ไท(ย)ทานิค : โชคชะตารัฐนาวา “ประยุทธ์ 2” ?

THE OFFICIAL TITANIC II PROMO VIDEO - AWESOME - Blue Star Line - Clive Palmer (capture)
ที่มาภาพ: https://youtu.be/G9GJDhd_JPo

ายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 3 กรกฎาคม 2019 โดยขยายความถึงกรณีที่ไปปาฐกถาพิเศษเรื่อง บทบาทของสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 กับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ ห้องประชุมใหญ่บริษัททีโอทีจำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ (2 กรกฎาคม 2019) โดยอุปมารัฐบาล “ประยุทธ์ 2” เหมือน “เรือเหล็ก” ลำใหญ่ ข้อดีคือไม่รั่ว ข้อเสียอาจเกิดสนิม แต่ใช้เวลานาน วิธีแก้ทุกคนต้องช่วยกันว่า ไม่ได้ส่งสัญญาณถึงคนในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เท่านั้น  แต่ส่งสัญญาณให้ทั้งประเทศ ส่วนที่เปรียบเทียบว่าหากเรือล่ม ส.ว.จะได้รับผลกระทบด้วยนั้น ต้องดูว่าเรือล่มลักษณะไหน อย่าไปคิดมาก ขนาดนายกฯส่งสารคุณยังหาว่าจะรัฐประหาร ตนเลยไม่กล้าพูดแล้ว ไม่เอาแล้ว[1]
          การเปรียบเปรยรัฐบาลชุดใหม่กับเรือเหล็กดังกล่าว ทำให้นึกถึง “ไททานิค” ซึ่งเป็นเรือโดยสารเหล็กลำใหญ่ที่สุดในโลก (ห้วงเวลาขณะนั้น) ที่จมลงสู่พื้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือเมื่อ 14 เมษายน 1912 หลังชนภูเขาน้ำแข็งระหว่างการออกเดินทางครั้งแรก (maiden voyage) จากเมืองเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักรไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ภัยพิบัติจากการอับปางของไททานิคนอกจากส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,514 คน[2] ยังเผยให้เห็นจุดตาย (Achilles’s heel) ของเรือที่ไม่มีใครรู้มาก่อน
          ปัจจุบันมีความพยายามสร้างเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่ถอดแบบความหรูหราจากเรือ “ไทนานิค” โดยบริษัทเดินเรือ Blue Star Line ของ Clive Palmer มหาเศรษฐีชาวออสเตรเลีย แถลงความคืบหน้าในการก่อสร้างเรือ “ไททานิค 2” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2016 กำหนดเปิดให้บริการออกทะเลภายในปี 2022 ทั้งนี้ “ไททานิค 2” มีความยาวตัวเรือเกือบ 270 เมตร ความสูงทั้งหมด 10 ชั้น บรรทุกผู้โดยสารได้ 2,400 คน พร้อมลูกเรือ 900 คน ผู้สร้างยืนยันว่า “ไททานิค 2” จะไม่ชนภูเขาน้ำแข็งและอับปางซ้ำรอยเรือไททานิคต้นแบบ เนื่องจากได้เพิ่มระบบความปลอดภัยอย่างดีเยี่ยม มีจำนวนเรือชูชีพและเสื้อชูชีพเพียงพอสำหรับผู้โดยสารและลูกเรือทุกคน รวมทั้งมีระบบเรดาร์ที่ทันสมัยกว่าเรือไททานิคต้นแบบ[3]
บทความนี้มีความมุ่งหมายวิเคราะห์โครงสร้างการออกแบบ และการจัดวางบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐนาวา “ประยุทธ์ 2” เพื่อประเมินความแข็งแกร่งของเรือเหล็กลำใหม่ ซึ่งมีภารกิจนำผู้โดยสารเดินทางฝ่า “ภูเขาน้ำแข็ง” ในยุคที่ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปสู่จุดหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยเปรียบเทียบและทำความเข้าใจบทเรียนการสิ้นชื่อของ “เรือเหล็ก” ที่ทุกคนเชื่อว่า “ไม่มีวันจม” เมื่อ 107 ปีก่อน อนึ่ง การทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เรือไททานิคจมลงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการป้องกันอุบัติเหตุลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
