การจารกรรม (espionage) และการข่าวกรอง (intelligence) ที่เปลี่ยนไปท่ามกลางการแพร่ระบาด
ที่มาภาพ:https://www.economist.com/international/2015/07/30/a-new-age-of-espionage
โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก เนื่องจากความล่าช้าในการกระจายวัคซีนและการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค ส่งผลให้การจารกรรม (espionage) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่าวกรองทางบุคคล (HUMINT) ต้องปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ข้อจำกัดการเดินทางทั้งในและต่างประเทศเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติการลับรวมทั้งการพบปะประชุมและชักชวนแหล่งข่าวและสายลับ ทั้งนี้ การล้วงความลับหรือการเอาชนะความท้าทายด้านการข่าวกรองที่เกิดจากโควิด-19 ไม่เหมือนภาพยนต์ฮอลลีวูด ซึ่งสามารถใช้เทคนิคแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว[1]
หากเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ การสวมหน้ากากอนามัยแทบทุกหนทุกแห่งเพื่อป้องกันโควิด-19 จะเป็นยุคทองของการไม่เปิดเผยตัวตนและการพบปะทางลับ แต่นี่ไม่ใช่ฮอลลีวูดและความเป็นจริงก็แตกต่างอย่างมาก การจำกัดการเดินทางได้สร้างความเสียหายให้กับการรวบรวม HUMINT ขณะที่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ไม่ได้ทำอะไรมากนักในการปกป้องผู้ที่สวมใส่จากการถูกตรวจพบและพิสูจน์ทราบตัวตน
แม้การเดินทางและการชุมนุมอาจถูกระงับไว้เป็นการชั่วคราว แต่ความต้องการข่าวกรองเพื่อความมั่นคงแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ ยัคงความเร่งด่วนเช่นเดิม เพราะการเผยแพร่เรื่องเล่าและอุดมการณ์สุดโต่งยังคงดำเนินไปพร้อมกับการแพร่กระจายไวรัส หน่วยงานข่าวกรองต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา โดยคำนึงถึงความจำเป็นด้านปฏิบัติการลับตามปกติ รวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุขและสภาพแวดล้อมการทำงานที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ อาชญากร ผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งก็ถูกบังคับให้ต้องปรับตัวเช่นกัน
ผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศอยู่ในภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ตั้งแต่การแพร่ระบาดเมื่อต้นปี 2020 จนถึงครึ่งทางของปี 2021 การแพร่ระบาดชะลอตัวและเพิ่มขึ้นในบางประเทศ การเข้าถึงและกระจายวัคซีนยังคงไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก การปฏเสธวัคซีนของประชากรจำนวนมากในสหรัฐฯทำให้มีวัคซีนเกินความต้องการ ส่วนในยุโรปและออสเตรเลียความลังเลใจเกี่ยวกับวัคซีนซึ่งมีหลายประเภท/รุ่นทำให้อัตราการฉีดวัคซีนชะลอตัวลง
ขณะเดียวกัน อัตราการฉีดวัคซีนในแอฟริกา เอเชียและอเมริกาใต้ลดต่ำลงอย่างน่าตกใจ เนื่องจากปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถควบคุมการกลายพันธุ์ของไวรัส ล่าสุด “สายพันธ์เดลต้า” กลายเป็นปัญหาเกือบทุกที่ โดยเฉพาะชุมชนที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ ทั้งนี้ การดำเนินงานที่แตกต่างกันของหน่วยข่าวกรอง สำนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงาน ก่อให้เกิดความท้าทายในการแบ่งปันข้อมูลและความร่วมมือด้านข่าวกรอง ซึ่งจำเป็นในการทำความเข้าใจและตอบสนองแนวความคิดแบบสุดโต่ง ภายใต้ยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายภายในประเทศฉบับใหม่ของสหรัฐฯ
