เปลี่ยนโครงสร้าง “ภูเขาน้ำแข็ง”ด้วยกลยุทธ์ตีตัวตุ่น (whack-a-mole) จะนำไปสู่อะไร

 


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/BBCnewsThai/videos/340324443932101/

Thailand should appreciated the fact that we gone through The Yellow and The Red protest and The Green……My particular generation is Nokia generation. So, I just ask my particular generation also, if you guy still using your Nokia phone right now. Who would you be talking to? Why can we live in generation that we can use Android or iPhone and live peacefully together. Sukit[1]

ม้เราไม่รู้ว่าหน่วยงานความมั่นคงได้นำเสนอรายงาน “ประมาณการ” ข่าวกรองเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมที่นำโดยเครือข่ายกลุ่ม #กลุ่มคณะราษฎร 2563, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและกลุ่มประชาชนปลดแอก[2] ว่าอย่างไร “นักวิเคราะห์” ข่าวกรองได้ใช้ต้นแบบ “เด็กน้อยจากโคเปนเฮเกน” หรือไม่ แต่ภาพการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเมื่อ 16 ตุลาคม 2020[3] เป็นคำตอบให้เห็นการตัดสินใจ “เลือกทาง” ของพรรคร่วมรัฐบาล[4] และบ่งชี้ว่า “การเล่นเอาเถิดระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายประชาชนผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของไทยนั้นก็มีลักษณะเป็นการเอาวิธีคิดแบบ “หมากรุก” ไป “ต่อกร” กับหมากล้อม”[5]

          สำหรับกลยุทธ์การ “เดินหมาก” เกมของทั้งฝ่าย “รัฐ” และ “ราษฎร” ผู้ชุมนุม สังเกตุเห็นได้จากการตัดสินใจใช้มาตรการสลายการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลเมื่อเช้าตรู่ 15 ตุลาคม 2020 หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งที่ก่อนหน้านั้น แกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุมบริเวณดังกล่าวเมื่อเวลา 02.00 น. และนัดหมายจะไปชุมนุมต่อเนื่องที่ถนนราชประสงค์ในเวลา 16.00 น.

ขณะที่รัฐพยายามตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้การชุมนุมยืดเยื้อและไล่จับกุมบุคคลที่เข้าใจว่าเป็น “แกนนำ” ฝ่ายราษฎรกลับใช้ความปราดเปรียว (agility) ในการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวและทรงประสิทธิภาพ เช่น เมื่อ 15 ตุลาคม 2020 เวลา 21.41 น. เฟซบุ๊กของเยาวชนปลดแอกโพสต์ว่า “ประกาศยุติเวทีในวันนี้ แต่เราจะกลับมาพรุ่งนี้เวลา 17.00 น.” ปรากฎว่าพริบตาเดียว พอถึง 4 ทุ่ม ผู้คนทยอยกลับบ้านกันอย่างเป็นระเบียบ จากนั้นไม่นานถนนราชประสงค์ก็สามารถเดินรถได้ตามปกติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังมีผู้ชุมนุมหลายหมื่น หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเมื่อ 16 ตุลาคม 2020  เจ้าหน้าที่ได้วางแผนป้องกัน วางรั้วลวดหนามที่สี่แยกราชประสงค์ซึ่งเป็นจุดนัดพบแรก กลุ่มผู้ชุมนุมก็พลิกเกมประกาศนัดพบที่สี่แยกปทุมวันแทน[6]

การปรากฏตัวเพื่อ “เปลี่ยนเกม” ของชาวพื้นเมืองดิจิตอลอาจมีที่มาจาก “เกมตีตัวตุ่น (whack-a-mole)” ซึ่งเป็นสำนวนภาษาอังกฤษหมายถึง การพยายามยุติสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามโอกาสโดยการสุ่ม (random) ในจุดที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การยุติบัญชีอีเมลของผู้ส่งสแปม (spam) หรือปิดหน้าต่างโฆษณาป๊อปอัป (popup) ทันทีที่ปิดอันหนึ่ง อีกอันหนึ่งจะปรากฏขึ้น เหมือนการตีตัวตุ่น[7] การสลายการชุมนุมด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงที่แยกปทุมวันเมื่อ 16 ตุลาคม 2020 ไม่เพียงก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากภายในและต่างประเทศ ยังทำให้เกิดการกระจายจุดชุมนุมในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้การชุมนุมในสภาวะที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงไม่น่าจะยุติลงได้อย่างง่าย ๆ

