การก่อการร้ายแบบผสานสองโลก (O2O): การควบคุมเนื้อหา (content) ในโลกเสมือน ตอนที่ 3

The internet is an unregulated space - should ot be more controlled? ที่มา: https://www.telegraph.co.uk/opinion/2018/09/18/internet-giants-must-recognise-duties-act-responsibly-face/

ห้วงทศวรรษที่ผ่านมามีการแพร่ขยายการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda)[1] ของผู้ก่อการร้ายบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อดึงดูดชักชวนผู้มีศักยภาพเป็นสมาชิก ขณะเดียวกันสร้างความหวาดกลัวแก่ฝ่ายตรงข้าม หลังเหตุการณ์กราดยิงที่ “ไครสต์เชิร์ช” นิวซีแลนด์ สะท้อนให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยกำลังต่อสู้กับผลกระทบและความชอบธรรมทางกฎหมายรวมทั้งจริยธรรมและสังคมในการกำจัดหรือห้ามเนื้อหาที่มีความรุนแรง ออสเตรเลียเป็นตัวอย่างของประเทศประชาธิปไตย ซึ่งมีความคืบหน้าในการผลักดันการต่อต้านความรุนแรงออนไลน์ ขณะที่ธุรกิจตัวกลางหรือตลาดกลางด้านอิเล็กทรอนิกส์ (online platform) ที่สำคัญยังคงนำเสนอเนื้อหารุนแรงและบังคับใช้กฎระเบียบอย่างไม่สอดคล้องและบางครั้งดูเหมือนเป็นการทำตามอำเภอใจมากกว่ามีเป้าหมายเจาะจง
          รัฐบาลของหลายประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายแนวคิดรุนแรงสุดโต่ง รูปภาพต่าง ๆรวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีประกอบระเบิดและการคัดเลือกเป้าหมาย ช่วงเวลาก่อนยุคดิจิตอล หนังสือ รูปภาพและสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นถูกห้ามด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตได้เร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของคน (radicalization process) การโจมตีมัสยิดไครสต์เชิร์ช เมื่อ 15 มีนาคม 2019 โดยมือปืนเพียงคนเดียวทำให้มีผู้ถูกสังหาร 51 คน เป็นตัวอย่างล่าสุดของการก่อการร้ายซึ่งเป็นจุดสนใจด้วยการถ่ายทอดสด (live-streamed) บนอินเตอร์เน็ตไปสู่ผู้ชมทั่วโลก
          หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ดังกล่าวแสดงให้เห็นการต่อสู้ของระบอบประชาธิปไตย จริยธรรมและความชอบธรรมทางสังคมในการกำจัดและห้ามเผยแพร่เนื้อหารุนแรงบนสื่อสังคม[2] ขณะที่การลบเนื้อหา (ข้อมูล) มีความท้าทายทางเทคนิค เนื่องจากชุดคำสั่งโปรแกรม (algorithm)[3] การเรียนรู้ของเครื่องคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องสอดประสานกับความพยายามในการลบออก[4] สำหรับออสเตรเลียมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้อย่างมาก โดยควบคุมและใช้อำนาจรัฐผ่านคณะกรรมาธิการความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ (eSafety Commissionด้วยการควบคุมเนื้อหารุนแรงสุดโต่งบนเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (server) และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Internet Service Provider - ISPในประเทศ
นับตั้งแต่เหตุการณ์ไครสต์เชิร์ชคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ใช้ความพยายามในการทำงานเพื่อป้องกันการเผยแพร่ภาพมัสยิดถูกโจมตีทางออนไลน์ และบังคับให้บริษัทเจ้าของเครื่องแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ลบเนื้อหาดังกล่าวเมื่อปรากฏ นอกจากนี้คณะกรรมาธิการฯยังรับผิดชอบภารกิจด้านการต่อต้านการแกล้งกันในโลกออนไลน์ (cyber-bullying) และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ (sexual exploitation) ด้วย ปัญหาเผชิญหน้าออสเตรเลียจากความพยายามควบคุมเนื้อหา คือ การใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยบริบทและความเหมาะสม ซึ่งไม่สามารถปรับขนาดหรือทำให้เป็นไปโดยอัตโนมัติได้ (ในขณะนี้)
ปัจจุบันมีการอัปโหลดวิดีโอความยาวประมาณ 300 ชั่วโมงไปยัง YouTube ทุกนาทีและทุกวันมีการชมวิดีโอ YouTube ประมาณ 5,000 ล้านรายการ YouTube ให้บริการใน 76 ภาษาและเป็นที่รวมของเนื้อหาที่มีความรุนแรง การทำงานของคณะกรรมาธิการฯอาศัยการตอบรับจากชุมชนผู้ใช้ (users) ช่วยพิจารณาว่าเนื้อหาใดถือเป็นการคุกคามหรือมีความรุนแรง แต่ไม่ค่อยจะสมบูรณ์มากนัก เนื่องจากสิ่งที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามโดยบุคคลหนึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกับผู้ใช้ออนไลน์รายอื่น ปัญหาในออสเตรเลียเป็นเรื่องเกี่ยวกับขีดความสามารถและสมรรถนะ การทำงานกล่าวคือ ขาดแคลนกำลังคนและต้องกลั่นกรองเนื้อหาจำนวนมาก
ออสเตรเลียและรัฐบาลหลายประเทศพยายามสร้างดุลยภาพระหว่างการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก และการควบคุมเนื้อหาแสดงความเกลียดชังบนเว็บไซต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ส่งเสริมหรือยกย่องความรุนแรงอย่างเปิดเผย บริษัทด้านเทคโนโลยีต่างก็ดิ้นรนเพื่อนำทางในเรื่องนี้ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ไครสต์เชิร์ช Facebook ประกาศความพยายามปรับปรุงการตรวจจับและการรายงานที่โปร่งใสมากขึ้น รวมทั้งกำหนดคำนิยามใหม่สำหรับสิ่งที่บริษัทพิจารณาว่าเป็นการก่อการร้าย อย่างไรก็ดีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สำคัญยังคงนำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรงและมีความไม่แน่นอนในการบังคับใช้กฎระเบียบและบางครั้งดูเหมือนว่าทำแบบขอไปที
นักวิจัยและผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนถูกระงับการใช้เว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ที่มีชื่อเสียง หลังจากได้ร่วมประสานงานรณรงค์กับพวกเกรียน (troll army)[5] ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองแบบอำนาจนิยม ขณะเดียวกันมีการเผยแพร่เนื้อหาออนไลน์ของผู้ถือลัทธิคนขาวผู้สูงส่งยิ่งซึ่งเกลียดชังผู้หญิง อุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อความคืบหน้าในการควบคุมเนื้อหาคือ ประเด็นข้อความแวดล้อมที่ช่วยให้เข้าใจความหมาย (context) ซึ่งแก้ไขได้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) แม้ไม่เคยมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขปัญหาความท้าทายทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ รัฐบาล ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจะต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการปฏิรูปและเรียกร้องให้ความเกลียดชังและความรุนแรงไม่มีที่หลบซ่อน แม้ในซอกมุมของโลกเสมือนอันกว้างขวาง



