รับมือ “สงครามการค้า” ด้วยกลยุทธ์ 3 สั้น 2 ยาว
ที่มาภาพ: https://www.ft.com/content/6124beb8-5724-11ea-abe5-8e03987b7b20
ถ้ อยแถลงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ต่อที่ประชุมร่วมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯเมื่อคืน 4 มีนาคม 68 ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่สาบานตนรับตำแหน่งวาระ 2 (20 มกราคม 2025) สาระสำคัญคล้ายคลึงกับที่ประกาศในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ[1] ทั้งนี้ คำปราศรัยดังกล่าวไม่ใช่การแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) แต่สะท้อนทิศทางนโยบายสหรัฐฯในอีก 4 ปีข้างหน้า
เป้าหมายทวงคืนความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ (America First/Make America Great Again) ที่เสื่อมทรุดลงจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สั่นคลอนระเบียบโลกภายใต้โลกาภิวัตน์และกฎเกณฑ์การค้าเสรีอาจจะสิ้นสุดลง[2] ไม่เพียงกดดันเศรษฐกิจโลกยังเพิ่มความไร้เสถียรภาพและความไม่แน่นอน
รัฐบาลทรัมป์ 2.0 เปิดเกมรุกด้วยมาตรการ Raise Maximum Stake โดยประกาศใช้ภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) เมื่อ 0216.00 เม.ย.68 (เวลาสหรัฐ) คือ 1) ภาษีนำเข้าจากคู่ค้าทุกประเทศ (Broadbase) ในอัตราร้อยละ 10 (มีผลหลัง 6 เมษายน 2025) และ 2) ภาษีประเทศคู่ค้าที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ 60 ประเทศ (มีผลบังคับใช้ 9 เมษายน 2025) ประเทศที่ถูกเก็บภาษีรายประเทศจะไม่ถูกเก็บภาษี Broadbase อีก
ส่วนไทยถูกเรียกเก็บภาษีร้อยละ 36[3] สูงเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน ภาษีดังกล่าวจะกดดันการส่งออกและเศรษฐกิจไทย คาดว่า GDP ไทยในปี 2025 จะเติบโตลดลงจากร้อยละ 2.4 เหลือร้อยละ 1.4 (กรณีแย่ที่สุดคาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.9 YoY) มีแนวโน้มว่าการตอบโต้ทางการค้าจะทวีความรุนแรงในช่วง 2 – 3 เดือนข้างหน้า
ต่อมาเมื่อ 9 เมษายน 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทนเป็นเวลา 90 วัน (Back-and-Forth tariffs) พร้อมปรับลดอัตราภาษีกับคู่ค้าทุกประเทศลงเหลือร้อยละ 10 เนื่องจากคู่ค้ามากกว่า 75 ประเทศได้ติดต่อสหรัฐฯเพื่อเจรจาหาทางออกและปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 125 พร้อมระบุให้จีนเริ่มต้นการเจรจา
ภาษีศุลกากรและการกีดกันทางการค้า (trade restrictions) ทำให้เกิดปัญหาเฉพาะหน้าและความท้าทายเชิงโครงสร้าง อีกไม่นานข้อตกลงสหรัฐฯ - เม็กซิโก - แคนาดา (United States - Mexico - Canada Agreement - USMCA)[4] จะมาแทนข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement – NAFTA) ทำให้สหรัฐฯเข้าถึงตลาดนมแคนาดาและเปิดโอกาสให้แคนาดาส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯได้มากขึ้น[5]
บริษัทต่าง ๆ ต้องตอบสนองการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแต่ไม่มากเกินไป โดยบริหารกรอบเวลาสองช่วงพร้อมกันทั้งในระยะสั้นและสร้างทางเลือกระยะยาวรวมทั้งต้องจัดการการพึ่งพากัน 4 ประการ ได้แก่ ความต่อเนื่องของอุปทาน การดำเนินงาน กระแสเงินสดและลูกค้าเช่นเดียวกับช่วงวิกฤติโควิด-19[6]
ผลกระทบในระยะสั้น เช่น ความผันผวนของราคา การจัดหาสินค้าหยุดชะงักและอื่น ๆ อาจทำให้ค่าใช้จ่ายและรายได้แกว่งตัว การจัดทำงบประมาณและการคาดการณ์ไม่มีความหมาย ส่งผลกระทบราคาหุ้นและอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นหรือเศรษฐกิจถดถอยจึงต้องดำเนินการทันทีเพื่อลดความเสียหาย
ในระยะยาวความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานและการปะทะกันเรื่องภาษีศุลกากรยังคงอยู่ จึงต้องพัฒนาหรือเร่งการออกแบบเครือข่ายอุปทานใหม่ซึ่งใช้เวลาหลายปีและต้องอาศัยความเป็นเจ้าของ คณะกรรมการบริหารต้องร่างแนวทางตอบสนอง 5 ประการ โดยลงมือทำทันที 3 ประการและแผนริเริ่มระยะยาว 2 ประการ
กลยุทธ์ระยะสั้นในการจัดการสงครามการค้า ควรดำเนินการ 3 กลยุทธ์ต่อไปนี้ เนื่องจากไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอนและรายละเอียดเฉพาะของภาษีศุลกากรและการตอบโต้ จึงต้องสร้างสมมติฐาน สถานการณ์จำลองและแผนการตอบสนองอย่างรวดเร็วรวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ตรวจสอบสัญญาเพื่อหาทางเจรจาและจัดตั้งทีมงานที่มีอำนาจชัดเจนจากเบื้องบน
การจัดการภาษีศุลกากร (Tariff engineering) ระบุวิธีจัดหาสินค้าจากพื้นที่ถูกเก็บภาษีศุลกากรต่ำกว่าทีละรายการรวมทั้งส่วนประกอบและสินค้าสำเร็จรูป (เกือบหนึ่งทศวรรษที่บริษัทต่าง ๆ เปลี่ยนแหล่งจัดหาสินค้าบางส่วนจากจีนไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย อินเดียและเม็กซิโก) โดยจัดตั้ง War Room[7] (พื้นที่ทางกายภาพหรือเสมือนจริง) ประกอบด้วยบุคลากรฝ่ายจัดซื้อ โลจิสติกส์ การดำเนินงาน การเงิน กฎหมาย ผู้นำทางการค้าและฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์มาทำงานร่วมกันและมีอำนาจในการตัดสินใจซื้อได้ทันที
กลยุทธ์นี้จำเป็นต้องเข้าใจอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านปฏิบัติการ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปได้รวมทั้งกฎระเบียบด้านภาษีศุลกากร ซึ่งได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น บริการที่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนประกอบในภูมิภาคและข้อพิจารณาเฉพาะผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและพิถีพิถัน
ประโยชน์ของการจัดการภาษีศุลกากรแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละบริษัทและอุตสาหกรรม บริษัทที่ใช้แนวคิดนี้สามารถประหยัดต้นทุนภาษีศุลกากรได้ร้อยละ 5 – 10 ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนและช่วยประหยัดเวลาอันมีค่าได้
การวิเคราะห์ความอ่อนไหวต่อราคา (Price sensitivity analysis) ภาษีศุลกากรทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ผู้ผลิตต้องรับภาระเพิ่มขึ้น การกำหนดภาษีศุลกากรกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์ความอ่อนไหวต่อราคาทันที ซึ่งแตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรม กลุ่มตลาดและผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคามากกว่าอุตสาหกรรม B2B โดยต้นทุนสูงกว่าในการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการ (switching cost) การทำสัญญาและการเจรจาที่ยาวนานและสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น การสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการมีผลต่อการคำนวณต้นทุนการเป็นเจ้าของของลูกค้า
ในตลาดผู้บริโภค สินค้าฟุ่มเฟือยมีความอ่อนไหวแตกต่างกัน ผลิตภัณฑ์ที่มีแบรนด์แข็งแกร่งหรือส่วนแบ่งการตลาดสูงจะมีอำนาจเหนือกว่า เมื่อรัฐบาลทรัมป์ใช้ภาษีศุลกากรครั้งแรกในปี 2018 และ 2019 บริษัทผู้บริโภคและค้าปลีกจำนวนมากสามารถส่งต่อผลกระทบจากภาษีศุลกากรได้ถึงร้อยละ 30 หรือ 50 ด้วยการขึ้นราคา ปัจจุบันลูกค้าต่อต้านการขึ้นราคาและอาจทนการขึ้นราคาได้น้อยกว่า
ผู้บริหารต้องประมาณการและสร้างแบบจำลองการตอบสนองของคู่แข่งผ่าน “รอบการเล่น (round of play)” ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เนื่องจากการจัดหา ข้อกำหนด การจัดจำหน่าย แบรนด์และประสิทธิภาพทางการเงินแตกต่างกัน ความเสี่ยงของคู่แข่งอาจสูงหรือต่ำกว่า เช่นเดียวกับอำนาจการกำหนดราคา หากอัตรากำไรดีกว่าจะสามารถดูดซับต้นทุนภาษีศุลกากร การกู้คืนการสูญเสียอัตรากำไรถูกจำกัด ในทางกลับกันหากมีความเปราะบางมากกว่าอาจมีค่าใช้จ่ายในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด
ประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Operational efficiency) การจัดการภาษีศุลกากรและการกำหนดราคาสามารถลดต้นทุนของสงครามการค้าได้หลายอย่าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดบริษัทควรออกแบบการดำเนินการที่รวดเร็วเฉพาะเจาะจงเพื่อปรับปรุงต้นทุนอื่น ๆ เช่น การดำเนินการ กิจกรรมทางการค้าและลดผลกระทบผลต่อกำไรให้เหลือน้อยที่สุด
การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ปรับการดำเนินการให้เหมาะสมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตควบคู่กับการวางแผน กำหนดการและการจัดการวัสดุที่ดีขึ้นจะเพิ่มประสิทธิภาพและผลักดันการประหยัดต้นทุนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานได้
การแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ที่ไม่มั่นคง สมมติฐานเก่า ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ยาวนานและระบบการค้าที่สม่ำเสมอคงไม่มีอีกแล้ว จึงต้องเชื่อมโยงการตอบสนองทันทีกับการวางแผนระยะยาวสองประการ:
การสร้างขีดความสามารถ (Capability building) อากรและภาษีศุลกากรส่วนใหญ่ได้รับการจัดการแบบแยกส่วน ปกติจะเป็นทีมภาษีหรือการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ปัจจุบันต้องตระหนักถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในการจัดการอากรและภาษีศุลกากร การรวมหน้าที่เหล่านี้เข้ากับทีมปฏิบัติการ การจัดหาและจัดซื้อต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ต้องมีเครื่องมือ บุคลากรและกระบวนการที่ช่วยจับคู่ความต้องการในการจัดซื้อกับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข้อจำกัดทางการค้า ซัพพลายเออร์และทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับการกำหนดราคาและความอ่อนไหวต่อราคา ซึ่งเชื่อมโยงกับการวางแผนการขายและการดำเนินงาน
บริษัทขนาดใหญ่บางแห่งได้พัฒนาขีดความสามารถดังกล่าวเอง บริษัทอื่น ๆ และบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากพึ่งพาแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ที่พัฒนาและดำเนินการโดยบุคคลที่สาม ซึ่งสามารถจับคู่ความต้องการในการจัดซื้อกับฐานข้อมูลที่แสดงราคาและความพร้อมใช้งานวัสดุและชิ้นส่วนต่าง ๆ และค้นหาวิธีหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและจัดการต้นทุน
ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีความยืดหยุ่นในการผลิต จัดจำหน่ายและความสามารถอื่น ๆ มีหลายวิธีที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นขององค์กร เช่น การลงทุนในสายการผลิตที่สามารถเปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์หนึ่งไปสู่อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งได้อย่างง่ายดาย การเตรียมการจัดหาแบบคู่ขนาน การรับรองสัญญาว่าจะไม่ผูกมัดกับการจัดซื้อ การทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงด้านการจัดเก็บและการจัดจำหน่ายเพื่อเปลี่ยนต้นทุนคงที่เป็นต้นทุนผันแปร เป็นต้น
การปรับโครงสร้างใหม่ในระยะยาว (Long-term reconfiguration) บริษัทต่าง ๆ ต้องเริ่มหรือเร่งการปรับโครงสร้างใหม่ในระยะยาว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่เชิงกลยุทธ์ โดยใช้แนวทางขับเคลื่อนด้วยต้นทุนรวมของการเป็นเจ้าของ ปัจจัยสำคัญได้แก่ การย้ายแหล่งจัดหาและสถานที่ผลิตตามตลาดที่ให้บริการ โครงสร้างต้นทุน ผลกระทบด้านภาษีศุลกากรและการพิจารณาด้านโลจิสติกส์