หลังเกิดเหตุดังกล่าวรัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯได้ดำเนินการสืบสวนทันที โดยรายงานผลการสืบสวนของทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่า ภูเขาน้ำแข็งเป็นเหตุทำให้เรือไททานิคอับปางลง มิได้เป็นเพราะความอ่อนแอของโครงสร้างตัวเรือแต่ย่างใด และสรุปว่าเรือไททานิคจมลงทั้งลำโดยไม่บุบสลาย ดังนั้น กัปตันเรือ Edward John Smith จึงถูกกล่าวโทษประณามว่าใช้ความเร็ว 22 นอต (เกือบเท่าความเร็วสูงสุด 23 นอต ของเรือไททานิค) ในการเดินเรือฝ่าทุ่งภูเขาน้ำแข็งท่ามกลางความมืดนอกชายฝั่งนิวฟาวด์แลนด์ ซึ่งถือเป็นการปิดคดีไททานิค[4]
คำถามที่ยังคงค้างคาอยู่คือ อะไรเป็นเหตุทำให้เรือที่ไม่มีวันจมต้องอับปางลง อย่างไรก็ดี ซากเรือไททานิคจมอยู่บนพื้นมหาสมุทรโดยไม่ถูกรบกวนเป็นเวลา 73 ปี จนกระทั่งเมื่อ กันยายน 1985 นาย Robert Ballard และคณะนักถ่ายภาพใต้มหาสมุทรได้ค้นพบที่ตั้งซากเรือไททานิคที่จมอยู่ใต้ความลึก 12,500 ฟุต ห่างจากชายฝั่งนิวฟาด์แลนด์ แคนาดา ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 350 ไมล์ สภาพเรือหักเป็นสองท่อนก่อนจมลงใต้สมุทร ซากเรือทั้งสองอยู่ห่างกันประมาณ 2,000 ฟุต หลังจากนั้นไม่กี่ปีชิ้นส่วนแรกของไททานิคถูกนำขึ้นมาตรวจสอบและเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าแผ่นโลหะคุณภาพต่ำเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหายนะ
          การที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าไททานิคเป็นเรือที่ “ไม่มีวันจม” เพราะถูกออกแบบให้ลอยน้ำได้ แม้น้ำท่วมห้องผนึกน้ำ (water-tight compartment)[5] จำนวน ห้อง จากทั้งหมด 16 ห้อง นาย Thomas Andrews ผู้ออกแบบระบุว่า หากเรือถูกตัดขวางเป็น ส่วน แต่ละส่วนก็ยังคงลอยตัวอยู่ได้ เพราะไททานิคเป็นเรือชูชีพในตัว[6] ส่วนที่มาของรัฐนาวาประยุทธ์ เป็นผลงานการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์และคณะตามความต้องการรักษาอำนาจของ คสช. ซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีสิทธิร่วมเลือกกัปตัน (นายกรัฐมนตรี)
          เรือเหล็ก “ประยุทธ์ 2” ซึ่งได้รับการอัพเกรดจาก “เรือแป๊ะ” มีผู้ขับเคลื่อนจำนวนทั้งสิ้น 36 คน รวม 39 ตำแหน่ง (รวมนายกฯ) ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค คือ พลังประชารัฐ 18 คน ประชาธิปัตย์ 7 คน ภูมิใจไทย 7 คน ชาติไทยพัฒนา 2 คน รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน ชาติพัฒนา 1 คน ขณะเดียวกันรายชื่อ ครม. ที่ออกมายังมี “คนนอก” 6 คน ที่อยู่ในโควต้าของ พปชร. แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เพราะมาในโควต้า “ลุงตู่ขอมา” ประกอบด้วย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายวิษณุ เครืองาม พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา นายดอน ปรมัตถ์วินัย และ พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล[7]
