กลยุทธ์การนำ (navigate) ภายใต้ความไม่แน่นอน (ตอนที่ 1)

ที่มาภาพ: https://www.newscientist.com/article/mg24432520-900-worried-about-the-future-the-science-behind-coping-with-uncertainty/

บริษัทที่จะเอาชนะคู่แข่งได้จะต้องพร้อมปรับตัว ต้องนำหน้าคนอื่นและต้องเติบโตอยู่เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะบริษัทเหล่านี้คอยหาคนเก่งมาเสริมทัพตลอด ส่วนพนักงานที่ยอดเยี่ยมก็จะคอยมองหาโอกาสที่จะได้ท้าทายอะไรใหม่ ๆ และถึงแม้จะเป็นคนจงรักภักดีอย่างมาก สุดท้ายพวกเขาหลายคนก็จะต้องไปหาโอกาสจากที่อื่น

แพตตี้ แมคคอร์ด[1]

ารบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ ในไทยขณะนี้ นอกจากก่อให้เกิดความ “สูนหลาย” ทั้งในโลกออนไลน์และกายภาพ ยังเปลือยให้เห็นความงุ่มง่าม “ไร้กึ๋น” ขององคาพยพใน “รัฐราชการ” ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จในมือ แต่ไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ทำไมบทความในวารสาร Harvard Business Review เมื่อ 26 เมษายน 2021 เขียนโดย Rebecca Zucker และ Darin Rowell กล่าวถึงกลยุทธ์ปรับปรุงขีดความสามารถของผู้นำในการเรียนรู้ เติบโตและนำทางภายใต้สถานการณ์ที่มีความซับซ้อน[2] ดังนี้

          หากมีข้อสงสัยความสำคัญของขีดความสามารถผู้นำในการนำทางภายใต้การเปลี่ยนแปลง (navigate change) ความไม่แน่นอน (uncertainty) และการทำลายล้าง (disruption) ที่กำลังถาโถมเข้ามา การแพร่ระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ในปี 2020 ทำให้ข้อสงสัยดังกล่าวชัดเจนขึ้นอย่างมาก ทุกคนต่างก็หวังว่าจะแคล้วคลาดจากการแพร่ระบาดในอนาคต แต่ที่แน่นอนคือ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความซับซ้อนที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆได้

          ผู้นำที่เราทำงานด้วยมักแสดงความรู้สึกติดขัด ขาดความพร้อมหรือหนักใจ เมื่อต้องเผชิญความท้าทายที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้นำจะรู้สึกแบบนั้น เพราะความซับซ้อนของโลกได้ก้าวข้าม “ความซับซ้อนของจิตใจ” ดังที่ Robert Kegan และ Lisa Lahey อธิบายไว้อย่างเป็นรูปธรรมในหนังสือ Immunity to Change ปัจจุบันพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งล้านล้านเท่าตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1950 แต่สมองของมนุษย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

          การนำอย่างมีประสิทธิผลในสภาวะที่มีความซับซ้อน ผู้นำต้องเรียนรู้ที่จะนำตนเองก่อน แม้ผู้นำแต่ละคนเผชิญสถานการณ์แวดล้อมเฉพาะของตน แต่ผู้เขียนบทความสังเกตพบว่ามี กลยุทธ์ (strategy) ที่จะช่วยเร่งความสามารถในการเรียนรู้ พัฒนาอย่างต่อเนื่องและฟันฝ่าความท้าทายที่ซับซ้อน

          กลยุทธ์ที่ 1 ยอมรับความรู้สึกอึดอัดกับความไม่รู้ เนื่องจากสมองคนเรามีเส้นประสาทเชื่อมต่อถึงกัน     ทำให้มองเห็นความไม่แน่นอนเป็น “ความเสี่ยง” หรือ “ภัยคุกคาม” โดยเป็นเรื่องปกติทางสรีรวิทยาที่จะรู้สึก       ตึงเครียด เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เฉพาะอย่างยิ่งผู้ประสบความสำเร็จที่สร้างอาชีพจากการเรียนรู้หรือหาคำตอบที่ “ถูกต้อง” แม้การหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่พึงประสงค์เป็นแนวโน้มตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้ การเติบโตในอนาคตและการมีประสิทธิภาพในท้ายที่สุด

          แทนที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกเหล่านี้ เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความรู้สึกอึดอัดไม่สบายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ตามปกติ ซึ่ง Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft อธิบายว่า ผู้นำต้องเปลี่ยนความคิดแบบ “รู้ทุกเรื่อง” เป็น “เรียนรู้ทุกเรื่อง”[3] การเปลี่ยนแปลงความคิดนี้ช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบายได้ โดยการขจัดความกดดันเพื่อให้ได้คำตอบทั้งหมด

