Lone Wolf : ความเป็นไปได้ในการตรวจหาและสะกดรอย

TIM FITZHARRIS/GETTY IMAGES
ที่มา https://animals.howstuffworks.com/mammals/wolf-pictures.htm

.....นอกจากการตรวจจับข้อมูลอย่างได้ผลและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพยังต้องมีการเชื่อมต่อ (fused) กับผลผลิตข่าวกรองด้วย ในการนี้ นักวิเคราะห์ (analysts)และนักรวบรวม (collector) ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด......

นห้วงระยะเวลา 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าการก่อการร้ายแบบฉายเดี่ยว (Lone Wolf Terrorism) ในโลกตะวันตกได้ขยายตัวมากขึ้น[1] ขณะที่หน่วยงานด้านความมั่นคงและวิเคราะห์วิจัยของสหรัฐฯที่เคยมุ่งศึกษาองค์กรก่อการร้ายที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (Islamic State) และ Al Qaeda ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เห็นว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯมากที่สุด ทั้งนี้ ปฏิบัติการก่อการร้ายแบบฉายเดี่ยว (Lone operator terrorist acts) อาจเปรียบเทียบได้กับปรากฎการณ์หงส์ดำ (Black Swan)[2] หรือความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย (ความน่าจะเป็นไม่สูง) ซึ่งเกือบเป็นไปไม่ได้ที่จะจำแนกประเภท (categorize) หรือจัดระบบ (systematize) ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องพูดถึงการคาดการณ์ล่วงหน้า[3]
          สภาวการณ์โลกที่มีความซับซ้อนและผันผวนสูง ทำให้แนวโน้มการเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจแบบ Black Swan เพิ่มขึ้น การตามล่า Lone Wolf จึงเป็นเรื่องพูดง่ายกว่าทำ เพราะธรรมชาติของ Lone Wolf คาดการณ์ไม่ได้ การโต้ตอบภัยคุกคามแบบนี้ไม่ได้อาศัยข้อมูลประวัติของผู้กระทำผิด (perpetrator) แต่เป็นรูปแบบการปฏิบัติการ (modus operandi) ซึ่งทิ้งร่องรอยให้สามารถติดตามสืบสวนได้ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ปฏิบัติการแบบฉายเดี่ยวเกือบทั้งหมดแสดงออกถึงความมุ่งมั่นและตัวตนของความรุนแรง และทิ้งร่องรอยข่าวสารชี้นำที่เป็นประโยชน์สำหรับการป้องกันมิให้เกิดกระบวนการสร้างความรุนแรง[4]

ใครคือ Lone Wolf
          คำจำกัดความเดิมของ Lone Wolf[5] หมายถึง บุคคล (เพศชาย) ที่ก่อความรุนแรงตามลำพังด้วยเหตุผลทางการเมืองและได้มีวิวัฒนาการอย่างรวดร็ว โดยหมายรวมถึง บุคคลซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากพรรคพวก (จำนวนน้อย) ที่มีความสัมพันธ์กัน (Beta Wolf)[6] เนื่องจาก  Timothy McVeigh ผู้วางระเบิดอาคาร Alfred P. Murrah Federal Building ในย่านธุรกิจของ Oklahoma City เมื่อ 19 เมษายน 2538 (กรณีการวางระเบิดซึ่งเป็นที่จดจำ) ไม่ได้ปฏิบัติการตามลำพัง แต่ได้รับความช่วยเหลือจาก Terry Nichols ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ประกอบระเบิด ส่วนการก่อเหตุสังหารหมู่ที่แซน เบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เมื่อ 2 ธันวาคม 2558 โดย Tashfeen Malik หญิงชาวปากีสถานและสามี Syed Rizwan Farook บุตรชายของผู้อพยพชาวปากีสถานที่เกิดในสหรัฐฯ อาจถูกโต้แย้งได้ว่าเป็นการก่อเหตุแบบ Lone Wolf หรือไม่
