16 ปีไฟใต้: เรารู้อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง? กระดุม 5 เม็ด VS นโยบาย 5 ข้อ (ตอบคำถามการวิจัย)

ที่มาภาพความสูญเสีย ที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังไฟใต้ 15 ปี (ไทยรัฐ)
https://www.thairath.co.th/spotlight/theinvisibleloss

ช่วงปลายปี 2562 สื่อมวลชนหลายสำนักได้รายงานสรุปสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน (มกราคม 2547) โดยอ้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งรวบรวมสถิติความสูญเสียตั้งแต่ปี 2547 – ปลายปี 2562 ที่มองเห็นได้ (ผู้เสียชีวิต 4,014 คน บาดเจ็บ 10,651 คน)[1] และมองไม่เห็น (เด็กกำพร้า 6,639 คน)[2] รวมทั้งงบประมาณที่ใช้ดับไฟใต้ปีละกว่า 20,000 ล้านบาท[3] จนถึงขณะนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 16 “ไฟใต้” ยังไม่ดับและอาจติดกับดักถลำสู่ความรุนแรง[4] สำหรับบทความในวันนี้ ผู้เขียนจะตอบคำถามการวิจัยที่เปิดประเด็นไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาโดยรวบรวมจากแหล่งข่าวเปิด (open source) ตามลำดับ
          1. ใครคือผู้ก่อเหตุรุนแรง (ผู้ก่อความไม่สงบ)
          ตอบ ตลอดระยะเวลา 15 ปีของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้ลงมือก่อเหตุไม่เคยประกาศตัวอ้างความรับผิดชอบ[5] หนังสือ “มหากาพย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ได้สัมภาษณ์ผู้ต้องขังในคดีแบ่งแยกดินแดนจำนวน 10 คน ซึ่งมีลักษณะร่วมเป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ภูมิลำเนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การศึกษาสายสามัญชั้นประถมปีที่ 6 – มัธยมปีที่ 6 สายศาสนาชั้น 2 – 10 อาชีพ ทำนา/กรีดยาง โดยมีการตั้งข้อสังเกตุว่า[6] ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงมักถูกจับกุมหลังจากเหตุการณ์จบไปแล้ว กล่าวคือ ไม่ใช่ขณะที่ปฏิบัติการ แต่เป็นไปตามหมายจับคดีความมั่นคงและอื่น ๆ ผู้ต้องขัง ราย อยู่ระหว่างรอการตัดสินคดีให้ถึงที่สุดและการอุทธรณ์คดี
          2. ทำไม "พวกเขา" กลายเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง (ผู้ก่อความไม่สงบ)
           ตอบ งานวิจัยของ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ แบ่งผู้ต้องขังที่ถูกสัมภาษณ์ออกเป็น 2 กลุ่มตามตัวแปรเรื่องความเชื่อประเด็นเชื้อชาติและศานา กลุ่มแรกมีจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ถูกสัมภาษณ์ มีความเชื่อเรื่องเชื้อชาติและศาสนาค่อนข้างเป็นกลาง ไม่มีลักษณะรุนแรงสุดขั้ว กลุ่มที่สองมีความเชื่อเรื่องเชื้อชาติและศาสนาลึกกว่า มีความรู้สึกเกลียดชังรัฐไทยและคนไทย เนื่องจากกระบวนการผลิตซ้ำทางความคิดให้เชื่อว่ารัฐปาตานีล่มสลายเพราะรัฐไทยเข้ายึดครอง สอดคล้องกับรายงานของ International Crisis Group ซึ่งระบุว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” ถูกชักชวนโดย “ขบวนการก่อความไม่สงบ”[7] ขณะที่มีรายงานว่าโรงเรียนปอเนาะที่มีชื่อเสียงบางแห่งเป็นแหล่งบ่มเพาะความเชื่อและเปลี่ยนแปลงพื้นฐานบุคคล (radicalization) และการฝึกอาวุธ