   รัฐนาวา “ประยุทธ์ 2” กำหนดจะออกเดินทางครั้งแรกโดยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาใน 25 กรกฎาคม 2019 ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ไม่น่าจะมีลางอัปมงคล (ill omened) เหมือนเรือไททานิคที่ ออกจากท่าเรือเซาท์แทมป์ตันเมื่อ 10 เมษายน 1912 ได้สร้างแรงดึงดูดมหาศาลจนเกือบชนเรือโดยสาร SS New York สำหรับการอภิปรายคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจไม่เกี่ยวข้องกับการแถลงนโยบายนัก แต่เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่มาตั้งแต่ต้น ทั้งการร่างกติกา (รัฐธรรมนูญ ปี 2560) ที่ถูกมองว่าเป็นกลไกที่กำหนดไว้ให้บางพรรคมีความได้เปรียบทางการเมือง รวมถึงที่มาของผู้ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการสรรหาและเสนอของ คสช.ทั้งหมดและผู้ถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพลังประชารัฐก็เป็นหัวหน้า คสช.ด้วย[8]
          ความท้าทายหรือข้อห่วงกังวลในการเดินทางของรัฐนาวา “ประยุทธ์ 2”คือ “ภูเขาน้ำแข็ง” ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลงจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนที่ยังยืดเยื้อและแรงกดดันจากความตกลงเขตการค้าเสรีเวียดนาม - ยุโรป แต่ความเสี่ยงหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำมาจากภายในประเทศคือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะนี้การจัดตั้ง ครม. ล่าช้ากว่าคาด ทำให้การจัดทำงบประมาณประจำปีล่าช้าออกไป 1-3 เดือน ส่งผลต่อแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โครงการใหม่ๆของรัฐบาลและงบการลงทุน แม้จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในที่สุด แต่จะอยู่ได้ไม่นาน เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค หากเกิดกรณีนี้จะส่งผลต่อความต่อเนื่องรัฐบาลและโครงการลงทุนต่างๆ[9]
          ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และธุรกิจประกันภัย มีเงินกองทุนในระดับสูง เสถียรภาพด้านต่างประเทศเข้มแข็ง มีส่วนช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศ โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมไม่ได้ลดลงและบางจุดมีการสะสมความเปราะบางเพิ่มขึ้น ที่ประชุมให้ความสำคัญกับ ประเด็นหลักคือ 1) สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังน่ากังวล โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง 2) ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วง 5 เดือนแรกของปียังขยายตัวได้จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3) สหกรณ์ออมทรัพย์มีสินทรัพย์ที่ขยายตัวต่อเนื่องและมีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น 4) พฤติกรรม search for yield ยังมีต่อเนื่องในหลายภาคส่วน อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร โดยธุรกิจประกันภัยลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น[10]
          กรณีศึกษาหายนะจากการอับปางของเรือไททานิค สรุปว่า ความเปราะบางของแผ่นเหล็กที่ใช้ประกอบตัวเรือ (เนื้อเหล็กมีกำมะถันสูงมาก) รวมทั้งน้ำทะเลในคืนเกิดหายนะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งและผลกระทบรุนแรงจากการชนภูเขาน้ำแข็ง ทำให้แผ่นเหล็กท้องเรือปริแยกและน้ำท่วมเรือ น้ำทะเลอุณหภูมิต่ำและแรงกระแทกจากการชนทำให้หมุดโลหะที่ใช้ยึดแผ่นเหล็กโครงสร้างหลักของตัวเรือปริแตก การจมลงอย่างรวดเร็วของเรือไททานิคเป็นผลจากการออกแบบฝากั้นห้องผนึกน้ำ (bulkhead) แบบทแยงคนละมุม  เมื่อน้ำท่วมห้องผนึกน้ำส่วนท้องเรือจะไล่ระดับไปท่วมห้องติดกัน ด้วยเหตุนี้ ห้องผนึกน้ำนอกจากจะไม่สามารถกั้นน้ำยังช่วยเร่งอัตราการจมของเรืออีกด้วย
