รัสเซียคิดจะทำอะไรกับยูเครน: นโยบายประหยัดต้นทุน (ตอนที่ 2)
ที่มาภาพ: https://nypost.com/2022/02/17/a-break-down-of-whats-going-on-in-vladimir-putins-head/
“I can’t get inside the head of President Putin, I’m not going to speculate as to his motivations, his intentions, or, at this point, his decisions.” Jake Sullivan White House national security adviser.
สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) และหน่วยงานข่าวกรองอื่น ๆ ของสหรัฐฯพยายามเพิ่มความถี่ (ramp up) ในการผลิตข่าวกรอง (ที่ไม่มีชั้นความลับ) ให้ชาวโลกเชื่อว่ารัสเซียจะบุกยูเครนภายในวันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2022 เช่นเดียวกับการบุก (อย่างไม่คาดหมาย) เพื่อผนวกไครเมียเมื่อปี 2014 แต่ในความเป็นจริงพวกเขายังคงพยายามหาทางเข้าถึงบุคคลวงในของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เพื่อสืบทราบแผนการรบและความตั้งใจของผู้นำรัสเซีย[1]
หลังจากที่ “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ในวันดังกล่าว ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าประธานาธิบดีปูตินเปลี่ยนแผนการบุกเพราะการ “แจ้งเตือน” ของสหรัฐฯหรือ “ข่าวกรอง” ที่รวบรวมได้ไม่สมบูรณ์ ล้าสมัย (oudated) หรือขาดความแม่นยำ (inaccurate) ทำให้โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศรัสเซียเกทับว่า เราไว้ใจสหรัฐฯไม่ได้ (U.S. can’t be trusted) และไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกสิ่งที่สหรัฐฯพูดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับยูเครน
เหตุผลของความไม่แน่นอน (uncertainty) ทั้งที่สหรัฐฯมีระบบข่าวกรองทางสัญญาณ (SIGINT) ที่ทันสมัยสุดล้ำในการตรวจจับการสื่อสารของฝ่ายปรปักษ์และข่าวกรองทางการภาพ (IMINT) ที่สามารถเฝ้าตรวจทางอากาศพร้อมภ่ายภาพเป็นหลักฐานก็ตาม แต่การชักชวน (recruit) สายลับแทรกซึม (penetration) เข้าไปสืบข่าววงในของระบอบอำนาจนิยมแบบปูตินเป็นเรื่องยากและมีความเสี่ยงสูง (รัฐบาลไบเดนปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดเบื้องหลังการรวบรวมข่าวกรองด้วยเหตุผลความจำเป็นในการปกป้องสถานะของ “แหล่งข่าว”)
แล้วรัสเซียคิดอย่างไรกับยูเครน? เมื่อรัสเซียเข้าแทรกแซงยูเครนในปี 2014 หลังการเดินขบวนเรียกร้องการบูรณาการกับยุโรป (Maidan Revolution)[2] และถอดถอนประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช รัสเซียใช้แนวทางประหยัดต้นทุนโดยไม่ได้เปิดฉากการรุกครั้งใหญ่ แต่ส่งกองกำลัง (ไม่ระบุสังกัด) ไปยังคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการยุทธศาสตร์และสิ่งอำนวยความสะดวกของกองเรือทะเลดำ จากนั้นจึงเข้า “ดำเนินการ” ในยูเครนโดยปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อและจัดการลงประชามติเพื่อผนวกไครเมียตาม “เจตจำนงของประชาชน (will of the people)” โดยไม่ต้องยึดครองดินแดนยูเครน เนื่องจากแนวทางของรัสเซียไม่ใช่การทำสงครามเต็มรูปแบบและไม่มีเป้าหมายยึดครองกรุงเคียฟ
แทนที่จะลงโทษและกำราบรัฐบาลใหม่ของยูเครน รัสเซียจัดตั้งกองกำลังแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของประเทศโดยให้เงินทุนติดอาวุธและส่งกองกำลังสนับสนุน (ไม่ระบุสังกัด) เพื่อปฏิเสธการมีส่วนร่วมในเหตุจลาจลที่ (น่าจะ) เกิดขึ้นเอง (spontaneous uprising) ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงมีอำนาจเหนือยูเครนด้วยต้นทุนต่ำ
นับเป็นเวลา 8 ปี หลังจากความขัดแย้งได้เริ่มขึ้น รัสเซียเคลื่อนกองกำลังจำนวนมากประชิดชายแดนยูเครนโดยใช้วิธีการแบบเดิม ๆ เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022 ประธานาธิบดีปูตินลงนามในเอกสารรับรองเอกราชของเขตปกครองดอแนตสก์และลูฮันสก์และสั่งเคลื่อนกำลังเข้าพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็มีคำถามว่ารัสเซียตั้งใจเคลื่อนกำลังขนาดใหญ่เพื่อยึดครองยูเครน?
