“ความลับ” แบบ “เปิดเผย” (ข่าวกรองจากแหล่งเปิด)

 

ที่มาภาพ: Karolina Hird, a Russia Analyst, works at her desk at the Institute for the Study of War, Wednesday, Jan. 112023, in Washington. (AP Photo/Alex Brandon)ALEX BRANDON https://www.usnews.com/news/politics/articles/2023-01-12/us-spies-lag-rivals-in-seizing-on-data-hiding-in-plain-sight

มรรถนะของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯโดยเฉพาะสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ยังคงตามหลังคู่แข่งในการใช้ประโยชน์ข่าวกรองจากแหล่งเปิด (Open-Source Intelligence OSINT)[1] ที่พร้อมใช้งานอย่างแพร่หลายและทวีความซับซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนใหม่ ขณะเดียวกันข่าวกรองทางบุคคล (Human Intelligence HUMINT)[2] ยังคงมีความสำคัญอย่างมากและหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องแสวงหานวัตกรรมและแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อกับ OSINT เพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด[3]

          คำขวัญและคติพจน์อย่างไม่เป็นทางการของ CIA ที่ว่า “If it isn’t secret, it isn’t important.” สะท้อนถึงการให้ความสำคัญอย่างมากกับ “ข่าวลับ” ทั้งที่หน่วยงานข่าวกรองต่างประเทศ (foreign intelligence) ของสหรัฐฯแห่งนี้ได้ริเริ่มพัฒนาขีดความสามารถทาง OSINT มานานแล้ว แต่ยังคงเป็นเพียงหลักการขั้นพื้นฐาน

หลายทศวรรษที่ผ่านมาประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯและ CIA ปฏิบัติภารกิจโดยมุ่งเน้นการรวบรวม “ข้อมูลลับ” เป็นสำคัญทำให้มองไม่เห็น “ความลับ” ที่ “เปิดเผย” อยู่แล้ว แม้ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ ดังนั้น ข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายสนับสนุนข้อมูลลับและข่าวกรองจากแหล่งเปิดจึงมิได้จางหายไป

ข้อมูลเกี่ยวกับการปรึกษาหารือภายในของฝ่ายตรงข้ามมิได้ถูกซ่อนอยู่ใน “ข่าวเปิด” แม้อาจตรวจสอบได้โดยการศึกษาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ แต่ความตั้งใจ (intention) หรือ “สัญญาน” ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความปั่นป่วนหรือขัดแย้งระดับโลก เช่น โรคระบาด ปัญหาการขนส่งสินค้า (global shipping issues) หรือการรุกราน (ยูเครน) มักปรากฎให้เห็นอยู่โต้ง ๆ (hidden in plain sight)

ด้วยเหตุนี้ประชาคมข่าวกรองจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับ OSINT มากขึ้น โดยเพิ่มขีดความสามารถเชิงลึกทางด้านภาษาและวัฒนธรรม เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และประมวลผลอย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นว่าประชาคมข่าวกรองยังคงตามทันแหล่งข่าวสารแบบใหม่ (on top of new source of information)

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ นสพ. Wall Street Journal ระบุว่า สหรัฐฯยังคงล้าหลังจีนในด้านประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จาก OSINT[4] สื่อจำนวนมากก็รับรู้ถึงข้อบกพร่องของสหรัฐฯในการเผชิญหน้ากับคู่แข่งทางภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical rival) ปัญหา OSINT แตกต่างจากประเด็นอื่น ๆ ไม่ใช่ว่าสหรัฐฯขาดความสามารถ แต่เป็นเพราะการยืนกรานว่า OSINT ไม่สำคัญ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง CIA เห็นว่า “ข่าวเปิด” เป็นเรื่องของมือสมัครเล่น ส่วนมืออาชีพต้อง “ข่าวลับ” มองแบบผิวเผินบริษัทสื่อเชิงสืบสวน เช่น Bellingcat[5] ก็น่าจะทำให้เงื่อนงำความคิดนี้หายไป ขนาดของความท้าทายที่สหรัฐฯเผชิญอยู่ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่เพียงวิธีการรวบรวมข้อมูล แต่รวมถึงการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จาก OSINT ซึ่งจะต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่แทนการผลักภาระให้ประชาคมข่าวกรอง

