การต่อสู้ทางความคิด: โฆษณาชวนเชื่อหรือผลิตซ้ำทางความคิด

ที่มาภาพ: https://www.scribd.com/document/58032819/Perjuangan-Kemerdekaan-Patani-Darussalam-Tinjauan-Landasan-Nasionalis-Dalam-Hukum-Internasional

ลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งสร้างความเกลียดชังและทำลายความชอบธรรมในการปกครองของรัฐ โดยใช้ประเด็นหลากหลายทั้งด้านประวัติศาสตร์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับคำสอนทางศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการจิตวิทยา โฆษณาชวนเชื่อ ปลุกระดมและแสวงหาความสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธพวกตน โดยอ้างว่าเพื่อปลดปล่อยชาวมลายูมุสลิมจากการยึดครอง กดขี่ข่มเหงของรัฐไทย และเรียกร้องให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาให้ความช่วยเหลือ หรือมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
                ช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและแนวร่วม ส่วนใหญ่ดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ Facebook YouTube และ application Line ในชั้นนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ application Telegram[1] เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารบ้างหรือไม่ สำหรับการโฆษณาชวนเชื่อในพื้นที่ ผู้ก่อความไม่สงบนิยมแขวนป้ายผ้า ใบปลิว พ่นสีสเปรย์ ส่งจดหมายข่าวภาษามลายู (Suarat Rakyat Patani) แจกจ่ายเฉพาะกลุ่ม การปลุกระดมตามบ้านเรือนประชาชน โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และร้านน้ำชาในหมู่บ้าน
          การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิกำหนดใจตนเองของกลุ่มแนวร่วมภาคประชาสังคม และกลุ่มเยาวชนที่มีแนวคิดปาตานีมลายูนิยม นอกจากเป็นการยืนยันอัตลักษณ์ของชาวมลายูและปฏิเสธความเป็นไทย ยังช่วยสนับสนุนให้การโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้มแข็งมากขึ้น การกล่าวอ้างว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สงครามระหว่างนักต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีกับรัฐบาลไทย ถือเป็นการตีความคำสอนศาสนาตามแบบพวก Islamists (ผู้นิยมความรุนแรงที่ใช้อิสลามสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง) ซึ่งแบ่งโลกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) ขอบเขตแห่งอิสลาม (Darul Islam) หมายถึง พื้นที่ที่มุสลิมต้องเผยแผ่ศาสนาออกไปทั่วโลก 2) ขอบเขตแห่งการสมานฉันท์ (Darul Solh) คือ พื้นที่ที่มุสลิมต้องออกไปพบปะเชิญชวนผู้คนให้เข้ารับอิสลาม และ 3) ขอบเขตแห่งการทำสงคราม (Darul Harb) คือ พื้นที่ที่เผยแผ่ศาสนาไปแล้ว แต่ถูกปฏิเสธจนเกิดการตอบโต้ด้วยการสู้รบ ซึ่งอนุญาตให้ใช้กำลังตอบโต้กลับไปได้[2]



[1] แอพพลิเคชั่นประเภทส่งข้อความ ภาพ วิดีโอ ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ขึ้นชื่อในด้านการป้องกันความเป็นส่วนตัว (privacy) อันดับต้น ๆ มีผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้ทั่วโลกถึง 100 ล้านคน กลุ่มผู้ก่อการร้ายในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและมาเลเซีย นิยมใช้สื่อสาร วางแผนทางลับ และเผยแพร่แนวคิดหัวรุนแรงที่นำไปสู่การก่อการร้าย
[2] การจัดบรรยายเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้ายของ Office of National Assessment (ONA) ของออสเตรเลีย ที่โรงแรม Westin Grande สุขุมวิท กรุงเทพฯ เมื่อ 3 สิงหาคม 2549 หัวข้อเรื่อง 1) Islam and Islamist Militancy โดย Dr. Malik Ansour เจ้าหน้าที่วิเคราะห์วิจัยอาวุโสด้านอิสลามและมุสลิมหัวรุนแรงของ ONA และ 2) Combating Terrorism : An Academic View โดย Dr. David Wright-Neville ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์วิจัยของ ONA ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย Monash รัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย)

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.