ที่ผ่านมาหน่วยงานความมั่นคงเชื่อว่า เป้าหมายสูงสุดของขบวนการก่อความไม่สงบ คือ การแบ่งแยกดินแดน แต่การวิเคราะห์ว่า ผู้ที่ออกมาร่วมก่อเหตุกระทำด้วยความคับแค้นต่อเหตุเฉพาะหน้า ซึ่งตนเองหรือครอบครัวต้องประสบจึงไม่เคยต้องชูกลุ่มองค์กร แสดงว่าเป้าหมายของพวกเขาอาจไม่ได้ไปไกลถึงขั้นต้องการแยก 3 จังหวัดใต้ดังที่หวาดระแวงกันก็เป็นได้[8]
          3. ทำไมถึงมี "พวกเขา" (ผู้ก่ความไม่สงบ)
          ตอบ การศึกษาอิสลามในภาคใต้ในอดีตมีศูนย์กลางอยู่ที่ปอเนาะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชุมชน ปอเนาะเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นโรงเรียนกินนอนที่สร้างขึ้นแบบกระท่อมไม้ไผ่ ชาวมุสลิมทุกวัยจะเรียนรวมกัน เป็นกลุ่มเรียกว่า Haraqah โดยนั่งล้อมวงรอบ ๆ โต๊ะครูเพื่อรับฟังคำสอน การเรียนการสอนใช้ภาษามลายูเป็นหลัก  ส่วนมากโต๊ะครูไม่มีวุฒิการศึกษาตามระบบสมัยใหม่และปอเนาะไม่มีระบบการวัดผลการเรียนหรือสอบ ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน ครูส่วนใหญ่ในโรงเรียนปอเนาะจึงเลี้ยงชีพด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การกรีดยาง
          ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม   เป็นสถานที่สำคัญในการหาสมาชิกใหม่เข้าสู่ขบวนการ ทางการประเมินว่าขณะนี้ขบวนการมีสมาชิกที่ปฏิบัติการทางทหารอยู่ประมาณ 1,8000 – 3,000 คน นโยบายในการให้เงินทุนสนับสนุนแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ดูเหมือนว่าจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ โดยเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างนักเรียนชาวมุสลิมและชาวพุทธในระบบโรงเรียน ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตของกระบวนการสร้างความคิดแบบสุดโต่งมากยิ่งขึ้น
          4. เราจะป้องกันไม่ให้คนปกติธรรมดากลายเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงได้อย่างไร
          ตอบ ในเบื้องต้นควรฟื้นฟูยกระดับการอบรมที่ถูกต้องในครอบครัว ส่งเสริมการศึกษาศีลธรรมในโรงเรียน สังคม สร้างโอกาสทางการงานแก่คนกลุ่มเป้าหมายด้วยรายได้ที่เหมาะสม เมื่อต้นสิงหาคม 2019 สำนักข่าว BBC ภาคภาษาไทยได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไฟใต้ที่เรียกว่ากระดุม เม็ด คือ กระดุมเม็ดที่ 1 แยกปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ออกจากเรื่องยาเสพติด กระดุมเม็ดที่ 2 พลเรือนนำทหาร กระดุมเม็ดที่ 3 ยกเลิกกฎอัยการศึก กระดุมเม็ดที่ 5 รูปแบบการปกครองที่เหมาะสม[9] ขณะที่ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เสนอ 5 ข้อนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ 1) ทำให้พื้นที่ปลอดเหตุประชาชนปลอดภัย 2) แก้ไขปัญหายาเสพติด 3) พูดคุยสันติสุขกับทุกกลุ่ม ตั้งสภาสันติสุขทั้ง 290 ตำบลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4) รวมใจไทยหนึ่งเดียว พหุวัฒนธรรมภายใต้ธงไตรรงค์และ 5) กลมเกลียวสร้างสรรค์สันติสุข ร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิต[10]
          5. เราจะลดจำนวนผู้ก่อเหตุรุนแรงได้อย่างไร
