การประมาณการและพยากรณ์ในงานข่าวกรอง: สร้างความใกล้ชิดระหว่างฝ่ายรวบรวมกับฝ่ายวิเคราะห์ (ตอนที่ 4)


ที่มาภาพ: How Intelligence Really Works Stage 1 – Intelligence Collection and Analysis http://www.backgroundscreeninginrussia.com/2019/01/21/counterintelligence_corporate_security/

ทความแรกของปี 2021 เว็บไซต์ IANALYSED ยังคงรับใช้ท่านผู้อ่านด้วยรายงานวิเคราะห์ข่าวสาร ยุทธศาสตร์และความมั่นคงตามความมุ่งหมายในการดำรงอยู่ (purpose) เพื่อสังคมต่อไป สามตอนแรกของบทความชุดนี้เราได้พูดถึงความแตกต่างของ “หมอดู” กับ “นักวิเคราะห์ข่าวกรอง” เรื่องราวของต้นแบบเด็กชายจากโคเปนเฮเกนและการแยกแยะ “สัญญาณ” กับ “สิ่งรบกวน” ในตอนนี้เราจะทำความเข้าใจโลกของการข่าวกรองให้มากขึ้น

ความพยายามปรับปรุงและการประมวลข่าวกรองเฉพาะเรื่อง

ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างระบบการรวบรวมและนักวิเคราะห์ข่าวกรอง (close ties between the collection system and analyst)[1]

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทั้งสองฝ่ายมีผลต่อระบบประมาณการข่าวกรองโดยรวม หากความผิดพลาดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในการวิเคราะห์ข่าวกรอง หนทางปฏิบัติที่สาม – ความจำเป็นในการจดจ่อกับความพยายามเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนที่สัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่เรารู้ (known) กับสิ่งที่เราไม่รู้ (unknown) ซึ่งจะต้องร่วมมือกัน ความพยายามในการประมวลข่าวกรองจะต้องปรับปรุงให้เหมาะสม

ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่า หากความพยายามในการประมวลข่าวกรองมีมากเท่าใด การวิเคราะห์ก็จะถูกต้องมากเท่านั้น ภาพนี้ ยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความพยายามในการประมวลข่าวกรองกับการปรับปรุงความสามารถในการวิเคราะห์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามความชันของเส้นโค้ง

ในช่วงแรกนักวิเคราะห์อาจบรรลุผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ความพยายามประมวลข่าวไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อไป หากต้องการให้การวิเคราะห์มีความถูกต้องมากขึ้น นักวิเคราะห์อาจจะต้องพยายามประมวลข่าวกรองด้วยความยากลำบากและเต็มไปด้วยอันตราย

การประมวลข่าวกรองทั่วไปกับการประมวลข่าวกรองเฉพาะเรื่อง[2]

ระบบข่าวกรองที่มีพื้นฐานดีและมีความเชี่ยวชาญ มักจะใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อปรับปรุงงานของตน ดังนั้นหากหน่วยข่าวกรองมีฐานข้อมูลข่าวกรองทั่วไปที่ดีและมุ่งเน้นที่แหล่งข่าวเป็นการเฉพาะ เพื่อประมวลข่าวกรองในปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็อาจบรรลุผลสำเร็จได้ ภาพที่ 2 แสดงถึงปัญหาความพยายามในการประมวลข่าวกรองและการวิเคราะห์ข่าวกรองที่ถูกต้อง ความพยายามในการประมวล (รวบรวม) ข่าวกรองแบ่งเป็น 1) การประมวลข้อมูลทั่วไปหมายถึงข้อมูลพื้นฐาน และ 2) การประมวลข้อมูลเฉพาะเรื่องหรือเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ


ข้อมูลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือการทหารที่เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์จัดอยู่ในกลุ่ม “ข้อมูลทั่วไป” สำหรับข้อมูลทั่วไปด้านการทหารรวมถึง

          - ทำเนียบกำลังรบ

          - การผลิต/ระบบอาวุธ การส่งกำลังบำรุง

          - การวางกำลังของหน่วย

          - แผนการฝึกอบรมและการซ้อมรบ

          - รายชื่อผู้บัญชาการทหารและหน้าที่และบุคลิกลักษณะ

          - หลักนิยมทางทหารของประเทศ

ข้อมูลทั่วไปด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมได้แก่

          - ความเข้าใจในกระบวนการตัดสินใจ

          - ความคุ้นเคยกับชื่อและประวัติบุคคลระดับสูงในวงการเมือง เศรษฐกิจและตำแหน่งทางสังคม

          - พรรคการเมือง ความสำคัญโดยเปรียบเทียบและวิธีการดำเนินงาน

          - ปัญหาพื้นฐานด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

          - ท่าทีความนิยมหรือต่อต้านรัฐบาลและนโยบาย

     - เครือข่ายความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน พันธมิตร ประเทศที่เป็นพันธมิตร และประเทศที่เป็นศัตรู

