ความมั่นคงโลก (กายภาพ) ในปี 2020: แนวโน้มภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitical) ตอนจบ

ที่มาภาพ: https://worldview.stratfor.com/article/2020-annual-forecast-global-overview-global-risk-geopolitical-hotspots/global-trends

ทความตอนที่แล้วได้พูดถึงแนวโน้มภูมิศาสตร์การเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโลกสองประการคือ ข้อมูลบิดเบือนและการต่อต้านยิว/ลัทธิคนขาวผู้สูงส่ง ในตอนนี้จะนำเสนอส่วนที่เหลืออีกสามประการ

การเปลี่ยนขั้วอำนาจโลกหลายขั้ว (Shift Toward Multi-polarity)
          หลังสิ้นสุดสงครามเย็น สหรัฐฯครองความเป็นมหาอำนาจโดดเด่นมาตลอดสามทศวรรษ เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2020 อำนาจของสหรัฐฯเสื่อมคลายลงอย่างมาก ภายในทศวรรษหน้าจีนจะบดบังสหรัฐฯอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะรับช่วงต่อการเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ในทางการเมืองระหว่างประเทศอำนาจการต่อรองของสหรัฐฯกับพันธมิตรก็ลดลงเช่นกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตั้งคำถามต่อสาธารณะเกี่ยวกับคุณค่าขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO) การตัดสินใจละทิ้งชาวเคิร์ดซึ่งเคยเป็นเครื่องมือต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State) เป็นการส่งสัญญาณถึงผู้มีศักยภาพเป็นพันธมิตรในอนาคตว่า สหรัฐฯไม่น่าเชื่อถือ (unreliable) อีกต่อไป
          พลังอำนาจของสหรัฐฯที่ลดลง เปิดโอกาสให้มหาอำนาจที่กำลังผงาดขึ้นมาและคู่แข่งที่ทัดเทียมเข้ามาเติมช่องว่าง เช่น รัสเซีย จีน อิหร่านและตุรกีก็กระตือรือร้นที่จะสวมบทบาทดังกล่าว ความสามารถของสหรัฐฯในการใช้พลังทางทหารสร้างอิทธิพลต่อความขัดแย้งในภูมิภาคก็ลดลงด้วย แม้แต่การสังหารพลตรี Qassem Soleimani ยังเกือบทำให้สหรัฐฯและอิหร่านกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงในภูมิภาค และสร้างโอกาสให้อิหร่านดำเนินยุทธศาสตร์หลายขั้นตอน (multi-phase) เพื่อที่จะลดอิทธิพลของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง จีนกับรัสเซียรู้สึกยินดีมากที่เห็นกองกำลังของสหรัฐฯใช้เวลาอันมีค่าและทรัพยากรที่มีจำกัดในอิรักเพื่อจัดการกับอิหร่าน
แม้สหรัฐฯยังคงเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี แต่จีนก็พยายามไล่กวดมาติด ๆ โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) และเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ ขณะที่สหรัฐฯดำเนินนโยบายจำกัดผู้อพยพและอัตราการเติบโตของประชากรลดลง จีนได้ทุ่มเทค่าใช้จ่ายด้านการวิจัย AI อย่างมีนัยสำคัญ ปี 2020 ถูกกำหนดให้เป็นปีแห่งการลดความโดดเด่นทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ หากอิทธิพลของสหรัฐฯต่อโลกลดง ประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคจะขยับเข้าหาประโยชน์จากมหาอำนาจอื่นที่โดดเด่นในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและเทคโนโลยี
ขบวนการชุมนุมประท้วงทั่วโลก (Worldwide Protest Movements)
          เป็นไปได้ว่าในปี 2020 ชุดความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จะขับเคลื่อนเหตุการณ์ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เฉพาะปีที่ผ่านมาโลกได้เห็นขบวนการประท้วงในอัลจีเรีย โบลิเวีย ชิลี โคลัมเบีย อียิปต์ ฝรั่งเศส ฮ่องกง อินเดีย อิรัก เลบานอน รัสเซีย ซูดานและที่อื่น ๆ การชุมนุมประท้วงหลายแห่งมีลักษณะคับแคบเฉพาะพื้นที่ บางแห่งมีขอบเขตระดับภูมิภาคและที่เหลือเป็นไปตามธรรมชาติทั่วโลก จึงมีความยุ่งยากในการแยกแยะการชุมนุมดังกล่าว เนื่องจากความท้าทายที่แตกต่างกันในระบบการปกครองของแต่ละประเทศ