       ตอบ หนึ่งในสาเหตุรากของปัญหาขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากการมองประวัติศาสตร์กันคนละชุดของคนในพื้นที่และภาครัฐ[11] ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือบ่มเพาะเปลี่ยนแปลงพื้นฐานบุคคลของขบวนการก่อความไม่สงบ สำหรับแนวทางการลดจำนวนผู้ก่อเหตุรุนแรง นอกจามาตรการสกัดกั้นการ “ชักชวน” กลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางและเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ภาครัฐควรหลีกเลี่ยงและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยเร่งเร้าความขัดแย้ง ขณะเดียวกันต้องรักษาขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งประชาชนต่างศาสนิก การใช้งบประมาณและเครื่องมือหรือเทคโนโลยี ควรดำเนินการอย่างสอดคล้องกับภัยคุกคาม สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมและสังคมในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนต้องขอยอมรับว่าเรื่องนี้พูดง่ายกว่าทำ



[1] รายงานหน้า 2 : ไฟใต้ 15 ปี สูญเสีย พันชีวิต ชู 5 นโยบายสร้างสันติสุข มติชนออนไลน์ 31 ธันวาคม 2562 https://www.matichon.co.th/politics/news_1854032
[2] The Invisible Loss 15 ปีไฟใต้ ความสูญเสียที่มองไม่เห็น ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/spotlight/theinvisibleloss
[3] 15 ปีไฟใต้หาใช่แค่สูญเสียงบฯ กว่า แสนล้าน แต่ยังมี “ค่าตอบแทน” จาก “สงครามประชาชน” อีกมากมาย?! โดย: ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 25 พ.ย. 2562 11:44  https://mgronline.com/south/detail/9620000112867
[4] 16 ปีไฟใต้โหมไม่หยุด ติดกับดักถลำสู่ความรุนแรง ข่าวสด มกราคม 2563 - 00:15 น. https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_3279575
[5] 15 ปีรุนแรงไฟใต้ ไม่เคยประกาศตัวตน ข่าวสด คอลัมน์ ชกไม่มีมุม โดย วงค์ ตาวัน 7 สิงหาคม 2562 - 00:20 น.https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/blunt-opinion/news_2775219
[6] มหากาพย์ จังหวัดชายแดนใต้ When the Land of Smile Becomes A Killing Field, พีระพงษ์ มานะกิจพล.ท.,ดร., คลื่นอักษรกรุงเทพฯ 2555 หน้า 101 – 130.
[7] การชักชวนผู้เข้าร่วมขบวนการมีรูปแบบคล้ายกับองค์กรญิฮาดอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยการคัดเลือก (selection) การแบ่งแยก (separation) การสาบานตน (oath-taking) และการฝึกทางทหาร (military training) สิ่งที่แตกต่างกันก็คือขบวนการในภาคใต้ใช้การสร้างแนวคิดชาตินิยมมลายูและการกดขี่ข่มเหงชาวมลายูมุสลิมของรัฐไทย ในการสร้างแรงจูงใจ ไม่ใช่การสร้างรัฐอิสลามสากลหรือการทำสงครามกับ “พันธมิตรชาวยิวและคริสเตียนสากล” (international Zionist – Christian alliance) ดูรายละเอียดใน International Crisis Group, เส้นทางสู่ขบวนการต่อสู้ในในชายแดนภาคใต้รายงานเอเชีย ฉบับที่ 170 (22 มิถุนายน 2552).
[8] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5.
[9] จังหวัดชายแดนภาคใต้ : กระดุม เม็ดในการแก้ไขปัญหาไฟใต้ BBC Thai โดย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง 10 สิงหาคม 2019 https://www.bbc.com/thai/thailand-49290602
[10] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1
[11] 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้นตอของปัญหา ประวัติศาสตร์ที่ไม่ตรงกัน และทางออกที่มากกว่าแค่การเจรจา The MOMENTUM INTERNAL AFFAIRS NOV 9, 2016 https://themomentum.co/momentum-feature-missing-history/

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.