เรือดำน้ำในอินโด-แปซิฟิก: โดนแทงข้างหลังเจ็บนี้อีกนาน

ที่มาภาพ: https://www.economist.com/europe/2021/09/25/frances-humiliation-by-america-will-have-lasting-effects

วามตกลงร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย-อังกฤษ-สหรัฐฯ (AUKUS) นอกจากสะท้อนการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ยังเป็นรากฐานสำคัญในการต่อต้านจีนที่กำลังผงาดขึ้น ขณะที่ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสกล่าวว่า AUKUS เป็นการตัดสินใจฝ่ายเดียวของสหรัฐฯที่ “โหดร้าย คาดเดาไม่ได้” และเป็นการ “แทงข้างหลัง” การกีดกันฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปจากความตกลงดังกล่าวไม่เพียงกระทบความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติก ยังทำให้พันธมิตรทั้งสองของสหรัฐฯเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารตามนโยบายลดการพึ่งพาสหรัฐฯ (strategic autonomy)[1]

แถลงการณ์ร่วมของผู้นำออสเตรเลีย อังกฤษและสหรัฐฯ เมื่อ 15 กันยายน 2021 ประกาศความร่วมมือด้านความมั่นคงไตรภาคีซึ่งเรียกว่า AUKUS โดยสหรัฐฯและอังกฤษตกลงที่จะช่วยเหลือออสเตรเลียจัดสร้างและประจำการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเป็นการท้าทายโดยตรงต่ออิทธิพลทางทะเลของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐฯในยุโรปได้รับความเสียหายทางอ้อม เนื่องจากออสเตรเลียยกเลิกข้อตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซลของฝรั่งเศสจำนวน 12 ลำ มูลค่า 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ    

ความตกลง AUKUS เป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีไบเดนที่หันมามุ่งเน้นภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของกลยุทธ์ต่อต้านจีนที่กำลังเติบโต เรือดำน้ำถูกออกแบบมาเพื่อสร้างดุลอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ยุทโธปรณ์แบบนี้สามารถอยู่ใต้น้ำได้เป็นระยะเวลานานหลายเดือน ตรวจจับได้ยากและอาจติดตั้งจรวดร่อน (cruise missile) ความตกลง OKUS ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วม (interoperability) ระหว่างออสเตรเลียและกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯด้วย

          ทางด้านฝรั่งเศสตอบโต้สหรัฐฯและออสเตรเลียอย่างรุนแรง โดยเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตันและแคนเบอร์รากลับประเทศ ความตกลงดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการดูแคลนที่น่าอับอายสำหรับฝรั่งเศสซึ่งเชื่อว่า เป็นการตัดสินใจฝ่ายเดียวของสหรัฐฯโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับพันธมิตรที่ยาวนานเช่นตนรวมถึงการถอนตัวและการอพยพจากอัฟกานิสถานแบบไม่เรียบร้อย ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสกล่าวกับรายการวิทยุของฝรั่งเศสว่าข้อตกลง AUKUS เป็นการตัดสินใจฝ่ายเดียวที่ “โหดร้าย คาดเดาไม่ได้" และเป็นการ “แทงข้างหลัง”

บางคนในวอชิงตันเชื่อว่า ความไม่พอใจของฝรั่งเศสเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการทูตน้อยกว่าผลกระทบต่อการเตรียมการทางธุรกิจ ฝรั่งเศสรู้สึกว่าตนไม่ได้รับแจ้งเรื่องความเป็นหุ้นส่วนก่อนที่จะมีการประกาศ มิหนำซ้ำยังถูกดูแคลนและสูญเสียสัญญาจัดสร้างเรือดำน้ำมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดหวังว่าประธานาธิบดีไบเดนจะเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศที่คาดเดาได้และพร้อมรับมือมากกว่านี้ ความผิดหวังของฝรั่งเศสจึงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและสะท้อนจากท่าทีของสหภาพยุโรป

          ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสได้เสนอนโยบายลดการพึ่งพาสหรัฐฯมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสมดุลกับพลังอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของจีน ส่วนอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน มีท่าทีที่เป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “Global Britain” หลัง Brexit สำหรับออสเตรเลีย การเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับอังกฤษและสหรัฐฯเหมาะสมกว่าข้อตกลงทวิภาคีกับฝรั่งเศส พันธมิตรยุโรปบางชาติไม่ต้องการยั่วยุจีน โดยมองว่าความร่วมมือของจีนในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการค้าเป็นสิ่งสำคัญ

เอกสารนโยบายเรื่อง “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของสหภาพยุโรปในอินโด-แปซิฟิก” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้เรียกร้องให้มีส่วนร่วม “หลายแง่มุม” กับจีนรวมทั้งความร่วมมือที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดย “ผลักดัน” ประเด็นที่ยังมีความ “ขัดแย้งพื้นฐาน” การถูกกีดกันจากการเป็นหุ้นส่วนข้อตกลง AUKUS อาจทำให้ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปห่างเหินสหรัฐฯมากขึ้น พันธมิตรทั้งสองอาจเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณด้านการป้องกันประเทศและพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารโดยดำเนินนโยบายลดการพึ่งพาสหรัฐฯ

          ความแตกแยกของพันธมิตรข้ามแอตแลนติคอาจเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ไม่ควรมองข้ามรากฐานสำคัญ กล่าวคือ กว่าหนึ่งทศวรรษหลังการ “ปักหมุดเอเชีย” ของรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา ดูเหมือนว่าสหรัฐฯกำลังปรับเปลี่ยนนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายที่ดำเนินมาตลอด 20 ปีไปสู่การสร้างพันธมิตรเพื่อปิดล้อมอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในอินโด-แปซิฟิกหรือในอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ดี ไม่ควรพิจารณายุทธศาสตร์ทั้งสองแยกจากกัน องค์ประกอบหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ การเกิดขึ้นของความร่วมมือด้านความมั่นคงสี่ฝ่าย (Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งเป็นการเจรจาเชิงกลยุทธ์ระหว่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดียและญี่ปุ่น

สหรัฐฯและพันธมิตรยังต้องสร้างสมดุลระหว่างการเตรียมพร้อมเพื่อการแข่งระหว่างมหาอำนาจอันยิ่งใหญ๋กับวัตถุประสงค์ที่สำคัญอื่น ๆ รวมทั้งการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ ขณะที่จีนต่อต้านความพยายามของชาติอื่น ๆ ในการควบคุมการเติบโตอย่างรวดเร็วของตนและแสดงความข้องใจเกี่ยวกับ “แนวความคิดเรื่องสงครามเย็น” ซึ่งประเทศตะวันตกได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า การตอบสนองความก้าวร้าวของจีนในเชิงกลยุทธ์มีความสำคัญต่อความมั่นคงในระยะยาวของภูมิภาค



[1] THE TRANSATLANTIC FALLOUT OVER AUKUS AND WHAT IT MEANS FOR CONTAINING CHINA INTELBRIEF Wednesday, September 22, 2021 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/the-transatlantic-fallout-over-aukus-and-what-it-means-for-containing-china?e=c4a0dc064a

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.