ข้อบกพร่องของระบบข้อมูล: การต่อสู้กับการ “ฟอกเงิน” ของอาชญากรและผู้ก่อการร้าย

 

ที่มาภาพ:https://bitcoinmagazine.com/articles/fincen-files-remind-us-that-bitcoin-is-still-not-for-money-laundering

ารรั่วไหลของข้อมูลในเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐฯ (US Financial Crimes Enforcement Network FinCen) เมื่อกันยายน 2020 ไม่เพียงเปิดเผยการฟอกและโอนเงินสกปรก (dirty money) ผ่านสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศ[1] ยังแสดงให้เห็นความจำเป็นในการปฏิรูปเพิ่มเติมกฎระเบียบที่สามารถต่อต้านการใช้ระบบสถาบันการเงินเพื่อก่ออาชญากรรม ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงระบบรายงานกิจกรรมน่าสงสัย (Suspicious Activity Report - SAR) และความร่วมมือระหว่างธนาคาร อาจช่วยให้การต่อสู้กับการฟอกเงินได้ผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น[2]

          เอกสารธุรกรรมทางการเงินหรือ FinCEN ที่รั่วไหลออกมาจากหน่วยข่าวกรองทางการเงินของสหรัฐฯ (United States Financial Intelligence Unit - FIU) เปิดเผยให้เห็นว่า ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่งปล่อยให้อาชญากรฟอกและโอน “เงินสกปรก” ไปทั่วโลก เอกสารจำนวนมากกว่า 2,000 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัย (SARs) ที่ธนาคารส่งให้ทางการสหรัฐฯระหว่างปี 2000 - 2017 กลายเป็นเรื่องราวการสืบสวนของสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนระหว่างประเทศ (International Consortium of Investigative Journalists - ICIJ)[3]

การสืบสวนของ ICIJ เผยให้เห็นความล้มเหลวด้านข่าวกรองทางการเงินหลังเหตุวินาศกรรม 911 ที่ไม่สามารถป้องกันการละเมิดระบบการเงินระหว่างประเทศ โดยธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งปล่อยให้มีการฟอกเงินน่าสงสัยจำนวนมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือซึ่งถูกสหรัฐฯระบุว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้ายได้ฟอกเงินอย่างน้อย 174 ล้านดอลลาร์สหรัฐทางธนาคารสหรัฐฯผ่านบริษัทที่เลิกกิจการแต่ยังรักษาสภาพการจดทะเบียน (shell companies) อีกตัวอย่างหนึ่งในรายงาน ICIJ ระบุว่า เครือข่ายอาชญากรรม ผู้ก่อการร้ายและค้ายาเสพติดใช้ธนาคารขนาดใหญ่ของเยอรมนีในการฟอกเงินสกปรก

          หากการรั่วไหลของเอกสาร Panama Papers ในปี 2016 แสดงให้เห็นความเปราะบางในระบบการเงินที่เป็นทางการ การรั่วไหลของ FinCEN ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นในการตรวจสอบวิธีที่ธนาคารและรัฐบาลจัดการกับอาชญากรรมทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลจากกรณี FinCEN ซึ่งธนาคารหลายแห่งอนุญาตให้เจ้าของบัญชีดำเนินธุรกรรมต่อไปได้หลังการจัดเก็บเอกสาร SAR อาจมีคำอธิบายได้หลายหลายอย่าง อาทิ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอาจขอให้ธนาคารอนุญาตให้มีการทำธุรกรรมในอนาคตเพื่อการสืบสวน

การรั่วไหลของเอกสาร FinCEN แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูประบบการยื่นเอกสาร SAR ซึ่งมีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ทั้งนี้ การตรวจพบการรั่วไหลดังกล่าวแสดงให้เห็นความกังวลเกี่ยวกับระบบการจัดเก็บเอกสารของธนาคารที่ออกแบบขึ้นมาในห้วงเวลาปัจจุบัน

กรณีเอกสารรั่วไหลจากรัฐบาลกลาง อาจสร้างความสร้างความหวาดหวั่นภายในสถาบันการเงินในการยื่นเอกสาร SAR เนื่องจากกระบวนการยื่นเอกสารไม่ปลอดภัย องค์ประกอบสำคัญของระบบการจัดเก็บเอกสาร SAR คือ ข้อมูลที่ถูกส่งไปยัง FIU เช่น FinCEN จะถูกเก็บไว้เป็นความลับและข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบอย่างเป็นระบบหลายประการ เพื่อตอบสนองการรั่วไหลของเอกสาร FinCEN ในสหรัฐฯการปรับแต่งกระบวนการ SAR เพื่อปรับปรุงระบบ อาจรวมถึงข้อกำหนดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนให้มีการจัดเก็บข้อมูล “โครงสร้าง” ระดับรองเฉพาะเอกสาร SAR การทำเช่นนี้ทำให้เห็นข้อกังวลของผู้ตรวจสอบและหน่วยงานกำกับดูแลการฟอกเงินได้ดีขึ้น

