Web3 หมายถึงอะไร (ตอนที่ 2)

 

ที่มาภาพ: https://blog.hyperiondev.com/index.php/2018/11/05/heres-know-web-3-0/

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับ web3 คนส่วนใหญ่เชื่อว่า AI จะมีส่วนสำคัญใน web3 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ (machine-to-machine) และการตัดสินใจซึ่งจำเป็นในการเรียกใช้แอปพลิเคชัน web3 จำนวนมาก

แล้ว metaverse มีความเหมาะสมกับ web3 อย่างไร แนวคิดสำคัญของ web3 ที่ต้องพูดถึงคือ ความเกี่ยวข้องกับ metaverse คำว่า “metaverse” ครอบคลุมส่วนหน้า (front-end) ของอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราใช้โต้ตอบ ออนไลน์รวมทั้งติดต่อสื่อสารและจัดการข้อมูล

ในกรณีที่คุณพลาดการโฆษณาเกินจริง แนวคิดของ metaverse คือ อินเตอร์เน็ตที่ให้ประสบการณ์อันน่าประทับใจและความต่อเนื่องในการการเข้าสังคมโดยใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality VR) และความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality - AR) ทำให้เราโต้ตอบกันแบบดิจิทัลอย่างเป็นธรรมชาติและสมจริง เช่น การใช้มือเสมือนในการหยิบจับและจัดการวัตถุรวมทั้งการสั่งงานด้วยเสียงหรือพูดคุยกับผู้อื่น

 metaverse เป็นส่วนติดต่อประสาน (interface) ระหว่างมนุษย์กับเครื่องมือและแอปพลิเคชันบน web3 มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างแอปพลิเคชันบน web3 โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับ metaverse ตัวอย่างเช่น Bitcoin แต่เทคโนโลยี metaverse และประสบการณ์จะมีบทบาทสำคัญในการปฏิสัมพันธ์กับชีวิตของเรา

ที่กล่าวมาทั้งหมดฟังดูดีและน่าพอใจสำหรับทุกคน แต่ก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก web3 ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก Elon Musk แสดงความคิดเห็นหลายครั้งรวมทั้งระบุว่า “ตอนนี้ web3 เป็นคำศัพท์ทางการตลาดมากกว่าความเป็นจริง” และทวีตว่า “มีใครเคยเห็น web3 บ้างไหม ผมหาไม่เจอ”

ส่วน Jack Dorsey อดีต CEO ของ Twitter ตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระและเปิดกว้างของ web3 โดยกล่าวว่า “คุณไม่ได้เป็นเจ้าของ web3 เหมือนบริษัทร่วมทุน (venture capital firms) หรือหุ้นส่วนจำกัด (limited partners) ซึ่งจะไม่ละทิ้งแรงจูงใจ สุดท้ายก็คือบริษัทแบบรวมศูนย์ที่มีป้ายกำกับที่แตกต่างกัน”[1]

หลายคนไม่ชอบข้อเสนอในปัจจุบันของ web3 ที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน ซึ่งใช้พลังงานอย่างมากและมีส่วนทำให้เกิดคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น บล็อกเชนของ Bitcoin ใช้พลังงานเท่ากับที่ฟินแลนด์ใช้ทั้งประเทศ

บล็อกเชนอื่น ๆ ที่ใช้ชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ (Algorithm) สร้างฉันทามติ (Consensus) บนเครือข่ายแบบ Proof of Stake (PoS)[2] ใช้พลังงานน้อยกว่าแบบ Proof of Work (PoW)[3]  ทั้งนี้ ตัวอย่างบางส่วนของแอปพลิเคชัน web3 ได้แก่

Bitcoin – สกุลเงินดิจิทัลแรกเริ่มที่มีมานานกว่าสิบปีและมีการกระจายศูนย์ แม้ไม่ใช่ทั้งหมดในระบบนิเวศ

Diaspora – เครือข่ายสังคมไม่แสวงหาผลกำไร (แบบกระจายศูนย์)

Steemit – บล็อกเชนและแพลตฟอร์มทางสังคม

Augur – ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์

OpenSea – ตลาดซื้อขาย NFT ที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน Ethereum

Sapien – เครือข่ายสังคมกระจายศูนย์ สร้างขึ้นบนบล็อกเชน Ethereum

Uniswap – การแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลแบบกระจายศูนย์

Everledger – ห่วงโซ่อุปทานบล็อกเชน แพลตฟอร์มการตรวจสอบแหล่งที่มาและความเป็นต้นแบบ

ธุรกิจไทยกับ web3 เมื่อ 11 มีนาคม 2022 บริษัท SCB 10X (บริษัทโฮลดิ้งคอมพานีในเครือธนาคารไทยพาณิชย์) จัดงาน “SCB 10X Open House in Metaverse” ผ่านช่องทาง Zip Event และ Zoom โดยเปิดตัวสำนักงานใหญ่ (Headquarters) ใน The Sandbox แพลตฟอร์มโลกเสมือนจริงที่พัฒนาบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับทางการ[4] ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะบริษัทแม่เป็นสถาบันการเงินอันดับต้น ๆ ที่เข้าสู่โลก Metaverse และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำในโลกดังกล่าว[5]


[1] Web3 fans and venture investors return fire after Jack Dorsey’s disparaging tweet BY JEREMY KAHN FORTUNE December 23, 2021 Available at: https://fortune.com/2021/12/22/web3-backers-dispute-jack-dorsey-tweets-cryptocurrency-blockchain/

[2] อัลกอริธึมที่นิยมใช้สร้าง Consensus บนบล็อกเชน แทนที่ผู้ใช้จะแข่งกันแก้โจทย์สมการ PoS เป็นการวางสินทรัพย์ค้ำประกันหรือ Stake เหรียญไว้ในระบบ เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม PoS ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของ Proof of Work ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลไปกับการขุด

[3] กลไกหลักเป็นการแก้โจทย์ที่ระบบกำหนดมาเพื่อหาค่าสมการที่ถูกต้อง ผู้ใช้ทุกคนที่อยู่บนบล็อกเชนประเภทนี้จะมีสิทธิ์ในการเข้าร่วม โดยผู้มีส่วนร่วมในเครือข่ายนี้มักถูกเรียกว่า “นักขุด” PoW ถูกคิดค้นเพื่อแก้ไขปัญหา Double-spending หรือการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลหนึ่งหน่วยมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยผู้สร้างได้เพิ่มกลไกลายเซ็นต์ดิจิทัล (Digital signature) เพื่อกำกับเวลาที่ใช้เหรียญนั้น ๆ เพื่อไม่ให้นำไปใช้ซ้ำ

[4] SCB 10X บุกโลก Metaverse เปิดตัวสำนักงานใหญ่บน The Sandbox สร้างโอกาสในโลกอนาคต เว็บไซต์ธนาคารไทยพาณิชย์ เข้าถึงได้ที่ https://www.scb.co.th/th/about-us/news/mar-2565/scb-10x-metaverse.html

[5] SCB จ่อให้บริการทางการเงินบนโลก Metaverse "ATM-สาขา-Investment Center" กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 11 มีนาคม 2565 เข้าถึงได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com/business/993128

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.