          Burton and Stewart ระบุในบทความซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ STRATFOR ว่า Lone Wolf หมายถึงบุคคล (เพศชายหรือหญิง) กระทำการด้วยตนเองโดยไม่มีการสั่งการหรือเกี่ยวข้องกับองค์การใดๆ Lone Wolf แตกต่างจากพวกซ่อนตัว (sleeper cell) ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติการที่แทรกซึมเข้าสู่สังคมหรือองค์การของเป้าหมายและซ่อนตัวอยู่จนกว่าจะมีคำสั่งจากกลุ่มหรือองค์กรที่สังกัดให้ปฏิบัติการ ในทางตรงข้าม Lone Wolf เป็นผู้ปฏิบัติการที่ฝังตัว (embedded) อยู่ในสังคมที่ตกเป็นเป้าหมายและสามารถกระตุ้นตัวเองได้ตลอดเวลา[7]
          Lone Wolf มักจะมีชีวิตยุ่งยากในวัยเด็ก หรือได้รับความเจ็บปวดทรมาน ซึ่งส่งผลเสียต่ออารมณ์ความรู้สึกในช่วงต้นของวัยเด็ก Timothy McVeigh ถูกเพื่อนรังแกและต้องออกจากโรงเรียนเพราะไม่สามารถปรับตัวได้ พ่อแม่หย่ากันเมื่อเขาอายุ 10 ขวบ พ่อของ Tashfeen Malik มีความสัมพันธ์ยุ่งยากกับครอบครัว ขณะที่แม่ของ Syed Rizwan Farook หย่ากับพ่อซึ่งติดเหล้าและชอบด่าทอ ในปากีสถานการทำร้ายหรือกระทำทารุณเด็กในครอบครัวและสถานศึกษา มักไม่มีการรายงานหรือปรากฏเป็นข่าว แต่กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจเป็นข้อมูล     เชิงลึก (insight) ในการทำความเข้าใจสภาพจิตใจ (mindset) ของผู้ก่อการร้าย

ทำไมบุคคลธรรมดากลายเป็น Lone wolf
          กรณีศึกษาเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายจำนวนมาก บ่งชี้ให้เห็นกระบวนการทำให้คนกลายเป็นหัวรุนแรง (radicalization course) ในระยะต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นตามลำดับหรือคู่ขนาน หลังถูกปลดออกจากกองทัพเมื่อพฤษภาคม 2535 Timothy McVeigh ได้ทำงานระยะสั้นเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย และเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม Michigan Militia หน่วยอาสาสมัครใต้ดินหัวรุนแรงที่ต่อต้านนโยบายของรัฐบาล ก่อตั้งโดยกลุ่มอดีตทหารของกองทัพสหรัฐฯและผู้ที่อยู่ในวงการค้าอาวุธ
          พันตรี Nidal Hassan นายทหาร/นักจิตวิทยาชาวสหรัฐฯผู้ก่อเหตุกราดยิงที่ค่ายทหาร Fort Hood รัฐเทกซัส เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2552 และ Faisal  Shehzad  ผู้วางแผนโจมตีจตุรัส Times Square ในมหานครนิวยอร์คของสหรัฐฯ ด้วยรถยนต์บรรทุกระเบิดเมื่อ 1 พฤษภาคม 2553 (ระเบิดไม่ทำงาน) กลายเป็นคนเคร่งศาสนาทีละน้อยและยินยอมปฏิบัติตามความเชื่อ (ศรัทธา) ของตนเอง ส่วน Tashfeen Malik ใช้ระยะเวลาหลายปีในการสั่งสมความเป็นคนหัวรุนแรงด้วยตนเอง (self-radicalization)[8]
          Lone Wolf อาจรู้สึกทุกข์ใจ ต่อต้านสังคม ชุมชน รัฐบาล หรือกลุ่มบคคลผู้รับผิดชอบในสิ่งที่เขาประสบมา พันตรี Nidal Hasan ถูกรบกวนจิตใจจากความเกี่ยวพันของสหรัฐฯในตะวันออกกลางและพยายามลาออกจากราชการทหาร Timothy McVeigh มีปัญหาการปรับตัวหลังกลับจากการไปร่วมรบในสงครามอ่าวเปอร์เซีย และ Syed Rizwan Farook ก่อเหตุโจมตีในสถานที่ของนายจ้างที่ตนเคยทำงานด้วย
          Lone Wolf มักชอบอยู่ตามลำพังและมีเพื่อนในวงสมาคมขนาดเล็ก แต่ไม่ใช่พวกต่อต้านสังคม (sociopath) โดยตัวเอง (หมายถึงมีความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น) จึงไม่น่าแปลกใจหากผู้คนรอบข้างจะมองว่า Lone Wolf เป็นผู้ชายแสนดี (Nice Guy) เป็นที่น่าสังเกตว่า พันตรี Nidal Hassan และ Faisal  Shehzad  มีลักษณะเป็นคนสุภาพ เงียบขรึม เหมือนคนธรรมดาในสังคม เช่นเดียวกับ Tashfeen Malik ซึ่งมีท่าทางสงบเสงี่ยม โดดเดี่ยว ปลีกตัวจากสังคม อันเป็นบุคลิกภาพของ Lone Wolf

มูลเหตุจูงใจทางการเมืองและการประกาศความตั้งใจ
          ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาและอาชญวิทยาเห็นว่า Lone Wolf มีแนวโน้มที่จะมีความคิดแก้แค้นทั้งส่วนตัวและความทุกข์ใจทางการเมือง บ่อยครั้งที่แสดงออกถึงสัญญาณความไม่มั่นคงทางจิตใจ ซึ่งอาจช่วยอธิบายสาเหตุที่ถูกดึงดูดเข้าหาความรุนแรงและไม่สามารถเข้าร่วมในกลุ่มใหญ่กว่า การศึกษาเฉพาะกรณีระบุว่า  Lone Wolf มีอาการป่วยทางจิตมากกว่าผู้ก่อการร้ายที่สังกัดองค์การถึง 13.5 เท่า และการโจมตีแบบ Lone Wolf มักเป็นแรงบันดาลใจให้แก่พวกเลียนแบบ (copycats)[9]
          การก่อการร้ายในท้ายที่สุดก็คือ การปฎิบัติการรุนแรงที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง (political motivated violence) การโจมตีคลินิกวางแผนครอบครัว (Planned Parenthood Clinic)[10] ในเมืองโคโลราโดสปริงส์ มลรัฐโคโลราโด สหรัฐฯ เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2558 เกิดขึ้นเพราะสถานที่ดังกล่าวเป็นภัยคุกคามค่านิยมทางศาสนา Timothy McVeigh มองตัวเองเป็นผู้ปกป้องเสรีภาพและต่อต้านรัฐบาลอเมริกัน Yigal Amir สมาชิกกลุ่มขวาจัดของอิสราเอล พยายามสังหารนายกรัฐมนตรี Yitzhak Rabin เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2538 เพราะเข้าใจว่ารัฐบาลอิสราเอลหันเหจากหลักการของศาสนายูดาย ทำนองเดียวกันมุสลิมที่มีแนวคิดสุดโต่ง เช่น Tashfeen Malik และ Shehzad Ahmed รวมทั้งบุคคลอื่นๆมองว่ารัฐฆารวาสและจักรวรรดินิยมแบบสหรัฐฯเป็นภันต่อค่านิยมอิสลาม
          ในด้านกายภาพ Lone Wolf อาจปลีกตัวจากสังคมโลก แต่เข้าถึงและติดต่อผู้คนผ่านคำประกาศ จดหมาย blog การ post ความเห็นบนอินเตอร์เน็ต และวิดิโอ Timothy McVeigh Ramzi Yousuf และ Tashfeen Malik ได้ทิ้งร่องรอย ซึ่งสามารถสืบสวนย้อนกลับไปถึงความตั้งใจก่อความรุนแรงทั้งก่อนและหลังการโจมตี กล่าวคือ ก่อนการก่อเหตุ Tashfeen Malik ได้โพสต์ข้อความบน Facebook และผู้ก่อเหตุใช้มีดไล่แทงคนบนรถไฟใต้ดินที่กรุงลอนดอน อังกฤษ เมื่อ 6 ธันวาคม 2558 ได้ตะโกนว่า “เพื่อชาวซีเรีย” กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายตั้งใจประกาศเจตนาในการก่อเหตุ
          ผู้ปฏิบัติการแบบ Lone Wolf เหล่านี้ มักมีความสับสนในการมองโลกรอบตัวเอง ซึ่งมีความซับซ้อนอย่างมาก ส่งผลให้ความเป็นระเบียบ แน่นอนและจุดมุ่งหมายในชีวิตยุ่งเหยิงมากขึ้น Lone Wolf มองโลกในลักษณะขาวกับดำแทนที่จะพิจารณาโดยรวมๆว่าเป็นสีเทา ผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่แยกแยะความแตกต่างระหว่างความดีกับความชั่วอย่างเด็ดขาด โดยมองเป้าหมายโจมตีในลักษณะไม่ใช่มนุษย์ (dehumanize) และไม่รู้สึกสงสารแต่อย่างใด หลังจากพบจิตแพทย์ Timothy McVeigh Yigal Amir และ พันตรี Nidal Hassan ยังคงยืนยันถึงความศักด์สิทธิ์ในการกระทำของตน สำหรับ Tashfeen Malik มองว่า มนุษย์มี 2 ประเภทเท่านั้น คือ ศัตรูของ  พระเจ้าและกองทัพของพระเจ้า

อะไรคือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิด “ตัวลั่นไก”
          ช่วงเวลาหลายปีของกระบวนการทำให้หัวรุนแรง สุดท้ายจะมีเหตุการณ์ซึ่งเป็น “ตัวลั่นไก” ทำให้ผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการตามแผน “ตัวลั่นไก” อาจเป็นเหตุการณ์เดียวที่ตั้งใจทำให้เกิดขึ้น หรือเหตุการณ์เป็นตอนๆที่ขยายไปเรื่อยๆ โดยอาจมีเรื่องการเมืองหรือบุคคลเกี่ยวข้อง เหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐปิดล้อมสังหารหมู่สมาชิกลัทธิ Branch Davidians ที่เมือง Waco รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ เมื่อปี 2536 เป็น “ตัวลั่นไก” ของ Timothy McVeigh ความล้มเหลวในการลาออกจากราชการทหารทำให้ พันตรี Nidal Hasan ตัดสินใจก่อเหตุ ส่วน Yigal Amir ก่อเหตุเพราะถูกกระตุ้นโดยความตกลงออสโล (Oslo Accords)[11]