การรวบรวมข้อมูลเฉพาะเจาะจงรวมทั้งข่าวสารที่สามารถอธิบายคำถาม

          - มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศหรือไม่

      - เคยมีการตัดสินใจเคลื่อนย้ายกำลังทหารโดยมิได้มีแผนมาก่อนหรือไม่ และรายละเอียดของการตัดสินใจนั้นมีอย่างไร

          - ประเทศนั้น ๆ มีขีดความสามารถทางด้านเทคนิคของระบบอาวุธใหม่เพียงใด

          - มีการตัดสินใจใช้มาตรการเศรษฐกิจอันใหม่ เช่น การงดส่งออกน้ำมันของกลุ่มประเทศอาหรับ (1973 oil embargo)[3] ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศหรือไม่

          การมุ่งความสนใจที่การรวบรวมประมวลข้อมูลเฉพาะคือ หนทางที่ดีที่สุดในการตอบหัวข้อข่าวสารสำคัญหรือ ห.ข.ส. (Essential Elements of Information - E.E.I.)

          ตัวอย่างการประมาณการข่าวกรอง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่า[4] ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร พร้อมประเมินการชุมนุมเมื่อ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มวลชนกลุ่มราษฎรอ่อนแรงลงมาก เห็นได้จากจำนวนของผู้มาร่วมชุมนุมที่ลดลงเยอะ เมื่อเปรียบเทียบกับการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ก่อนที่ตำรวจจะฉีดน้ำสลายการชุมนุม

ส่วนการจัดม็อบดาวกระจายไปต่างจังหวัดที่ดูเหมือนจะเกิดทั่วประเทศ แต่จากที่ประเมินมีผู้มาร่วมเพียงหลักร้อยถึงหลักพัน ขณะที่ใน กทม.ยอดสูงสุดอยู่ที่ 15,000 คน เมื่อรวมจำนวนผู้ชุมนุมทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดทั้งประเทศยอดมวลชนสูงสุดไม่เกิน 20,000 คน ทาง สมช.จึงเสนอให้ปล่อยให้มีการชุมนุมแล้วใช้กฎหมายดำเนินการในภายหลัง ซึ่งการใช้วิธีนี้เชื่อว่า ผู้ชุมนุมจะอ่อนแรงลงไปเอง รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มในนามปกป้องสถาบัน ยังต้องจับตาอยู่เช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้มงวด ไม่ให้เกิดปะทะคารมจนอาจเกิดการปะทะหรือทำร้ายกันจนบาดเจ็บ

ต่อมาเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2563 อานนท์ นำภา แกนนำ “คณะราษฎร” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “รัฐพยายามบอกว่าราษฎรอ่อนแรงลง รัฐก็ลองทำอะไรโง่ ๆ จัง ๆ อีกสักครั้งนึงสิครับ จะได้รู้ว่าที่เคยเห็นมันยังไม่ใช่จุดสูงสุดของการชุมนุม ไม่เชื่อลองถามคนข้าง ๆ ดู ถามลูกหลานของท่านดู ว่าเขาไปม็อบมาหรือเปล่า จุดสูงสุดของการชุมนุมยังไม่เกิด เพราะเงื่อนไขและปัจจัยยังไม่สุกงอม ซึ่งเราไม่ได้รอการสุกงอม แต่เราจะขย่มไปเรื่อย ๆ เมื่อยก็พักและก็มาขย่มอีกครั้ง นี่แค่ เดือนของการเปิดประเด็นเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นี่แค่การสลัดความกลัวออกมาเดินตามหาอนาคตและนี่แค่การเริ่มต้น !!!”[5]

การชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” ที่เริ่มเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 และพัฒนายกระดับขึ้นเป็น “คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน มีแต่ข้อกล่าวหา มีแต่ข้อสงสัยในเรื่องท่อน้ำเลี้ยง ในเรื่องคนบงการกระนั้น ตราบจนเดือนธันวาคม 2563 ประชาคม “ข่าวกรอง” ของหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่สามารถระบุและหาหลักฐานมายืนยันได้ ข้อสงสัยเป็นเรื่องที่อย่าว่าแต่ไอ้ห้อยไอ้โหนภายในพรรคพลังประชารัฐจะออกมาพูด แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยตั้งข้อสงสัยระหว่างการแถลงข่าว แต่ทุกอย่างก็เป็นเพียง “ความสงสัย” หน่วยข่าวสารพัดหน่วยข่าวไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นอย่างไร เป็นใคร ในความสงสัยจึงสะท้อน “ประสิทธิภาพ” ทางด้าน “การข่าว”[6]

