19 ปี หลังวินาศกรรม 9/11: อัล-ไคดายังคงเป็นภัยคุกคาม


ที่มาภาพ: https://www.history.com/topics/21st-century/9-11-timeline?li_source=LI&li_medium=m2m-rcw-history

19 ปี หลังการก่อวินาศกรรม 9/11 อัล-ไคดาได้วิวัฒนาการไปจากเดิมอย่างมาก แม้การวางแผนโจมตีในประเทศตะวันตกลดลง แต่ยังคงสามารถทำสงคราม (กลางเมือง) ยืดเยื้อและก่อความไม่สงบในรัฐที่อ่อนแอ กลุ่มก่อการร้ายที่ดำเนินงานแบบเดียวกัน (Franchise groups) และพันธมิตรในเยเมน ซีเรีย โซมาเลียและที่อื่น ๆ อาจมีความแตกต่าง แต่อัล-ไคดายังคงยืดหยุ่นและมุ่งมั่นในการญิฮาดระดับโลก ด้วยการรุกคืบเข้าหาประชาชนระดับรากหญ้าในท้องถิ่น โดยปล่อยให้รัฐอิสลาม (IS) ทนทุกข์กับความพยายามต่อต้านการก่อการร้ายของตะวันตก อย่างไรก็ตาม  การดำเนินนโยบายแข่งขันเพื่อครองความเป็นเจ้าโลก (hegemony) ของสหรัฐฯ จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังโดยไม่ละเลยการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายในรัฐที่อ่อนแอและพื้นที่ที่ไร้การปกครอง[1]

          เกือบสองทศวรรษหลังการโจมตีสหรัฐฯเมื่อ 11 กันยายน 2001 อัล-ไคดาได้วิวัฒนาการจากกลุ่มก่อการร้ายที่นำโดยโอซามา บินลาดิน มานำโดยอัยมาน อัลซาวาฮิรี ผู้นำอันดับสอง ขณะที่ สหรัฐฯโดย Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเมื่อมีนาคม 2020 ว่า “อัล-ไคดาเป็นเพียงเงาของตัวตนในอดีต” แม้ผู้นำหลายคนถูกสังหารหรือถูกจับกุม แต่ยังคงเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และยืดหยุ่นรวมทั้งเป็นกรณีศึกษาการก่อการร้าย อัล-ไคดาโอ้อวดว่ามีสมาชิก 30,000 - 40,000 คนทั่วโลกและมีส่วนร่วมในความขัดแย้งตั้งแต่เขต Levant[2] ไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          กลุ่มก่อการร้ายที่ดำเนินการแบบเดียวกันเช่น อัล-ไคดาในคาบสมุทรอาหรับ (AQAP) ในเยเมน Hurras al-Din ในซีเรียและกลุ่มพันธมิตรในแอฟริกาตะวันตก โซมาเลีย ฟิลิปปินส์และอนุทวีปอินเดีย อาจมีขีดความสามารถแตกต่างกันไป แต่โดยรวมอัล-ไคดาแสดงให้เห็นความยืดหยุ่นและมุ่งมั่นที่จะสานต่อการญิฮาดทั่วโลก

ปัจจุบันสหรัฐฯพยายามลดภาระทางทหารในอัฟกานิสถาน และผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยนำกลุ่มตอลิบานเข้าสู่การเจรจาแบ่งปันอำนาจกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ความสัมพันธ์ระหว่างอัล-ไคดาและตอลิบานยังคงคาดเดาได้ยาก ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่คาดว่า หากการเป็นหุ้นส่วนของทั้งสองกลุ่มดำเนินต่อไป การลดกำลังทหารของสหรัฐฯอาจเปิดโอกาสให้อัล-ไคดาในอัฟกานิสถานฟื้นคืนชีพ และร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มญิฮาดอื่น ๆ ในภูมิภาครวมถึงเครือข่าย Haqqani และ Lashkar-e-Taiba

หลายปีที่ผ่านมาอัล-ไคดารุกคืบในหมู่ชนเผ่าและประชากรระดับรากหญ้าในท้องถิ่น เพื่อหลบเลี่ยงความสนใจ โดยปล่อยให้กลุ่มรัฐอิสลามทนทุกข์จากความพยายามต่อต้านการก่อการร้ายของตะวันตก นอกจากนี้ อัล-ไคดากำลังตระเตรียมผู้นำรุ่นใหม่เพื่อทดแทนสมาชิกรุ่นเก่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ก่อตัวขึ้นจากประสบการณ์การต่อสู้ในอิรัก ซีเรีย ลิเบียและ Sahel[3] โดยปลูกฝังเครือข่ายการญิฮาดที่หล่อหลอมจากผลพวงของ Arab Spring[4]