          สำหรับ Lone Wolf ชาวมุสลิม การรุกรานอัฟกานิสถานและอิรักของสหรัฐฯกลายเป็นตัวกระตุ้นหลักการพื้นฐานของกลุ่มก่อการร้าย รัฐบาลและสถาบันวิชาการในโลกตะวันตกพยายามทำความเข้าใจการก่อการร้ายแบบ Lone Wolf แต่ไม่สามารถเข้าใจความแตกต่างของสังคมมุสลิมและวิถีชีวิตทางศาสนา การก่อการร้ายเป็นปัญหาทางสังคม มิใช่ปัญหาของปัจเจกบุคคล ซึ่งเปรียบเสมือนส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ได้รับการสนับสนุนโดยความเห็นสุดโต่ง ความเกลียดชังและกลไกอื่นๆ

ความเกี่ยวพันกับกลุ่มสุดโต่ง
          แม้ Lone Wolf ส่วนใหญ่ปฏิบัติการในนามของตนเอง แต่มักจะยึดมั่นกับกลุ่มสุดโต่ง เพื่อการสนับสนุนด้านอุดมการณ์ กลุ่มลัทธิความเชื่อต่างๆที่เป็นแรงบันดาลใจของ Lone Wolf เช่น ลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ กลุ่มคลั่งลัทธิสนับสนุนให้ชาวยิวอพยพไปอยู่ดินแดนปาเลสไตน์ (zionist zealots) กลุ่มอิสลามสุดโต่ง และกลุ่มต่อต้านการทำแท้ง มีความเกี่ยวดองและถูกกระตุ้นจากเครือข่ายของกลไกความเกลียดชัง ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดสินใจลงมือก่อเหตุรุนแรง บ่อยครั้งที่ Lone Wolf พยายามเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม แต่มักถูกรังเกียจหรือตัดสินใจปลีกตัวออกห่าง การขยายตัวของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายทางสังคมออนไลน์กลายเป็นเวทีสำหรับพวกสุดโต่งในการเข้าร่วมกลุ่มด้วยการสานเสวนา ฝึกอบรม และประกาศความภักดี
          Tashfeen Malik และ Syed Farook ได้แรงบันดาลใจจาก IS และคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่รายละเอียดความเกี่ยวข้องของทั้งคู่กับกลุ่มดังกล่าวจะถูกเปิดเผยออกมา Lone Wolf มักได้รับความช่วยเหลือจากคนทั่วไปซึ่งไม่รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไรหรือได้รับคำสั่งจากผู้สอนศาสนาที่ชักจูงให้ Lone Wolf ลงมือปฏิบัติการ สำหรับพวกลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ตัวช่วย (enabler) ที่สำคัญ คือ William Pierce และ Alex Jones ส่วน “ตัวช่วย” ของ Lone Wolf มุสลิม คือ ผู้มีอุดมการณ์แบบอัล-ไคดา เช่น Ayman al-Zawahiri หรือ Anwar Awlaki และ Abu Bakr al-Bagdadi

การตอบโต้ Lone Wolf ด้วยมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย (Counter Terrorism - CT)
          ในการป้องกันการโจมตีของผู้ก่อการร้ายแบบ Lone Wolf หน่วยข่าวกรองจะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ล่วงหน้า เพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ การที่ Lone Wolf มิได้สังกัดองค์กรหรือกลุ่มที่มีโครงสร้างสายการบังคับบัญชา จึงยากที่จะส่งสายลับแทรกซึม (infiltrated) เข้าไปในองค์กรเป้าหมาย เพื่อการติดตามเฝ้าตรวจและสู้รบ