การย้ายหรือเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานอาจต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม ความพร้อมของฐานจัดหาและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งส่งผลต่อจำนวนผู้จัดหาทางเลือกที่มีอยู่ สินค้าที่การผลิตซับซ้อนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และฮาร์ดแวร์ อาจใช้เวลานานกว่า 12 เดือน แต่ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถเริ่มต้นด้วยชิ้นส่วนที่ซับซ้อนน้อยกว่า เช่น แผงวงจรและส่วนประกอบพลาสติกและโลหะ
นโยบายในประเทศ เช่น พระราชบัญญัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการจ้างงาน (IIJA) พระราชบัญญัติการลดอัตราเงินเฟ้อ (IRA) และพระราชบัญญัติ CHIPS ให้แรงจูงใจทางการเงินที่สำคัญ เช่น เครดิตภาษี เงินช่วยเหลือและเงินทุน เพื่อส่งเสริมการผลิตในสหรัฐฯ ในเชิงกลยุทธ์ การปรับโครงสร้างใหม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมผู้บริหารทั้งหมด
การเตรียมรับมือสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้พึงตระหนักว่า “ความไม่แน่นอน” และ “ความผันผวน” จะกลายเป็นลักษณะเด่นของระบบการค้าโลก หากต้องการเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ผู้นำจะต้องฉวยโอกาสและวางกลยุทธ์ในเวลาเดียวกันรวมทั้งชาญฉลาดในการมองภาพแนวโน้มอุตสาหกรรมและพลวัตการแข่งขัน
[1] 7 takeaways from Trump’s speech to Congress March 4, 2025 at 11:47 p.m. EST Analysis by Aaron Blake Analysis by Aaron Blake Washinton Post Available at: https://www.washingtonpost.com/politics/2025/03/04/7-takeaways-trumps-speech-congress/
[2] PM Lawrence Wong on implications of US tariffs for Singapore Youtube CNA Apr 4, 2025 Available at: https://www.youtube.com/watch?v=A3hS93y7C0I
[3] อัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ (Trade-weighted Average Bilateral Tariff Differentials) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.98 กว่า 5 เท่าตัว
[4] จะทบทวนในกรกฎาคม 2026 และอาจเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของบริษัทในสหรัฐฯรวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบ
[5] ข้อตกลง USMCA มี 34 หมวด ควบคุมการค้ามูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 32 ล้านล้านบาท) ข้อตกลงมีอายุ 16 ปี และกำหนดให้มีการทบทวนทุก ๆ 6 ปี ในตอนแรก ดูเหมือนว่าแคนาดาอาจถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมข้อตกลงที่จะนำมาใช้แทนข้อตกลง NAFTA ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1994 แต่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่นานมานี้
[6] How to Build a Strategy for Coming Trade Battles by David Garfield and Sudeep Suman Harvard Business Review January 8, 2025 Available at: https://hbr.org/2025/01/how-to-build-a-strategy-for-coming-trade-battles?utm_medium=email&utm_source=newsletter_daily&utm_campaign=dailyalert_&deliveryName=NL_DailyAlert_20250109
[7] ห้องที่ใช้สำหรับการประชุมของผู้บริหารหรือพนักงานตำแหน่งสำคัญเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม โดย War Room ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1901 เพื่อให้นายทหารระดับสูงใช้ร่วมประชุมวางแผนการรบในช่วงสงคราม ส่วนในยุคปัจจุบัน War Room ถูกใช้เพื่อการประชุมแก้ไขปัญหาและการสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพภายในองค์กร
Leave a Comment