หากอัล-ไคดาสามารถปรับโฉมและดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเข้าร่วมก็จะสามารถจัดวางเครือข่ายพันธมิตรเพื่อใช้ประโยชน์จากนักรบต่างชาติในพื้นที่ขัดแย้งในโลกมุสลิม ยิ่งไปกว่านั้นอัล-ไคดาและพันธมิตรยังเป็นองค์กรที่มีความอดทนอย่างมากเห็นได้จากหลักฐานการโจมตี (ก่อการร้าย) ที่ฐานทัพสหรัฐฯในเพนซาโคลา มลรัฐฟลอริดาเมื่อธันวาคม 2019 ส่วนหนึ่งเป็นการวางแผนยาวนานหลายปีของ AQAP และลงมือปฏิบัติการโดยสมาชิกในกองทัพอากาศของซาอุดีอาระเบีย

          การดำเนินนโยบายที่เรียกว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลก (Global War on Terrorism) อย่างต่อเนื่องพร้อมกับการแข่งขันเพื่อครองความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯกับฝ่ายตรงข้ามที่ใกล้เคียงกันเช่น จีน รัสเซีย อิหร่านและเกาหลีเหนือ ควรดำเนินการด้วยความระมัดระวังและไม่ละเลยผลประโยชน์จากการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย รวมทั้งผู้ก่อความไม่สงบในรัฐที่อ่อนแอและพื้นที่ที่ไร้ปกครอง

การถอนกำลังทหารของสหรัฐฯในอิรัก ซีเรียและอัฟกานิสถานจะสร้างความขัดแย้งอย่างไม่รู้จบในพื้นที่ที่มีความยุ่งยากเหล่านี้และเปิดโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ เช่น อัล-ไคดาชักชวนสมาชิกรุ่นใหม่และสร้างความไร้เสถียรภาพในพื้นที่ ทั้งนี้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่สหรัฐฯและพันธมิตรควรจะหลีกเลี่ยงกับดักของการต่อต้านการก่อการร้ายหรือการแข่งขันทางอำนาจ

เพื่อให้แน่ใจว่าสหรัฐฯมีความสามารถและจะต้องปฏิบัติภารกิจนโยบายทั้งสองด้านอย่างเหมาะสม ซึ่งยากที่จะสร้างสมดุล โดยเฉพาะเมื่อมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่ถูกกำหนดโดยการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาและผลกระทบจากลำดับความสำคัญด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ


[1] 19 YEARS AFTER 9/11, AL-QAEDA HAS EVOLVED, AND REMAINS A THREAT The Soufan Center IntelBrief Friday, September 11, 2020 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/19-years-after-911-al-qaeda-has-evolved-and-remains-a-threat?e=c4a0dc064a

[2] เดิมมีความหมายอย่างหลวม ๆ คือ “ดินแดนเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออกของอิตาลี” มาจากภาษาฝรั่งเศสกลางที่แปลว่า “ตะวันออก” ในประวัติศาสตร์ การค้าขายระหว่างยุโรปตะวันตกกับจักรวรรดิออตโตมันเป็นเศรษฐกิจอันสำคัญของบริเวณนี้ คำว่าลิแวนต์โดยทั่วไปมีความหมายทางวัฒนธรรมมากกว่าที่จะเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ใดที่หนึ่งที่เฉพาะเจาะจง และความหมายของคำก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตลอดมาในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทัศนคติในการอ้างอิง https://th.wikipedia.org/wiki/ลิแวนต์

[3] เป็นเขตรอยต่อ บริเวณกึ่งทะเลทราย บริเวณทะเลทรายสะฮารา แบ่งทวีปแอฟริกาเป็นเหนือและใต้ ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงทะเลแดง ซาเฮลเป็นภาษาอาหรับหมายถึง ชายหาด พื้นที่ของซาเฮลครอบคลุมตั้งแต่ (ไล่จากตะวันตกสู่ตะวันออก) เซเนกัลทางใต้ของมอริเตเนียมาลีบูร์กินาฟาโซทางตอนใต้ของแอลจีเรียไนเจอร์ทางตอนเหนือของไนจีเรียชาดทางตอนเหนือของแคเมอรูนซูดานและเอริเทรีย สืบค้นที่ https://th.wikipedia.org/wiki/ซาเฮล

[4] เป็นคลื่นปฏิวัติการเดินขบวน ประท้วงและสงครามซึ่งเกิดขึ้นในโลกอาหรับตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2553 ตราบจนปัจจุบัน ผู้ปกครองถูกโค่นจากอำนาจในตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบียและเยเมน การก่อการกำเริบพลเมืองอุบัติขึ้นในบาห์เรนและซีเรีย การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในอัลจีเรีย อิรัก จอร์แดน คูเวต โมร็อกโกและซูดาน และการประท้วงขนาดเล็กเกิดขึ้นในเลบานอน มอริเตเนีย โอมาน ซาอุดิอาระเบีย จิบูตีและเวสเทิร์นสะฮารา สืบค้นที่ https://th.wikipedia.org/wiki/อาหรับสปริง

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.