ปะทุความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่เยรูซาเล็ม: การหยุดยิงที่เปราะบาง
การสู้รบระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ทวีความรุนแรง กลุ่มติดอาวุธฮามาสยิงจรวดใส่อิสราเอลขณะที่กองกำลังป้องกันตนเองอิสราเอลโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา สาแหตุเนื่องจากอิสราเอลได้ฟ้องขับไล่ครอบครัวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในย่าน Sheikh Jarrah เยรูซาเลมตะวันออกทำให้เกิดการปะทะระหว่างตำรวจอิสราเอลและผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ สถานการณ์ทางการเมืองทั้งสองฝ่ายยังคงเต็มไปด้วยปัญหาความยุ่งยาก คณะบริหารปาเลสไตน์ยกเลิกการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นและอิสราเอลอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลผสม ความรุนแรงที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องบั่นทอนสถานะของสหรัฐฯในภูมิภาคและเปิดโอกาสให้ฝ่ายปฏิปักษ์ขยายอิทธิพลเข้าแทนที่[1]
เกิดเหตุประท้วงอย่างรุนแรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในกรุงเยรูซาเล็มเมื่อ 10 พฤษภาคม 2021 เริ่มจากตำรวจอิสราเอลบุกเข้าไปในบริเวณมัสยิด Al Aqsa สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับสามในศาสนาอิสลามหรือ Temple Mount ของชาวยิว คริสเตียนและชาวมุสลิมในช่วงสองสามวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ชาวปาเลสไตน์ขว้างปาก้อนหินและจุดประทัดขณะที่ตำรวจอิสราเอลยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตาและระเบิดแสง (stun grenade) ทำให้ชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บกว่า 330 คนตามคำบอกเล่าของกาชาดปาเลสไตน์ ขณะที่อิสราเอลรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บอย่างน้อย 21 คน
สาเหตุการประท้วงดังกล่าว เนื่องจากศาลฎีกาอิสราเอลเลื่อนการพิจารณาคดีผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลฟ้องขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ Sheikh Jarrah ในเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งอิสราเอลถือเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวงของตน ส่วนปาเลสไตน์อ้างเป็นเมืองหลวงในอนาคต ภาพจากมัสยิดที่ถูกส่งต่อบนโซเชียลมีเดียทำให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ฮามาสขู่ว่าอิสาเอลจะต้องได้รับผลจากการกระทำอย่างหนัก หากไม่ถอนกำลังความมั่นคงออกจากพื้นที่ดังกล่าว
ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (west bank) มีการสู้รบระหว่างทหารอิสราเอลและนักรบชาวปาเลสไตน์ ช่วงบ่ายถึงค่ำ 10 พฤษภาคม 2021 กลุ่มฮามาสได้ยิงจรวดหลายสิบลูกเข้าไปในดินแดนของอิสราเอล โดยมีลูกหนึ่งตกลงทางตะวันตกของกรุงเยรูซาเล็ม สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีการยิงจรวดต่อต้านรถถังจากฉนวนกาซาไปยังเมือง Sderot ทำให้พลเรือนในพื้นที่บาดเจ็บรวมทั้งมีการยิงจรวดจำนวนมากไปยังภาคใต้ของอิสราเอล
สำนักงานสาธารณสุขปาเลสไตน์ระบุว่า การตอบโต้ของอิสราเอลด้วยการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 20 คนรวมทั้งเด็กอย่างน้อย 9 คน การสู้รบปะทุขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดทั่วโลกและขาดแคลนวัคซีนสำหรับชาวปาเลสไตน์ ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นสร้างความวิตกว่าจะก่อให้เกิดการลุกฮือ (Intifada) ขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ของชาวปาเลสไตน์ หนังสือพิมพ์ Haaretz ของอิสราเอลเห็นว่า เดือนรอมฎอนไม่ใช่เวลา “แสดงพลัง” ของตำรวจอิสราเอล ซึ่งจะทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น
การเดินขบวนของชาวอิสราเอลขวาจัด เพื่อรำลึกถึงชัยชนะในสงครามอาหรับ - อิสราเอลปี 1967 หรือ “สงครามหกวัน” มีส่วนยั่วยุให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดมิให้ชาวปาเลไตน์เข้าถึงบางส่วนของเมืองเก่าในเดือนรอมฎอน การระลึกถึงชัยชนะดังกล่าวเป็นที่รู้จักในอิสราเอลว่า “วันเยรูซาเล็ม” ถือเป็นจุดวาบไฟ (flashpoint) ของความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มายาวนาน
ระหว่างการเดินขบวนในเยรูซาเล็มชาวอิสราเอลขวาจัดได้ท่องบทสวดสาปแช่งชาวอาหรับ “Death to Arab” ประกอบกับการที่ศาลฎีกาอิสราเอลเลื่อนการพิจารณาอุทธรณ์คดีชาวอิสราเอลฟ้องขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ในย่าน Sheikh Jarrah เยรูซาเล็มตะวันออก ออกไปอย่างน้อย 30 วัน ทำให้เกิดการปะทะและกลายเป็นจุดสนใจวิพากษ์วิจารณ์ทั่วทั้งโลกอาหรับ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพิ่งเสนอว่าการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ของอิราเอล “ละเมิดพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ” คาดว่าการสู้รบคงจะดำเนินต่อไป โดยโฆษกทหารอิสราเอลระบุว่า อิสราเอลกำลังเตรียมการสู้รบซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานหลายวัน
สถานการณ์ทางการเมืองของปาเลสไตน์และอิสราเอลเต็มไปด้วยปัญหายุ่งยาก คณะบริหารปาเลสไตน์สั่งยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดขึ้นใน 22 พฤษภาคม 2021 โดยเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 15 ปี ซึ่งอาจเป็นแรงผลักดันกระบวนการทางการเมืองที่หยุดชะงักมานานในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง ฝ่ายอิสราเอลก็ตกอยู่ในความวุ่นวายเช่นกันโดยเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันต้องเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ประธานาธิบดี Reuven Rivlin ของอิสราเอลมอบหมายให้ Yair Lapid หัวหน้าพรรคสายกลางสร้างพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ส่วนประธานาธิบดี Biden พยายามดิ้นรนเพื่อระงับความรุนแรงที่กำลังเพิ่มขึ้น แม้ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง Jake Sullivan ได้แจ้งข้อกังวลกับ Meir Ben Shabbat ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงชาวอิสราเอลเกี่ยวกับสถานการณ์เขม็งเกลียวที่ยากจะควบคุม
ในการนี้อิสราเอลเห็นว่าสหรัฐฯกำลังให้รางวัลการก่อความไม่สงบของปาเลสไตน์ โดยการแทรกแซงความพยายามระงับความตึงเครียดของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกลางในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐบาลทรัมป์ตัดสินใจฝ่ายเดียวโดยสนับสนุนให้อิสราเอลย้ายเมืองหลวงจากเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเล็ม
อิสราเอลมองว่าปัญหานี้เป็นเพียง “ข้อพิพาทด้านอสังหาริมทรัพย์” ระหว่างผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ แม้มีความพยายามที่จะตีกรอบเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นทางการเมือง แต่ก็มีผลกระทบทางภูมิศาสตร์การเมืองอย่างมาก ประชาคมระหว่างประเทศเตือนให้อยู่ในความสงบ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องสร้างความกดดันให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ลงนามในความตกลง Abraham Accords
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยโมฮัมเหม็ด บินซาเยด (MBZ) มกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบีแสดงความกังวลต่อความรุนแรงในเยรูซาเล็มตะวันออก โดยเน้นย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของมัสยิด Al Aqsa และเรียกร้องให้อิสราเอลระงับการโจมตี ผู้นำระดับโลกคนอื่น ๆ ก็ส่งเสียงเตือนเช่นกัน รวมถึง Heiko Maas รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีเสียใจกับการขยายตัวของความรุนแรงและ Antonio Guterres เลขาธิการ UN เรียกร้องให้มีความยับยั้งชั่งใจ
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จัดประชุมฉุกเฉินเมื่อ 10 พฤษภาคม 2021 เพื่อหารือเกี่ยวกับความรุนแรงในเยรูซาเล็มตะวันออก จีนซึ่งเป็นประธานประจำเดือนมีนาคมร่วมเป็นผู้ร่างแถลงการณ์ฉบับแรกกับนอร์เวย์และตูนิเซียเรียกร้องให้อิสราเอล “ยุติการตั้งถิ่นฐาน รื้อถอนและการขับไล่” ในเยรูซาเล็มตะวันออก ร่างดังกล่าวเรียกร้องให้มีความยับยั้งชั่งใจและไม่กระทำการยั่วยุเพิ่มเติมรวมถึง “การเคารพและรักษาสถานะทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์”
แถลงการณ์จากกลุ่มตะวันออกกลางทั้งสี่ (Middle East Quatet) ประกอบด้วย สหประชาชาติ สหภาพยุโรป สหรัฐฯและรัสเซียเรียกร้องให้ทางการอิสราเอล “ใช้ความยับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงมาตรการที่จะทำให้สถานการณ์ลุกลามไปกว่านี้ในช่วงวันสำคัญทางศาสนาของชาวมุสลิม” ความรุนแรงระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจะทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้เสื่อมลงเป็นโอกาสให้ฝ่ายปฏิปักษ์ของสหรัฐฯ รวมถึงจีนและและรัสเซียขยายอิทธิพลเข้ามาแทนที่
ความรุนแรงกำลังครอบงำพาดหัวข่าวในตะวันออกกลางและโลกมุสลิมในวงกว้าง สร้างความเห็นอกเห็นใจชาวปาเลสไตน์และเปิดช่องทางสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศต่าง ๆ เช่น อิหร่าน อยู่เบื้องหลังการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลไตน์ โดยยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ เพื่อทำให้รัฐบาลไบเดนยินยอมเจรจาต่อรองเรื่องโครงการนิวเคลียร์
ล่าสุดอิสราเอลและกลุ่มฮามาสตกลงยุติการสู้รบที่ดำเนินมาตลอด 11 วัน ตามข้อเสนอของอียิปต์ที่ให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงตั้งแต่ 0200 น. ของ 21 พฤษภาคม 2021 การโจมตีของทั้งสองฝ่ายทำให้ชาวปาเลไตนเเสียชีวิต 232 คน ในจำนวนนี้รวมเด็ก ๆ 65 คนและผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,900 คน ขณะที่อิสราเอลเสียชีวิตอย่างน้อย 12 คนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน
ทันทีที่ข้อตกลงหยุดยิงมีผลบังคับใช้ ชาวปาเลสไตน์ได้หลั่งไหลไปที่ถนนในฉนวนกาซาพร้อมเปล่งวาจาสรรเสริญและขอบคุณพระเจ้า ทั้งอิสราเอลและกลุ่มฮามาสต่างประกาศชัยชนะในความขัดแย้งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวว่าการหยุดยิงนำมาซึ่ง “โอกาสที่แท้จริง” ที่ทุกฝ่ายจะเดินหน้าต่อไป
[1] JERUSALEM ON EDGE AS CLASHES CONTINUE AND SITUATION ESCALATES SHARPLY INTELBRIEF May 11, 2021 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/jerusalem-on-edge-as-clashes-continue-and-situation-escalates-sharply?e=c4a0dc064a
Leave a Comment