ก่อการร้ายชื่อกระฉ่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ซึ่งหน่วยข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงควรจับตาดูและวางแผนเตรียมพร้อมป้องกัน[1]

18 ปีหลังการถอนตัวออกจากการยึดครองฉนวนกาซา (ปี 2005) กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) เปิดปฏิบัติการทางทหารรุกรานพื้นที่ดังกล่าวสองครั้งได้แก่ ยุทธการหลอมตะกั่ว (Operation Cast Lead) เมื่อมกราคม 2009 ใช้เวลาปฏิบัติการภาคพื้นดิน 15 วัน และยุทธการป้องกันชายแดน (Operation Protective Edge) ปี 2014เพื่อโจมตีทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มฮามาสโดยใช้เวลาปฏิบัติการ 19 วัน[2]

ปฏิบัติการทางทหารครั้งล่าสุดใช้ชื่อยุทธการดาบเหล็ก (Operation Iron Swords) เพื่อตอบโต้การโจมตีแบบกระหายเลือดของกลุ่มฮามาสเมื่อ ตุลาคม 2023 โดยเปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายหลายแห่งในฉนวนกาซาและเรียกระดมกำลังพลสำรองกว่า 300,000 นาย เตรียมบุกเข้า “ทำลาย” กลุ่มฮามาส[3]

กองทัพอิสราเอลยืนยันเมื่อช่วงเช้า 14 ตุลาคม 2023 ว่าได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินแล้ว แต่เป็นแบบ “จำกัดวง” เพื่อ “ขจัดภัยคุกคามจากเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มก่อการร้าย” โดยจะรวบรวมหลักฐาน เพื่อช่วยเหลือตัวประกันด้วย[4] IDF ระบุตัวประกันได้อย่างน้อย 212 คนที่น่าจะถูกควบคุมตัวในฉนวนกาซา[5]

การโค่นล้มกลุ่มฮามาสซึ่งฝังรากลึกในฉนวนกาซา[6] จะนำไปสู่การสู้รบแบบนองเลือดในเขตเมือง (bloody urban fighting) และก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อตัวประกัน ยิ่งการสู้รบยืดเยื้อออกไปนานเท่าไร โอกาสที่ความรุนแรงจะขยายตัวไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (west bank) และเลบานอนมากขึ้นเท่านั้น หากพลเรือนจำนวนมากเสียชีวิตอย่างป่าเถื่อนก็จะเป็นอัตรายต่อจุดยืนระหว่างประเทศของอิสราเอล[7]

สาเหตุที่ทำใหอิสราเอลตกอยู่ในสถานการณ์อันน่าสยดสยองในขณะนี้ น่าจะเป็นผลจากความล้มเหลวของนโยบายต่อปาเลสไตน์กล่าวคือ กลุ่มฮามาสปกครองฉนวนกาซาในปี 2007 (2 ปีหลังการถอนทหารของอิสราเอล) รัฐบาลอิสราเอลต้องเลือกระหว่าง ยุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้ทางการเมืองและการทหาร คือ[8]

1) ปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงที่กลุ่มฮามาสเป็น 1 ใน 2 กลุ่มการเมืองหลักในดินแดนปาเลสไตน์ อีกกลุ่มคือฟาตาห์ ซึ่งมีฐานที่มั่นในเวสต์แบงก์ รัฐบาลอิสราเอลใด ๆ ที่ต้องการยุติความขัดแย้งกับปาเลสไตน์อย่างจริงจังจะต้องพยายามรวมกลุ่มฮามาสเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองทวิภาคีควบคู่กับกลุ่มฟาตาห์ซึ่งเป็นคู่แข่ง (อิสราเอลต้องเจรจาโดยตรงกับกลุ่มฮามาส) พร้อมกับสนับสนุนการปรองดองระหว่างกลุ่มฮามาสและฟาตาห์