          กลยุทธ์ที่ 2 การแยกแยะระหว่างความยุ่งยาก (complicated) และความซับซ้อน (complex) คนส่วนใหญ่มักใช้คำว่า “ความยุ่งยาก” และ “ความซับซ้อน” ในลักษณะแทนกันได้ ความจริงคำเหล่านี้หมายถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น กฎหมายภาษีมีความยุ่งยาก ซึ่งหมายความว่ามีลักษณะทางเทคนิคสูงและเข้าใจยาก แต่คุณสามารถแบ่งปัญหาออกเป็นส่วน ๆ อย่างรอบคอบ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ (หรือคนอื่น ๆ) โดยทั่วไปก็จะหาวิธีแก้ไขได้

          ในทางกลับกันความท้าทายที่ซับซ้อนมีองค์ประกอบที่พึ่งพากัน บางอย่างที่ยังไม่รู้ (unknown) และอาจเปลี่ยนแปลงแบบคาดเดาไม่ได้ นอกจากนี้การกระทำหรือการเปลี่ยนแปลงในมิติเดียว อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ได้สัดส่วนและคาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น นโยบายต่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายที่ซับซ้อน แม้ไม่มีปัญหาขาดแคลนความเห็นในเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน ดังนั้น การแก้ปัญหาความท้าทายที่ซับซ้อนมักเกิดจากการลองผิดลองถูกและต้องการความสมัครใจ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การกระทำด้วยความตั้งใจรวมทั้งการเรียนรู้และปรับตัว

          กลยุทธ์ที่ การปล่อยวางจากการยึดถือความสมบูรณ์แบบ ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การยึดถือความสมบูรณ์แบบจึงไร้ผล ควรมีจุดมุ่งหมายที่ก้าวหน้า คาดหวังความผิดพลาดและยอมรับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องตามความจำเป็น สำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จสูงมักมีความโน้มเอียงชอบความสมบูรณ์แบบมีอัตตาและอัตลักษณ์ (เช่นการประสบความสำเร็จหรือเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ”) การละทิ้งความสมบูรณ์แบบและยอมรับความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นเช่น “ฉันจะล้มเหลว” “ฉันจะดูแย่” หรือ “ฉันอาจตัดสินใจผิด” ความกลัวเหล่านี้มักเกิดขึ้นโดยปริยายและไม่ได้ตรวจสอบว่า “หากความกลัวเหล่านี้บังเกิดผล ฉันจะหายกลัว”

          ผู้เขียนบทความได้ทำงานร่วมกับลูกค้าหลายรายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อขจัดสมมติฐานเหล่านี้โดยให้พวกเขาพูดคุยกับผู้ที่พวกเขาเคารพเกี่ยวกับความผิดพลาดหรือความล้มเหลวในอาชีพ ซึ่งเคยได้ยินมามากเกี่ยวกับการเรียนรู้ โอกาสใหม่ ๆ และการเติบโตทางอาชีพ แต่ไม่เคยประสบหายนะอย่างที่พวกเขาจินตนาการไว้ การคลายการยึดติดกับสมมติฐานเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้คุณละทิ้งความสมบูรณ์แบบและยอมรับว่าความผิดพลาดและความล้มเหลวเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ไปพร้อมกัน (ยังมีต่อ)



[1] ทำไม NETFLIX ถึงมีแต่คนโคตรเก่ง แพตตี้ แมคคอร์ด เขียน วิกันดา จันทร์ทองสุข แปล จาก POWERFUL พิมพ์ครั้งที่ 3 กันยายน 2562 กรุงเทพฯ อมรินทร์ฮาวทู หน้า 114 - 115.

[2] Managing Uncertainty 6 Strategies for Leading Through Uncertainty by Rebecca Zucker and Darin Rowell Harvard Business Review April 26, 2021 Available at: https://hbr.org/2021/04/6-strategies-for-leading-through-uncertainty?utm_medium=email&utm_source=newsletter_daily&utm_campaign=dailyalert_notactsubs&deliveryName=DM129642#

[3] Microsoft CEO Satya Nadella: It’s better to be a ‘learn-it-all’ than a ‘know-it-all’ BY NAT LEVY GeekWire on August 4, 2016 at 1:13 pm Available at: https://www.geekwire.com/2016/microsoft-learn-it-all/

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.