การประมาณการการชุมนุมของ “คณะราษฎร” โดยหน่วยข่าวกรองของรัฐบาล ดูเหมือนจะประเมินเปรียบเทียบจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมแต่ละครั้งจากสถานที่จัดชุมนุม ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนระหว่างมุมมองของฝ่ายรวบรวมภาคสนามกับฝ่ายวิเคราะห์ในสำนักงานและพื้นที่ไซเบอร์ (cyber space) ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทั้งสองฝ่ายมีผลต่อระบบประมาณการข่าวกรองโดยรวม ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนที่สัมพันธ์กันระหว่างสิ่งเราที่เรารู้กับสิ่งที่เราไม่รู้จะต้องร่วมมือกัน ด้วยการพัฒนาปรับปรุงการประมวลข่าวกรองอย่างเหมาะสม



[1] Gazit, Shlomo “Estimates and Fortune-Telling in Intelligence Work” International Security Vol. 4, No. 4 (Spring, 1980), pp. 36-56 (article consists of 21 pages) URL: http://www.jstor.org/stable/2626667

[2] Ibid.

[3] กลุ่มประเทศอาหรับผู้ผลิตรวมหัวกันไม่ส่งออกน้ำมันให้กับประเทศตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอลที่ทำสงครามกับประเทศอาหรับใน ปี 1973 หรือวิกฤตพลังงานครั้งแรก (first oil shock) ซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้นเท่าตัว เดือดร้อนกันไปทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด

[4] สมช.แจ้งครม. ชี้ ม็อบราษฎรเริ่มแผ่ว ชงปล่อยให้ชุมนุม แล้วเอาผิดทีหลัง เดี๋ยวหมดแรงเอง มติชนออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2563 - 09:08 น. สืบค้นที่: https://www.matichon.co.th/politics/news_2436198

[5] อานนท์ นำภา https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=4661820760525950&id=100000942179021

[6] 09.00 INDEX เบื้องหลัง ของ เยาวชนปลดแอก มากด้วย ข้อสงสัย ไม่มีหลักฐาน มติชนออนไลน์ ธันวาคม 2563 - 07:32 น. สืบค้นที่: https://www.matichon.co.th/politics/news_2469802


Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

1 comment:

  1. ผมเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของฝ่ายรวบรวมและฝ่ายวิเคราะห์จะทำให้ข่าวกรองที่ผลิตขึ้นมามีความถูกต้อง คาดการณ์ได้แม่นยำ
    การออกแบบโครงสร้างองค์กรลักษณะนี้ แม้ว่าเราจะแบ่งส่วนวิเคราะห์แยกออกจากส่วนรวบรวม แต่ในทางปฏิบัติ จนท.ทั้งสองฝ่ายสามารถคุยกันได้โดยตรงอย่างใกล้ชิดและหลายครั้งที่ ฝ่ายรวบรวมนำ จนท.วิเคราะห์ลงสนามด้วยกัน ให้ได้ปฏิบัติทั้งการสังเกตุการณ์และหรือรวบรวมข่าวด้วยตัวเอง
    ข่าวกรองที่ผลิตได้ สามารถสนองตอบผู้ใช้ข่าวได้เสมอและก็บ่อยครั้งที่เป็นเรื่องด่วนกระทันหันก็สามารถผลิตได้ทันกาล จึงได้รับการยอมรับน่าจะทั้งภายในหน่วยและนอกหน่วย(เพราะจะเป็น versionที่แตกต่างออกไปจากข่าวกระแสหลัก)
    หลักการออกแบบส่วนต่างไปใช้หลักการเป็นbuddy มีส่วนงานรวบรวมที่จับคู่กันอย่างครอบคลุม หากส่วนใด จนท.ไม่ว่างเลย ก็จะมี จนท.ของอีกส่วนที่ต้องรู้เรื่อง(แม้จะไม่ทั้งหมด)สามารถทำการแทนชั่วคราวก่อนได้ โดยมีความสัมพันธ์3 สิ่ง คือ การก่อการร้าย(สากล) - อาชญากรรม(ข้ามชาติ) - ส่วนวิเคราะห์(ที่วิเคราะห์ทั้ง ก่อการร้ายและอาชญากรรม)
    ลักษณะการทำงานแบบbuddy นี้จึงทำให้ จนท.ส่วนวิเคราะห์ต้องทำการแทน จนท.ส่วนรวบรวมเสมอๆ เพราะ จนท.รวบรวมต้องออกไปรวบรวม(ไม่ว่าง) และหรือบางครั้งในภารกิจของ จนท.วิเคราะห์ต้องพา จนท.รวบรวมไปร่วมชี้แจงในที่ประชุมด้วย ทำให้ข่าวสาร ข่าวกรองที่ถูกกระจายไปยังผู้ใช้(โดยเฉพาะหน่วยนอก)ได้รับการยอมรับ

    ReplyDelete

Powered by Blogger.