[1] ไม่เหมือนกับข้อมูลบิดเบือน (disinformation) แม้ว่าข้อมูลบิดเบือนอาจถูกใช้เพื่อส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อได้ แต่โฆษณาชวนเชื่อมักมีการดัดแปลงที่เห็นได้ชัดกว่าข้อมูลบิดเบือน เพราะการโฆษณาชวนเชื่อส่วนใหญ่เน้นการส่งเนื้อความที่มีผลต่อความรู้สึกและอารมณ์มากกว่าการให้ข้อมูล Neale, S. (1977). Propaganda. Screen 18-3, pp 9-40 อ้างใน การเสนอข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือน : คู่มือเพื่อการศึกษาและฝึกอบรมด้านวารสารศาสตร์ UNESCO เอกสาร PDF Available at https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000372137
[2] INTELBRIEF: SOCIAL MEDIA AND THE FIGHT AGAINST DISINFORMATION The Soufan Center  October 23, 2019 Available at https://thesoufancenter.org/intelbrief-social-media-and-the-fight-against-disinformation/
[3] กระบวนการแก้ปัญหาที่สามารถอธิบายออกมาเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน เมื่อนำเข้าอะไรแล้วจะต้องได้ผลลัพธ์เช่นไร  กระบวนการนี้ประกอบด้วย วิธีการเป็นขั้นๆและมีส่วนที่ต้องทำแบบวนซ้ำอีกจนกระทั่งเสร็จสิ้นการทำงาน Algorithm ไม่ใช่คำตอบแต่เป็นชุดคำสั่งที่ทำให้ได้คำตอบ วิธีการในการอธิบาย Algorithm ได้แก่ 1) Natural Language อธิบายแบบใช้ภาษาที่เราสื่อสารกันทั่วไป2) Pseudocode อธิบายด้วยรหัสจำลองหรือรหัสเทียม 3) Flowchart อธิบายด้วยแผนผัง การนำขั้นตอนวิธีไปใช้แก้ปัญหา ไม่จำกัดเฉพาะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่สามารถใช้กับปัญหาอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน ดู https://www.mindphp.com/คู่มือ/73-คืออะไร/2028-algorithm-คืออะไร.html
[4] INTELBRIEF: REGULATING CONTENT IN AN AGE OF DIGITAL TERRORISM The Soufan Center Thursday, September 19, 2019 Available at https://mailchi.mp/thesoufancenter/regulating-content-in-an-age-of-digital-terrorism?e=c4a0dc064a
[5] หมายถึงนิสัยหรือพฤติกรรมของบุคคลที่ไม่เคารพผู้อื่นหรือทำตัวไม่ดี เช่น พูดจาไม่ดี(ปากเสีย) 2. ผมสั้นติดหนังหัว เช่น ผมเกรียน หรือหัวเกรียน (คำไม่สุภาพ) ดู https://dict.longdo.com/search/เกรียน
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.