          Henry Jackson Society ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองในอังกฤษ ระบุในบทความที่เขียนโดย Alex Shone ว่า องค์ประกอบสำคัญในการต่อต้านการก่อการร้ายของอังกฤษ เพื่อตรวจหาที่อยู่ของ Lone Wolf   ไม่ใช่การรับรู้ว่า “ใคร” (who) จะเป็นผู้โจมตี แต่เป็นการรู้ว่าการโจมตีจะก่อตัวขึ้น “อย่างไร” (How) ทั้งนี้ Alex Shone เน้นย้ำถึงความจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำให้ Lone Wolf เป็นคนหัวรุนแรง (radicalization) การมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าว ทำให้มีแนวทางในการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันหรือต่อต้านภัยคุกคามจากการก่อการร้ายแบบ Lone Wolf[12]
          การทราบถึงวิธีการที่ Lone Wolf ใช้กำหนดการโจมตี ต้องมีระบบการตรวจจับที่ละเอียดอ่อนในระดับยุทธวิธีและคมชัดมากกว่าการปฏิบัติขององค์การต่อต้านการก่อการร้ายส่วนใหญ่ หน่วย CT ต้องปรับหาสัญญาณการก่อตัวที่อ่อนมาก บุคคลที่มีความตั้งใจแบบผู้ก่อการร้ายมักหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะคาย (give off) การเตรียมการโจมตีของตน นอกจากการตรวจจับข้อมูลอย่างได้ผล และใช้ประโยชน์จากการจัดการสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ ยังต้องมีการเชื่อมต่อ (fused) กับผลผลิตข่าวกรองด้วย ในการนี้นักวิเคราะห์ (analysts) และนักรวบรวม (collector) ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
          ความเหมือน (commonality) ของ Lone Wolf หลายคน คือ ความมุ่งมั่น ตัวตนต่อขบวนการสุดโต่งและกระบวนการทำให้หัวรุนแรง ซึ่งมิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ จึงมีความจำเป็นต้องสืบสวนและร่วมมือกับชุมชนที่ประสบความเดือดร้อน ในการทำความตกลงต่อต้านการทำให้หัวรุนแรงที่มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยส่งเสริมการขจัดปัดเป่าเชื้อพันธ์ความยุ่งยากในเชิงรุกและเชิงรับ ด้วยการช่วยเหลือสมาชิกผู้มีอิทธิพลต่อชุมชน
          การเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายทั้งหมด มักถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์ที่เป็นตัวเร่ง (catalyst) โดยอาจศึกษาเปรียบเทียบธรรมชาติและเหตุการณ์ที่เป็นตัวเร่งในกระบวนการทำให้หัวรุนแรงของ Lone Wolf ว่าเหตุการณ์ตัวเร่งอยู่ในตัวบุคคลหรือเกิดจากพัฒนาการทางการเมืองภายนอก หรือเกิดการลั่นไกโดยผู้ประกอบการความรุนแรง (entrepreneurs of violence) ซึ่งใช้ตัวเร่งดังกล่าวกระตุ้นสาวกของตนให้ปฏิบัติการก่อเหตุ
          ปฏิบัติการแบบฉายเดี่ยวได้รับแรงบันดาลใจจากพวกสุดโต่งและคลั่งอุดมการณ์ การเปิดประเด็นต่อต้านการเล่าเรื่อง (เรื่องเล่าลือทีไม่มีการบันทึก) เป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การต่อต้านการก่อการร้ายที่มีประสิทธิภาพ องค์ประกอบสำคัญของการต่อต้านการเล่าเรื่อง คือ การถอดถอนการกระทำของผู้ก่อการและพิสูจน์ว่าอุดมการณ์ความคิดของ Lone Wolf เป็นเท็จ
          แม้ Lone Wolf มิได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่มีโครงสร้างตามลำดับชั้น แต่ก็มีการกำหนดการปฏิบัติการในลักษณะแวดล้อมเฉพาะ หน่วยงานด้านความมั่นคงควรพิจารณา จัดทำโครงการสร้างการรับรู้สำหรับผู้ปกครอง โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เป็นที่แน่ชัดว่าหากไม่มีการรณรงค์ขนาดใหญ่ต่อสาธารณะ อาจทำให้เกิดความแตกตื่นทางศีลธรรม (morality)
