สงครามแย่งดินแดนและความพ่ายแพ้จิตและใจ (Losing Hearts and Minds) (ตอนที่ 3)

ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2023/11/27/palestine-and-israel-brief-history-maps-and-charts

“ข่าวกรอง” มี “ฤทธิ์” วิชญะ ตาปสนันทน์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

มื่อ 24 ธันวาคม 2023 เนทันยาฮู นายกรัฐบมนตีอิสราเอลกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “นี่จะเป็นสงครามระยะยาว (จนกว่า) กลุ่มฮามาสจะถูกกำจัดจนหมดสิ้นและเราสามารถนำเสถียรภาพกลับคืนสู่ทั้งภาคเหนือและใต้ได้” ขณะที่มีรายงานว่าชาวปาเลสไตน์มากกว่า 166 คนเสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลในช่วง 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมา

ยอดผู้เสียชิวตในฉนวนกาซาเพิ่มขึ้นเป็น 20,424 คน อ้างอิงตามรายงานของสำนักงานสาธารณสุขกาซา ทางด้านอิสราเอลระบุว่ามีทหารอิสราเอลเสียชีวิต 8 คน ในช่วงหนึ่งวันที่ผ่านมาและจนถึงขณะนี้มีทหารอิสราเอล154 คน เสียชีวิตจากการต่อสู้ในฉนวนกาซา[1]

การวิจัยเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายฆ่าตัวตาย (suicide terrorists) โดย Robert A. Pape ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงประชากรขนาดใหญ่ที่สุด โดยใช้ฐานข้อมูลรูปธรรมที่น่าตกใจของบุคคล 462 คนที่ฆ่าตัวตายในภารกิจก่อการร้ายสังหารผู้อื่นระหว่างปี 1982 2003 พบว่ามีผู้ก่อการร้ายฆ่าตัวตาย (ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนา) จำนวนหลายร้อยคน[2]

 ผู้นำในการก่อการร้ายฆ่าตัวตายในช่วงเวลาดังกล่าวคือ กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam - LTTE) นิยมลัทธิมาร์กซิสต์ต่อต้านศาสนาในศรีลังกา ซึ่งก่อเหตุโจมตีฆ่าตัวตายมากกว่ากลุ่มฮามาสและ Islamic Jihad ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์ที่อันตรายที่สุด กลุ่มรวมกัน ลักษณะร่วมของผู้ก่อการร้ายฆ่าตัวตาย ร้อยละ 95 เป็นการต่อสู้เพื่อต่อต้านการยึดครองของทหารที่ควบคุมดินแดนที่พวกเขาถือว่าเป็นบ้านเกิด (homeland)

ตั้งแต่ปี 1994 - 2005 กลุ่มฮามาสและกลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์อื่น ๆ ได้ก่อเหตุโจมตีฆ่าตัวตายมากกว่า 150 ครั้ง คร่าชีวิตชาวอิสราเอลไปประมาณ 1,000 ราย เมื่ออิสราเอลถอนกำลังทหารออกจากฉนวนกาซากลุ่มเหล่านี้ก็เลิกใช้ยุทธวิธีดังกล่าวเกือบทั้งหมด

จากนั้นเป็นต้นมาชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์เพิ่มจำนวนขึ้นถึงร้อยละ 50 จึงเป็นเรื่องยากที่อิสราเอลจะควบคุมดินแดนดังกล่าวในระยะยาว มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้คิดว่าอิสราเอลอาจจะยึดครองฉนวนกาซาด้วยกำลังทหารอีกครั้งโดย “ไม่มีกำหนดระยะเวลา” ตามที่เนทันยาฮูกล่าวไว้ ซึ่งจะนำไปสู่การโจมตีแบบฆ่าตัวตายระลอกใหม่เพื่อต่อต้านพลเรือนอิสราเอลครั้งใหญ่

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์มีหลายมิติ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ช่วยให้ภาพซับซ้อนกระจ่างขึ้นได้ คือ แทบทุกปีนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 ประชากรชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์มีจำนวนเพิ่มขึ้น แม้ในปีที่มีกระบวนการสันติภาพออสโลช่วงทศวรรษ 1990 การขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานหมายถึงการสูญเสียที่ดินของชาวปาเลสไตน์

ยอสซี ดากัน ผู้ตั้งถิ่นฐานคนสำคัญและสมาชิกพรรคของเนทันยาฮูเรียกร้องให้เร่งการตั้งถิ่นฐานในฉนวนกาซาซึ่งครั้งสุดท้ายถูกถอนออกไปในปี 2005 การเติบโตของประชากรชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

หลายปีหลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1967 ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซามีจำนวนเพียงไม่กี่พันคนเท่านั้น ความสัมพันธ์อิสราเอล-ปาเลสไตน์ส่วนใหญ่มีความปรองดอง ไม่มีการโจมตีฆ่าตัวตายของชาวปาเลสไตน์และการกระทบกระทั่งกันมีเพียงเล็กน้อย

ทุกอย่างเปลี่ยนไปในปี 1977 หลังจากรัฐบาลฝ่ายขวานำโดยพรรคลิคุดขึ้นสู่อำนาจ โดยมีแนวโน้มว่าการตั้งถิ่นฐานจะขยายตัวครั้งใหญ่ จำนวนผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 4,000 คนในปี 1977 เป็น 24,000 คนในปี 1983 และเพิ่มเป็น 116,000 คนในปี 1993

ในปี 2022 ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวประมาณ 500,000 คนอาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ ยกเว้นเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งมีชาวยิวอาศัยอยู่อีก 230,000 คน เมื่อการตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น ความปรองดองระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ก็หายไป ครั้งแรกคือ การก่อตั้งกลุ่มฮามาสในปี 1987 จากนั้นก็เกิดการลุฮือ (intifada) ครั้งแรกในปี 1987 - 1993 และครั้งที่สองระหว่างปี 2000 - 2005

การขยายตัวเกือบจะต่อเนื่องของการตั้งถิ่นฐานชาวยิวเป็นเหตุผลหลักว่า ทำไมแนวนการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐจึงสูญเสียความน่าเชื่อถือตั้งแต่ทศวรรษ 1990 หากมีเส้นทางที่นำไปสู่รัฐปาเลสไตน์ในอนาคตคงจะต้องสิ้นสุดลง เหตุใดชาวปาเลสไตน์จึงควรปฏิเสธกลุ่มฮามาสและสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ในเมื่อการทำเช่นนั้นหมายถึงการสูญเสียดินแดนของพวกเขามากขึ้น

ทางออกแบบสองรัฐเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนและเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ในการบ่อนทำลายกลุ่มฮามาสอย่างแท้จริง โดยอิสราเอลสามารถและควรดำเนินการฝ่ายเดียวอย่างเป็นขั้นเป็นตอนก่อนที่จะเจรจากับชาวปาเลสไตน์

เป้าหมาย คือ การฟื้นฟูกระบวนการสันติภาพที่หยุดนิ่งตั้งแต่การเจรจาล้มเหลวครั้งล่าสุดในปี 2008 เมื่อ 15 ปีที่แล้ว อิสราเอลควรดำเนินยุทธศาสตร์การเมืองควบคู่กับการทหารและยังคงปฏิบัติการต่อผู้นำกลุ่มฮามาสและนักรบที่รับผิดชอบความโหดร้ายที่เกิดขึ้นใน ตุลาคม 2023 โดยไม่ต้องรอให้กลุ่มฮามาสพ่ายแพ้

บรรดาผู้ที่สงสัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐคิดถูกที่ว่าการกลับมาเจรจากับชาวปาเลสไตน์ทันทีจะไม่ทำให้เจตจำนงการต่อสู้ของกลุ่มฮามาสลดลง เพราะกลุ่มนี้ประกาศว่าจะกำจัดอิสราเอลให้สิ้นซากและเป็นหนึ่งในผู้พ่ายแพ้ (สูญเสีย) ในการแก้ปัญหาแบบสองรัฐ

ข้อตกลงสันติภาพห้ามชาวปาเลสไตน์ติดอาวุธ ยกเว้นคณะบริหารปาเลสไตน์ (PA) ซึ่งจะมีความชอบธรรมหากได้รับการสนับสนุนจากชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ ทั้งนี้ อิสราเอลยังคงต้องการรักษาความมั่นคง เนื่องจากไม่มีวิธีแก้ปัญหาทางการเมืองที่สามารถขจัดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายได้อย่างสมบูรณ์ในอีกหลายปีข้างหน้า

วัตถุประสงค์สำคัญเร่งด่วนควรสร้างเส้นทางที่นำไปสู่รัฐปาเลสไตน์ แม้มีผู้เห็นต่างอ้างว่าแนวทางนี้เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากอิสราเอลไม่มีพันธมิตรปาเลสไตน์ที่เหมาะสม แต่ในความเป็นจริงอิสราเอลสามารถดำเนินการขั้นตอนสำคัญได้ด้วยตนเอง

