เรือใหญ่ขวางคลอง (สุเอซ): ใครขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ที่มาภาพ: Nikkei Asia และ การ์ตูน เซีย ไทยรัฐ

รณีเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ Ever Given หนึ่งในเรือบรรทุกสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกความยาว 400 เมตร กว้าง 59 เมตร ระวางขับน้ำ 200,000 ตันเกยตื้นขวางคลองสุเอซมาตั้งแต่ 23 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบห่วงโซ่อุปทานการขนส่ง (logistics supply chain) การค้าทางทะเลทั่วโลก ทำให้นึกถึงรัฐนาวาเรือเหล็ก “ไท(ย)ทานิค” (อัพเกรดจากเรือแป๊ะ) ซึ่งแล่นออกจากท่า (แถลงนโยบาย) เมื่อ 29 กรกฎาคม 2562 ฝ่าคลื่นลมมรสุมการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 2 ครั้งรวมทั้งการชุมนุมขับไล่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในกรกฎาคม 2563 และกลุ่ม Redem ในมีนาคม 2564 ก็ยังไม่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของเรือเหล็กได้

          หากไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เรือเหล็กซึ่งมีที่มามาจากผลงานการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์และคณะตามความต้องการสืบทอดอำนาจของ คสช. และได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีสิทธิร่วมเลือกกัปตัน (นายกรัฐมนตรี) คงจะแล่นต่อไปอย่างค่อนข้างราบรื่นจนครบเทอมในมีนาคม 2566 อย่างไรก็ดี หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เมื่อ 11 มีนาคม 2564 วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนและเมื่อร่างเสร็จต้องทำประชามติอีกครั้ง คลื่นลมก็เริ่มก่อตัวเป็นมรสุม

การโหวตคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ พ.ศ.…วาระสาม เมื่อ 17-18 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากบ่งชี้ถึงอนาคตการเมืองที่มืดมนยังทำให้ความหวังที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ด้วยสันติวิธีกลายเป็นความว่างเปล่าที่ต้องเริ่มต้นใหม่ สาระสำคัญของร่างฯที่ถูกคว่ำคือ การเลือกตั้ง สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากได้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของสองสภาและเสียงเห็นชอบ ส.ว. ไม่ถึง 1 ใน 3 (84 เสียง) ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ยังคงต้องรอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอีกครั้ง และยังไม่แน่ว่าจะผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่

ต่อมาเมื่อ 27 มีนาคม 2564 นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ทวีตข้อความทางสื่อสังคมว่า “การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับคงยาก รายมาตราก็ใช่ว่าจะง่าย โดยเฉพาะการที่จะไม่ให้ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกฯใครจะไปยอมตัดแขนตัดขาลดทอนอำนาจตัวเอง? เราคงต้องพยายามรณรงค์ต่อไปเพื่อความเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ในเชิงท้าทายว่า ก็ให้ไปแก้ไขกันมา แต่แก้ให้ได้แล้วกัน[1]

          สำหรับความเคลื่อนไหวของ “ม็อบสามนิ้ว” ซึ่งกลับมา “จุดติด” อีกครั้ง บนเวทีเวทีชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์เมื่อ 24 มีนาคม 2564[2] มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ได้กราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขอพระราชทาน 3 เรื่อง คือ การบริหารจัดการกองทัพ บทบาททางการเมืองและทรัพย์สินของประชาชน[3] นับเป็นการปราศรัยครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งสื่อกระแสหลักไม่ได้เผยแพร่และสื่อกระแสรองนำเสนอเพียงเล็กน้อย ภัสราวลี คงรู้ตัวว่าการปราศรัยของตนอาจ “เป็นการพูดครั้งสุดท้าย” เพราะเธอไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม

          หลังจากเปิดตัวจุดประกายความหวังบน Clubhouse โดยการประสานงานของกลุ่ม แคร์ คิด เคลื่อน ไทย Tony Woodsome อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หรือ “พี่โทนี่” ได้เคลื่อนไหวบ่อยครั้งโดยมุ่งเป้าหมายแตะ“รัฐประหาร” ซึ่งขับเขาและน้องสาวลงจากอำนาจ “พีโทนี่” แนะนำให้อ่าน Deep State บทความเขียนโดยภรรยานายปิยบุตร แสงกนกกุล ในชั้นนี้เชื่อว่าเป้าหมายเฉพาะหน้าของการเคลื่อนไหวของ “พี่โทนี่” คงมุ่งหวังเป็นพลังหนุนเสริมความแข็งแกร่งให้กับอนาคตของพรรคเพื่อไทยอันเป็นอวตารแห่งพรรคไทยรักไทย[4]

          ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ดำเนินมากว่าทศวรรษ นับจากการก่อรัฐประหารในปี 2549 มีผลล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 2540 อันเป็นที่มาของสิ่งที่ “สลิ่ม” เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” จนกระทั่งได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ “ดีไซน์เพื่อพวกเรา” นั้น “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล อาทิ การชุมนุมปิดสนามบิน การล้อมปราบ (purged) ปิดเมือง (ชัตดาวน์) เป่านกหวีดและลงท้ายด้วยรัฐประหารและกำหนดแผนเดินทางใหม่ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่เป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 จำเป็นต้องให้ สว. 1 ใน 3 เห็นด้วยหรือไม่ก็รอให้ สว.ชุดนี้หมดวาระ 5 ปีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต สสร.ปี 2540[5] มองเห็นข้อบกพร่องบางอย่างซึ่งเป็นที่มาของห้องผนึกน้ำ (bulkhead) หรือ สว. 194 คนจากทั้งหมด 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้แต่งตั้ง (รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมือง) แต่ในความเป็นจริงบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาล้วนเป็นคนใน คสช.และคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์

 ด้วยเหตุนี้บุคคลที่คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกมาจึงไม่ได้เป็น สว.แต่แรก เพราะตัวคณะกรรมการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ รายชื่อที่นำขึ้นทูลเกล้าจึงเสียไปตั้งแต่ต้น นายพงศ์เทพกล่าวด้วยว่า วิธีที่จะชี้ว่าบุคคล 194 คนไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยส่งเรื่องไปให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัย กล่าวคือ ร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติที่ผ่านรัฐสภาแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้า สส.อย่างน้อย 1 ใน 10 หรือ สว. 1 ใน 10 หรือสมาชิกทั้งสองสภาอย่างน้อย 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อกันส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยอ้างว่า บทบัญญัติของกฎหมายหรือ พรบ.ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกระบวนการตรากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบุคคลที่ไม่แน่ใจว่าเป็น สว.หรือไม่ร่วมพิจารณา

ในที่สุดการทำงานแก้ปัญหาเรือเกยตื้นอย่างไม่ลดละของทีมงานกู้เรือ ตั้งแต่การขุดลองคลองบริเวณใต้เรือ การขุดดินด้วยรถตักไปจนถึงเรือลากจำนวนมากที่คอยผลักดัน ประกอบกับปรากฎการณ์ธรรมชาติในวันเพ็ญที่ดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี (supermoon) ทำให้ภารกิจช่วยเหลือ “เรือขวางคลองสุเอซ” ประสบความสำเร็จ[6] ส่วนภารกิจแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากวิธีการดังกล่าวข้างต้น คงต้องภาวนาให้ธรรมชาติจัดสรร “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ผู้มีอำนาจไปสู่ที่ชอบ แต่คงไม่ใช่ “อหิวาต์” ที่หลุดจากปากพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ซึ่งเคยเกาะโต๊ะ “พี่โทนี่”



[1] เศรษฐา ชี้แก้ รธน.ยาก-ส.ว.ขวาง ไม่ยอมตัดแขนขา แต่ต้องรณรงค์ต่อ-อย่าหมดหวัง 27 มีนาคม 2564 - 12:11 น. มติชน https://www.matichon.co.th/politics/news_2644523

[2] 'เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร' มายด์ ภัสราวลี ปราศรัยเวทีแยกราชประสงค์ 24 มีนาคม 2564 You Tube เข้าถึงได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=ezp41QMj1TI

[3] ชุมนุม 24 มี.ค.: มายด์ ภัสราวลี ขึ้นเวทีปราศรัยราชประสงค์ กราบบังคมทูลขอ 3 เรื่อง BBC News ไทย 24 มีนาคม 2021 https://www.bbc.com/thai/thailand-56506509

[4] 09.00 INDEX บทบาท Tony Woodsome เริ่มรุกคืบ แตะไปยัง “รัฐประหาร” มติชน ออนไลน์ 28 มีนาคม 2564 เข้าถึงได้ที่: https://www.matichon.co.th/politics/news_2645751

[5] Talking Thailand - แก้รัฐธรรมนูญได้ ต้องไล่ ส.ว.ก่อน  Voice TV online Mar 28, 2021 เข้าถึงได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=lFDyKfUth44

[6] ซูเปอร์มูน : ฮีโร่จากนอกโลกผู้กอบกู้วิกฤตเรือขวางคลองสุเอซ SPRING NEWS 31 มีนาคม 2564 เข้าถึงได้ที่ https://www.springnews.co.th/global/807332

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.