          การตอบโต้การก่อการร้ายมีจุดเริ่มต้นที่กระบวนการสื่อสาร การเตือนภัยเกี่ยวกับ Lone Wolf ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ตรงประเด็นมีความสำคัญเท่าเทียมกับการหลีกเลี่ยงมิให้ Lone Wolf ใช้เวทีสาธารณะในการต่อสู้ การควบคุม Lone Wolf มิให้มีสถานะเชิงบวกในพื้นที่สาธารณะถือเป็นหลักการสำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับช่องทางที่ผู้กระทำผิดใช้สื่อสาร ในยุคของ Theodore Kaczynski[13] เจ้าหน้าที่สามารถป้องกันการออกแถลงการณ์ (manifesto) ของผู้ก่อการร้ายได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่กรณี Anders Behring Breivik[14] ที่นอร์เวย์ แสดงให้เห็นว่า Lone Wolf สามารถส่ง email และ VDO รวมทั้งแถลงการณ์จำนวน 1,500 หน้าไปยังกลุ่มผู้สนับสนุน โดยใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ก่อนที่จะก่อเหตุจุดระเบิดและมุ่งหน้าไปยังพื้นที่สังหารหมู่
          ร่องรอยและยุทธวิธีที่เกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติการแบบ Lone Wolf ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือรูปแบบการปฏิบัติการของ Lone Wolf กรณีการก่อเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผู้ก่อเหตุเป็นบุคคลเพศชายและมีใบอนุญาตเป็นเจ้าของอาวุธปืนประเภทกึ่งอัตโนมัติ (semi-automatic) ซึ่งเป็นการเจาะจงกลุ่มบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืน และเป็นคนส่วนใหญ่ที่ใช้อาวุธปืนตามกฎหมายเพื่อการล่าสัตว์และการกีฬา ซึ่งจำเป็นต้องมีการพิจารณาเป็นพิเศษ รวมทั้งบุคคลที่กำลังยื่นขอใบอนุญาตและเป็นสมาชิกกลุ่มชมรมยิงปืน

ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศตะวันตกและไทย
          แม้การโจมตีแบบ Lone Wolf เป็นเรื่องยากที่จะป้องกันได้ แต่รัฐบาลของประเทศตะวันตกและไทยอาจดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดโอกาสการก่อเหตุและเตรียมพร้อมรับมือการโจมตีในลักษณะดังกล่าว คือ   1) การโดดเดี่ยว Lone Wolf โดยทั่วไปผู้ก่อการร้ายมีโอกาสประสบความสำเร็จในการก่อเหตุ เพราะสามารถประสานงานร่วมมือกับบุคคลอื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่ม/องค์กร เช่น IS 2) การสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างชุมชนมุสลิมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เมื่อเกิด “ความผิดปกติ” เกี่ยวกับบุคคลที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้ก่อการร้ายในชุมชน คนที่รู้ดีที่สุด คือ มิตรสหาย ครอบครัวและเพื่อนบ้าน รัฐบาลควรเพิ่มความไว้วางใจบุคคลเหล่านั้น โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงสามารถแทรกแซงได้อย่างยืดหยุ่น ด้วยการอนุญาตให้บุคคลเหล่านั้นดูแลตรวจตราชุมชน 3) รัฐบาลควรอำนวยการให้หน่วยงานความมั่นคงติดตามและแทรกซึมในกลุ่มบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของพวก Jihadist และสนับสนุนให้บริษัทเอกชนปิดบัญชีดังกล่าว เพื่อการตรวจสอบ พิสูจน์ทราบและก่อกวนการสื่อสาร 4) ที่สำคัญรัฐบาลควรด้อยค่าอุดมการณ์ของพวก Lone Wolf ทั้งนี้การดำเนินมาตรการดังกล่าวอาจช่วยลดภัยคุกคามของ Lone Wolf แต่ไม่สามารถยุติการก่อเหตุได้อย่างเด็ดขาด[15]

บทสรุปส่งท้าย
          ความพยายามตรวจหาและสะกดรอย Lone Wolf เป็นความท้าทายสำคัญที่สุด การตอบโต้ปฏิบัติการแบบฉายเดี่ยวด้วยมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นเพียงวิธีการลดหรือจำกัดผลกระทบของภัยคุกคามแบบหนึ่ง และเป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ คำตอบสำหรับคำถามว่าเราจะป้องกันมิให้เกิดการโจมตีและกระบวนการทำให้หัวรุนแรงได้อย่างไร (How) ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ซึ่งจำเป็นต้องสืบสวนต่อไป การเพิ่มขึ้นของการก่อร้ายแบบฉายเดี่ยวอิสลาม (Islamist lone wolf terrorism) และความน่ากลัวของพวกหัวรุนแรงสุดโต่งฝ่ายขวา (right wing extremist) ที่พยายามเลียนแบบการก่อเหตุของ Anders Behring Breivik ก่อให้เกิดคำถามที่จำเป็นต้องตั้งขึ้นใหม่ เกี่ยวกับบทบาทของอินเตอร์เน็ต หรือผลกระทบของการโจมตีชนกลุ่มน้อยในสังคม