ความไม่เท่าเทียมในการกระจายวัคซีนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ผู้แทนหน่วยข่าวกรองตะวันตกสามารถเดินทางระหว่างประเทศกลุ่มตนได้อย่างง่ายดาย ขณะที่ข้อจำกัดด้านสาธารณสุขทำให้ “เป้าหมายที่มีการระวังป้องกันเป็นอย่างดี (hard target)” แข็งแกร่งมากขึ้น ความท้าทายประการหนึ่งคือ สายลับตะวันตกมักจะพบปะแหล่งข่าวใน “hard target” ในประเทศที่สาม โดยทั้งสองฝ่ายสามารถเดินทางด้วยความปลอดภัยและความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ข้อจำกัดการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้การพบปะแหล่งข่าวกลายเป็นความสับสนอลหม่านหรือช้าลง ส่งผลต่อการรวบรวมข่าวกรอง แม้องค์การข่าวกรองไม่เคยพึ่งพาการรวบรวมเพียงวิธีเดีย ข่าวกรองทางบุคคล (HUMINT) เป็นหนึ่งในหลายแหล่งที่มาของข่าวกรองและข่าวสาร (INT) รวมถึงข่าวกรองทางสัญญาณ (SIGINT) ข่าวกรองทางการภาพ (IMINT) และข่าวกรองทางอัตลักษณ์และร่องรอย (MASINT) ข่าวกรองจากแหล่งเปิด (OSINT) มีคุณค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของหน่วยข่าวกรองและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ
หน่วยข่าวกรองมีวิธีสื่อสารกับแหล่งข่าวอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การรั่วไหลของข่าวสารและการเจาะระบบสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ทำให้วิธีการเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนการพบปะแบบเผชิญหน้า นอกจากนี้ ผู้คนยังเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมและการปฏิสัมพันธ์ทางออนไลน์ ซึ่งไม่เหมือนการพบปะประชุมในชีวิตจริง แม้มีการเข้ารหัสข้อมูลบางอย่างซึ่งจะต้องส่งถึงมือโดยตรง ตามหลักการง่าย ๆ คือ ยิ่งข้อมูลมีความละเอียดอ่อนมากเท่าใด วิธีการจัดส่งก็จะมีลักษณะเป็นพื้นฐานมากขึ้นเท่านั้น ตราบเท่าที่โควิด-19 ยังคงรบกวนการเคลื่อนไหวและปฏิสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง
ความท้าทายเหล่านี้ ไม่ได้เป็นข่าวร้ายสำหรับหน่วยข่าวกรอง การประชุมทางวิดีโอที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนสร้างโอกาสใหม่ในการรวบรวมข่าวสาร ความสะดวกของผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Zoom น่าดึงดูดใจ แต่หน่วยข่าวกรองมองว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่บรรลุได้ง่าย ซึ่งไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก (low hanging fruit) ในการตัดสินใจทางธุรกิจไปจนถึงการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์
การร่วมมือกันทางอินเทอร์เน็ตมีผลในเชิงบวกอย่างมาก แต่เทคโนโลยีทั้งหลายยังมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยรวมทั้งข้อกังวลและข้อเสียที่ต้องพิจารณาด้วย ปัญหานี้ไปไกลกว่าการสตรีมวิดีโอรวมทั้งการแชร์ไฟล์ อีเมลที่ไม่ได้เข้ารหัสและพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่มีความเสี่ยงต่อแรนซัมแวร์ มัลแวร์และการจารกรรมทางอินเทอร์เน็ต (cyberespionage)
การปรับตัวเข้ากับสังคมและพฤติกรรมรวมทั้งวิธีการสื่อสารรูปแบบใหม่ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของความพยายามในการรวบรวมข่าวกรองทางบุคคลในยุคหลังโควิด-19
[1] THE CHANGING NATURE OF ESPIONAGE & INTELLIGENCE DURING THE PANDEMIC INTELBRIEF Tuesday, July 6, 2021 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/the-changing-nature-of-espionage-intelligence-during-the-pandemic?e=c4a0dc064a
Leave a Comment