นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯต่อซีเรียเปลี่ยนไป: สิ้นสุดทางเพื่อน ?

ที่มาภาพ: https://www.washingtonpost.com/world/middle_east/syrian-troops-enter-towns-in-northeast-as-erdogan-warns-of-wider-offensive/2019/10/14/3fe2c420-ee06-11e9-bb7e-d2026ee0c199_story.html

ารประกาศถอนทหารสหรัฐฯออกจากซีเรียของสหรัฐฯ (ผ่านแถลงการณ์สื่อทำเนียบขาว) เมื่อ 6 ตุลาคม 2019 เพื่อให้ตุรกีปฏิบัติการทางทหารรุกล้ำภาคเหนือซีเรีย นอกจากส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนโยบายตะวันออกกลางครั้งสำคัญ[1] ยังเป็นการทรยศกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (Syrian Democratic Forces - SDF) พันธมิตรที่เชื่อถือได้มากที่สุดของสหรัฐฯในการต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State - IS) รวมทั้งส่งสัญญาณการหมดความสำคัญของหุ้นส่วนอื่น ๆและแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯเป็นเพียงการซื้อขายแลกเปลี่ยนทางธุรกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์ปัญหาความมั่นคงโลก (The Soufan Center)[2] ประเมินว่าการถอนทหารดังกล่าวเป็นการปูทางให้คู่ปรปักษ์ของสหรัฐฯฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์ที่มีความเปราะบางในพื้นที่ชายแดนทางใต้ของตุรกีและตอนเหนือของซีเรีย
          การตัดสินใจถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์กับประธานาธิบดีเรเซป เตยิบ แอร์โดกาน ของตุรกี[3] ท่ามกลางการคัดค้านของที่ปรึกษาระดับสูงของกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รวมทั้ง ลินด์ซีย์ แกรม วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันและพันธมิตรของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเห็นว่าเป็นการตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น (impulsive) ไม่รอบคอบ (short-sighted) และไม่รับผิดชอบ (irresponsible) วุฒิสมาชิกแกรมกล่าวด้วยว่าหากประธานาธิบดีแอร์โดกานรุกรานซีเรียและโจมตีชาวเคิร์ด รัฐสภาสหรัฐฯจะเสนอบทลงโทษสองทาง คือ ใช้มาตรการคว่ำบาตรและระงับสมาชิกภาพของตุรกีในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO)
          หากตุรกีขยายปฏิบัติการทางทหารอาจทำให้เกิดการปะทะกับกองกำลัง SDF พันธมิตรที่มั่นคงที่สุดของสหรัฐฯในการต่อต้านกลุ่ม IS และหาก SDF ถอนตัวออกจากชายแดนตุรกี จะเป็นการทำลาย “กลไกด้านความมั่นคง” ที่สหรัฐฯจัดตั้งไว้ โดยเป็นที่คาดหมายว่า ตุรกีมีแผนการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียไปตั้งถิ่นฐานในเขตปลอดภัยในเมือง Rojava (ดูภาพประกอบ) ส่งผลทำให้ตุรกีขยายเขตแดนลึกเข้าไปในซีเรียเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร ปัจจุบันตุรกีรับผู้อพยพลี้ภัยสงครามกลางเมืองชาวซีเรียจำนวน 2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับมุสลิมสุหนี่ ตรงข้ามกับพื้นที่ของชาวเคิร์ด
          แม้ปฏิบัติการเชิงรุกของตุรกีจำกัดอยู่ในบริเวณพื้นที่ Tal Abyad และ Ras al-Ain แต่อาจทำให้เกิดผลที่ตามมาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คือ การรุกของตุรกีทางตอนเหนือของซีเรียจะผลักดันกลุ่มชาวเคิร์ดไปใกล้ชิดรัฐบาลเผด็จการซีเรียนำโดยประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดและอิหร่านซึ่งเป็นผู้สนับสนุนซีเรีย ซึ่งสหรัฐฯจะสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจจากชาวเคิร์ดและพันธมิตรอื่น ๆ หากกองกำลัง SDF ที่นำโดยชาวเคิร์ดในซีเรียยกเลิกการควบคุมดูแลค่ายกักขังสมาชิกนักรบ IS และผู้สนับสนุน[4] จะทำให้พื้นที่ al-Hol เปราะบางและเสื่อมโทรมจนทำให้ค่ายกักกันแตกกระจาย
          ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ระบุด้วยว่า ตุรกีจะเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมนักรบ IS ที่ถูกจับกุมในพื้นที่ที่สหรัฐฯยึดได้ในช่วง 2 ปีที่รัฐอิสลามพ่ายแพ้แก่สหรัฐฯ จึงเป็นการยากที่จะจินตนาการว่ากระบวนการส่งมอบพื้นที่ควบคุมจากชาวเคิร์ดให้แก่กองทัพตุรกีจะดำเนินไปอย่างราบรื่น เนื่องจากตุรกีเห็นว่ากองกำลังของชาวเคิร์ดตลอดแนวพรมแดนทางภาคใต้เป็นภัยคุกคาม ในช่วงต้นทศวรร 1980 ตุรกีขัดแย้งกับพรรคแรงงานชาวเคอร์ดิสถาน(Kurdistan Workers’ Party - P.K.K.) ซึ่งก่อความรุนแรงและต้องการแบ่งแยกดินแดน อย่างไรก็ดีตุรกีและสหรัฐฯเห็นพ้องกันว่า P.K.K. เป็นองค์การก่อการร้าย[5]
          นับตั้งแต่ปี 2004 ตลอดแนวชายแดนด้านซีเรียมีการเคลื่อนไหวของหน่วยพิทักษ์ประชาชนชาวเคิร์ด (Kurdish People’s Protection Units) หรือ Y.P.G. ซึ่งสังกัดอยู่ในกองกำลัง SDF และพยายามก่อตั้งเขตปกครองตนเองของชาวเคิร์ด นักรบสตรีของ Y.P.G. มีบทบาทอย่างมากในการต่อสู้กับ IS และได้รับการชื่นชมจากชาติตะวันตก รวมทั้งมีชาวอเมริกันและยุโรปจำนวนหนึ่งเข้าร่วมกับกลุ่มนี้ สมาชิกกลุ่ม Y.P.G. มีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม P.K.K. ซึ่งตุรกีถือว่าเป็นองค์การก่อการร้าย แต่ผู้นำ Y.P.G. ไม่ให้ความสำคัญ
          ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ทางภาคเหนือของซีเรีย การถอนทหารสหรัฐฯจะเป็นการปูทางให้ปรปักษ์ของสหรัฐฯจำนวนหนึ่ง เช่น รัสเซีย อิหร่าน และ IS ฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์ที่มีความเปราะบาง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและรัสเซียเริ่มมีความใกล้ชิด ซีเรียร่วมมือกับรัสเซียด้านความมั่นคงด้วยจัดซื้ออาวุธ ขณะเดียวกันถ้อยแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตำหนิพันธมิตรอันยาวนานของตน เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนีและสหภาพยุโรปที่ล้มเหลวในการส่งกลับประชาชนของตนที่ถูกคุมขังในค่ายกักกันในซีเรีย ความย้อนแย้งที่สุดของเรื่องนี้คือ หากนักรบ IS หลบหนีออกจากค่ายคุมขังและช่วยฟื้นฟูเครือข่ายงานก่อการร้ายใหม่ ภัยคุกคามจากการโจมตีของ IS จะมีต่อยุโรปมากกว่าสหรัฐฯ[6]