รายงาน ICIJ เกี่ยวกับเอกสาร FinCEN แสดงให้เห็นโครงสร้างระดับที่สองของการฟอกเงิน การทำธุรกรรมถูกจัดเป็นชั้น ๆ เพื่อปิดบังแหล่งที่มาของเงิน หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯอาจต้องการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การยื่นเอกสาร SAR ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงข้อมูล FinCEN แบบทันที (real time) ระบบนี้ควรมุ่งเน้นความสนใจของภาคเอกชนในการจัดลำดับความสำคัญใหม่ให้สอดคล้องกับแนวโน้มการยื่นเอกสาร SAR และการข่าวกรองอื่น ๆ

ธนาคารควรพิจารณาทางเลือกโดยลำพัง เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถในการตรวจจับปฏิบัติการฟอกเงิน ในเบลเยียม ICIJ รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ธนาคาร ING Belgium, KBC Bank, Belfius Bank and Insurance และ BNP Paribas Fortis ได้ร่วมกันขอให้รัฐบาลเบลเยียมออกกฎหมายสร้างระบบความปลอดภัยในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมที่น่าสงสัย

การแบ่งปันข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินอาจสร้างความยุ่งยากให้กับสิทธิความเป็นส่วนตัวและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการธนาคารและเขตอำนาจศาลหลายแห่ง เนื่องจากธนาคารครอบครองข้อมูลการระบุตัวตนทางชีวภาพ (bio-identification) ที่สำคัญของลูกค้า

ระบบ SAR ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงแห่งชาติ แต่ในบางประเทศ เช่น อังกฤษมีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่น ๆ และประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศความร่วมมือระหว่างธนาคารในการแก้ไขปัญหาการฟอกเงิน ในสหรัฐฯกฎระเบียบการปฏิรูปทางการเงินจำนวนหนึ่งรวมอยู่ในกฎหมายป้องกันประเทศปี 2021 (National Defense Authorization Act NDAA)

กฎหมายความโปร่งใสขององค์กรปี 2019 และกฎหมายความโปร่งใสของธนาคารสำหรับบุคคลที่ถูกลงโทษปรากฎอยู่ใน NDAA ฉบับสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ ซึ่งปรับปรุงข้อกำหนดการรายงานเกี่ยวกับผลประโยชน์ของเจ้าของบริษัท เอกสาร FinCEN อาจกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์ว่า ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากบริษัทที่น่าสงสัย (shadowy corporations) หรือบริษัทนอกประเทศ (offshore companies) ซึ่งอาจช่วยปรับปรุงการต่อสู้กับอาชญากรรมทางการเงินดังกล่าวได้

แต่ขั้นตอนเหล่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะต่อกรกับการฟอกเงินของอาชญากรและผู้ก่อการร้าย จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบขนานใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการโอนเงินเกิดขึ้นโดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการสัมผัสหน้าจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ซึ่งเป็น “ความเร็ว” ที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายเกี่ยวกับความลับในกิจการของธนาคาร (Banking Secrecy Act) หรือรัฐบัญญัติความรักปิตุภูมิ (PATRIOT Act)[4]



[1] เปิดโปง เอชเอสบีซี เจพีมอร์แกน ดอยซ์ แบงก์ บาร์เคลย์ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ร่วมมือลูกค้าฟอกเงิน BBC News ไทย 22 กันยายน 2020 สืบค้นที่ https://www.bbc.com/thai/international-54238726

[2] FinCEN FILES LEAK EXPOSES FLAWS IN SYSTEM DESIGNED TO FIGHT CRIMINAL AND TERRORIST FINANCE INTELBRIEF December 3, 2020 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/fincen-files-leak-exposes-flaws-in-system-designed-to-fight-criminal-and-terrorist-finance?e=c4a0dc064a

[3] เอกสารเหล่านี้รั่วไหลไปถึงมือเว็บไซต์ข่าว Buzzfeed News และถูกนำไปให้กลุ่มนักข่าวสืบสวนทั่วโลกและส่งต่อไปยังรายการข่าว 108 แห่งใน 88 ประเทศทั่วโลกรวมถึงรายการ Panorama ของ BBC ด้วย

[4] ชื่อเต็มว่า “รัฐบัญญัติสร้างความสมานฉันท์และความเข้มแข็งให้แก่อเมริกาโดยกำหนดเครื่องมือที่เหมาะสมอันจำเป็นแก่การขจัดและขัดขวางการก่อการร้าย 2001 (Uniting and Strengthening America by Providing Appropriate Tools Required to Intercept and Obstruct Terrorism Act of 2001) เป็นรัฐบัญญัติฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ ลงนามโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เมื่อ 26 ตุลาคม 2544 สืบค้นที่ https://th.wikipedia.org/wiki/รัฐบัญญัติความรักปิตุภูมิ

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.