          แม้มีกรณีตัวอย่างให้ทำการศึกษา แต่มิได้ทำให้การค้นหาสาเหตุการเกิด Lone Wolf ง่ายขึ้น     แต่อย่างใด ทั้งนี้ การแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูลและแนวคิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายระหว่างผู้ปฏิบัติ ผู้กำหนดนโยบาย และนักวิชาการ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาแนวทางการตอบโต้การก่อการร้ายแบบฉายเดี่ยวต่อไป


-----------------------------------------------------------
 (ตุลาคม 2560)




[1] รายงานดัชนีการก่อการร้ายโลก (Global Terrorism Index) ประจำปี 2558 ของ Institute for Economics & Peace ระบุว่า ร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตจากการก่อการร้ายในประเทศตะวันตก นับตั้งแต่ปี 2549 - 2557 เป็นผลจากการโจมตีแบบ Lone Wolf http://economicsandpeace.org/wp-content/uploads/2015/11/Global-Terrorism-Index-2015.pdf
[2] คำศัพท์ซึ่งคิดค้นโดย นาย Nassim Nicholas Taleb ผู้เขียนหนังสือขายดีชื่อ “The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable” เพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1) เกิดขึ้นนอกเหนือการคาดหมาย 2) ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลทั้งในทางบวกและทางลบ และ 3) มีความพยายามหาคำอธิบายถึงสาเหตุการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ดังกล่าวราวกับว่าเหตุการณ์นั้นสามารถพยากรณ์ได้ เช่น การค้นพบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 ทั้งนี้ในช่วงศตวรรษที่ 16 คนมีความเชื่อว่าในโลกนี้มีแต่หงส์สีขาวเท่านั้น เพราะในอดีตไม่เคยมีคนพบเห็นหงส์สีอื่น จึงไม่มีใครเชื่อว่า Black Swan มีอยู่จริง แต่การที่ไม่เคยเห็นมิได้หมายความว่ามันไม่มี ในปี ค.ศ.1697 โลกต้องตกตะลึง เมื่อ William de Vlamingh พบหงส์ดำในออสเตรเลียตะวันตก เชื่อกันว่าพบในบริเวณที่เรียกว่า Swan River ในปัจจุบันเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านเมือง Perth ของรัฐออสเตรเลียตะวันตก และ The University of Western Australia
[3] Edwin Bakker and Beatrice de Graaf, Preventing Lone Wolf Terrorism: some CT Approaches Addressed, PERSPECTIVES ON TERRORISM Volume 5, Issues 5-6, December 2011, p.43 http://media.leidenuniv.nl/legacy/preventing-lone-wolf-terrorism-some-ct-approaches-addressed.pdf
[4] Ibid
[5] มีที่มาจาก Alex Curtis และ Tom Metzger ชาวอเมริกันที่มีแนวคิดเรื่องคนผิวขาวเป็นใหญ่ (White Supremacy) ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ได้ยุยงให้สมาชิกผู้ร่วมอุดมการณ์สุดโต่ง ก่ออาชญากรรมความรุนแรงตามลำพัง ด้วยเหตุผลทางยุทธวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่รัฐ
[6] Is it possible to spot the lone wolf terrorist before they attack? https://www.dawn.com/news/print/1226965
[7] Scott Stewart and Fred Burton, ‘The Lone Wolf Disconnect’, 30 January 2008, STRATFOR, Worldview http://www.stratfor.com/weekly/lone_wolf_disconnect.
