วิกฤติตะวันออกกลาง: อิหร่านชักธงรบ กลัวที่ไหน ?

According to the local people, this is the first time in the history of the holy city of Qom, when a red flag has been imposed on the mosque. Red flag means revenge action or declaration of war. ที่มาภาพ: IRAN DECLARES WAR AGAINST AMERICA WAVING RED FLAG ON MOSQUE https://oxibuzz.com/world/iran-declares-war-against-america-waving-red-flag-on-mosque/

การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯเพื่อสังหารผู้บัญชาการกองกำลัง Quds (Quds Force - QF)[1] ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps – IRGC)[2] ของอิหร่านและผู้ก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธ Kata’ib Hezbollah (KAH) นิยมอิหร่านในอิรัก ทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านทวีความตึงเครียดและขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต ปฏบัติการ (เทียบเท่าการทำสงคราม) ดังกล่าวเป็นการตอบโต้การบุกเผาทำลายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในอิรักซึ่งนำโดยกลุ่ม KAH และนักรบกลุ่มอื่น ๆ ที่อิหร่านสนับสนุน คาดว่า อิหร่านคงจะโจมตีแก้แค้นสหรัฐฯ โดยอาศัยเครือข่ายพันธมิตร (ally) และตัวแทน (proxy) ทั้งภายในและนอกภูมิภาค ซึ่งเป็นลางร้ายของจุดเริ่มต้นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อโดยไม่เห็นทางออกที่ชัดเจน
          ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯเมื่อ 2 มกราคม 2020 เพื่อสังหาร พลตรี Qassem Soleimani ผู้บัญชาการทหารระดับสูงของ IRGC-QF ซึ่งรับผิดชอบการสร้างเครือข่ายพันธมิตรและตัวแทนในการขยายอิทธิพลของอิหร่านตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาและ Abu Mahdi Al Muhandis ผู้ก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธ KAH ซึ่งโจมตีฐานทัพสหรัฐฯเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และสหรัฐฯตอบโต้ด้วยการโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธทางตะวันตกของอิรักและในซีเรียเมื่อ 29 ธันวาคม 2019 สหรัฐเชื่อว่า KAH ถูกกระตุ้นโดยพลตรี Qassem Soleimani และอิหร่าน ซึ่งนำไปสู่การบุกเผาอาคารหลายแห่งนอกสถานทูตสหรัฐฯในกรุงแบกแดด ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯยืนยันว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้สั่งการการโจมตีในเชิงป้องกันอย่างเด็ดขาด (decisive defensive action) เพื่อปกป้องบุคคลากรของสหรัฐฯในต่างประเทศ
          ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านในกรุงแบกแดด สะท้อนให้เห็นการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญของความขัดแย้งที่คุกรุ่นมาหลายเดือนทั้งโดยตรงและทางอ้อม พิจารณาจากรูปแบบในอดีตอิหร่านคงจะตอบโต้การสังหารพลตรี Qassem Soleimani ในอนาคตอันใกล้ แม้บางครั้งอิหร่านมักจะรอให้เวลาผ่านไปยาวนานก่อนโจมตี หนทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ในขณะนี้ อิหร่านอาจระดมกองกำลังชีอะห์ในอิรักที่อิหร่านให้การสนับสนุนเช่น KAH ซึ่งถูกเรียกโดยรวมว่า Popular Mobilization Forces (PMF)[3] กองกำลัง PMF ประสบความสำเร็จในการปราบกลุ่มรัฐอิสลามและพยายามผลักดันให้ทหารสหรัฐฯออกจากอิรัก
          การสังหารพลตรี Qassem Soleimani ของสหรัฐฯท้าทายอำนาจอธิปไตยและสร้างความลำบากใจแก่ผู้นำอิรักอย่างมาก เนื่องจากอิรักกำลังประสบวิกฤติทางการเมืองที่บาดลึกที่สุดนับจากการรุกรานของสหรัฐฯเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีซัดัม ฮุสเซนในปี 2003 นายกรัฐมนตรี Adel Abdul-Mahdi มุสลิมชีอะห์ซึ่งถูกเนรเทศไปอยู่อิหร่านหลายปี ลงจากตำแหน่งและมีบทบาทเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ขณะที่ รัฐสภาอิรักเรียกร้องให้ถอนทหารสหรัฐฯ 5,000 นาย และอีกหลายร้อยนายจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงมีภารกิจรณรงค์ต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลาม นายกรัฐมนตรี Mahdi ส่งข้อความทวิตเตอร์ภาษาอาหรับว่า การสังหาร พลตรี Qassem Soleimani เป็นการกระทำที่ก้าวร้าวต่อรัฐบาลและประชาชนชาวอิรักรวมทั้งละเมิดเงื่อนไขการคงกองกำลังสหรัฐฯในอิรัก[4]
          มีความเป็นไปได้อย่างมากที่อิหร่านอาจโจมตีเพื่อแก้แค้นสหรัฐฯนอกอิรัก[5] โดยอาศัยเครือข่ายพันธมิตรและตัวแทนที่แข็งแกร่งหรืออาจใช้ฐานยิงขีปนาวุธในอิหร่าน เมื่อกันยายน 2019 อิหร่านโจมตีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย ทำให้ครึ่งหนึ่งของการผลิตทั้งหมดหยุดชะงักลง 1 เดือน ก่อนหน้านั้นอิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย คาดว่าปฏิบัติการดังกล่าวอาจถูกนำมาใช้อีกครั้ง นอกจากนี้ อิหร่านยังได้สนับสนุนขีปนาวุธและจรวดร่อนแก่ขบวนการ Houthi ในเยเมน ซึ่งเคยใช้ยิงเรือขนส่งสินค้าที่แล่นผ่านช่องแคบ Bab el-Mandeb รวมทั้งต่อต้านเป้าหมายพลเรือนและทหารซาอุดีอาระเบีย อิหร่านอาจคุกคามอิสราเอลโดยใช้พันธมิตรกลุ่ม Hezbollah ในเลบานอน รวมทั้งกลุ่ม Hamas และ Palestine Islamic Jihad มีแนวโน้มว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านอาจขยายตัวทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดกำลังทหารสหรัฐฯหรือมีฐานทัพสหรัฐฯตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง



[1] กองกำลังติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลัง อาจเป็นชาวอิหร่านหรือต่างชาติเช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ สหรัฐฯเชื่อว่า Quds Force มีบทบาทเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในอิรักและซีเรียอย่างชัดเจน สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายชีอะห์ (Shia terrorist groups) เช่น Kata’ib Hizballah ในอิรัก สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายชีอะห์ในอัฟกานิสถานและปากีสถานให้เข้าร่วมต่อสู้ปกป้องรัฐบาลอัสซาด รวมทั้งมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนมุสลิมซุนนี
[2] เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอิหร่านที่แยกออกมาเฉพาะ จัดตั้งหลังการปฏิวัติอิสลามอิหร่านปี 1979 เพื่อพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม ตามแนวทางนิกายชีอะห์ โดยทำให้การล้มระบอบเก่าสู่ระบอบปัจจุบันเป็นไปด้วยดี ท่ามกลางสถานการณ์ระยะเปลี่ยนผ่านที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายจากการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มต่าง ๆ ปัจจุบันมีกำลังพล 125,000-150,000 นาย เมื่อเมษายน 2019 รัฐบาลทรัมป์ประกาศว่า IRGC เป็นองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ (foreign terrorist organization - FTO) เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผู้ก่อการร้ายต่าง ๆ โดยตรง รวมถึงกองกำลังที่อิหร่านหนุนหลังในซีเรียและอิรัก
[3] ชื่อรวมของกองกำลังจากหลายประเทศหลายกลุ่มที่เข้าร่วมต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State – IS) ในอิรัก Kataeb Hezbollah คือ กลุ่มที่ถูกระบุชื่อในเหตุการณ์โจมตีเผาทำลายสถานทูตสหรัฐฯกลางกรุงแบกแดดเมื่อ 31 ธันวาคม 2019 กลุ่มย่อยอื่นๆ เช่น Imam Ali Brigades กับ Sayed al-Shuhada และ Badr Organization กองกำลัง PMF ไม่ได้ขึ้นตรงต่อรัฐบาลอิรัก แต่อยู่ใต้อิทธิพลอิหร่าน
[4] The Killing of Qassem Suleimani Is Tantamount to an Act of War By Robin Wright THE NEW YORKER January 3, 2020 https://www.newyorker.com/news/our-columnists/the-us-assassinated-suleimani-the-chief-exporter-of-irans-revolution-but-at-what-price?source=EDT_NYR_EDIT_NEWSLETTER_0_imagenewsletter_Daily_ZZ&utm_campaign=aud-dev&utm_source=nl&utm_brand=tny&utm_mailing=TNY_Daily_010320&utm_medium=email&bxid=5dc60bd07ace5a3148464d92&cndid=59124753&esrc=&mbid=&utm_term=TNY_Daily
[5] ผู้สนใจดูรายยละเอียดในเอกสาร Iran’s-Playbook Deconstructing Tehran’s Regional Strategy by The Soufan Center https://thesoufancenter.org/wp-content/uploads/2019/06/Iran’s-Playbook-Deconstructing-Tehran’s-Regional-Strategy-by-The-Soufan-Center.pdf
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.