2) ดำเนินกลยุทธ์ทำให้กลุ่มฮามาสอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคณะบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) ดำเนินการโดยกลุ่มฟาตาห์โดยรวมถึงกระบวนการทางการเมืองที่น่าเชื่อถือนำไปสู่ข้อตกลงสถานะถาวรซึ่งอาจบรรลุผลสำเร็จโดยข้อตกลงย่อยและการดำเนินการฝ่ายเดียว

ทั้งสองยุทธศาสตร์มีจุดอ่อนและอาจมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง หลังสิ้นสุดรัฐบาลเอฮุด โอลเมิร์ต ในปี 2009 รัฐบาลอิสราเอลชุดต่อมาไม่ได้ใช้ทั้งสองทางเลือก เอฮุด โอลเมิร์ต เคยพยายามใช้ทางเลือกที่สองระยะหนึ่ง แต่ถูกกดดันให้ลาออกก่อนบรรลุเป้าหมายใด ๆ ต่อมาเบนจามิน เนทันยาฮู รับช่วงต่อโดยใช้ยุทธศาสตร์ที่สามอันนำมาซึ่งความล้มเหลว

ในปี 2009 เนทันยาฮูกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัย Bar-Ilan อิสราเอล เขาประกาศยอมรับรัฐปาเลสไตน์โดยมีเงื่อนไขหลายประการ (หมายถึงการคัดค้านการสถาปนารัฐปาเลสไตน์) เนทันยาฮูแทนที่กระบวนการทางการเมืองโดยใช้ยุทธศาสตร์ “แบ่งแยกและปกครอง (divide-and-conquer)” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายทำให้คณะบริหารปาเลสไตน์ใน (เมืองรามัลเลาะห์) เวสต์แบงก์อ่อนแอลงและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา

เนทันยาฮูเชื่อว่า ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นหนทางดีที่สุดที่ทำให้มั่นใจว่าไม่มีกระบวนการทางการเมืองที่ปฏิบัติได้หรืออีกนัยหนึ่งอิสราเอลใช้กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาจัดการกลุ่มฟาตาห์ในเวสต์แบงก์ อิทธิพลของกลุ่มหัวรุนแรงจะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มสายกลาง (คู่เจรจาสันติภาพของอิสราเอล) สมความมุ่งหวังของเนทันยาฮู

ยุทธศาสตร์ที่สามเร่งตัวไปสู่ระดับใหม่ โดยเนทันยาฮูจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคเคร่งศาสนาและชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งประกาศอย่างเปิดเผยว่าอิสราเอลจะไม่เปิดทางให้มีการสถาปนารัฐปาเลไตน์หรือให้สิทธิเท่าเทียมหรือยุติการปล้นดินแดนปาเลสไตน์โดยการสร้างนิคมชาวยิว นโยบายนี้ส่งผลให้กองทัพอิสราเอลส่วนใหญ่ถูกส่งไปปกป้องผู้ตั้งถิ่นฐานในเวสต์แบงก์ โดยแลกกับค่าใช้จ่ายในการป้องกันชายแดนรอบฉนวนกาซา

อิสราเอลสร้างเสริมสถานภาพของตนในตะวันออกกลางด้วยวิธีการฑูต โดยลงนามใน “ข้อตกลงอับราฮัม (Abraham Accords)” กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และบาห์เรนในปี 2020 ต่อมาได้เพิ่มโมร็อกโกและซูดาน จนถึงต้นตุลาคม 2023 ดูเหมือนว่าซาอุดีอาระเบียอาจเข้าร่วมด้วย แต่เกิดเหตุโจมตีของกลุ่มฮามาสทำให้ข้อตลงสันติภาพหยุดชะงัก

วิกฤติในปัจจุบันแสดงให้เห็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของยุทธศาสตร์นี้ คงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่จะหวังว่าอิสราเอลสามารถรวมอำนาจทางทหารและหน่วยงานรักษาความปลอดภัยชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนที่อ้างสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (self-determination)[9] และมีชีวิตอิสระตามปกติได้อย่างไม่มีกำหนด