โลกาภิวัตน์ซึ่งดำเนินไปอย่างคงที่ไม่ถดถอย ทำให้ประเทศที่ปกครองด้วยอำนาจนิยมพยายามสร้างความแข็งแกร่งภายในเขตแดนของตน แม้สื่อสังคมออนไลน์อยู่เหนือขอบเขตทางกายภาพและมีอิทธิพลต่อพลเมืองและประชาชนในแบบต่าง ๆ การประท้วงจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลาง ถูกแทรกแซงจากภายนอก โดยรัฐที่แทรกแซงดำเนินการผ่านตัวแทน (proxy) เพื่อให้มีผลกระทบต่อผลลัพธ์ของการชุมนุมประท้วง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการประท้วงเหล่านี้มีสาเหตุตั้งแต่เรื่องการคอร์รัปชัน รัฐบาลไร้ความสามารถ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรและความยากจน ปัญหาประชาชนชายขอบและความเหลื่อมล้ำ การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบการเมืองและเรียกร้องการรับผิดชอบภายใต้หลักนิติธรรม การชุมนุมประท้วงหลายแห่ง ผู้ชุมนุมต้องเผชิญหน้ากับรัฐอำนาจนิยมที่ใช้การผสมผสานกองกำลังที่โหดร้ายและการเฝ้าตรวจตราทางอิเล็กทรอนิคเพื่อรักษาอำนาจ
ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy security)
          การสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียกับนายกรัฐมนตรีแองเกลา เมอร์เคิลของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงจะสนับสนุนโครงการท่อส่งกาซ Nord Stream 2 มูลค่า 10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งกาซธรรมชาติของรัสเซียไปยังยุโรปผ่านทางท่อในทะเล Baltic ทั้งนี้ สหรัฐฯได้ออกกฏหมายคว่ำบาตรโครงการนี้เมื่อ 20 ธันวาคม 2019 โดยกำหนดให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องประกาศรายชื่อบริษัทที่เข้าร่วมโครงการท่อก๊าซ Nord Stream 2 ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎหมายบังคับใช้[1]
          สหรัฐฯมีความกังวลมานานแล้วว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ยุโรปและเยอรมนีจะมีความเปราะบาง เพราะต้องพึ่งพาพลังงานจากรัซเซีย พื้นที่อื่นซึ่งภูมิศาสตร์การเมืองและความมั่นคงทางพลังงานบรรจบกันอย่างรวดเร็วคือ ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ตุรกีและลิเบีย (โดยรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ) ได้ลงนามในข้อตกลงจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทางใต้ของตุรกีด้านชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนและทางตะวันออกเฉียงเหนือของลิเบีย เชื่อว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นความพยายามปิดกั้นกลุ่มประเทศกรีซ ไซปรัส อิสราเอลและอิยิปต์ที่พยายามปรับปรุงเส้นทางส่งกาซจากฝั่งตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียน
          ความท้าทายเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้คือ การเปิดตัวของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน ซึ่งน่าจะยืดเยื้อเป็นเวลาหลายเดือน ความท้าทายเหล่านี้มีลักษณะทับซ้อนและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์และปัจจัยทางสังคม – วัฒนธรรม ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการประสานความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย เช่น รัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ภาครัฐและเอกชน บริษัทและองค์กรภาคประชาสังคม



[1] เปิดฟ้าส่องโลก : ความอิจฉาตาร้อนของสหรัฐฯ โดย นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย ไทยรัฐออนไลน์ 23 ธ.ค. 2562 https://www.thairath.co.th/news/foreign/1731680
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.