รัฐบาล Biden คิดอย่างไรกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย (ตอนแรก)

ที่มาภาพ: https://www.scmp.com/comment/opinion/article/3111147/biden-cannot-afford-repeat-trumps-mistake-leaving-southeast-asia

“รัฐบาลสหรัฐฯมิได้ออกเงินอุดหนุนหรือสนับสนุนกลุ่มประท้วงใด ๆ ในไทย ในฐานะมิตรประเทศของไทย เราสนับสนุนให้ทุกฝ่ายเคารพกันและกันด้วยความอดกลั้นต่อไปและพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ในการจะนำพาประเทศไปข้างหน้า สหรัฐฯไม่สนับสนุนปัจเจกบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใด เราสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ” สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ/กรุงเทพฯ

ม้ยังไม่รู้ว่า “ข้อมูล” แบบไหนหรือ “อะไร” ที่ทำให้ “ฝ่ายขวา” ของไทยเชื่อว่า สหรัฐฯอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของ “คณะราษฎร” ซึ่ง “ทูตนอกแถว” (รัศม์ ชาลีจันทร์) เห็นว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อดูนิยายมากไป[1] แต่อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร) กลับชี้ว่า ทฤษฎีนี้มีความเป็นไปได้มากขึ้นทุกที[2] อย่างไรก็ดี เมื่อ 31 สิงหาคม 2020 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ/กรุงเทพฯปฏิเสธข้อกล่าวหาของ “กลุ่มไทยภักดี” ที่ว่าสหรัฐฯหนุนม็อบต้านรัฐบาล[3] แล้วรัฐบาลของว่าที่ประธานาธิบดี Joe Biden จะมีนโยบายต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยอย่างไร?

เรื่องนี้ EIU (The Economist Intelligence Unit)[4] ประเมินว่า รัฐบาล Biden จะกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลับมาเข้าร่วมเวทีหารือระดับสูงในภูมิภาค ท่ามกลางความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ในด้านเศรษฐกิจรัฐบาล Biden ไม่น่าจะพลิกฟื้นอิทธิของสหรัฐฯที่เสื่อมลงในภูมิภาคและคงไม่ผลักดันการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระดับภูมิภาค เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอจากการเมืองภายในสหรัฐฯ สำหรับปัญหาสิทธิมนุษยชนกลายเป็นจุดที่ไม่ขยับไปไหน (sticking point) ซึ่งเป็นอุปสรรคกดดันนโยบายต่างประเทศที่อิงคุณค่า (values-based policy) ของรัฐบาล Biden โดยอาจทำให้ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯในการคานอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทวีความซับซ้อน[5]

นโยบายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐบาล Biden คงจะไม่เปลี่ยนแปลงไปแบบมีนัยสำคัญ ฉากหลังการแข่งขันทางภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างสหรัฐฯกับจีนยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาลทรัมป์และโอบามา ซึ่งจะกระตุ้นความพยายามของสหรัฐฯในการกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและมีความเป็นสากลมากขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมในเวทีการหารือระดับภูมิภาครวมถึงสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

สหรัฐฯจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการเมืองและความมั่นคงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางกรณีก็อาจเข้มแข็งขึ้น รัฐบาล Biden จะยังคงดิ้นรนเพื่อแก้ไขการเสื่อมอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในภูมิภาค การลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อเร็ว ๆ นี้ นำโดยอาเซียนและได้รับการสนับสนุนจากจีน เพื่อสร้างกลุ่มการค้าที่เหนียวแน่นในเอเชียและห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่กันสหรัฐฯออกไป ส่งผลให้จีนมีน้ำหนักทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นงานยากสำหรับรัฐบาล Biden ที่จะโน้มน้าวให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอยู่ข้างสหรัฐฯ

ทะเลจีนใต้: ศูนย์กลางของความขัดแย้ง (ส่วนใหญ่)

ข้อแม้ของสมมติฐานนี้อยู่ในขอบเขตความความมั่นคง โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทางทหารครั้งใหญ่ในทะเลจีนใต้ที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ จีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปราะบางมาก ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าหรือมากกว่านั้น คงไม่เกิดการปะทุขึ้นของความขัดแย้งทางทหาร อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงในห้วงเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี Biden เนื่องจากการพัฒนาขีดความสามารถทางทหารของจีน ขณะที่สหรัฐฯยังคงชี้นำ ปฏิบัติการเสรีภาพการเดินเรือ (Freedom of navigation operation – Fonop) ในทะเลจีนใต้ เพราะความน่ารำคาญของจีนซึ่งดำเนินการสร้างเกาะประดิษฐ์อย่างต่อเนื่อง

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คาดว่าสหรัฐฯจะพัฒนาความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงอย่างแน่นแฟ้นกับประเทศที่มีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับจีนในทะเลจีนใต้ เฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามรวมถึงมหาอำนาจในภูมิภาคเช่น อินโดนีเซียที่ยังดำรงสถานะเป็นกลาง ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้มีแนวโน้มปรากฏในรูปแบบอื่น ๆ มาตรการคว่ำบาตรหน่วยงานของจีน เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ ซึ่งเริ่มต้นครั้งแรกในสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์จะยังคงเป็นเครื่องมือยับยั้งการเคลื่อนไหวของจีนในน่านน้ำที่มีข้อพิพาท

สำหรับรัฐบาล Biden สิ่งนี้มีประโยชน์ในการสร้างความยุ่งเหยิงให้กับการขยายอิทธิพลของจีนทั่วเอเชีย เนื่องจากหน่วยงานที่ถูกรวจสอบ (ข้อเท็จจริง) เป็นผู้รับเหมารายใหญ่ของโครงการความริเริ่มแถบแลทางของจีน (Belt and Road Initiative - BRI) (ยังมีต่อ)



[1] สหรัฐเบื้องหลังม็อบเพ้อเจ้อดูนิยายมากไป คุยกับ ทูตนอกแถว : ถ้ารัฐประหาร ดีจริงป่านนี้ไทยเป็นมหาอำนาจ มติชนสุดสัปดาห์MatichonWeekly Nov 21, 2020 สืบค้นที่ https://www.youtube.com/watch?v=ydz_zw7ESGA

[2] อดีตรองอธิการบดีฯมธ.ชี้ทฤษฎีอเมริกาอยู่เบื้องหลังเด็กไทยความเป็นไปได้มากขึ้นทุกที ไทยโพสต์ 20 ตุลาคม 2563 09:09 น.สืบค้นที่ https://www.thaipost.net/main/detail/81201

[3] สหรัฐ โต้กลุ่มไทยภักดี กล่าวหาหนุนม็อบต้านรัฐบาล แนะทุกฝ่ายคุยกันอย่างสร้างสรรค์ ข่าวสดออนไลน์ 31 ส.ค. 2563 -18:07 น. สืบค้นที่ https://www.khaosod.co.th/politics/news_4818063

[4] แผนกวิเคราะห์และวิจัยของ The Economist Group ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของหนังสือพิมพ์ The Economist ก่อตั้งในปี 1946 ประสบการณ์มากกว่า 70 ปีในการช่วยเหลือบริษัทธุรกิจ สถาบันการเงินและรัฐบาลในการสำรวจภูมิทัศน์โลก

[5] US policy towards South-east Asia under Biden EIU Thu, 03rd Dec 2020 Available at: https://www.eiu.com/n/us-policy-towards-south-east-asia-under-biden/

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.