ดูเหมือนว่าทัศนวิสัยของกัปตันและผู้โดยสารชั้นสามของรัฐนาวา “ไท(ย)ทานิค” ในการมองเห็น “ภูเขาน้ำแข็ง” ที่ปรากฎอยู่ข้างหน้าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของการชุมนุมเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 ประกอบด้วย 1) นายกรัฐมนตรีต้องลาออก 2) เปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและ 3) ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีนัยสำคัญถึงการปรับโครงสร้าง “ภูเขาน้ำแข็ง” ทั้งลูก เพื่อ “ให้มันจบที่รุ่นเรา”[8] แต่ “กัปตัน” และ “ผู้โดยสารชั้นพิเศษ” มองเห็นแค่ “ส่วนยอด” และมั่นใจในสมรรถนะของ “เรือเหล็ก” ที่เพิ่งอัพเกรดจาก “เรือแป๊ะ” รวมทั้งเทคโนโลยีการออกแบบห้องผนึกน้ำ (water-tight compartment) เพื่อป้องกันไม่ให้เรือจม[9]

นักวิเคราะห์อาวุโสของ ICG เห็นว่าสังคมไทยไม่มีกลไกในการจัดการความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty) กับการปกครองแบบลำดับชั้นภายใต้สถาบันกษัตริย์ ซึ่งเสื่อมคลายลงอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความตึงเครียดและก้าวไปสู่ฉันทามติ สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายสามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ ประการแรก ผู้ชุมนุมควรยึดมั่นว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง ประการที่สอง รัฐบาลควรงดเว้นการใช้กำลังสลายฝูงชนที่ชุมนุมอย่างสันติ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปกป้องสิทธิในการชุมนุมและเสรีภาพในการพูด ประการที่สาม รัฐบาลควรให้คำมั่นต่อสาธารณชนในการกำหนดเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็วและปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ[10]

ก่อนหน้านี้เมื่อ 18 สิงหาคม 2020 เขา (Matt Wheeler@mattzwheeler) ทวีตข้อความว่า “failure to quell dissent could allow the longstanding taboo against criticizing the monarchy to be shattered altogether. But repression would only further undermine the legitimacy of the existing order.” #whatishappeninginThailand[11] หมากเกมนี้ใครนำ ใครตามหรือเราจะจมลงไปด้วยกัน? คงต้องดูกันยาว ๆ


[1] Bridging the generation gap. A father and his daughter at the pro-democracy protest. Thisrupt Facebook Live September 25,2020 Available at: https://www.facebook.com/thisruptdotco/videos/364885934892474

[2] ดูรายละเอียดใน เครือข่ายคณะราษฎร 2563 ไล่ “ระบอบประยุทธ์”-เซตซีโร่การเมือง ประชาชาติธุรกิจ 15 ตุลาคม 2563 - 21:10 น. สืบค้นที่ https://www.prachachat.net/politics/news-538378

[3] #กลุ่มคณะราษฎร 2563, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและกลุ่มประชาชนปลดแอก ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ 16 ตุลาคม 2563 - 11:57 น. สืบค้นที่ https://www.prachachat.net/politics/news-538590

[4] 09.00 INDEX หนทาง เลือกแล้ว ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา มติชน ออนไลน์ 18 ตุลาคม 2563 - 07:38 น. สืบค้นที่ https://www.matichon.co.th/politics/news_2400635

[5] คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เล่น‘หมากรุก’บนกระดาน‘หมากล้อม’กล้า สมุทวณิช มติชน ออนไลน์ 14 ตุลาคม 2563 - 13:30 น. สืบค้นที่ https://www.matichon.co.th/politics/news_2393132

[6] บทวิเคราะห์การเมืองหลัง 15 ตุลาคม 63 “สิ่งที่เราเรียนรู้ จากชุมนุมกลางเมือง” OPINION วิศรุต สินพงศพร 16 ต.ค. 2563 สืบค้นที่ https://workpointtoday.com/opinion/

[7] Whack-a-mole definitions https://www.yourdictionary.com/whack-a-mole

[8] ดู นิธิ : ม็อบไม่ใช่แค่เปลี่ยน “ประยุทธ์” นักศึกษาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ 15 ตุลาคม 2563 - 08:50 น. สืบค้นที่ https://www.prachachat.net/politics/news-537621

[9] ดู ไท(ย)ทานิค : โชคชะตารัฐนาวา “ประยุทธ์ 2” ? By KIM เว็บไซต์ ianalysed SEPTEMBER 09, 2019 สืบค้นที่ https://www.ianalysed.com/2019/09/2.html

[10] Behind Bangkok’s Wave of Popular Dissent Matthew Wheeler Q&A / ASIA International Crisis Group 16 OCTOBER 2020 Available at: https://www.crisisgroup.org/asia/south-east-asia/thailand/behind-bangkoks-wave-popular-dissent

[11] Matt Wheeler @mattzwheeler  Twitter Aug 18 https://twitter.com/mattzwheeler

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.