          OSINT ไม่ใช่ความลับ แต่การได้มาซึ่งข่าวสารหรือทำความเข้าใจของสาธารณชนก็ไม่ง่ายนัก บางครั้ง OSINT มีลักษณะไม่แน่นอน ในแง่นี้ความเป็นสาธารณะหมายถึงข่าวสารหรือข้อมูลที่ปรากฎโดยไม่เป็นความลับและไม่แสวงหาประโยชน์ทางเทคนิค ไม่จำเป็นต้องเจาะระบบ (hack) จารกรรมหรือปฏิบัติการลับ ข้อมูลจำนวนมากไม่ได้ปรากฏบน Google แต่ต้องอาศัยการสืบค้นอย่างต่อเนื่อง

 การค้าหรืออุตสาหกรรมสำคัญที่ครอบคลุมตั้งแต่น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซจนถึงการขนส่งและ logistics มีข้อมูลพร้อมใช้จำนวนมากถึง terabytes[6] petabytes[7] และ exabytes[8] บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ อาทิ สถาบันการเงิน บริษัทสื่อสังคม เครือข่ายบริการสุขภาพและค้าปลีกระดับโลกได้พัฒนาความสามารถด้านข่าวกรองภายในองค์กรของตนโดยมุ่งเน้นแนวโน้มปรากฎใหม่ พฤติกรรมผู้บริโภค การบรรเทาความเสี่ยงและภูมิศาสตร์การเมือง

ข้อมูลและการวิเคราะห์ดังกล่าวถือเป็น OSINT ถูกใช้ในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ประเมินแนวโน้มและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์รวมทั้งรับมือความท้าทายทางสังคม แม้การใช้เทคโนโลยีบางอย่างยังคงเป็นความลับทางการค้า ข้อมูลที่ผู้คนหลายล้านคนยินยอมมอบให้ search engines และสื่อสังคมออนไลน์ภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์โดยเต็มใจหรือบางครั้งก็ไม่เจตนานั้น เป็นสิ่งหมายปองของประประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯซึ่งจะต้องเวลารวบรวบนานกว่าหนึ่งทศวรรษ

กลุ่มต่าง ๆ ใช้ประโยชน์ OSINT เพื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย แต่ประชาคมข่าวกรองของสหรัฐฯกลับไม่ได้ใช้ภาพรวมในการทำความเข้าใจประเด็นสำคัญที่เล็กกว่า การทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากข่าวกรองดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคใหม่ของการแข่งขันอำนาจและการใช้เทคโนโลยีปรากฎใหม่ท่ามกลางความขัดแย้ง

          การหันเหความสนใจไปยัง OSINT ของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ จะต้องไม่ขยายการตรวจสอบความเป็นส่วนตัวของบุคคลหรือติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ หรือปัญหาทางการเมือง อนึ่ง รัฐบาลสหรัฐฯมีประวัติการ “เข้าถึง” ข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินไป

ทรัพยากรที่สหรัฐฯอุทิศให้กับความท้าทายใด ๆ สองสิ่งที่มีค่าที่สุดคือ เวลาและจุดมุ่งเน้น สหรัฐฯไม่สามารถตรวจสอบทุกสิ่งเพราะจะทำให้ไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ประชาคมข่าวกรองควรอำนวยความสะดวกและให้อำนาจติดตามปัญหาแบบทันท่วงที (real time) และหมั่นวิเคราะห์ประเด็นทางยุทธศาสตร์ตามลำดับความสำคัญที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

ลำดับความสำคัญเหล่านี้มีอยู่ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (National Security Strategy of the United States NSS), โครงข่ายงานข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Priorities Framework NIPF) และข้อกำหนดการรายงานที่ได้รับมอบอำนาจอื่น ๆ ความท้าทายของประชาคมข่าวกรองคือ การใช้ OSINT เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินกลยุทธ์ของรัฐบาล