          บทเรียนดังกล่าวสอนให้รู้ว่า แม้บริษัทต่อเรือมีเทคโนโลยีในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ แต่ไม่จำเป็นต้องสร้างก็ได้ หายนะจากการอับปางของเรือไททานิคบ่งชี้ว่า เทคโนโลยีการต่อเรือมีความก้าวหน้ามากกว่าความเข้าใจเรื่องวัสดุ (แผ่นเหล็ก) ของวิศวกรผู้สร้างเรือ เช่นเดียวกันในทางการเมือง ความรู้ทางกฎหมาย (เทคโนโลยี) ของผู้ออกแบบโครงสร้างรัฐนาวา “ประยุทธ์ 2” มีความล้ำหน้ากว่าความเข้าใจเรื่องวัสดุ (นักการเมือง) ของผู้จัดการรัฐนาวา ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายที่ร้ายแรงอีกครั้ง ?[11]


[1] ‘วิษณุ’ ชี้ไม่มีแล้วเรือแป๊ะ เปลี่ยนเป็นเรือเหล็กลำใหญ่ ไม่รั่วแค่สนิมขึ้นได้ มติชนออนไลน์ (3 กรกฎาคม 2562) - 15:18 น. https://www.matichon.co.th/politics/news_1565417
[2] “อาร์เอ็มเอส ไททานิก” จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org/wiki/อาร์เอ็มเอส_ไททานิก (สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2109)
[3] เรือสำราญ “ไททานิค 2” เตรียมให้บริการในปี 2022 โดย PPTV Online เผยแพร่ 25 ตุลาคม 2561,12:44 น. ปรับปรุงล่าสุด 27 มิถุนายน 2562, 17:56 น. https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/91840
[4] The Secret of How the Titanic Sank By Justin Ewers, Staff Writer September 25, 2008, at 1:14 p.m.
https://www.usnews.com/news/national/articles/2008/09/25/the-secret-of-how-the-titanic-sunk
[5] ประเทศตะวันตกได้รับเอาเทคโนโลยีห้องผนึกน้ำมาจากสำเภาจีน ซึ่งแบ่งท้องเรือออกเป็นช่วงๆ เหมือนกั้นห้อง เมื่อน้ำรั่วเข้ามาในห้องใดห้องหนึ่ง ห้องนั้นจะมีน้ำขังอยู่แค่ระดับเท่ากับน้ำทะเลภายนอก โดยเรือยังสามารถลอยลำได้อยู่ด้วยอากาศในห้องอื่นๆ – ข้อมูลจาก นาวาตรีกำพล ชาญด้วยกิจ อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพเรือ
[6] THINGS ABOUT THE TITANIC YOU SHOULD KNOW VIDEO HIGHLIGHTS FROM TITANIC 100 CASE CLOSED Eight facts about the 'unsinkable' Titanic. 21 MARCH 2012 https://www.nationalgeographic.com.au/history/titanic-did-you-know.aspx
[7] “ประยุทธ์ 2/1 : โปรดเกล้าฯ ครม. แล้ว” BBC Thai 10 กรกฎาคม 2019 https://www.bbc.com/thai/thailand-48891690
[8] ความเห็นของ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ใน นานาทรรศนะ กับวาระ'ชำแหละนโยบาย รบ.' มติชน ฉบับวันที่ 19 ก.ค. 2562 (กรอบบ่าย)
[9] ธ.โลกชี้จุดเสี่ยงศก.ไทยรบ.อยู่ไม่ยืด มติชน ฉบับวันที่ 09 กรกฎาคม 2562
[10] '4ความเสี่ยง'ระบบการเงิน ธปท.ห่วง'หนี้ครัวเรือน'แก้ยาก กรุงเทพธุรกิจ 11 กรกฎาคม 2019 หน้า 21
[11] Causes and Effects of the Rapid Sinking of the Titanic By Vicki Bassett Undergraduate Engineering Review http://writing.engr.psu.edu/uer/bassett.html
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.