ในที่สุดผู้ถูกกดขี่จะลุกขึ้นต่อสู้กับผู้กดขี่ ความทุกข์ทรมานภายใต้การกดขี่และความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะมีอิสรภาพทำให้เกิดความตั้งใจแน่วแน่ นักรบฮามาสที่วางแผนโจมตีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีไหวพริบอย่างมากในการแสวงประโยชน์จากการขาดการเตรียมพร้อมของอิสราเอล

ในที่สุด อิสราเอลจะต้องเลือกระหว่างวิธีแก้ปัญหาแบบสองรัฐ (Two-State Solution) เคียงข้างกันกับรัฐเดียว (Single State) ที่พลเมืองผู้อยู่อาศัยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันและพยายามทำให้สิ่งที่อิสราเอลเลือกได้ผล โดยหวังว่าชาวอิสราเอลที่ยืนหยัดอดทนต่อการล่มสลายของแนวทางปัจจุบันจะให้การสนับสนุน



[1] Israel’s Intelligence Disaster By Amy Zegart FOREIGN AFFAIRS October 11, 2023 Available at: https://www.foreignaffairs.com/middle-east/israels-intelligence-disaster?check_logged_in=1

[2] ปฏิบัติการป้องกันชายแดน: ถาม – ตอบ เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย 14.07.2014 เข้าถึงได้ที่https://embassies.gov.il/bangkok/NewsAndEvents/Pages/Operation-Protective-Edge-QA-TH.aspx

[3] Brutal urban warfare awaits Israel’s army in Gaza The Economist Oct 11th 2023 Available at: https://www.economist.com/middle-east-and-africa/2023/10/11/brutal-urban-warfare-awaits-israels-army-in-gaza

[4] โฉมหน้าปฏิบัติการ "เผด็จศึก" กลุ่มฮามาสของอิสราเอล จะมีหน้าตาอย่างไร  BBC Thai 14 ตุลาคม 2023 เข้าถึงได้ที่: https://www.bbc.com/thai/articles/cl4rzj8m1ngo

[5] Daily Briefing Oct 22: Day 16 of war – what first, toppling Hamas or finding hostages? By TOI STAFF THE TIMES OF ISRAEL 22 October 2023 Available at: https://www.timesofisrael.com/daily-briefing-oct-22-day-16-of-war-what-first-toppling-hamas-or-finding-hostages/

[6] Daniel Byman แห่งมหาวิทยาลัย Georgetown ตั้งข้อสังเกตุว่ากลุ่มฮามาสฝังตัวอยู่ในฉนวนกาซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การการกุศล โรงเรียนและมัสยิด การแยกกลุ่มฮามาสออกจากฉนวนกาซาเป็นภารกิจที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้ การกลับเข้ายึดครองฉนวนกาซา (re-occupation) ยิ่งไม่น่าเชื่อถือ

[7] The lessons from Hamas’s assault on Israel The Economist Oct 8th 2023 Available at: https://www.economist.com/leaders/2023/10/08/the-lessons-from-hamass-assault-on-israel

[8] The crisis shows the failure of Israeli policy towards Palestinians, says Shlomo Brom The Economist Oct 10th 2023 Available at: https://www.economist.com/by-invitation/2023/10/10/the-crisis-shows-the-failure-of-israeli-policy-towards-palestinians-says-shlomo-brom

[9] เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อมีการนำสิทธิในการกำหนดใจตนเองไปกล่าวไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ทำให้สิทธิในการกำหนดใจตนเองมีผลบังคับใช้แก่รัฐสมาชิก UN ด้วย ดูรายละเอียดใน จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 59 เรื่อง “หลักการกำหนดใจตนเอง” หรือ The Principle of Self-Determination โดยณัฐกฤษตา เมฆา และ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นบรรณาธิการ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ มิ.ย.2552

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.