[1] Trump Throws Middle East Policy Into Turmoil Over Syria New York Times By Peter Baker and Lara Jakes Published Oct. 7, 2019 Updated Oct. 14, 2019 https://www.nytimes.com/2019/10/07/us/politics/turkey-syria-trump.html
[2] THE SOUFAN CENTER: WE ARE A NON-PARTISAN STRATEGY CENTER DEDICATED TO INCREASING AWARENESS OF GLOBAL SECURITY ISSUES IN THE UNITED STATES AND AROUND THE WORLD.
[3] Turkey Claims To Have Won A Key Syrian Border Town From Kurdish Forces NPR October 12, 2019 https://www.npr.org/2019/10/12/769713153/turkey-claims-to-have-won-a-key-syrian-border-town-from-kurdish-forces
[4] กองกำลังผสม SDF ทำหน้าที่ควบคุมดูแลที่คุมขังขนาดเล็กกว่า 20 แห่ง ซึ่งคุมขังผู้ต้องสงสัยเปนสมาชิก IS จำนวน 10,000 คน ส่วนกองกำลังของชาวเคิร์ดรับผิดชอบควบคุมดูแลค่ายกักกันสตรีและเด็กจำนวน 70,000 คน ซึ่งเชื่อว่าเป็นสมาชิกและครอบครัวของ IS NPR https://www.npr.org/2019/10/12/769713153/turkey-claims-to-have-won-a-key-syrian-border-town-from-kurdish-forces
[5] Why Is Turkey Fighting the Kurds in Syria? New York Times By Megan Specia Oct. 9, 2019 https://www.nytimes.com/2019/10/09/world/middleeast/kurds-turkey-syria.html?module=inline
[6] THE UNITED STATES BETRAYS ITS TRUE ALLIES IN SYRIA Tuesday, The Soufan Center October 8, 2019 https://mailchi.mp/thesoufancenter/the-united-states-betrays-its-true-allies-in-syria?e=c4a0dc064a
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.