รัสเซียไม่ได้สูญเสียอำนาจอิทธิพลเหนือยูเครนและภูมิภาคดอนบัส (ประชากร 3.6 ล้านคนส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย) แต่อย่างใด และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่กองทัพยูเครนจะสามารถยุติการเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุน หากรัสเซียต้องการกดดันรัฐบาลยูเครนก็สามารถทำได้โดยการขยายความขัดแย้งทางตะวันออก โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารจำนวนมาก
กองกำลังทหารขนาดใหญ่ที่ตั้งประชิดแนวชายแดน สร้างความเสียหายและบ่อนทำลายเศรษฐกิจของยูเครนอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจในรัสเซียไม่เห็นว่าจะมีภัยคุกคามจาก “ยูเครนที่เป็นประชาธิปไตย” และการชุมนุมประท้วงเพื่อบูรณาการกับยุโรปก็ไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยอีกต่อไป
ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในช่วงเช้า 24 กุมภาพันธ์ 2022 คงไม่ได้มีเป้าหมายเข้ายึดกรุงเคียฟ แต่เป็นทางตะวันตกของยูเครน รัสเซียต้องการให้ตะวันตกเจรจาในประเด็นความมั่นคงของยุโรป ซึ่งดูเหมือนว่ากลยุทธ์นี้จะได้ผล ตั้งแต่ปี 1991 เป็นครั้งแรกที่ชาติตะวันตกร่วมมือกับรัสเซียอย่างจริงจัง เพื่อหารือเกี่ยวกับความมั่นคงของยุโรป
เจ้าหน้าที่รัสเซียเข้าใจว่ายูเครนจะไม่เข้าเป็นสมาชิก NATO เนื่องจากขาดความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมองค์การด้านการทหาร สิ่งที่รัสเซียกังวลก็คือ สหรัฐฯจะติดตั้งขีปนาวุธหรือองค์ประกอบการป้องกันขีปนาวุธในดินแดนยูเครนหรือไม่
รัสเซียต้องการให้มีการชำระสะสางปัญหาหลายเรื่อง รวมทั้งยุติการติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในยุโรปและจำกัดการซ้อมรบบริเวณใกล้พรมแดนรัสเซีย เมื่อ 17 ธันวาคม 2021 รัสเซียได้แจ้งข้อเสนอเกี่ยวกับความต้องการของตนถึง NATO และสหรัฐฯ
หลังจากนี้รัสเซียจะเอายังไงต่อ? จนกว่าจะรู้สึกว่าได้หลักประกันความมั่นคงที่จำเป็น รัสเซียจะยังคงรักษาแรงกดดันทางทหารบริเวณชายแดนยูเครนต่อไป โดยอาจติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในเบลารุสหรือจุดอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น จอร์เจีย
รัสเซียอาจซ้อมรบในบริเวณใกล้ยุโรปตะวันตกมากขึ้น ล่าสุดมีการซ้อมรบทางทะเลใกล้ไอร์แลนด์หรืออาจแสดงขีดความสามารถทางทหารบริเวณใกล้พรมแดนสหรัฐฯ โดยติดตั้งขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกบนเรือดำน้ำหรือติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกลในเวเนซุเอลา เป็นต้น
กล่าวอีกนัยหนึ่งวิกฤติรัสเซีย – ยูเครน เป็นกระบวนการต่อรองเพื่อผลลัพธ์ที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในการป้องปราม (Deterrence) และการบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำตาม (Compellence) มาตรการเหล่านี้ถูกคิดคำนวณถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ที่รัสเซียจะทำสงครามขนาดใหญ่เพื่อยึดครองเพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น
[1] Why U.S. Spies Can Watch Russian Troops but Not Guess Putin’s Next Move on Ukraine By Warren P. Strobel The Wall Street Journal Updated Feb. 16, 2022 3:24 pm ET Available at: https://www.wsj.com/articles/why-u-s-spies-can-watch-russian-troops-but-not-guess-putins-next-move-11645030376
[2] ยูโรไมดาน วิกิพีเดีย เข้าถึงได้ที่: https://th.wikipedia.org/wiki/ยูโรไมดาน
Leave a Comment