[8] Pat St. Claire, Greg Botelho and Ralph Ellis, San Bernardino shooter Tashfeen Malik: Who was she? CNN Updated 0931 GMT (1731 HKT) December 8, 2015 http://edition.cnn.com/2015/12/06/us/san-bernardino-shooter-tashfeen-malik/index.html
[9] Chris Strohm, ‘Lone-Wolf Terrorism,’ Updated June 5, 2017 https://www.bloomberg.com/quicktake/lone-wolf-terrorism
[10] เป็นองค์กรวางแผนครอบครัว และบริการทำแท้ง ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพแก่สตรีที่มีรายได้จำกัด มีสาขาอยู่ 700 แห่ง ทั่วสหรัฐฯ ที่ผ่านมาคลินิกแห่งนี้ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มต่อต้านการทำแท้งอย่างต่อเนื่อง
[11] การเจรจาสันติภาพอิสราเอล - ปาเลสไตน์รอบสุดท้ายจัดขึ้นที่นคร Oslo นอร์เวย์ เมื่อ 20 สิงหาคม 2536 มีผลทำให้เกิดแผนหรือความตกลงที่ถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า Oslo Accords ซึ่งเป็นกรอบการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างอิสราเอล - ปาเลสไตน์ โดยมีการจัดตั้ง Palestinian Authority หรือ Palestinian National Authority (PNA) เมื่อ 5 กรกฎาคม 2537 เพื่อเป็นองค์การบริหารดินแดนยึดครอง (Occupied Territories) ในเขต Gaza และเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (West Bank) ก่อนที่การเจรจา Final Status จะประสบความสำเร็จ
[12] Alex Shone, ‘Countering lone wolf terrorism: sustaining the CONTEST vision’, Henry Jackson Society, 17th May 2010, Cf. http://www.henryjacksonsociety.org/stories.asp?id=1582.
[13] หรือที่รู้จักในนาม “Unabomber” (Universities and Airlines Bomb) ซึ่งถูกศาลสหรัฐฯตัดสินให้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต   เมื่อ 22 มกราคม 2541 เนื่องจากการก่อเหตุระเบิด 16 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2521 – 2538 มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 23 คน Kaczynski ประกอบระเบิดที่ไม่สามารถแกะรอยตามได้ (untraceable bombs) และเลือกสุ่มเป้าหมาย (random target) โดยทิ้งร่องรอยหลอกๆ (false clues) ด้วยวิธีการทั้งแบบง่ายๆ (homemade bomb) และที่มีความซับซ้อน (sophisticated bomb) สร้างความหวาดกลัวอย่างมากแก่ชาวอเมริกัน
[14] ออกเสียงตามภาษานอร์เวย์ว่า อันเดิช เบห์ริง บไรวีก  ชาวนอร์เวย์ เกิด 13 กุมภาพันธ์ 2522 ผู้ก่อเหตุระเบิดอาคารสำนักงานนายกรัฐมนตรี กรุงออสโล นอร์เวย์ เมื่อ 22 กรกฎาคม 2554 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน และอีก 2 – 3 ชั่วโงต่อมาได้ก่อเหตุกราดยิงสังหารหมู่ที่ค่ายสันนิบาตเยาวชนกรรมกรของพรรคแรงงาน บนเกาะอูเตอยา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 69 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น https://th.wikipedia.org/wiki/อนเดอส์_เบห์ริง_เบรวิก
[15] Daniel L. BymanTuesday, How to hunt a lone wolf: Countering terrorists who act on their own,February 14, 2017 https://www.brookings.edu/opinions/how-to-hunt-a-lone-wolf-countering-terrorists-who-act-on-their-own/
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.