ความไม่ทัดเทียมของขีดความสามารถทางการข่าวกรองหรือ “ช่องว่างข่าวกรองจากแหล่งเปิด (OSINT gap)” ในปัจจุบันมีความสำคัญยิ่งกว่า “ช่องว่างขีปนาวุธ (missile gap)” ในยุคสงครามเย็น ซึ่งมีการประเมินว่าจำนวนและอานุภาพขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile - ICBM) ของสหรัฐฯด้อยกว่าสหภาพภาพโซเวียต

OSINT gap อาจแก้ไขได้ด้วยการทำความเข้าใจและปรับจุดมุ่งเน้นขีดความสามารถที่มีอยู่ใหม่ โดยใช้ OSINT เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข่าวกรอง ทั้งนี้ ความท้าทายของการทำความเข้าใจสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยไม่ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นแรงกดดันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน



[1] หมายถึง ข่าวสารที่รวบรวมจากแหล่งสาธารณะโดยมุ่งหมายตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านการข่าวกรอง ทั้งนี้ แหล่งสาธารณะอาจเป็นแบบไม่ต้องเสียเงินหรือต้องเสียค่าสมาชิก (free and subscription-based) ทั้งแบบ online หรือ offline ทั้งนี้ OSINT ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่บนอินเตอร์เน็ต แม้บนเครือข่ายดังกล่าวมีข้อมูลข่าวสารที่มีคุณค่าจำนวนมหาศาล สื่อมวลชน องค์กรสาธารณ คลังสมอง (think tank) มหาวิทยาลัย NGOs และองค์กรของเอกชนล้วนเป็นแหล่งที่มาของข่าวสารจากแหล่งข่าวเปิด (OSINF)

[2] การส่งบุคคลลงพื้นที่เข้าไปหาข่าว (ข้อมูลดิบ) เพื่อดำเนินกรรมวิธีผลิตข่าวกรองที่มีความเชื่อถือหรือการรวบข่าวกรองโดยใช้บุคคล เช่น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายลับ

[3] THE SECRETS ARE OUT IN THE OPEN INTELBRIEF Monday, January 9, 2023 Available at:  https://mailchi.mp/thesoufancenter/the-secrets-are-out-in-the-open?e=c4a0dc064a

[4] Open-Source Intel: Are U.S. Spy Agencies Falling Behind? By Wall Street Journal Dec 14, 2022 3:37 am Available at: https://www.wsj.com/video/series/tech-news-briefing/open-source-intel-are-us-spy-agencies-falling-behind/01F2F90D-3EDA-44D7-8D34-D01B05F0D39A

[5] เว็บไซต์สื่อสารมวลชนเชิงสืบสวนของอังกฤษที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลข่าวกรองจากแหล่งเปิด (OSINT) ก่อตั้งเมื่อกรกฎาคม 2014 โดย Eliot Higgins นักข่าวชาวอังกฤษเผยแพร่ผลการวิจัยของทั้งมืออาชีพและประชาชน เข้าถึงได้ที่ https://hmong.in.th/wiki/Bellingcat

[6] Terabyte ใช้คำย่อว่า TB เป็นหน่วยที่ใช้วัดความจุของคลังข้อมูลขนาดใหญ่ 1 terabyte มีค่าเท่ากับ 1,099,511,627,776 ไบต์ หรือเท่ากับ 2 ยกกำลัง 40 ไบต์      

[7] Petabyte ใช้ตัวย่อว่า PB เป็นหน่วยวัดขนาดของข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เช่น ใช้เป็นหน่วยวัดความจุของหน่วยความจำหรือฮาร์ดดิสก์มีขนาดอ้างอิงคร่าว ๆ คือ 1 PB =1,000,000,000,000,000 ไบต์ (หนึ่งพันล้านล้านไบต์) ใช้ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์และในวิศวกรรมสื่อสารหรือ 1,024 TB = 1 PB

[8] Exabyte ใช้ตัวย่อว่า EB เป็นหน่วยวัดขนาดของข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เช่น ความจุของหน่วยความจำหรือฮาร์ดดิสก์เอกซะไบต์มีขนาดอ้างอิงคร่าวๆ คือ 1 EB = 1,000,000,000,000,000,000 ไบต์ (หนึ่งล้านล้านล้านไบต์) หรือ 1,024 PB = 1 EB

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.