การฟื้นคืนชีพของการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ที่มาภาพ:https://www.dw.com/en/indonesia-several-injured-in-church-suicide-bombing/a-57029105

ารโจมตีและวางแผนก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายที่ยังคงอยู่ในภูมิภาค โดยกลุ่มก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State) พยายามโจมตีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับชาวคริสต์หลายครั้งรวมทั้งโบสถ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปฏิบัติการก่อการร้ายส่วนใหญ่มีผู้หญิงเกี่ยวข้องมากขึ้นในฐานะผู้ก่อเหตุเคียงข้างสามีและสมาชิกในครอบครัว ขณะเดียวกันการสนทนาออนไลน์ของผู้สนับสนุนกลุ่ม IS ในมาเลเซียและอินโดนีเซียเรียกร้องให้เพิ่มการโจมตีและเสนอให้กลุ่มก่อการร้ายหันไปใช้วัตถุระเบิดที่ทรงพลังมากกว่าเดิม[1]

          เหตุระเบิดฆ่าตัวตายบริเวณทางเข้าโบสถ์คาธอลิคในเมืองมากัสซาร์ ทางตอนใต้ของเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซียเมื่อ 28 มีนาคม 2021 วันแรกของสัปดาห์อีสเตอร์ (Palm Sunday) นอกจากทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 20 คน เสียชีวิต 1 คน (ผู้โจมตี) ยังเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงภัยคุกคามของการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้    โดยผู้ก่อเหตุเป็นคู่สามีภรรยาที่เพิ่งแต่งงานปฏิบัติการโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ[2] วัตถุระเบิดที่ใช้ก่อเหตุมีอานุภาพแรงสูง หากผู้ก่อการร้ายเข้าถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ความเสียหายน่าจะร้ายแรงกว่านี้

          หลังการก่อเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซียได้จับกุมบุคคลอย่างน้อย 23 คนที่เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายก่อการร้ายในเมือง Makassar, Greater Jakarta และ West Nusa Tengarra ระหว่างการตรวจค้นบ้านพักผู้ก่อการร้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดอาวุธและวัสดุประกอบระเบิดไปป์บอมบ์[3] รวมทั้งส่วนผสมไตรอะซิโตน ไตรเปอรออกไซด์หรือระเบิด TATP ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดทรงพลังที่ผู้ก่อการร้ายมักใช้ในการโจมตี

ผู้หญิงคนหนึ่งถูกตั้งข้อหา “จูงใจ (motivating)” ให้ผู้ก่อเหตุกระทำการก่อการร้าย ซึ่งมีรูปแบบปฏิบัติการ (Modus Operandi) ของกลุ่ม Jammah Ansharut Daulah (JAD) ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม หลายวันหลังจากการโจมตีโบสถ์คริสต์ในเมืองมากัสซาร์ หญิงวัย 25 ปีผู้สนับสนุนกลุ่ม IS ยิงปืน 6 นัดใส่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ตา เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าเป็นการโจมตีแบบ “Lone Wolf” ซึ่งทิ้งจดหมายบ่งบอกนัยความรุนแรงและผู้ก่อเหตุถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต

ช่วงหลายปีที่ผ่านมากลุ่ม IS ก่อเหตุโจมตีทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเป้าหมายสถานที่สักการะบูชาของชาวคริสต์ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ สมาชิกกลุ่มก่อการร้าย JAD ได้โจมตีเป้าหมายตำรวจและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายด้วย ในพฤษภาคม 2018 โบสถ์คริสต์ แห่งในสุราบายา เมืองใหญ่อันดับสองของอินโดนีเซียถูกโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายสิบคน ผู้ก่อเหตุเป็นสามีภรรยาและบุตรสี่คน

เป็นที่น่าสังเกตว่ามีผู้หญิงร่วมปฏิบัติการโจมตีในฐานะผู้ก่อเหตุมากขึ้น โดยอยู่เคียงข้างสามีและสมาชิกในครอบครัว เชื่อกันว่าการเป็นคู่รักจะไม่ทำให้เป็นจุดสนใจและอาจเข้าถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หลายวันหลังจากการโจมตีดังกล่าว มีการโจมตีแบบฆ่าตัวตายของ  ครอบครัวในสุราบายา พื้นที่ตอนใต้ของฟิลิปปินส์ก็ถูกสั่นคลอนโดยผู้ก่อการร้ายเช่นกัน วิหารคาทอลิกในเมือง Jolo ถูกโจมตีหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

การสนทนาออนไลน์ของผู้สนับสนุน ISIS ในมาเลเซียและอินโดนีเซียได้เรียกร้องให้มีการโจมตีอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การโจมตีมักเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม (เริ่มต้น 12 เมษายน 2021) รวมทั้งโจมตีเป้าหมายทางศาสนาเช่น โบสถ์และสัญลักษณ์อื่น ๆ ของศาสนาคริสต์ การโจมตีเมื่อเร็ว ๆ นี้อาจเป็นการตอบโต้ทางการอินโดนีเซียที่จับกุมสมาชิก JAD จำนวน 20 คน เมื่อมกราคม 2021 โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายทั่วทั้งภูมิภาค

การโจมตีครั้งล่าสุดเตือนให้ระลึกถึงภัยคุกคามจากกลุ่มญิฮาดในภูมิภาค ทั้งนี้ อัล-ไคดาและ IS ยังคงรักษาเครือข่ายที่กว้างขวางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักรบต่างชาติ (foreign fighters) หลายร้อยคนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางไปร่วมการต่อสู้กับ IS ในอิรักและซีเรีย การสู้รบที่มาราวีทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ในปี 2017 มีนักรบต่างชาตินอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเข้าร่วม สภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่มั่นคงของภูมิภาคนี้ทำให้การใช้กองกำลังบุกฐานที่มั่นบางแห่งของผู้ก่อการร้ายและผู้ก่อความไม่สงบทำได้ยาก

กลุ่มรัฐอิสลามประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับนักรบท้องถิ่นในภูมิภาค โดยอาศัยอุดมการณ์ระดับโลกที่ซ้อนทับความเชื่อและความคับข้องใจในระดับท้องถิ่นในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย ยิ่งไปกว่านั้นความพยายามในการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในสิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มหัวรุนแรงปีกขวาชี้ให้เห็นความซับซ้อนของภูมิทัศน์การก่อการร้ายในภูมิภาค

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เหมือนกับภูมิภาคอื่น ๆ จำเป็นต้องหาวิธีรับมือ “นักรบต่างชาติ” ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ขัดแย้ง โดยนำทักษะการปฏิบัติการและเครือข่ายในสนามรบมาด้วย นอกจากนี้พวกเขายังอาจมีสมาชิกในครอบครัวที่ตกเป็นเหยื่อและบอบช้ำจากความรุนแรง การประเมินความเสี่ยงอย่างเข้มแข็งรวมทั้งความรับผิดชอบและกระบวนการฟื้นฟูคือ ความสำคัญลำดับแรกของความพยายามต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาค


[1] RESURGENCE OF TERRORISM IN SOUTHEAST ASIA Monday, April 5, 2021 INTELBRIEF available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/resurgence-of-terrorism-in-southeast-asia?e=c4a0dc064a

[2] Indonesia bombing: Worshippers wounded in Makassar church attack BBC Published 28 March 2021 https://www.bbc.com/news/world-asia-56553790

[3] “ไปป์บอมบ์” คืออะไรรู้ไว้ไม่ตระหนกแต่ต้องระวัง by ThaiQuote, 25 พฤษภาคม 2560 เข้าถึงได้ที่https://www.thaiquote.org/content/205364

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.