รัฐบาลอิสราเอลสามารถประกาศต่อสาธารณะว่า ตนตั้งใจที่จะให้ชาวปาเลสไตน์อยู่ในรัฐที่เลือกเคียงข้างกับรัฐยิว ประกาศความตั้งใจที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2030 โดยวางหลักสำคัญในการบรรลุเป้าหมายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ประกาศยุติการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาทันทีจนถึงปี 2030

เพื่อเป็นการวางหลักประกัน (down payment) ที่แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาแบบสองรัฐอย่างแท้จริง อิสราเอลอาจประกาศว่า เต็มใจและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ทุกประเทศในภูมิภาคและนอกเหนือจากนั้น องค์กรระหว่างประเทศทั้งหมดและชาวปาเลสไตน์ทั้งมวลที่ยินดียอมรับวัตถุประสงค์เหล่านี้

การดำเนินการทางการเมืองของอิสราเอลไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มฮามาส โดยมีเป้าหมายลดภัยคุกคามระยะสั้นจากการโจมตีของกลุ่มฮามาส การต่อต้านการก่อการร้ายที่มีประสิทธิผลจะได้ประโยชน์จากข่าวกรองจากประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะมีความหวังและทางเลือกทางการเมืองที่แท้จริงแทนกลุ่มก่อการร้าย

การเอาชนะกลุ่มฮามาสในระยะยาว ต้องผลักดันให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มฮามาสกับชาวปาเลสไตน์ การดำเนินการฝ่ายเดียวของอิสราเอลเป็นสัญญาณความมุ่งมั่นต่ออนาคตใหม่ ซึ่งจะเปลี่ยนกรอบการทำงานและพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ทำให้ชาวปาเลสไตน์มีทางเลือกนอกจากการสนับสนุนกลุ่มฮามาสและความรุนแรง

รัฐบาลอิสราเอลชุดปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะปฏิบัติตามแผนดังกล่าว ซึ่งระยะต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสหรัฐฯตัดสินใจใช้อิทธิพลของตน เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐฯอาจกดดันรัฐบาลของเนทันยาฮู เพื่อลดการโจมตีทางอากาศตามอำเภอใจ

ขั้นตอนสำคัญที่สุดที่สหรัฐฯสามารถทำได้ในตอนนี้คือ การอภิปรายสาธารณะครั้งใหญ่เกี่ยวกับพฤติกรรมของอิสราเอลในฉนวนกาซา โดยทำให้ยุทธศาสตร์ทางเลือกได้รับการพิจารณาในเชิงลึกและนำข้อมูลสู่สาธารณะชนชาวอเมริกัน อิสราเอลและผู้คนทั่วโลก

สหรัฐอาจเปิดเผยผลการประเมินของสหรัฐฯ เกี่ยวกับผลกระทบของปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาต่อกลุ่มฮามาสและพลเรือนปาเลสไตน์ รัฐสภาสหรัฐฯสามารถจัดให้มีการไต่สวนสาธารณะโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่คำถามง่าย ๆว่า ปฏิบัติการดังกล่าวก่อให้เกิดผู้ก่อการร้ายมากกว่าที่สังหารไปหรือไม่?

ความล้มเหลวของอิสราเอลในปัจจุบันเริ่มชัดเจนขึ้นทุกวัน การอภิปรายสาธารณะอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความเป็นจริงดังกล่าวประกอบกับการพิจารณาทางเลือกที่ชาญฉลาด เป็นโอกาสดีที่สุดในการโน้มน้าวอิสราเอลให้กระทำสิ่งที่ดีต่อผลประโยชน์แห่งชาติของตน



[1] อิสราเอลเตือนความขัดแย้งในกาซ่าจะเป็น "สงครามระยะยาว" ธันวาคม 25, 2023 ข่าวสดสายตรง VOA เข้าถึงได้ที่ https://www.voathai.com/a/israel-bombs-northern-gaza-palestinians-say-166-killed-in-24-hours-/7410787.html

[2] Dying to Win: The Strategic Logic of Suicide Terrorism Paperback – July 25, 2006 by Robert Pape (Author) 2006 Random House Trade Paperback Edition Available at: https://www.amazon.com/Dying-Win-Strategic-Suicide-Terrorism/dp/0812973380?asin=0812973380&revisionId=&format=4&depth=1


Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.